เสวนา “เ(สื่อ)ม สั่ง ตาย” | 6 ต.ค. 65 [คลิป]

6 ต.ค. 65 ในกิจกรรมรำลึกในวาระ 46 ปี 6 ตุลาคม 2519 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ช่วงบ่าย มีวงเสวนา “เ(สื่อ)ม สั่ง ตาย” วิทยากรโดย นิธินันท์ ยอแสงรัตน์, ปนัดดา เลิศล้ำอําไพ, ชนายุส ตินารักษ์ และฐปนีย์ เอียดศรีไชย ดำเนินรายการโดย จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ โดยเป็นการพูดถึงบทบาทสื่อมวลชนในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เปรียบเทียบกับสถานการณ์สื่อและการเมืองปัจจุบัน

ช่วงแรก นิธินันธ์ ยอแสงรัฐ กล่าวว่า ตนเองเข้ามาเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ในปี 2516 เรียนจบในปี 2519 เป็นช่วง 4 ปี ที่แทบจะไม่ได้เรียนหนังสือ ซึ่งหลังจากเรียนจบแล้วก็ไม่ได้หนีเข้าป่า เนื่องจากไม่เชื่อในพรรคการเมือง แต่จะกลับไปอยู่บ้านก็ไม่ได้ ต้องย้ายหนี มีทหารมาเฝ้าหน้าบ้าน ไม่มีสตางค์แต่อยากเรียนต่อ จึงเลือกที่จะมาเป็นนักข่าวก็ โดยหลังจาก 6 ตุลาหนังสือพิมพ์ถูกปิดหมด ตอนนั้นผ่านมาไม่นานจึงเลือกสมัครไปที่เครือเดอะเนชั่น และได้ทำงานที่นั่น

“กรอบคิดของคนทำงานข่าวรุ่นเก่า จะหลงตัวเอง ที่คิดว่าเราไม่รับเงินก็ดีแล้ว ไม่ได้รับซองขาวจากใคร แต่จริง ๆ เราสมยอมกับผู้มีอำนาจ ความเป็นสื่อภาษาอังกฤษทำให้เราจองหอง ซึ่งวิธีการคิดแบบนี้เป็นสิ่งที่ตื้นเขินมาก”

นิธินันท์ กล่าวต่อว่า สื่อสามารถเลือกข้างได้ แต่วารสารศาสตร์แบบโฆษณาประชาสัมพันธ์ ทำแบบนั้นไม่ได้ และต้องให้ความเที่ยงธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งส่งผลให้สื่อเข้าใจผิด และคิดว่าเลือกข้างแล้วไม่จำเป็นต้องให้ความเป็นธรรมกับสองฝ่าย แต่ในปัจจุบันด้วยการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่เข้าใจในเรื่องสิทธิเสรีภาพมากขึ้น สื่อเองก็ต้องปรับตัวด้วย ส่วนสื่อหัวเก่าก็อยู่แบบของเขา ขึ้นอยู่กับความเชื่อถือของประชาชน และตนเองก็คัดค้านการมีสมาคมสื่อเสมอ เวลาพูดว่ารัฐลิดรอนสิทธิเสรีภาพสื่อ สื่อเองก็ต้องปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนเช่นกัน สื่อและประชาชนก็ต้องยืนหยัดต่อสู้ในความเชื่อของตนเองเช่นกัน

ปนัดดา เลิศล้ำอำไพ อภิปรายถึงชนวนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ว่าสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นตอนที่จอมพลถนอม กิตติขจร บวชเป็นสามเณรแล้วกลับเข้าประเทศ เมื่อนักศึกษาก็ไม่ยอมฝ่ายที่มีอำนาจ เหตุการณ์จึงได้เริ่มปะทุขึ้น “แล้วหลักวิชามารทั้งหลายในช่วงการชุมนุมที่ผ่านมา ให้ย้อนกลับไปดูว่ามีลักษณะคล้ายกันกับช่วงปี 2518 - 2519 ถูกจัดวางอย่างดี ว่าถ้าเกิดแบบนี้รัฐจะตอบโต้อย่างไร”

เธอกล่าวเปรียบเทียบกับการชุมนุมของเยาวชนในปี 2563 ว่าเป็นการชกที่ตรงจุด และตรงเกินไป ทำให้ฝ่ายรัฐต้องใช้ลูกแรงมาต่อสู้ ซึ่งภาครัฐก็ไม่เคยคำนึงว่าจะมาถึงจุดนี้ และส่วนตัวเชื่อว่าอำนาจที่แท้จริงไม่ได้อยู่ในมือสื่อ การต่อสู้กับความซับซ้อนของอำนาจหลายชั้น ที่สังคมไทยมีความซับซ้อนมากกว่านั้น ทั้งนี้ยังมีความหวังให้ประชาชนเติบโตด้วยตัวเอง คนไทยไม่ได้โง่ คงจะมีวันที่ประชาชนเติบโตได้ เพียงแต่ตอนนี้รัฐโตเร็วกว่า เพราะมีงบประมาณ และเครื่องมือทุกอย่าง

