Skip to main content
sharethis

เมธา มาสขาว เลขาฯ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย เปิด 5 ประเด็น นำเวทีประชาชน ย้ำพอกันที 8 ปีระบอบประยุทธ์ เตรียมผลักดันร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

 

7 ต.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานจาก เมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ว่า วันนี้ (7 ต.ค.) เครือข่าย 30 องค์กรประชาธิปไตย และภาคประชาชน จัดเวทีประชาชนแสดงพลัง "พอกันที! ยกเลิกระบอบประยุทธ์ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชน"

เมธา กล่าวว่าเปิดเวทีว่า เวทีนี้เป็นประชาชนสำแดงพลัง พอกันที! 8 ปี ยกเลิกระบอบประยุทธ์ และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชน โดยมี 5 ประเด็นสำคัญคือ

1. พอกันที 8 ปีประยุทธ์ ประชาชนต้องการหยุดรัฐบาลทหารกับการสืบทอดอำนาจ “รัฐราชการรวมศูนย์ที่มีกองทัพเป็นผู้นำ” สร้างการเมืองอำนาจนิยมครอบงำรัฐสภา และเศรษฐกิจทุนผูกขาดพรรคพวก ภายใต้การควบคุมบงการของ 3 นายพลอาวุโสจนเกิดการผูกขาด (Monopoly) ไปทั่วราชอาณาจักร กระทั่งการครอบงำองค์กรอิสระ

2. ระบอบประชาธิปไตยไทยไหลย้อนกลับไปสู่บรรยากาศเดือนตุลาคม 2516 และการขับไล่ 3 ทรราชในอดีต เกิดความคล้ายกันของเผด็จการ “ถนอม-ณรงค์-ประภาส” และเผด็จการ “ประยุทธ์-ประวิตร-อนุพงษ์” ที่สร้างเครือข่าย จปร.มารับใช้อำนาจของตนเอง

3. ประชาชนต้องการยกเลิกระบอบประยุทธ์ เพราะพวกเขาออกแบบและใช้รัฐธรรมนูญโดยปราศจากหลักการ รับใช้ตนเอง แต่กีดกันคนอื่น ดังตัวอย่างการบังคับใช้รัฐธรรมนูญในมาตรา 158

4. ประชาชนไม่พอใจคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ 6 เสียงที่ฟังไม่ขึ้น เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นผลพวงต่อเนื่องจากรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 จัดทำร่างโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  นอกจากนี้

4.1 คำตัดสิน ไม่อ้างรายงานการประชุม กรธ. ที่ต้องนับอายุนายกฯ ก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 และไม่อ้างเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่จำกัดวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ไว้ 8 ปี เพื่อไม่ให้ผูกขาดอำนาจทางการเมือง 

4.2 คำตัดสิน ไม่แย้งกรณี ป.ป.ช. เคยอ้างประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อเนื่อง ไม่ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินรอบสอง

4.3 คำตัดสิน วินิจฉัย ม.264 แบบตัดตอน เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นผลพวงต่อเนื่องจากรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 จัดทำร่างโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

5. ต้องร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชน หลังล่าสุดรัฐสภาตีตกร่างแก้รัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ มี ส.ว.เพียง 14 คน ที่ ยอมตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ ส.ส. จำนวน 333 คน ลงมติเห็นชอบ ตัดอำนาจ ส.ว. ยกเว้น พปชร.-ร.พ. และพรรคเล็ก ที่ผ่านมาตีตกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 60 ไปแล้วทั้งสิ้น 24 ฉบับ รัฐสภาโหวตผ่านร่างเดียว เรื่องแก้ระบบเลือกตั้ง ส.ส. แต่รัฐสภาเคยรับหลักการให้มี ส.ส.ร. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้มี ส.ส.ร. ดังนั้นจะปฏิเสธเรื่องนี้ไม่ได้ ที่จะเสนอให้มี ส.ส.ร.รอบใหม่ รวมถึงวิธีการเสนอผ่านกฎหมายการประชามติ พร้อมกันกับการเลือกตั้งทั่วไป ในคำถามให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย ส.ส.ร. น่าจะทำได้เลย ขณะที่ภาคประชาชนจะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชนคู่ขนานและนำเสนอต่อรัฐ ส.ส.ร. และสาธารณะ

เลขาฯ ครป. กล่าวว่า วันนี้คือเจตจำนงค์ของประชาชน ซึ่งจะแสดงผ่านการเลือกตั้งทั่วไป และข้อเสนอทางนโยบายต่อทุกสถาบันพรรคการเมือง เราไม่ต้องการรัฐทหารแบบพม่าอีกต่อไป

รายงานยังระบุด้วยว่า เครือข่ายที่ร่วมเวที นอกจากคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)แล้ว ยังประกอบด้วย โภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา นำเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ โดย ส.ส.ร., พริษฐ์ วัชรสินธุ นำเสนอการประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ต่อ ครม. รีเซ็ตประเทศไทย พร้อมการเลือกตั้ง, สมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล สมาชิกราษฎร สุนี ไชยรส อดีต ส.ส.ร. 2540 สรุปบทเรียน 25 ปี รัฐธรรมนูญ 2540, จำนงค์ หนูพันธ์ ประธานขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move), ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ เลขาธิการองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (P-Net), สมยศ พฤกษาเกษมสุข  ประธานกลุ่ม 24 มิถุนาเพื่อประชาธิปไตย, เยี่ยมยอด ศรีมันตะ กลุ่มสังคมนิยมประชาธิปไตย และสหภาพครูแห่งชาติ พะเยาว์ อัคฮาด  กลุ่มญาติผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ทางการเมืองปี 2553 เป็นต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net