Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

:บทความนี้เขียนขึ้นจากความประทับใจหนังสือนิยายเรื่อง Comrade Aeon’s Field Guide in Bangkok ผู้เขียนบทความได้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญบางส่วนของหนังสือ เนื้อความบางส่วนแปลจากจากหนังสือนิยาย เนื้อความบางส่วนเป็นความคิดเห็นและความรู้สึกของผู้เขียนบทความเอง

ปีนี้ฉันตั้งใจอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับเมืองไทยและอุษาคเนย์ในสมัยสงครามเย็นให้มากขึ้น อ่านชดเชยให้กับความรู้ที่ถูกทำให้ตกหล่นหายไปในห้องเรียน อ่านให้มันสาสมกับที่สิ่งที่ “เขา” ไม่อยากให้คนไทยรู้ หนึ่งในหนังสือที่ฉันเพิ่งอ่านจบและยังหยุดคิดถึงมันไม่ได้คือ หนังสือนิยายเรื่อง Comrade Aeon’s Field Guide in Bangkok เขียนโดย เอ็มม่า ลาร์คิน (Emma Larkin) แม้จะเป็นเพียงเรื่องที่แต่งขึ้น แต่นิยายเล่มนี้สามารถเก็บรายละเอียดชีวิตความเป็นอยู่และความเป็นไปของสังคมไทยได้อย่างดีเยี่ยม  ตั้งแต่ความหวังที่ผู้คนฝากไว้กับหวยและผีในศาลพระภูมิ ความบันเทิงของละครหลังข่าวที่กล่อมให้ผู้คนหลับไหลยามค่ำคืน มายาคติของรอยยิ้มแบบไทยๆ การต่อสู้ดิ้นรนของประชาชนบนท้องถนน และความเงียบงันของผู้คนในเมืองหลวงที่อื้ออึงไปด้วยเสียงสะท้อนของอดีตและความทรงจำ เหล่านี้ต่างร้อยรัดตัวละครหลากหลายพื้นเพที่อาศัยในใจกลางกรุงเทพฯ เข้าด้วยกัน ตั้งแต่แม่ค้าปลาท่องโก๋ วินมอเตอร์ไซด์ ผู้คนในสลัม อดีตนักศึกษาที่เคยเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) นักธุรกิจ ดาราชื่อดัง และหญิงคนขาวชาวต่างชาติ  พวกเขายืนอยู่บนเส้นสเปกตรัมทางการเมืองที่ต่างกัน แต่ชีวิตมาบรรจบกันเพราะซากกระดูกของผู้ชุมนุมในเหตุการณ์พฤษภาฯ 2535 โดยมี Comrade Aeon เป็นตัวละครหลักของเรื่อง 

ฉันไม่แน่ใจว่าควรออกเสียง Aeon ว่าอย่างไรดี เอื้อน? อ่อน? หรือควรออกเสียงว่า “อีออน” ตามคำภาษาอังกฤษ aeon ที่แปลว่า ช่วงเวลาที่ยาวนานไม่สิ้นสุด/ชั่วนิรันดร์ แต่สหายคนนี้เป็นลูกชาวบ้านคนไทยที่พ่อ “หาเช้ากินค่ำ” ฉันก็เดาว่าชื่อเขาคงออกเสียงเป็นคำภาษาไทยมากกว่า เนื่องจากชื่อ “เอื้อน” นั้นเพราะที่สุด และฉันคิดชื่อไทยอื่นไม่ออกแล้ว ดังนั้นในมโนสำนึกของฉัน เขาจึงเป็น สหายเอื้อน (ซึ่งไม่รู้ว่าออกเสียงตรงกับที่ผู้เขียนนิยายตั้งใจหรือไม่)

หากเราเดินผ่านสหายเอื้อนในกรุงเทพฯ ก็คงทึกทักเอาว่า เขาคือชายไร้บ้านคนหนึ่ง เนื้อตัวมอมแมม ผมยาวเป็นสังกะตัง เดินเท้าเปล่า อันที่จริงสหายเอื้อนก็ไม่ถึงกับไร้ “บ้าน” เสียทีเดียว เพราะเขาอาศัย (และหลีกหนีจากโลกแห่งความจริง) อยู่ในกระท่อมเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่ในที่ดินรกร้างใจกลางกรุงเทพฯ เป็นสถานที่—คงจะไม่กี่แห่งในเมืองกรุง—ที่เขารู้สึกปลอดภัย แลคล้ายอาการโหยหาป่า แต่คงเป็นคนละป่ากับป่าในจิตนาการของคนเมืองกรุง เพราะเขาโหยหา “ป่า” แบบที่เขาเคยเข้าไปอยู่ในสมัยที่เข้าร่วมพคท.หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2619 และต่อมาภายหลังคำสั่ง 66/2523 สหายเอื้อยและภรรยา (ซึ่งพบและแต่งงานกันในป่า) ก็ออกจากป่ากลับสู่เมือง ภรรยาผู้ซึ่งเคยศรัทธาลัทธิเหมาอย่างแรงกล้า สามารถกลับมาเรียนจนจบ, หางานทำในบริษัทโฆษณา, และปรับตัวเข้ากับโลกทุนนิยมได้ดีอย่างน่าใจหาย ต่างกับสหายเอื้อนที่ดูเหมือนจะไม่สามารถก้าวผ่าน “อดีต” ไปได้ แถมยังปล่อยให้ตัวเองติดกับดักแห่งห้วงอดีตด้วยความเต็มใจ (แต่จะเขาให้ก้าวผ่านมันไปได้อย่างไร ในเมื่อคนในสังคมยังไม่สามารถเอ่ยชื่อคนสั่งฆ่าออกมาดังๆ ได้เลย)

เขาไปสมัครงานเป็นครูสอนประวัติศาสตร์ที่โรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่ง แต่เขาถูกไล่ออกภายหลังเนื่องจากเขาสอนประวัติศาสตร์ 6 ตุลาฯ จากประสบการณ์จริงในฐานะของผู้รอดชีวิต เมื่อเขาไม่สามารถหางานสอนที่ไหนได้อีก เขาจึงเริ่มเดินเร่รอนไปในเมืองกรุง ตามหาพื้นที่สีเขียวที่นำพาเขากลับเข้า “ป่า” อีกครั้ง แม้จะเป็นเวลาสั้นๆ ก็ตาม ในขณะที่ภรรยาเขาได้ “เกิดใหม่” ในโลกทุนนิยม สหายเอื้อนเริ่มใช้เวลาใน “ป่า” ของเขามากขึ้น แล้ววันหนึ่งเขาก็ไม่กลับบ้านที่มีภรรยาและลูกชายสองคน... อีกเลย

ดูเหมือนสหายเอื้อนจะใช้เวลาในแต่ละนาทีที่ตื่นเพื่อสังเกตและจดจำการเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยาในกรุงเทพฯ—เมืองที่ผู้คนผ่านมา ผ่านไป และเหมือนจะไม่มีใครจ้องมองมันอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนระดับน้ำในคลอง การจมลงทีละนิดของผืนแผ่นดินที่รองรับตึกระฟ้ามหาศาล ซากสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่หลับไหลใต้ชั้นดินเหนียว แมวที่ตายอย่างประหลาด หมาข้างถนน การผสมพันธุ์ของตัวเหี้ย บรรดางูสารพัดชนิด นกอพยพ รังผึ้งที่ซ่อนอยู่ตามซอกตึก รากของต้นไทรที่หยั่งลึกใต้ดิน ฯลฯ ในกระท่อมเล็กๆ ของเขาถึงเต็มไปด้วยตัวอย่างซากสัตว์ตายแล้วสารพัดชนิด—กบ งู ค้างคาว ฯลฯ รวมทั้งสมุดบันทึกกองโตที่เรียงร้อยเรื่องราวของระบบนิเวศในกรุงเทพฯ สหายเอื้อนได้พาผู้อ่านท่องไปในเมืองกรุงที่เราเองอาจเคยผ่านเข้าไปหรืออาศัยอยู่ แต่ไม่เคยได้มองมันอย่างเต็มตา สูดกลิ่นโมเลกุลและอนุภาคต่างๆ ที่ลอยอยู่ในอากาศอย่างเต็มปอด หรือเงี่ยหูฟังทุกเสียงและความเงียบงันอย่างตั้งอกตั้งใจ 

ขณะที่เฝ้าดูธรรมชาติผ่านเลนส์และจินตนาการของสหายเอื้อน ฉันสัมผัสได้ถึงความอ่อนโยน ละเมียดละไม และความงดงามบางอย่างที่ยังเหลืออยู่ของโลก แล้วบาดแผลต่างๆ ที่เกาะกินใจฉันมันก็ถูกรักษาอย่างประหลาด ฉันเองไม่แน่ใจว่านี่คือพลังของวรรณกรรมและตัวหนังสือ หรือเป็นเพราะการสัมผัสกับโลกธรรมชาติ—สายน้ำ ต้นไม้ เสียงนกร้อง—แม้เพียงแค่ในจิตนาการ ก็มีพลังเยียวยามนุษย์ นี่อาจเป็นเหตุที่สหายเอื้อยหมกมุ่นกับการจดบันทึกความเป็นไปของระบบนิเวศในกรุงเทพฯ เพื่อเยียวยาบาดแผลในใจของเขา เพื่อหาเหตุผล หรือสายใยอะไรสักอย่างที่ยึดเหนี่ยว/เกี่ยวชีวิตกระจ้อยร่อยของเขาไว้กับโลกใบนี้ 

นอกจากเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงของเมืองกรุงที่ไม่มีใครสังเกตแล้ว สหายเอื้อนยังกลายเป็นคนเฝ้ากระดูกของผู้คน (ที่ถูกทำให้ไม่มีชื่อ/ไม่มีหน้า) อยู่หลายปีโดยที่เขาเองก็ไม่รู้ตัว ไม่ใช่เพราะเขาเลือกที่จะไม่รับรู้หรือไม่จดจำ แต่เพราะความเลือดเย็นและเหี้ยมโหดที่มนุษย์กระทำต่อกันนั้นหนักหนาสาหัสเกินกว่าที่จิตใจดวงหนึ่งจะรับไหว มันโหดร้ายเกินไปจนทำให้อะไรบางอย่างข้างในตัวเขาได้แตกสลายอย่างย่อยยับในคืนนั้น คืนที่เขาไปแอบเห็นร่าง—ศพแล้วศพเล่า—ที่เคยเป็นเจ้าของกระดูกเหล่านั้น ถูกโยนลงหลุมในป่ารกร้างกลางกรุง หลังเหตุการณ์การประท้วงรัฐบาลในเดือนพฤษภาฯ 2535  

แม้นี่จะเป็นเพียงเรื่องแต่ง แต่มันกลับสมจริงอย่างน่าเศร้าเหลือเกิน เพราะวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดคือสิ่งที่มีตัวตนอยู่จริงในสังคมไทย เพราะรัฐไทยไม่เคยรับผิดชอบต่อการสังหารหมู่ผู้ชุมนุมทางการเมืองอย่างจริงใจเลย และเพราะเราไม่เคยรู้เลยว่าจำนวนคนตายจากการสลายการชุมนุมแต่ละครั้งมีเท่าไหร่กันแน่? มีคนสูญหายกี่คนและเขาเหล่านั้นคือใคร? มีศพผู้ชุมนุมซุกซ่อนอยู่ที่ไหนบ้างหรือเปล่า?  

สำหรับฉัน สหายเอื้อนจึงเป็นตัวแทนของคนที่มองเห็นความรุนแรงโดยรัฐอย่างเต็มสองตาและรับรู้ถึงความโหดเหี้ยมของมันอย่างเต็มอก เขาคือตัวแทนของมนุษย์ที่รู้สึกถึงสิ่งต่างๆ รอบตัวอย่างซื่อสัตย์และซื่อตรง เขาคือตัวแทนของความแตกสลาย เป็นความแตกสลายเดียวดายของคนที่ต้องมีชีวิตอยู่ในสังคมที่ปกคลุมด้วยความเงียบงัน ไม่ใช่ความเงียบเพราะความสงบ (ซึ่งฉันเชื่อว่าไม่เคยมีอยู่จริง และจะไม่วันมีอยู่จริง ตามใดที่มนุษย์ยังต้องปฏิสัมพันธ์กันอยู่) แต่เป็นความเงียบจากกฎหมายที่ปิดคาดปากคนเอาไว้ และเป็นความเงียบเพราะผู้คนพร้อมใจกันหุบปาก เพราะในบางครั้ง มนุษย์นั้นขลาดเขลาเกินกว่าจะเผชิญหน้ากับความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์เพื่อเรียนรู้จากมัน

เมื่อความไม่สมเหตุสมผล, คำโป้ปดมดเท็จ, และยากล่อมประสาทของรัฐถูกรับรองโดยคนส่วนใหญ่—ทั้งที่เต็มใจและไม่เต็มใจ, ทั้งเชื่อในน้ำคำของรัฐอย่างบริสุทธิ์ใจ หรือเชื่อเพราะหลอกตัวเอง คนอย่างสหายเอื้อนจึงกลายเป็นคนบ้า เป็นคนบ้าเพราะรู้สึกมากเกินไป เป็นคนบ้าที่ไม่อาจใช้ชีวิตเชื่องๆ ไหลไปตามกระแสธารของสังคมโดยไม่ตั้งคำถามอะไร เป็นคนบ้าที่ปล่อยให้ตัวเองติดกับดักของห้วงอดีต ยังคงโกรธเกรี้ยว ยังคงหลั่งน้ำตา ...

แต่คนบ้าอย่างสหายเอื้อยนี่เองที่ใส่ใจความเป็นไปและความอยู่รอดของสังคมมนุษย์ คนบ้าแบบนี้เองที่คอยจดบันทึกถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างแข็งขัน—เพื่อกันลืม เพราะในสังคมรัฐเผด็จการที่คอยลบและเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่ได้ตลอดเวลา การบันทึกความทรงจำคืออาวุธอันทรงพลังไม่กี่อย่างที่ประชาชนอย่างเรามี

ในบทสุดท้ายของนิยาย สหายเอื้อนยังคงจดบันทึกไปเรื่อยๆ แม้ว่าวันหนึ่งกระท่อมหลังน้อยและทุกสิ่งที่อยู่ในนั้นถูกเผาลงจนเหลือแต่เถ้าถ่าน เขายังคงขีดเขียนตามผนังกำแพง ตามตั๋วรถเมล์ ด้านหลังของใบเสร็จ หรือวัสดุอะไรก็ตามแต่ที่จะสรรหามาได้ เขียนเสร็จแล้วก็ทิ้งไว้ตามแต่ใครจะสนใจอ่าน บางครั้งเขาก็เขียนเล่าเรื่องราวที่นักศึกษาถูกล้อมปราบในเช้าวันที่ 6 ตุลาฯ บ่อยครั้งเขาก็ขีดเส้นเล็กๆ ยี่สิบเจ็ดเส้นทิ้งไว้ด้วย ซึ่งเป็นจำนวนเดียวกับศพผู้ชุมนุมปี 2535 ที่เขาเคยพบเห็นเป็นพยาน เขายังเดินท่องไปในกรุงเทพฯ แม้ว่าป่ารกที่ให้เขาได้เข้าไปซ่อนตัวจะหายากขึ้นทุกวัน แต่เขาก็ไม่หยุดที่จะเขียนบันทึก แม้ว่าสิ่งที่เขาเขียนจะถูกลบหรือถูกกลบไปก็ตาม

…….
ในการต่อสู้อันยาวนานเพื่ออิสรภาพและประชาธิปไตย บางทีสิ่งที่คนตัวเล็กๆ ทำได้ก็คือสิ่งนี้: 
สังเกต บันทึก จดจำ 
ก้าวเดิน
และมีชีวิตอยู่
มี ชีวิต อยู่
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net