ด้านชนายุส ตินารักษ์ กล่าวว่า ในเวลานั้นเธอเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะวารสารศาสตร์ชั้นปีที่ 3 บาดเจ็บเพราะถูกยิงในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และตกเป็นผู้ต้องหาถูกจับเข้าคุกหลายเดือน เมื่อถูกปล่อยออกมาก็มีเจ้าหน้าที่ทหารมาเฝ้าที่หน้าบ้าน จึงตัดสินใจหนีเข้าป่าในจังหวัดเชียงราย และออกมาในปี 2525 หลังจากออกมาก็กลับมาเรียนต่อจนจบ และได้ทำงานข่าวด้านการเมือง เศรษฐกิจ ปัจจุบันก็เกษียณแล้ว

เธอเปรียบเทียบการควบคุมสื่อของรัฐ ในเหตุการณ์ปราบปรามการชุมนุมในอดีต กับปัจจุบันว่า แม้ตอนนี้เรามีข้อมูลมากขึ้นจากเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น แม้เราจะเชื่อว่าเรามีอำนาจอยู่ในมือจากจากการใช้โทรศัพท์มือถือ แต่ความจริงแล้วรัฐก็สามารถควบคุมสื่อได้อยู่ดี เพียงแค่ต้องใช้งบประมาณเยอะเท่านั้น

“การรายงานข่าวท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรง นักข่าวลืมข้อห้ามที่รัฐห้ามเรารายงานไปหมดอยู่แล้ว เพราะสื่อควรรายงานความจริงที่เกิดขึ้นอยู่ตรงหน้าว่าใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร แล้วค่อยมาวิเคราะห์ต่อ ผู้อ่านหรือประชาชนสามารถตัดสินใจเองได้ว่าจะเชื่อหรือไม่ และจนถึงวันหนึ่งมันเลี่ยงไม่ได้ที่จะรายงานความเปลี่ยนแปลง ก็ต้องชน จงอย่าลืมว่าอะไรคืออุปสรรคของเรา”

ส่วน ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าวมากประสบการณ์จากสถานี ITV และปัจจุบันเป็นผู้ก่อตั้ง The Reporter ระบุว่าไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 แต่ในช่วง 23 ปีที่ผ่านมาในฐานะนักข่าว ได้ซึมซับเหตุการณ์ทางการเมือง รวมไปถึงอยู่ในเหตุการณ์ที่สำคัญมาโดยตลอด โดยเฉพาะการอยู่ในห้วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงของสื่อ จากระบบอนาล็อกมาเป็นระบบดิจิทัล ซึ่งโซเชียลมีเดียส่งผลอย่างมากในการชุมนุมที่ผ่านมาเพราะทุกคนเป็นสื่อได้ การต่อสู้ของกลุ่มนักศึกษาจึงมีพลังอีกครั้ง

ถ้าเปรียบเทียบปี 2563 ก็คงไม่ต่างกับปี 2519 ในแง่ที่เป็นช่วงเวลาสำคัญ เราที่เป็นสื่อก็รายงานเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เป็นสถานการณ์ที่สื่อเองก็อาจตั้งตัวไม่ทันว่าเราต้องรายงานอย่างไร ไม่ใช่สื่อไม่อยากรายงาน แต่ด้วยโครงสร้างสื่อในขณะนั้น เราไม่รู้ขีดจำกัดว่าอยู่ตรงไหน

ผู้ก่อตั้ง The Reporters กล่าวด้วยว่า เป็นหนึ่งในสื่อที่ถูกเพ่งเล็งจากทาง กสทช. ในขณะนั้น แต่เราก็เริ่มฉีกกฎ สามารถรายงานสถานการณ์สดตรงนั้นได้ว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งนี่คือบทพิสูจน์ว่าสื่อพร้อมใจกันรายงานข่าว ก็ไม่มีอะไรมากีดกันเราได้ โดยตั้งแต่เป็นนักข่าวมา ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้เราเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสื่อมากขึ้น พอเจอเหตุการณ์หลายอย่าง ก็กลายเป็นประสบการณ์ที่ทำให้เราเรียนรู้ว่า การต่อสู้ทางการเมืองของไทยสื่อมีบทบาทสำคัญ สื่อที่รายงานข่าวตรงข้ามกับรัฐ ก็จะมีกระบวนการบางอย่างที่พร้อมคุกคาม หรือควบคุมเรา

"สื่อต้องทำหน้าที่ของตัวเอง เป็นเสียงสะท้อนให้ประชาชน และในที่สุดประชาชนจะมาปกป้องเราเอง สุดท้ายทุกการต่อสู้สิ่งสำคัญคือพลังของประชาชน ถ้าประชาชนไม่ลุกขึ้นสู้ สื่ออย่างเราก็มารายงานไม่ได้ พลังของคนที่เคลื่อนไหวต่างหาก ที่จะผลักดันสื่อให้ทำหน้าที่ ถ้าสื่อไม่ทำหน้าที่ก็จะเสื่อมและตายในที่สุด” ฐปนีย์กล่าวอย่างตกผลึก

สำหรับงานรำลึกที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ปีนี้ จัดภายใต้ชื่อ "46 ปี 6 ตุลา ตามหา(อ)ยุติธรรม 6 ตุลาคม 2565" โดยช่วงเช้ามีกิจกรรมที่ลานประติมากรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วนช่วงสายและช่วงบ่ายมีกิจกรรมเสวนาที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

เสวนา “ความหวังที่ไม่ตาย: วิวัฒนาการอุดมการณ์นักศึกษาผ่านยุคสมัย” [คลิป]

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท