สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 1-7 ต.ค. 2565

วงเสวนาถอดบทเรียน แรงงานข้ามชาติถูกละเมิดสิทธิแรงงาน-ละเมิดทางเพศ

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ และโครงการเพื่อหญิงย้ายถิ่นแม่สอดภายใต้การสนับสนุนจากโครงการ Safe & Fair และ UN Women Thailand ได้สัมมนาเรื่อง “บทเรียนและข้อเสนอแนะในการส่งเสริมการเข้าถึงความคุ้มครองของแรงงานหญิงข้ามชาติที่ประสบความรุนแรง”

น.ส.พรประไพ กาญจนรินทร์ ประธาน กสม. กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า จากข้อมูล พบว่า 1 ใน 3 ของผู้หญิงทั่วโลกเคยประสบความรุนแรงในชีวิต ในประเทศไทย พบผู้หญิง 44% ถูกกระทำความรุนแรงจากคนในครอบครัวหรือคนที่รู้จัก และ 87 % ของผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ได้ขอความช่วยเหลือใดๆ และมีอุปสรรคในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม แรงงานหญิงข้ามชาติเป็นกลุ่มที่เสี่ยงถูกกระทำความรุนแรง และถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่าง ๆ และยิ่งมีอุปสรรคในการเข้าถึงความช่วยเหลือจากปัญหาด้านภาษา และการไม่รู้สิทธิ อคติต่อแรงงานข้ามชาติ หรือสถานภาพการเข้าเมือง เป็นต้น การสัมมนาในวันนี้ถือเป็นการแลกเปลี่ยนและถอดบทเรียนที่เกิดขึ้นกับแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย อันน่าจะนำไปสู่แนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานในการให้ความช่วยเหลือคุ้มครองแก่แรงงานหญิงข้ามชาติตามหลักการสิทธิมนุษยชน เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติต่อไป

นางสาวสุภัทรา นาคะผิว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน 1ในผู้ร่วมอภิปราย กล่าวว่า รัฐธรรมมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 กำหนดว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพ และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน การเลือกปฎิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลด้วยเหตุต่างๆอาทิเชื้อชาติ สถานะของบุคคล จะกระทำมิได้ ดังนั้น สถานะการเข้าเมืองของผู้เสียหายในคดีอาญา จึงไม่ใช่ประเด็นที่จะนำมาเป็นเงื่อนไขที่จำกัดการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและการได้รับการเยียวยา และกล่าวเพิ่มเติมว่า สหรัฐอเมริกามีแนวปฎิบัตืที่จะทำให้ผู้เสียหายสบายใจที่จะเช้าแจ้งความ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกแจ้งความดำเนินคดีเกี่ยวกับสถานะการเข้าเมืองของตน ประกอบด้วย 3 Don’t ได้แก่ 1) Don’t Ask ไม่ให้ตำรวจสอบถามผูเสียหายเรื่องสถานะการเข้าเมือง 2) Don’t tell ไม่ให้ตำรวจส่งต่อข้อมูลสถานะการเข้าเมืองแก่หน่วยงานตรวจคนเข้าเมือง 3) Don’t Enforce ไม่ให้ตำรวจดำเนินการเกี่ยวกับการเข้าเมืองกับผู้เสียหาย ซึงถิอเป็นข้อท้าทายในการดำเนินการสำหรับประเทศไทย

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า สถิติการจับกุมคดีค้ามนุษย์ คดีความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กปี 2565 มีประมาณ 360 คดี มากกว่าการจับกุมตั้งแต่ปี 2561-2564 รวมกัน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. นี้ เป็นต้นไป จะเน้นทั้งการป้องกัน และการปราบปราม โดยตำรวจและ อัยการ จะทำงานร่วมกันตั้งแต่ต้น รวมทั้งเจ้าหน้าที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็จะทำงานร่วมด้วยเพื่อให้เกิดการเยียวยาที่เร็วขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการตั้งศูนย์พิทักษ์เด็กและสตรี เพิ่มกระบวนการทำงานร่วมกันกับสหวิชาชีพ และล่ามในการคัดแยกเหยื่อด้วย โดยจะมีการอบรมเจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศให้ครบ 100% ภายในปี 2566 จากปัจจุบันที่อบรมไปได้ 17-18 % ในช่วงท้าย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้ตอบข้อเรียกร้องของภาคประชาสังคม (NGO) ที่ต้องการให้ สตช. มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน เรื่องการช่วยเหลือผู้ถูกกระทำความรุนแรงหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยไม่ต้องคำนึงเรื่องสถานะบุคคลของผู้เสียหาย ว่า เรื่องนี้กำลังดำเนินการ โดยอยู่ระหว่างร่างระเบียบ

นางกุสุมา พนอนุอุดมสุข ผู้อำนวยการกองส่งเสริมสถาบันครอบครัว กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวว่า หากเป็นผู้พักพิงอยู่ใต้ชายคาเดียวกันไม่ว่าจะเป็นคนไทย หรือแรงงานต่างชาติ ถือว่าเป็นครอบครัว แรงงานข้ามชาติ ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มเปราะบางที่ต้องได้รับการดูแล ดังนั้นเราจึงร่วมกับยูเอ็น จัดทำระเบียบขั้นตอนการปฏิบัติระดับชาติ เพื่อยุติและแก้ปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง และแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะเหตุฉุกเฉิน ต้องได้รับการช่วยเหลือก่อนค่อยมาว่ากันเรื่องของการเข้าเมืองถูกหรือผิดกฎหมาย เพื่อดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ต่อไป

นางสาวนรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับภาคประชาสังคมในการดูแลสิทธิแรงงานมาอย่างต่อเนื่อง มีการเปิดรับเรื่องร้องเรียนผ่านสายด่วน 1111 กด 77, แอพพลิเคชั่น Justice Care และ สำนักงานยุติธรรมจังหวัด ซึ่งจะช่วยเหลือและให้คำปรึกษาทางกฎหมายฟรี และน่ายินดีที่เมื่อเร็วๆนี้คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิเห็นชอบให้จ่ายเยียวยา แก่จำเลยในคดีอาญา โดยให้จ่ายกับแรงงานข้ามชาติที่เป็นเหยื่อถูกกระทำความรุนแรงที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ และเยียวยาให้กับแรงงานข้ามชาติที่ตกเป็นแพะในคดีความ ไม่ว่าจะเข้าเมืองแบบถูกกฎหมาย หรือผิดกฎหมายก็ตาม และหลักเกณฑ์ดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว จากเดิมที่ให้เฉพาะคนเข้าเมืองถูกกฎหมายเท่านั้น

นางสาวนภสร ทุ่งสุกใส ที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยราวๆ 2.2 ล้านคน ในแง่ของการคุ้มครองสิทธิแรงงานจะมีมาตรการเชิงรุก คือลงพื้นที่ตรวจสถานประกอบการ โดยเฉพาะที่เสี่ยงจะละเมิดสิทธิแรงงาน เช่น ภาคเกษตร และประมง ปีที่ผ่านมามีการตรวจพบแรงงานข้ามชาติหญิงถูกละเมิดสิทธิตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานกว่า 2 หมื่นราย เช่น สิทธิวันหยุด วันลา ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา เป็นต้น นอกจากนี้ยังเปิดรับเรื่องร้องเรียนด้วย โดยไม่ดูว่าเข้าเมืองถูกกฎหมายหรือไม่ หากถูกละเมิดก็จะคัดกรองระดับความเสียหาย และให้การช่วยเหลือก่อน จากนั้นค่อยว่ากันในเรื่องของความผิดหลบหนีเข้าเมือง

นพ.ปณิธาน รัตนสาลี รอง ผอ. กองบริหารการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข จะดูแลรักษาแรงงานข้ามชาติทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเข้าเมืองถูกกฎหมายหรือไม่ก็ตาม เป็นการรักษาตามหลักสิทธิมนุษยชนไปก่อน เรื่องค่ารักษา และอื่นๆค่อยมาว่ากันทีหลัง ซึ่งเมื่อมีเคสเข้ามาจะมีเจ้าหน้าที่นักสังคมสงเคราะห์ทำการประเมิน และระหว่างรักษาก็จะร่วมกับสหวิชาชีพในการตรวจสอบข้อมูล ว่าหากรักษาหายแล้วจะสามารถกลับเข้าไปอยู่ในครอบครัว หรือชุมชนได้หรือไม่ ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดเหตุซ้ำที่อาจจะรุนแรงขึ้น

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 7/10/2565

ชูมาตรการลดหย่อนภาษี 2.5 เท่า จูงใจเอกชนพัฒนาบุคลากรใน EEC

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพได้มาตรฐานรองรับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะตลาดแรงงานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้ร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ดำเนินโครงการพัฒนาบุคลากรให้ตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 กลุ่มอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC เพื่อให้ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ผ่านความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน

ทั้งนี้ มีเป้าหมายให้ประชาชนในพื้นที่ “มีงานทำ มีรายได้ดี สร้างสังคม EEC” โดยมีคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC HDC) เป็นกลไกลสำคัญที่ทำหน้าที่ประสาน และบูรณาการการพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ EEC อย่างใกล้ชิด และมีประสิทธิภาพสูงสุด อีกทั้งร่วมผลักดันให้เกิดศูนย์เครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาทักษะบุคลากรให้ตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 14 ศูนย์

โดยมีแนวทางการพัฒนาบุคลากร 2 รูปแบบ ได้แก่

1) การผลิตบุคลากรพร้อมใช้ เอกชนร่วมสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเรียน 100% และรับนักศึกษาเข้าฝึกงานในสถานประกอบการ พร้อมทั้งรับเข้าทำงานด้วยอัตราเงินเดือนที่สูงกว่ามาตรฐาน (EEC Model Type A) ปัจจุบันได้ดำเนินไปแล้ว จำนวน 8,080 คน

2) การผลิตบุคลากรในระยะเร่งด่วน ด้วยการฝึกอบรมระยะสั้น Short Course เอกชนร่วมสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม 50% และรัฐ 50% (EEC Model Type B) ปัจจุบันดำเนินการไปแล้ว จำนวน 7,927 คน และมีหลักสูตรสำหรับการฝึกอบรมระยะสั้น ที่สถานศึกษาจัดทำร่วมกับภาคเอกชนกว่า 100 แห่ง และผ่านการรับรองจากคณะทำงานพิจารณารับรองหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะบุคลากร ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมขั้นสูง จำนวน 169 หลักสูตร จากเป้าหมาย 200 หลักสูตร ในปี 2566

ทั้งนี้ ภาคเอกชนที่ร่วมสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม สามารถนำหลักฐานไปหักภาษีเงินได้นิติบุคคล 2.5 เท่า เพื่อเป็นการจูงใจนักลงทุนให้มีการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรม 4.0

น.ส.รัชดา กล่าวว่า โครงการการพัฒนาทักษะบุคลากรให้ตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตั้งเป้าเพื่อจะช่วยพัฒนาบุคลากรด้วยหลักสูตรระยะสั้น ที่ต้องการยกระดับทักษะของบุคลากร หรือนักศึกษาที่กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยได้ออกแบบหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ ซึ่งถือเป็นการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยผลักดันอุตสาหกรรมของประเทศไทยต่อไปในอนาคต

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 6/10/2565

ก.แรงงาน พร้อมช่วยเหลือแรงงานไทย ถูกเอาเปรียบในฟินแลนด์

วันที่ 5 ต.ค. 2565 นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากกระทรวงแรงงานและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้รับการประสานงานภายในจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ และกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ว่ามีแรงงานไทย 17 คน ร้องเรียนไปยังตำรวจฟินแลนด์ว่ามีการบังคับใช้แรงงาน ให้กู้เงินจากไทย ที่พักไม่ดี และได้ค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม

ในวันนี้นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน จึงได้มอบให้ตนและคณะ มารับแรงงานไทยกลุ่มนี้ที่เดินทางกลับมากับผู้ประสาน เนื่องจากหมดฤดูกาลเก็บผลไม้ โดยถึงสนามบินสุวรรณภูมิ เวลา 16.25 น. ด้วยสายการบินฟินแอร์ เที่ยวบินที่ AY 143 ซึ่งแรงงานที่ร้องเรียนมีทั้งหมด 17 คน จากจำนวนแรงงานที่เดินทางกลับมาทั้งหมด 209 คน

นายไพโรจน์ กล่าวว่า ในเรื่องนี้นั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยแรงงานไทยทุกคนที่ไปทำงานในต่างประเทศ เนื่องจากแต่ละคนเป็นเสาหลักของครอบครัวและแต่ละปีมีรายได้ส่งกลับประเทศเป็นจำนวนมาก นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงานจึงกำชับให้กรมการจัดหางาน ดูแลแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศเป็นอย่างดี พร้อมรับเรื่องร้องทุกข์ และอำนวยความสะดวกให้แก่คนงานที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศกรณีต้องการความช่วยเหลือด้วย

นายไพโรจน์ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลของกรมการจัดหางาน ในฤดูกาลปี 2564 มีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานในประเทศฟินแลนด์ 3,201 คน มีรายได้เฉลี่ยหลังหักค่าใช้จ่าย 110,541 บาท/คน คิดเป็นรายได้รวมก่อนหักค่าใช้จ่าย 703,832,250 บาท และเป็นรายได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่าย 325,874,549 บาท มีการร้องเรียนเกี่ยวกับค่าจ้าง หรือสภาพการจ้างการทำงาน 70 ราย คิดเป็น 2 เปอร์เซ็นต์จากผู้ที่เดินทางไปทำงานในฟินแลนด์ทั้งหมด ซึ่งกรมการจัดหางานได้แก้ไขปัญหาเสร็จทุกรายแล้ว สำหรับฤดูกาลปี 2565 แรงงานไทยเดินทางไปทำงานในฟินแลนด์ 3,966 คน เดินทางกลับมาแล้ว 1,666 คน ซึ่งพบว่ายังไม่มีผู้ยื่นเรื่องร้องเรียน

กระทรวงแรงงานโดยกรมการจัดหางาน พยายามอย่างต่อเนื่องในการเพิ่มความคุ้มครองให้แก่แรงงานไทยที่จะไปทำงานเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์ ทั้งในด้านรายได้และสวัสดิการต่างๆ ที่แรงงานไทยจะได้รับ โดยผลักดันให้ฟินแลนด์ ให้ความคุ้มครองแรงงานไทยแบบ Seasonal Worker เนื่องจากในปัจจุบันแรงงานไทยยังคงเดินทางไปทำงานด้วยวีซ่าประเภทท่องเที่ยว

ล่าสุด รมว.แรงงาน ได้นำคณะไปตรวจเยี่ยมแรงงานที่ไปเก็บผลไม้ป่าในประเทศฟินแลนด์ และสวีเดน ระหว่างวันที่ 3-13 ก.ย. 2565 โดยเข้าเยี่ยมคารวะ นางตูล่า ฮาไตเนน รมว.การจ้างงานแห่งกระทรวงเศรษฐกิจและการจ้างงานสาธารณรัฐฟินแลนด์ เพื่อหารือประเด็นการผลักดันให้การเดินทางไปทำงานเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์ของแรงงานไทย ถูกต้องตามหลักมาตรฐานการจ้างงานสากล ผลักดันให้แรงงานไทยได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายของทั้งสองประเทศ รวมทั้งผลักดันให้นายจ้างทั้งในไทยและฟินแลนด์จัดสวัสดิการ สิทธิประโยชน์ อันพึงมีพึงได้ให้แก่แรงงานไทยที่เดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์

อย่างไรก็ดี กระทรวงแรงงานได้จัดทำมาตรการเดินทางไปทำงานในฟินแลนด์ ฤดูกาลปี 2022 โดยดูแลแรงงานตั้งแต่ก่อนเดินทาง ขณะทำงานอยู่ในต่างประเทศ และเมื่อกลับถึงประเทศไทย ดังนี้

1.มาตรการก่อนการเดินทางไปทำงาน กรมการจัดหางาน ได้จัดประชุมหารือร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดมาตรการให้ความคุ้มครองแรงงานไทย โดยจัดทำมาตรการเดินทางไปทำงานในฟินแลนด์ ฤดูกาลปี 2022 ให้บริษัทผู้รับซื้อผลไม้ป่า/บริษัทผู้ประสานงานในประเทศไทย ปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรการ เช่น จัดทำประกันการเดินทาง และต้องประกันรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายให้คนงานไทยไม่ต่ำกว่า 30,240 บาท โดยวางหลักประกันการเดินทาง (Bank Guarantee) ณ ธนาคาร ธกส. นอกจากนั้น ยังกำหนดมาตรการเกี่ยวกับสวัสดิการ เช่น การจัดเตรียมที่พักไม่เกิน 6 คน/ห้อง ห้องน้ำสำหรับแต่ละห้องพัก รถสำหรับเดินทางไปเก็บผลไม้คันละไม่เกิน 6 คน เป็นต้น

2.มาตรการคุ้มครองคนงานในระหว่างทำงานอยู่ในต่างประเทศ กรมการจัดหางานได้ประสานความร่วมมือประสานสถานทูต บริษัทผู้รับซื้อผลไม้ป่าในฟินแลนด์ และบริษัทผู้ประสานงานในประเทศไทย ในการให้ความช่วยเหลือ ดูแล แรงงานไทยในระหว่างทำงานอยู่ในประเทศฟินแลนด์ และ 3.มาตรการหลังจากเดินทางกลับถึงไทย มีการหารือร่วมกันระหว่าง กรมการจัดหางาน ตัวแทนผู้รับซื้อ ผู้ประสานงาน และผู้แทนลูกจ้างเพื่อทราบปัญหา อุปสรรค ที่เกิดขึ้น โดยนำไปพิจารณาแนวทางดำเนินการในฤดูกาลถัดไป

นอกจากนี้ กรมการจัดหางานยังได้ดำเนินการสั่งการไปยังสำนักงานจัดหางานจังหวัด/สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 เพื่อสำรวจสภาพความเป็นอยู่ รายได้ และความพึงพอใจในกระบวนการเดินทางไปทำงาน รวมถึงรับคำร้อง ในกรณีที่แรงงานได้รับค่าจ้างต่ำกว่าที่ประกันรายได้ไว้ เพื่อดำเนินการหักจากหลักประกันต่อไป

ซึ่งจากข้อมูลของกรมการจัดหางานที่ได้สำรวจข้อมูลความพึงพอใจในการเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในประเทศฟินแลนด์จากผู้ประสานงานฝ่ายไทยที่จัดส่งแรงงานไทยไป 300 คน ปรากฏว่า แรงงานแต่ละคนมีรายได้เฉลี่ยหลังหักค่าใช้จ่ายแล้วคงเหลือ จำนวน 104,000 บาทต่อคน รายได้ต่ำสุดสำหรับแรงงานที่ไปทำงานครั้งแรก จำนวน 44,000 บาท และรายได้สูงสุดจำนวน 280,000 บาท ซึ่งแรงงานไทยมีความพึงพอใจและประสงค์ที่จะเดินทางไปทำงานในปีถัดไปอีกด้วย

“กรมการจัดหางานขอยืนยันว่าได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ในทุกมิติ เพื่อให้การดูแลแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในตางประเทศ ให้ได้รับค่าจ้าง สิทธิ สวัสดิการ อย่างครบถ้วน ตามนโยบายของรมว.แรงงาน สำหรับกรณีที่มีแรงงานร้องเรียนนั้น กรมการจัดหางาน จะเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงจากแรงงานที่เดินทางกลับมาในวันนี้เพื่อจะรวบรวมข้อมูลหาแนวทางช่วยเหลือตามขั้นตอนต่อไป” นายไพโรจน์ กล่าว

ทั้งนี้ หากต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ ทางโทรศัพท์หมายเลข 02-245-0978 และ 02-245-9430 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694

ที่มา: ข่าวสด, 5/10/2565

ฟินแลนด์จับประธานบริษัทเก็บเบอร์รี่ ฐานค้ามนุษย์แรงงานไทยไปเก็บผลไม้ป่า

ไม่นานหลังแรงงานไทยราว 10 คน เดินทางกลับจากฟินแลนด์ หลังร้องขอความช่วยเหลือ ถูกค้ามนุษย์ไปเก็บเบอร์รี่ป่า แต่ไม่ได้รับค่าตอบแทน และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ตอนนี้ ตำรวจฟินแลนด์เคลื่อนไหว จับกุมประธานบริษัทเบอร์รี่รายหนึ่ง และคนไทยที่เป็นนายหน้านำเข้าแรงงานไทยแล้ว

ตำรวจฟินแลนด์ได้ควบคุมตัวนาย จุกกา คริสโต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอ บริษัท โพลาริกาออย (Polalica Oy) บริษัทเบอร์รี่ ฐานต้องสงสัยค้ามนุษย์ และเตรียมนำขึ้นศาลแขวงสุดสัปดาห์นี้

สื่อฟินแลนด์คือ วายแอลอี นิวส์, เอสวีที, และอีกหลายสำนัก รายงานตรงกันว่า นายคริสโตดำเนินการนำแรงงานไทยมาฟินแลนด์ เพื่อเก็บเบอร์รี่ตามฤดูกาลมาหลายปีแล้ว

สำนักงานสืบสวนแห่งชาติฟินแลนด์ หรือ เอ็นบีไอ และตำรวจพิทักษ์ชายแดนฟินแลนด์ ยืนยันว่า ได้ดำเนินการสืบสวนนายคริสโต ฐานค้ามนุษย์แล้ว แม้ว่าทางบริษัท โพลาริกา จะออกแถลงการณ์ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ รวมถึงข้อหาทางอาญาอื่น ๆ ต่อนายคริสโต

ทางบริษัทยืนยันว่า ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการเก็บเบอร์รี่โดยแรงงานต่างชาติมาโดยตลอด รวมถึงได้ประสานกับทางการไทย เพื่อพัฒนาระบบจัดจ้างแรงงานเพื่อเก็บเบอร์รี่อย่าง “มีความรับผิดชอบ” พร้อมยืนยันว่า การสืบสวนคดีดังกล่าว จะไม่กระทบกับการปฏิบัติงานของทางบริษัทแต่อย่างใด

บริษัท โพลาริกาออย นำเข้าแรงงานไทยเพื่อมาเก็บเบอร์รี่ในฟินแลนด์ ปีนี้มากถึง 1,100 คน

สำนักข่าวเดอะ รีพอร์ตเตอร์ รายงานว่า นอกเหนือจากนายคริสตาแล้ว มีคนไทยอีก 1 รายถูกจับกุมด้วย ฐานค้ามนุษย์แรงงานไทยไปเก็บผลไม้ป่า ทราบชื่อว่า น.ส.กัลยากร พงษ์พิศ ของบริษัทที่ประสานงานแรงงานไทยมาเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์

มีรายงานด้วยว่าตำรวจฟินแลนด์ ได้ช่วยเหลือแรงงานไทยอีก 46 คน อยู่ระหว่างการสอบสวนในที่ปลอดภัยแล้ว

นี่ถือเป็นคดีใหญ่ของตำรวจฟินแลนด์ ที่ขยายผลมาจากการสอบสวนการค้ามนุษย์ ที่นำแรงงานไทยมาเก็บผลไม้ป่าระหว่างปี 2563-2565 พุ่งเป้าไปที่บริษัทในพื้นที่ทางเหนือของประเทศ และบริษัทนายหน้าไทย ที่รับสมัครคนงานไปเก็บเบอร์รี่ที่ฟินแลนด์

ที่มา: BBC Thai, 5/10/2565

"กองทุนเงินทดแทน" เปิด 4 อันดับ กิจการ เสี่ยงอันตรายเนื่องจากทำงานมากสุด

สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยข้อมูล โดยทาง "กองทุนเงินทดแทน" ได้เปิดสถิติประเภทกิจการที่ เสี่ยงอันตราย เนื่องจากการทำงานมากที่สุด 4 อันดับ พร้อมเปิดเผยจำนวนการประสบ อันตราย หรือ เจ็บป่วย จากประเภทกิจการที่เสี่ยงอันตรายเนื่องจากการทำงานมากที่สุด 4 อันดับสูงสุดในปี 2564 ซึ่งพบว่า อาชีพ ก่อสร้างอาคาร เป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงเป็นอันดับ 1 โดยมีอาชีพอื่นๆ ดังนี้

1️. ก่อสร้างอาคาร (4,516 ราย) ร้อยละ 5.77

2️. ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับยานยนต์ (2,014 ราย) ร้อยละ 2.57

3️. การกลึงกัดไสโลหะ (1,623 ราย) ร้อยละ 2.07

4️. ก่อสร้างถนน สะพาน และอุโมงค์ (1,481 ราย) ร้อยละ 1.89

5 จังหวัดที่มีจำนวนการประสบ อันตราย หรือ เจ็บป่วย เนื่องจากการทำงานสูงสุด

1️. กรุงเทพมหานคร จำนวน 18,445 ราย (ร้อยละ 23.57)

2️. สมุทรปราการ จำนวน 9,191 ราย (ร้อยละ 11.75)

3️. ชลบุรี จำนวน 5,977 ราย (ร้อยละ 7.64)

4️. สมุทรสาคร จำนวน 5,916 ราย (ร้อยละ 7.56)

5️. ปทุมธานี จำนวน 3,869 ราย (ร้อยละ 4.94)

สรุป จังหวัด ที่มีจำนวนการประสบ อันตราย สูงสุด ในประเภทกิจการที่มีความเสี่ยงสูง

1️. ประเภทกิจการ ก่อสร้างอาคาร กรุงเทพมหานคร 1,835 ราย (40.63%)

2️. ประเภทกิจการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับยานยนต์ สมุทรปราการ 516 ราย (25.62%)

3️. ประเภทกิจการการกลึงกัดไสโลหะ สมุทรปราการ 487 ราย (30.01%)

4️. ประเภทกิจการก่อสร้างถนน สะพานและอุโมงค์ กรุงเทพมหานคร 572 ราย (38.62%)

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ประกันสังคม ได้ที่ www.sso.go.th หรือโทรสายด่วน 1506 ให้บริการทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง

ที่มา: สำนักงานประกันสังคม, 4/10/2565

ก.แรงงาน จับมือ บมจ.กสิกร หนุนจ้างงานคนพิการเชิงสังคม สร้างโอกาส ให้อาชีพ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นางสาวบุณยวีร์ ไขว้พันธุ์ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน และผู้เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับ คุณสุนันท์ ศิริอักษร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย และคณะ ที่ได้เข้าเยี่ยมคารวะและหารือเกี่ยวกับโครงการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม ปี 2566 เพื่อสร้างโอกาสให้คนพิการมีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้ อย่างเหมาะสมและยั่งยืน ณ ห้องจัตุมงคล ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน

นายสุชาติ กล่าวว่า หนึ่งในภารกิจของกระทรวงแรงงาน เราได้เน้นการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มคนพิการ จัดทำโครงการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม โดยประชาสัมพันธ์ เพื่อเชิญชวนนายจ้าง สถานประกอบการที่เคยใช้สิทธิตามมาตรา 34 ในการส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการให้เปลี่ยนมาให้สิทธิตามมาตรา 35 ประเภทการจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการ ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับคนพิการโดยตรง เพื่อสร้างโอกาสให้คนพิการมีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน โดยคนพิการสามารถปฏิบัติงานสนับสนุนองค์กรในท้องถิ่นสาธารณะประโยชน์ในพื้นที่ชุมชนใกล้บ้าน เช่น หน่วยงานราชการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ศูนย์บริการคนพิการท้องถิ่น เทศบาลองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นต้น โดยปีงบประมาณ 2566 กระทรวงแรงงานกำหนดเป้าหมายที่จะขยายการมีงานทำให้คนพิการตามโครงการดังกล่าวเพิ่มขึ้น 20% จำนวน 1,800 คน

"ขอบคุณทุกหน่วยงานที่มีส่วนร่วมในการสร้างโอกาสและส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิของคนพิการอย่างยั่งยืนและครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและการสร้างความเสมอภาคอย่างยั่งยืน ด้วยการผลักดันและขับเคลื่อนให้คนพิการมีงานทำ สร้างอาชีพ และสร้างรายได้อย่างยั่งยืน นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของคนพิการ" นายสุชาติ กล่าวทิ้งท้าย

ด้านคุณสุนันท์ ศิริอักษรผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2565 ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้ตั้งเป้าหมายไว้ 1,000 คน โดยผลการดำเนินงานมีนายจ้าง/สถานประกอบการ ร่วมโครงการ จำนวน 1,499 คน ปฏิบัติงานสนับสนุนองค์กรในท้องถิ่น สาธารณะประโยชน์ 1,032 แห่ง ได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 9,520.4 บาท/คน = 114,245 บาท/ปี/คน ก่อให้เกิดมูลค่าการจ้างงาน จำนวน171,253,255 บาท/ปี ทั้งนี้บริษัท ธนาคารกสิกรไทย ได้ให้ความร่วมมือเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม ปี 2565 จำนวน 163 คน (ร้อยละ10.37) ก่อให้เกิดรายได้กับคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ จำนวน 18,621 935 บาท/ปีซึ่งมากเป็นอันดับหนึ่งของนายจ้าง สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยมอบหมายให้คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ ปฏิบัติงานสนับสนุนหน่วยงานต่าง ๆ เช่นสำนักงานกิ่งกาชาด กาชาดจังหวัด เป็นต้น อีกทั้ง บริษัทฯ ยังได้สนับสนุนเงินทุนประกอบอาชีพแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ จำนวน 26 ราย จากการให้สิทธิตามมาตรา 35 ประเภทช่วยเหลืออื่นใด และเนื่องจากโครงการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม ปี 2566 มีเป้าหมายเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จำนวน 1,800 คน ทางธนาคารกสิกรไทยก็มีความยินดีที่จะเข้าร่วมโครงการและพร้อมสนับสนุนการจ้างงานคนพิการเพิ่มขึ้น

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 4/10/2565

‘สภาองค์การลูกจ้างฯ’ ขอรัฐบาลจัดสรรงบว่าจ้าง ‘พนง.ราชการเฉพาะกิจ’ ต่ออีก 1 ปี

เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2565 ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111 นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย (สพท.) และเครือข่ายฯ ได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ผ่านนายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยขอให้รัฐบาลได้พิจารณาจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อจ้างงานพนักงานราชการเฉพาะกิจ 10,000 อัตรา ต่อไปอีก 1 ปี

"ด้วย สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย (สพท.) เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) และสมาพันธ์แรงงานฮอนด้าแห่งประเทศไทย (สฮปท.) ได้รับแจ้งจากฝ่ายเลขานุการกรรมการบริหารพนักงานราชการสำนักงาน ก.พ กรณีการติดตามความคืบหน้ากรณีขอให้พิจารณาจัดสรรงบประมาณเพื่อการจ้างพนักงานราชการเฉพาะกิจ 1 ปี ในระดับปริญญาตรีจำนวน 10,000 อัตรา

โดยแจ้งว่าตามมติรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2564 มีมติเห็นชอบข้อเสนอแนวทางการจัดสรรกรอบอัตรากำลังและกลไกการบริหารจัดการพนักงานราชการเฉเพาะกิจ เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID 19) ได้สิ้นสุดระยะเวลาของกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการเฉพาะกิจไว้ ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 ดังนั้น เมื่อครบกำหนดระยะเวลาการจ้าง จึงต้องดำเนินการให้เป็นตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว นั้น

เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID 19) แม้จะลดน้อยลงก็ตาม แต่ยังไม่ได้หมดไปอย่างสิ้นเชิง และเมื่อสิ้นสุดสัญญาจ้าง (เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2565) ลูกจ้างพนักงานราชการเฉพาะกิจกลุ่มนี้ยังไม่สามารถหางานทำใหม่ได้ เพราะเหตุที่สถานประกอบการของภาคเอกชนต่างๆ ก็ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID 19) เช่นกัน

สภาพเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว สถานประกอบการไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามสภาวะปกติ ยังไม่ต้องการจ้างกำลังคนหรือคนงานเข้าทำงาน แต่เนื่องจากบางหน่วยงานราชการยังมีความจำเป็นที่จะต้องการกรอบอัตรากำลังในการปฏิบัติหน้าที่ในการดูแล และอำนวยความสะดวกรวดเร็วแก่ประชาชนที่เข้ามาใช้บริการ รวมทั้งสามารถช่วยเหลือแบ่งเบางานของเจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติงานอยู่เป็นประจำที่มีจำนวนมาก

และหากภาครัฐมีการจ้างงานต่อก็จะเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรีที่อยู่ในวัยกำลังทำงานส่วนหนึ่ง โดยไม่ต้องตกงานทำให้มีรายได้มาช่วยเหลือตนเองและครอบครัว ช่วยให้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจลดอัตราการว่างงานลงได้

ดังนั้น สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงานแห่งประเทศไทย (สพท.) เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) และสมาพันธ์แพงงานชอนคำาแห่งประเทศไทย (สอปท.) ขอให้รัฐบาลได้พิจารณาจัดสรรบประมาณสนับสนุนเพิ่มเติม ให้มีการจ้างงานพนักงานราชการเฉพาะกิจ 1 ปี ในระดับปริญญาตรีจำนวน 10,000 อัตรา ตามหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่ต้องการตามกรอบอัตรากำลังและกลไกการบริหารจัดการพนักงานราชการเฉพาะกิจต่อไป” หนังสือระบุ

นายมนัส กล่าวว่า ขณะนี้หน่วยงานราชการหลายแห่งยังมีความจำเป็นต้องจ้างงานพนักงานราชการเฉพาะกิจอยู่ ประกอบกับหน่วยงานเองก็มีงบประมาณที่จะดำเนินการอยู่แล้ว ตนจึงขอให้รัฐบาลพิจารณาสั่งการให้หน่วยงานราชการต่างๆ พิจารณาดำเนินการจัดสรรงบประมาณเพื่อว่าจ้างพนักงานราชการเฉพาะกิจในหน่วยงานนั้นๆ เพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกจ้าง ซึ่งเคยเป็นพนักงานราชการเฉพาะกิจประมาณ 5,000-8,000 คน ที่ยังหางานทำไม่ได้

ที่มา: สำนักข่าวอิศรา, 4/10/2565

ก.แรงงาน เยี่ยมผู้ฝึกงานเทคนิคคนไทย สถานประกอบการในญี่ปุ่น

เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นางสาวสดุดี กิตติสุวรรณ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) และคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ตรวจเยี่ยมพบปะให้กำลังใจแรงงานไทยจำนวน 35 คน ณ บริษัท Kanemi สาขามัสซึโดะ จังหวัดชิบะ ประเทศญี่ปุ่น โดยมี นายอากิโยชิ โชโนเบะ ประธานบริษัท คาเนมิ และคณะผู้บริหารบริษัท Kanemi และองค์กร Aifamily Cooperative Society ซึ่งเป็นองค์กรที่รับผู้ฝึกปฏิบัติงานด้านเทคนิค ให้การต้อนรับ

สำหรับบริษัท Kanemi เป็นสถานประกอบการกิจการประเภทผลิตอาหารพร้อมรับประทาน อาหารแช่แข็ง ซึ่งประกอบด้วย ธุรกิจการขายภายนอก ที่ผลิตและจัดส่งผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับร้านสะดวกซื้อ และรับผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปแบบบริการส่งถึงบ้านให้กับสหกรณ์ผู้บริโภคในแต่ละภูมิภาค โดยบริษัท Kanemi Foods Co., Ltd. เริ่มรับผู้ฝึกปฏิบัติงานต่างชาติครั้งแรกในปี 2556

ปัจจุบัน มีผู้ฝึกปฏิบัติงาน จำนวนทั้งสิ้น 781 คน ฝึกปฏิบัติงานในโรงงานที่เป็นสาขาย่อย 12 แห่งทั่วประเทศ โดยสาขาอำเภอมัสซึโดะ รับผู้ฝึกปฏิบัติงานด้านเทคนิค จำนวน 35 คน สำหรับแรงงานทักษะเฉพาะ บริษัท Kanemi Foods Co., Ltd. เริ่มรับแรงงานทักษะเฉพาะในปี 2563 และข้อมูล ณ วันที่ 31 พ.ค. 2565 มีแรงงานทักษะเฉพาะทั้งสิ้น 13 คน

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และท่านรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งท่านกำกับดูแล กระทรวงแรงงาน ได้มีความห่วงใยแรงงานไทยรวมทั้งผู้ฝึกปฏิบัติงานด้านเทคนิคทุกคนที่มาใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศ ที่เสียสละทุ่มเททำงานเพื่อนำความรู้และรายได้ไปพัฒนาประเทศและยกระดับฐานะของครอบครัว

ในวันนี้ท่านจึงมอบหมายให้ผมและคณะมาตรวจเยี่ยมพบปะพูดคุยและมอบของที่ระลึกเป็นขวัญกำลังใจกับผู้ฝึกปฏิบัติงานด้านเทคนิคชาวไทยซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของนายจ้างบริษัท Kanemi Foods Co., Ltd. ซึ่งพบว่าทุกคนมีความเป็นอยู่ที่ดี ได้รับค่าจ้างและสิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งได้ให้โอวาทแก่ผู้ฝึกปฏิบัติงานด้านเทคนิคเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจด้วย

"ขอขอบคุณบริษัท Kanemi Foods Co., Ltd. ที่เปิดโอกาสให้ได้มาพบปะพูดคุยและต้อนรับอย่างอบอุ่น และขอบคุณที่ให้ความสนใจรับผู้ฝึกปฏิบัติงานด้านเทคนิคชาวไทยอย่างต่อเนื่อง และให้การดูแลผู้ฝึกปฏิบัติงานด้านเทคนิคเป็นอย่างดี รวมทั้งขอให้พิจารณาเพิ่มการรับผู้ฝึกปฏิบัติงานด้านเทคนิค/แรงงานทักษะเฉพาะชาวไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศภายหลังการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบของทั้งญี่ปุ่นและไทย"

"ซึ่งจากการพูดนายจ้างซึ่งมีความพึงพอใจและชื่นชมผู้ฝึกปฏิบัติงานด้านเทคนิคชาวไทยที่มีความขยันหมั่นเพียร เชื่อฟังคำสั่ง มีความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย มีน้ำใจ เรียนรู้งานได้รวดเร็ว มีทักษะ ความเชี่ยวชาญ และความสามารถหลากหลาย" นายสุชาติ กล่าวท้ายสุด

ด้าน นายอากิโยชิ โชโนเบะ ประธานบริษัท คาเนมิ กล่าวว่า บริษัทมีความต้องการผู้ฝึกปฏิบัติงานด้านเทคนิคชาวไทยเพิ่ม เนื่องจาก แรงงานไทย มีทักษะฝีมือดี ขยันทำงาน และเรียนรู้เร็ว ส่วนเรื่องภาษาญี่ปุ่นนั้น ผู้ฝึกปฏิบัติงานแต่ละคนก็มีความพยายามเรียนรู้ภาษา และจะมีรุ่นพี่คอยให้คำแนะนำ ขณะที่บริษัทเองจะคอยสนับสนุนความช่วยเหลือในทุกๆ ด้านเช่นกัน

ที่มา: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ, 2/10/2565

กรุงเทพโพลล์แรงงาน 50.2% ดีใจปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

“กรุงเทพโพลล์” มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้แรงงาน เรื่อง “ชีวิตแรงงานไทยวันนี้กับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5%” เนื่องในโอกาสวันที่ 1 ต.ค.2565 จะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

โดยเก็บข้อมูลจากผู้ใช้แรงงานที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 9 เขต จากทั้งหมด 50 เขต แบ่งเป็นเขตชั้นใน ชั้นกลาง และชั้นนอก ได้แก่ บางเขน, บางแค, บางกะปิ, ประเวศ, มีนบุรี, วังทองหลาง, สายไหม, หนองแขม, หลักสี่ และปริมณฑล 3 จังหวัด

นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ จำนวน 632 คน ระหว่างวันที่ 21-27 ก.ย.ที่ผ่านมา พบว่า ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ร้อยละ 60.9 ทราบข่าวการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ขณะที่ร้อยละ 39.1 ไม่ทราบ

ทั้งนี้ แรงงานร้อยละ 50.2 รู้สึกดีใจกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 328 – 354 บาท/วัน และหวังว่าจะขึ้นทุกปี ขณะที่ร้อยละ 25.9 รู้สึกแย่ เพราะค่าแรงขึ้นไม่เท่าค่าครองชีพที่สูงขึ้นมาก ส่วนร้อยละ 23.9 รู้สึกเฉยๆ เพราะ ขึ้นไปก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตดีขึ้น

ส่วนเรื่องที่กังวลมากที่สุดกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำคือ ร้อยละ 22.0 กลัวโดนลดจำนวนวันทำงานลง ทำให้รายได้ลด ร้อยละ 18.2 กลัวหางานได้ยากขึ้น และ ร้อยละ 17.6 กลัวตกงาน ต้องหางานใหม่

สำหรับความหวังที่อยากบอกกับนายจ้างมากที่สุด ร้อยละ 36.0 อยากให้เพิ่มเงินรายวันให้มากขึ้น, ร้อยละ 23.7 อยากให้มีงานจ้างทุกวัน, ร้อยละ 10.6 อยากให้เพิ่มสวัสดิการ ค่ารักษาพยาบาล ส่วนเรื่อง ที่อยากขอจากรัฐบาล ร้อยละ 75.8 อยากให้ช่วยแก้ปัญหาราคาสินค้าแพง ช่วยลดค่าครองชีพ, ร้อยละ 41.9 อยากให้มีการขึ้นแรงงานขั้นต่ำในทุกๆปี และร้อยละ 27.2 อยากให้มีสวัสดิการต่างๆ ที่ดีขึ้น

สุดท้ายเมื่อถามว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในครั้งนี้จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของท่านเป็นอย่างไร ร้อยละ 50.5 เห็นว่าเหมือนเดิม ร้อยละ 44.0 เห็นว่าจะดีขึ้น ขณะที่มีเพียงร้อยละ 5.5 ที่เห็นว่าจะแย่ลง

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 1/10/2565

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท