‘อนุสรณ์’ ปาฐกถา 46 ปี 6 ตุลา เตือนชนชั้นนำใช้อำนาจกดปราบไม่ได้ผล เพราะสังคมเปลี่ยนไปแล้ว  

อนุสรณ์ อุณโณ กล่าวปาฐกถาพิเศษงาน 46 ปี 6 ตุลา ที่ มธ. ตอกย้ำความสำคัญและคุณูปการของขบวนการนักศึกษาในประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัย เตือนชนชั้นนำใช้อำนาจกดปราบจะไม่ได้ผล เพราะสังคมเปลี่ยนไปแล้ว ‘ฆ่ายังไงก็ไม่ตาย’ มองข้อท้าทายของขบวนการคือขยายฐานแนวร่วม

6 ต.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (6 ต.ค.) ที่ลานประติมากรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อเวลา 9.10 น. อนุสรณ์ อุณโณ อดีตคณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. กล่าวปาฐกถาพิเศษ รำลึก 6 ตุลา 2519 หัวข้อ ‘ฆ่า’ อย่างไรก็ไม่ตาย: คนรุ่นใหม่ ในความขัดแย้งทางการเมืองร่วมสมัย ซึ่งเขาอยากโฟกัสการเคลื่อนไหวของเยาวชนและคนรุ่นใหม่ 

อนุสรณ์ กล่าวว่า ภาพจำจากเหตุการณ์ 6 ตุลา คือการล้อมปราบนองเลือดขบวนการนักศึกษาที่ชุมนุมอย่างสงบภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปิดฉากขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาที่ขยายตัวอย่างกว้างขวางเมื่อช่วง 3 ปีก่อนหน้า ขณะเดียวกัน ได้สร้างความทรงจำร่วมให้สังคมไทยว่า นักศึกษาคือหัวขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศนี้ 

ผ่านมา 4 ทศวรรษ นักศึกษาและนักเรียนได้เข้ามาขับเคลื่อนประชาธิปไตยในแถวหน้าอีกครั้ง ตั้งแต่ 2563 เป็นต้นมา ในด้านหนึ่งการหวนคืนสมรภูมิทางการเมืองของนักศึกษา ได้สร้างกำลังใจให้กับฝ่ายที่ต้องการจะเห็นการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ที่ถามไถ่เสมอว่า บทบาทนักศึกษาหายไปไหนในความขัดแย้งทางการเมืองกลุ่มเสื้อสีก่อนหน้า ขณะที่อีกด้านการกลับมาของนักศึกษาได้สร้างความหวาดวิตกให้กับผู้ปกครอง เพราะการชุมนุมเคลื่อนไหวขยายวงกว้าง มีประมาณกว่า 400 ครั้งในกว่า 60 จังหวัด จัดโดยกว่า 100 กลุ่ม เพียงแค่ในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2563

“นอกจากนี้ ที่สำคัญกว่าก็คือว่าเป็นครั้งแรกที่การเคลื่อนไหวเรียกร้องมีข้อเสนอโดยตรงต่อผู้ปกครองของประเทศนี้” 

อย่างไรก็ดี การชุมนุมใหญ่ที่เบาบางลงหลังการสลายการชุมนุมปี 2563 รวมถึงการใช้มาตรการรุนแรงกับการชุมนุมที่ต่อเนื่องตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตั้งข้อหาและดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมกว่า 1,800 ราย ส่งผลให้ฝ่ายที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงบางส่วนท้อแท้ และสิ้นหวัง กลัวว่านักศึกษาอาจจะเจอการกดปราบดั่งเหตุการณ์อย่าง 6 ตุลา อีกฝ่ายอาจกำลังดีใจว่านักศึกษาคงสร้างความระคายเคืองได้เท่านี้ 

อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า อาจเป็นการด่วนตัดสินเกินไปต่อเรื่องนี้ เพราะนักศึกษาเหล่านี้ยังไม่ได้จากหายไปจากสมรภูมิการเมืองไทยยกใหม่นี้

เงื่อนไขที่ทำให้ขบวนการ นศ.เติบโต คือความฉ้อฉลของคนที่มีอำนาจ

อนุสรณ์ มองว่า สาเหตุที่นักศึกษาหรือเยาวชนลุกขึ้นมาเคลื่อนไหว และยังเป็นพลังท้าทายผู้มีอำนาจในวันนี้ มาจากเงื่อนไขความฉ้อฉลของผู้มีอำนาจ

ย้อนกลับไปนักศึกษาเริ่มเข้ามาอยู่ในความเคลื่อนไหวทางการเมืองหลังจากรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา เนื่องจากกลุ่มการเคลื่อนไหวก่อนหน้าไม่ว่าจะเป็น นปช. หรือ กปปส. ถูกทำให้สลายตัว 

แม้ว่าในช่วงแรกการเคลื่อนไหวเกิดขึ้นในกลุ่มขนาดเล็กมีจำนวนมาก ยังไม่ได้รับการขานรับจากนักศึกษาตามสถาบันต่างๆ และไม่ได้เป็นกระแสใหญ่ของการเคลื่อนไหวของเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นการต้านรัฐประหารที่มีกลุ่มดาวดิน เป็นตัวนำ หรือการค้านร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่มีกลุ่มประชาธิปไตยใหม่เป็นหัวหอก หรือการรณรงค์ให้มีการเลือกตั้ง 

กระทั่ง หลังจากผู้มีอำนาจเริ่มรุกล้ำชีวิตส่วนตัว ตัวอย่างเด่นชัดคือ การห้ามฟังและแชร์มิวสิกวิดีโอเพลง ‘ประเทศกูมี’ ที่มีเนื้อหาวิจารณ์การเมืองอย่างถึงราก และมีฉากหลังเป็นเหตุการณ์ล้อมปราบ 6 ตุลา 2519 เยาวชนซึ่งถูกห้ามได้แสดงการต่อต้านอย่างกว้างขวางจนเป็นกระแสใหญ่ มียอดชมมิวสิกวิดีโอพุ่งสูงถึง 10 ล้าน และพุ่งขึ้นถึง 20 ล้านในเวลา 2 สัปดาห์ 

อนุสรณ์ ยกตัวอย่างกรณีการนาฬิกาของ พล.อ.ประวิตร และเหตุการณ์อื่นๆ จนทำให้เยาวชนประจักษ์ว่าคนที่อ้างความดีเข้ามาอยู่ในอำนาจ และบงการชีวิตพวกเขา เอาเข้าจริงแล้วไม่ได้เป็นคนดีอย่างที่กล่าวอ้าง มิหนำซ้ำ กลับมีความด่างพล้อยและรอยมลทินมากกว่าคนที่เขาเข้ามายึดอำนาจ พวกเขาจึงไม่ต้องการอยู่ภายใต้การปกครองของคนที่มีอำนาจกลุ่มนี้ “ซึ่งมีเครือข่ายมหึมาอยู่ข้างหลัง” ซึ่งยังอยู่กันพร้อมหน้าในปัจจุบัน

เยาวชนพยายามจะปลดแอก โดยใช้กลไกรัฐสภาผ่านการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการใช้สิทธิครั้งแรกของคนรุ่นใหม่ และมีพรรคการเมืองเป็นตัวแทนภาพใฝ่ฝันของพวกเขา แต่เขาต้องพบความผิดหวัง 

นอกจากการประกาศผลเลือกตั้งที่ช้า และมีความสับสน พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเป็นอันดับสอง กลับสามารถเสนอชื่อผู้นำรัฐประหาร ขึ้นมาเป็นนายกฯ และได้รับการสนับสนุนจาก ส.ว.ทุกคน จนสามารถตั้งรัฐบาลได้ใหม่ ผลคือรัฐบาลคณะรัฐประหาร ได้แปลงร่างหรือสืบทอดอำนาจในคราบรัฐบาลพลเรือนต่อไป

ฟางเส้นสุดท้าย คือการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุคพรรคที่เยาวชนสนับสนุน ส่งผลให้เยาวชนคนหนุ่มสาวพร้อมใจกันออกมาท้าทายจากโลกออนไลน์ สู่โลกออฟไลน์ในที่สุด 

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ ประยุทธ์ อยู่ต่อ (ปมวาระดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปี) สะท้อนให้เห็นว่าหากต้องการปลดแอกจากผู้มีอำนาจกลุ่มนี้ได้ จำเป็นต้องออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนน ดังที่เห็นการเคลื่อนไหวเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (1 ต.ค.)

กลยุทธ์ และม็อบไร้แกนนำ ปัจจัยที่ทำให้ขบวนการยืนหยัดในปัจจุบัน

อนุสรณ์ มองว่า การที่ขบวนการคนรุ่นใหม่สามารถยืนหยัดได้ขนาดนี้มีหลายปัจจัย ทั้งการจัดรูปขบวน ข้อเรียกร้อง กลยุทธ์ และอื่นๆ แม้ว่าจะมีกลุ่มการเมืองขนาดใหญ่ เช่น คณะราษฎรรุ่นใหม่ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และอื่นๆ แต่ไม่ได้มีการจัดตั้งเหมือนในทศวรรษ 2510 ขณะเดียวกัน ไม่ได้เป็นกลุ่มการเมืองกึ่งจัดตั้ง อย่างพันธมิตร หรือ นปช. อย่างในช่วงความขัดแย้งการเมืองเสื้อสี นอกจากนี้ ตามมหาวิทยาลัยก็มีการจัดตั้งกลุ่มเรียกร้องของตัวเองด้วย

ต่อมา คณะราษฎร รุ่นใหม่ มีการจัดปรับเปลี่ยนแบบไร้แกนนำ ซึ่งเป็นแบบอย่างให้กลุ่มการเมืองรุ่นใหม่ยุคต่อมาทำตาม และสามารถดึงประชาชนเข้ามาได้มากขึ้น เขาสามารถเข้าร่วมกิจกรรมไม่ว่ากลุ่มใดเป็นผู้ริเริ่มก็ได้ 

นอกจากการชุมนุมแบบไร้แกนนำ สิ่งที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเขาสามารถเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มไหนก็ได้ เพราะว่าประชาชนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของในประเด็น หรือว่าวาระร่วมในการเคลื่อนไหว เพราะแม้ข้อเรียกร้องจะถูกขมวด และถูกประกาศโดยกลุ่มชุมนุมหลัก แต่ก็ประมวลมาจากความคิดของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการไล่นายกฯ ประยุทธ์ การร่างรัํฐธรรมนูญ และการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ สะท้อนผ่านทั้งเชิงสัญลักษณ์และการปราศรัย จนกระทั่งถูกทำให้เป็นรูปธรรมโดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมในเวลาต่อมา 

ขณะเดียวกัน ในระดับภูมิภาคที่มีบริบททางประวัติศาสตร์ทางการเมือง และวัฒนธรรมเฉพาะ ได้ผนวกข้อเรียกร้องของตัวเองเข้าไปในการเคลื่อนไหวต่อไปด้วย ฉะนั้น แม้บางกลุ่มจะสลายตัวไป แม้การชุมนุมใหญ่ยังชะลอตัว แต่ถ้าข้อเรียกร้องหลักยังไม่ได้รับการตอบสนอง และมีประเด็นปัญหาในแต่ละพื้นที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ก็ยังคงมีต่อไป

นอกจากนี้ การที่เยาวชนมีความยืดหยุ่นและหลากหลายทำให้พวกเขาสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่กลุ่มหลักเคลื่อนไหวโดยการปราศรัย กลุ่มย่อยบางกลุ่มอย่าง REDEM หรือราษฎร เน้นการเคลื่อนไหวแบบจรยุทธ์ หรือทะลุแก๊ซ เน้นการเผชิญหน้าท้าทาย กลุ่มทะลุฟ้า เน้นการชุมนุมเชิงสัญลักษณ์ และมีความสร้างสรรค์มีชีวิตชีวา ทำให้มีประชาชนเข้าร่วมได้มากขึ้น และมีกลุ่มใหม่ที่ถูกก่อตั้งและนำเสนอประเด็นอื่นๆ เช่น เพศสภาวะ ดังนั้น แม้ว่าการชุมนุมที่เน้นการปราศรัยจะเบาบาง และการชุมนุมแบบเผชิญหน้าจะเบาบางลงไป แต่กลยุทธ์ที่ยืดหยุ่นและหลากหลายทำให้เยาวชนสามารถที่จะปรับใช้กลวิธีเหล่านี้ในประเด็นและวาระต่างๆ ได้ นอกจากนี้ บนโลกออนไลน์ก็มีการผลักดันวาระอยู่ต่อเนื่อง

พลังการเมืองเยาวชน การตอบรับจากภาคการเมือง 

อนุสรณ์ มองว่า เยาวชนยังคงเป็นพลังผลักดันในการเมืองร่วมสมัย เพราะการออกมายืนแถวหน้า หรือการนำของพวกเขา ได้รับการขานรับจากคนกลุ่มอื่นๆ เช่น พรรคการเมืองในระบบรัฐสภา และประชาชน

อนุสรณ์ มองว่า แม้ว่าการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนจะถูกปัดตกอย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีการผลักดันกฎหมายใหม่ๆ ที่มีความเป็นประชาธิปไตยเข้ามาอยู่เสมอ และได้รับการตอบรับจากภาคส่วนการเมืองด้วย เช่น การเสนอร่างกฎหมายทำประชามติ เพื่อให้มีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งสะท้อนว่าการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ได้แผ้วทางการต่อสู้ในระบบสภา ขณะเดียวกัน พวกเขาต่อไปก็สามารถมาเป็นกำลังในระบบสภาต่อไปได้ด้วย 

‘รุ่นเรา’ ที่รวมความหลากหลายทั้งทางช่วงอายุ เศรษฐกิจ และสังคม

อนุสรณ์ สะท้อนว่า การเคลื่อนไหวของเยาวชน แม้จะมีคนรุ่นใหม่และนักศึกษาเป็นแกนนำ แต่มีประชาชนคนทั่วไปที่เข้าร่วมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มผู้คนสูงวัยกว่า 

อนุสรณ์ มองว่า บทบาทของคนเหล่านี้เห็นชัดในช่วงที่กระแสการชุมนุมโดยแกนนำนักศึกษาถูกคุกคาม คุมขังด้วยกฎหมาย และไม่ได้รับสิทธิประกันตัว เช่น การทำคาร์ม็อบทั้งในกรุงเทพฯ และภาคอีสาน การจัดยืน หยุด ขัง หน้าศาลฎีกา ของกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ยืน หยุด ทรราช ที่เชียงใหม่ และยืน หยุด ขัง ที่จังหวัดอุบลราชธานี นอกจากนี้ ยังมีกองทุนราษฎรที่ผู้บริจาคส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยกว่าอีกด้วย 

อนุสรณ์ มองว่า การที่คนต่างวัยมารวมกันภายใต้การเรียกร้องทางการเมืองของเยาวชนร่วมสมัย เพราะพวกเขาต่างยึดโยงผ่านประสบการณ์ และปัญหาความยากลำบากช่วงโควิด-19 ความคับแค้นจากกระบวนอยุติธรรม และความโกรธเคืองจากการถูกพรากเสรีภาพ 

พวกเขาถูกเชื่อมร้อยด้วยแนวคิดหรืออุดมการณ์ทางการเมือง ทั้งในระดับกว้าง เช่น ประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญกับความเสมอภาค และสิทธิเสรีภาพ การเมืองระดับที่เฉพาะเจาะจง เช่น แนวคิดฝ่ายซ้าย เพราะนักศึกษาจำนวนมากอ่านงานเขียนของนักคิดทฤษฎีเหล่านี้ ขณะที่ผู้สูงวัยจำนวนมากที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวเยาวชน ก็คือคนเคยเป็นสหายเก่า รวมถึงคนเดือนตุลา

อนุสรณ์ มองว่า นี่คือสิ่งที่ทำให้คนเหล่านี้กลายเป็นคนรุ่นเดียวกันในทางการเมือง และสะท้อนว่า คำว่า ‘รุ่นเรา’ ไม่ได้มีแค่คนหนุ่มสาว แต่มีประชาชน หรือราษฎร ซึ่งมีความหลากหลายในช่วงวัย มีความหลากหลายในฐานะเศรษฐกิจ และอัตลักษณ์ทางสังคมอื่นๆ เช่น เพศสภาวะ และชาติพันธุ์ ซึ่งจะขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง

สังคมเปลี่ยนไปแล้ว เตือนชนชั้นนำ ใช้วิธีเดิมไม่ได้ผล

อาจารย์จาก มธ. มองต่อว่า แม้การเคลื่อนไหวของเยาวชนที่ผ่านมา ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่ก่อให้การเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย เช่น การไม่เคารพเพลงสรรเสริญ หรือการไม่เข้าร่วมพิธีพระราชทานปริญญาบัตรฯ และอื่นๆ สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าสังคมไทยได้เปลี่ยนไปมากแล้ว แต่ผู้ปกครองจะรับมือการเปลี่ยนแปลงยังไง เพียงแค่ใช้กำลังดิบหยาบ ใช้กำลังสลายการชุมนุม ใช้กำลังนอกรีต เข้าไปข่มขู่คุกคาม เข้าไปติดตามจับตาเคลื่อนไหว หรือใช้กฎหมายจัดการคนเห็นต่างอย่างบิดเบี้ยว อย่างเท่านั้นหรืออย่างใด

“วิธีเหล่านี้อาจสยบความกระด่างกระเดื่องได้ชั่วคราว แต่ไม่สามารถที่จะหยุดความขุ่นเคืองในระยะยาวได้ หรือเห็นว่าจะยังสามารถหว่านล้อมเกล่าเกลานิสิตนักศึกษาหรือว่าประชาชนด้วยวิธีการอย่างเดิมต่อได้หรืออย่างใด แต่อย่าลืมยุคสมัยได้เปลี่ยนไปแล้ว ประวัติศาสตร์ฉบับท้าทายได้กลายมาเป็นหนังสือยอดนิยมแทนที่ตำราเรียนประวัติศาสตร์ และมีสื่อทางเลือกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกเสมือนให้เข้าถึงได้ นอกเหนือจากสื่อกระแสหลัก จนยากที่จะควบคุมความคิดจิตใจของผู้คนให้เหมือนเดิมได้อีกต่อไป”

“ทั้งหมดนี้คือกระแสความเปลี่ยนแปลงที่มันไม่อาจหยุดยั้งได้ตามใจอีกต่อไป เป็นจิตวิญญาณแห่งยุคสมัยที่ฆ่าอย่างไรก็ไม่ตาย” อนุสรณ์ กล่าว 

ข้อท้าทายของขบวนการนักศึกษา โดยการขยายฐานแนวร่วม

อนุสรณ์ ทิ้งท้ายว่า “ในทางกลับกัน นิสิตนักศึกษาหรือว่าเยาวชน จะดำเนินการเคลื่อนไหวนำอย่างไม่นำของนักศึกษาได้อย่างไรต่อไป จะดึงคนในช่วงวัยสูงกว่าให้เข้ามาเป็นคนรุ่นเดียวกันในแนวทางการเมืองของตัวเองเพิ่มขึ้นได้อย่างไร และจะขับเคลื่อนคิดนำหรือว่าข้อเรียกร้องหลักของตัวเองต่อไปอย่างไรโดยเฉพาะด้วยการอาศัยการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้เป็นฐาน ในแนวทางต่อไป เพราะการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขนาดใหญ่ หลายแห่งในโลกนี้ เริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท