เขื่อน กับ ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก !!!!

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ผมคิดว่าถึงเวลาที่ทุกภาคส่วน จะต้องเอาความจริงมาพูด มาถกเถียงกันอย่างจริงจัง ว่า ปัญหาน้ำท่วม ซึ่งแทบจะเรียกว่าท่วมซ้ำซาก ท่วมแทบทุกปี และความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วม มันมากมายมหาศาล ทั้งทางเศรษฐกิจ ทั้งปัญหาปากท้องของชาวบ้าน ทั้งยังต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนมาก ที่ต้องละลายไปกับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และความเสียหายเหล่านี้ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก 

ปัญหาน้ำท่วม ในพื้นทีภาคอีสาน ช่วงหลังๆ มักเกิดขึ้นบ่อย โดยเฉพาะปีนี้ (2565) ที่ดูเหมือนจะหนักหนาเอาการ โดยเฉพาะในปีนี้ที่น้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง และ ท่วมตั้งแต่ต้นฤดู ซึ่งสถานการณ์ที่วิกฤติอยู่นี้ จะยังอยู่ในช่วงฝนตกอยู่ไม่น้อยกว่า 2 เดือน นั่นหมายความว่า สภาพน้ำท่วมในปัจจุบัน ยังไม่ใช่จุดสูงสุด ซึ่งโอกาสที่น้ำจะเพิ่มระดับสูงขึ้นอีก ยังมีความเป็นไปได้มาก 

ในมุมมองส่วนตัว เห็นว่า สาเหตุน้ำท่วมหนัก และ ท่วมบ่อยนั้น มาจาก 4 ปัจจัยหลัก ดังนี้ 

1. น้ำต้นทุนมีเยอะเกินไป : ลุ่มน้ำสำคัญในภาคอีสานตอนล่าง ประกอบไปด้วย แม่น้ำมูน แม่น้ำชี และ แม่น้ำเสียว และ ลำน้ำสาขาอีกจำนวนมาก ซึ่งแม่น้ำทุกสาย ลำน้ำสาขาทุกแห่ง มีการสร้างเขื่อน สร้างอ่างเก็บน้ำ กันจนเต็มทุกลำน้ำ 

ซึ่งน้ำในเขื่อน ในอ่างเก็บน้ำ เหล่านั้น ที่แทบทุกเขื่อน ทุกอ่างเก็บน้ำ จะเก็บน้ำไว้มากกว่า 50 % ของความจุ แต่ละเขื่อน แต่ละอ่างเก็บน้ำ เสมือนหนึ่งว่า เรามีน้ำต้นทุนไว้มากกว่า ครึ่งแก้ว แล้ว และเมื่อมีฝนตกลงมา ทำให้ระดับน้ำในเขื่อน และในอ่างเก็บน้ำ เพื่อขื้นอย่างรวดเร็ว และต่อมาเขื่อน และ อ่างเก็บน้ำแต่ละแห่ง ต่างพากันเร่งระบายน้ำออก และนี่คือ สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดน้ำท่วมรวดเร็ว

2. ทุกข์อนันต์ ของเขื่อนเอนกประสงค์ : เขื่อนทุกแห่ง จะถูกอวดอ้างประโยชน์สารพัดประโยชน์ ทั้งแก้ปัญหาภัยแล้ง และแก้ไขปัญหาน้ำท่วม แก้ไขปัญหาน้ำปะปา เพิ่มพื้นที่ทำนา มีปลามากมาย ซึ่งวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้นี้ขัดแย้งกันเองในทางปฏิบัติ เพราะเขื่อนทุกเขื่อน อ่างเก็บน้ำทุกแห่งจะมีวัตถุประสงค์ (ที่เขียนไว้เหมือนกัน) เหมือนกัน แต่หากเป็นเขื่อนของการไฟฟ้า ฯ ก็จะมีวัตถุประสงค์เพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า เพิ่มขึ้นมา 

เมื่อเขื่อนมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง เพื่อการประปา เพื่อการทำนา เพื่อการทำประมง นั่นจึงทำให้เขื่อนแต่ละแห่ง ต้องทำการกักเก็บน้ำไว้ ให้เต็มความจุและรักษาปริมาณน้ำในความจุของเขื่อนให้ได้มาก และนานที่สุด และนอกจากนี้ ผู้บริหารเขื่อนจะกังวลตลอดเวลาว่า ในปีหน้า น้ำในเขื่อนที่ตัวเองรับผิดชอบ จะมีน้ำไว้เต็มความจุอีก ซึ่งตรงนี้กลายเป็นจุดอ่อน เพราะทำให้เขื่อนแต่ละแห่ง อ่างเก็บน้ำแต่ละที่ จะไม่ยอมระบายน้ำออก ตราบใดที่ปริมาณน้ำใหม่ที่ไหลเข้าเขื่อน ยังไม่ถึงขั้นวิกฤต 

จากสภาพการบริหารเขื่อนแบบนี้ เราจึงพบว่า ในช่วงที่มีฝนตกมาก มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนจำนวนมาก เขื่อนจึงเริ่มระบายน้ำออก และนั่นก็เป็นช่วงเดียวกัน กับ ที่น้ำได้กระจายทั่วพื้นที่ลุ่มน้ำ พื้นที่ลุ่มต่ำไปแล้ว เราจึงเห็นน้ำเอ่อล้นท่วมรวดเร็ว และรุนแรง 

ขณะเดียวกัน เราไม่พบเลยว่า จะมีเขื่อนใด เขื่อนหนึ่ง ที่จะรองรับน้ำท่วมแม้แต่เขื่อนเดียว ทุกเขื่อน ทุกอ่างเก็บน้ำ ต่างเทน้ำออกแข่งกัน จนน้ำท่วมไปหมด

3. การบริหารจัดการน้ำไม่ได้จริง : รัฐบาล พยายามที่จะสร้างกระบวนการ และ กลไก ซ้อน เพื่อมาบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเรียกกันโก้หรูว่า “คณะกรรมการลุ่มน้ำ” เพื่อมาทำหน้าที่ในการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำ แต่ในทางปฏิบัติ คณะกรรมการลุ่มน้ำ ก็เป็นเพียงแค่ “เสือกระดาษ” เพราะในการดำเนินงานจริงๆ ผู้ที่ตัดสินใจ ในการ ปิด - เปิด เขื่อน ก็คือ ผู้บริหารเขื่อนแต่ละแห่ง เท่านั้น 

นอกจากนี้แล้ว หากเขื่อนที่มีอยู่ในแม่น้ำสายเดียวกัน มีเจ้าของเป็นคนละหน่วยงาน เช่น กรมชลประทาน กับ การไฟฟ้า ฯ การบูรณาการ การทำงานด้วยกัน จึงยิ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย 

4. เขื่อนปากมูล “ซาตาน หน้าหยก” : เขื่อนปากมูล สร้างปิดกั้นลำน้ำมูน ตอนล่างสุดของแม่น้ำ ก่อนถึงแม่น้ำโขง เดิมมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ต่อมาเปลี่ยนวัตถุประสงค์เป็นเขื่อนเพื่อการชลประทาน และ ต่อมาได้เปลี่ยนวัตถุประสงค์เป็นเขื่อนเพื่อการประปา 

เขื่อนปากมูล ซึ่งตั้งอยู่ปลายแม่น้ำมูน จะทำการเก็บกักน้ำให้เต็มความจุ คือที่ ระดับ +107 ม.รทก. ต่ำกว่าระดับน้ำตลิ่งแม่น้ำมูน 5 เมตร (ระดับตลิ่งแม่น้ำมูนที่ M 7 อยู่ที่ +112 ม.รทก.) และจะเก็บกักน้ำในระดับนี้ไว้จนกระทั่งมีฝนตกหนักมาก หรือมีน้ำจากด้านบนไหลมาจำนวนมาก เขื่อนปากมูล จึงจะเริ่มทยอยระบายน้ำออก ในทุกปี เราจึงเห็นว่า เขื่อนปากมูล จะทำการระบายน้ำในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม หรือ ช้ากว่านั่น ซึ่งเรียกว่า น้ำจะวิกฤติแล้ว เขื่อนปากมูล จึงจะทำการระบายน้ำ และในหลายปี รวมทั้งปีนี้ (2565) เขื่อนปากมูล ระบายน้ำช้า ขณะที่น้ำเหมือนมาเร็ว ทางจังหวัดอุบลราชธานี ก็จะขอให้เขื่อนที่อยู่ด้านบน “หน่วงน้ำไว้” เพื่อให้เขื่อนปากมูล พร่องน้ำออกให้ได้มากที่สุด เขื่อนราษีไศล จึงมักจะถูกขอร้อง ให้หน่วงน้ำไว้ จึงทำให้น้ำในเขื่อนราษีไศล รับกรรม เพราะหน่วงน้ำไว้ จนน้ำในอ่างเก็บน้ำมีจำนวนมาก และสุดท้าย ก็เอาไม่อยู่ 

นอกจากการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนปากมูล ที่ล้มเหลว และ ยังไปสร้างภาระ สร้างปัญหาให้พื้นที่ด้านบนแล้ว ตัวเขื่อนปากมูล ซึ่งเป็นเหมือนคอขวด ก็เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขง ในทุกปี เราจึงเห็นการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ ในตอนปลายของแม่น้ำมูน ทั้งที่สะพานพิบูลมังสาหาร และ สะพานโขงเจียม เพื่อผลักดันให้น้ำลงสู่แม่น้ำโขง ให้เร็วขึ้น 

ดังที่กล่าวมาแล้ว ว่า เขื่อนในพื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง ทั้งเขื่อนในแม่น้ำมูน และ แม่น้ำชี เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดน้ำท่วมมาก น้ำท่วมเร็ว และ น้ำท่วมนาน เขื่อนจึงเป็นเสมือน “ระเบิดเวลา” ที่เมื่อเกิดการปะทุขึ้นมา ความพินาศย่อยยับ ก็เกิดขึ้น และขณะนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว 

ถึงเวลาหรือยัง ที่เราจะทบทวนการบริหารจัดการน้ำใหม่ ทดแทนการบริหารจัดการน้ำ แบบ เขื่อนๆ เพื่อจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วม ซ้ำๆ อีกต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท