Skip to main content
sharethis

สหภาพคนทำงาน จัดกิจกรรม 'วันงานที่มีคุณค่าสากล' ซึ่งตรงกับวันที่ 7 ต.ค. ของทุกปี พร้อมปราศรัยสะท้อนปัญหาในการทำงานหลายภาคส่วน 'สมยศ' ปลุกใจ การต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงานต้องไม่แบ่งเขาแบ่งเรา ก่อนทิ้งท้ายด้วยการแถลงเจตจำนงแรงงาน 5 ข้อ 

 

7 ต.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (7 ต.ค.) เมื่อเวลา 9.14 น. ที่หน้าอาคารสำนักงานสหประชาชาติ หรือ UN ถนนราชดำเนินนอก สหภาพคนทำงาน ร่วมด้วย ไบร์ท ฟิวเจอร์ ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานชาวพม่าในไทย แรงงานกัมพูชาในไทย และเครือข่ายแรงงานอื่นๆ ร่วมทำกิจกรรมเนื่องในวันแรงงานที่มีคุณค่า ซึ่ง ILO กำหนดให้ตรงกับวันที่ 7 ต.ค. ของทุกปี 

สำหรับกิจกรรมวันนี้ เริ่มต้นด้วยการแสดงจากกลุ่มราษดรัม และมีการปราศรัยจากนักสหภาพแรงงานหลากหลายกลุ่ม 

เวลา 10.36 น. สมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมแรงงาน กล่าวปราศรัยคนแรกถึงที่มาของวันงานที่มีคุณค่าสากล ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกช่วงปี 2547 ขณะนั้นองค์กรแรงงานภายใต้ ILO ไปประชุมเมื่อ 7 ต.ค. และมีมติกำหนดให้เป็นวันงานที่มีคุณค่ามีความหมายสากล 

สมยศ พฤกษาเกษมสุข

เมื่อประเทศกำลังพัฒนามีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ นายทุนร่ำรวย องค์กรแรงงานต่างๆ จึงมองว่า หากเศรษฐกิจเติบโต ต้องมีการแบ่งปันรายได้ให้คนงานดีขึ้นไปด้วย ไม่ใช่การกดขี่ขูดรีดจนเกิดความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ดังนั้น เขาจึงกำหนดให้วันนี้ เป็นวันที่ทั่วโลกต้องมาสะท้อนถึงปัญหาการทำงานของตนเอง และเรียกร้องการทำงานที่มีคุณค่าและความหมาย บังคับให้ระหว่างประเทศกำหนดการจ้างงานให้เป็นตามหลักสากล เช่น ค่าจ้างขั้นต่ำต้องพอเพียงต่อตนเองและครอบครัว และอื่นๆ 

สมยศ กล่าวต่อว่าสถานการณ์ในประเทศไทยตอนนี้ค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 350 บาทโดยประมาณ ไม่เพียงพอให้แรงงานทั้งไทย พม่า และเขมร จะประทังชีวิต และเลี้ยงดูครอบครัว ซึ่งสะท้อนว่า ประเทศไทยจะไม่ได้ปฏิบัติตามหลักสากล  

นอกจากนี้ สมยศ ย้ำว่า งานที่ดีมีคุณค่า ต้องไม่มีการแบ่งแยกชาติพันธุ์ สีผิว และฐานะทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นใคร คนไทย คนพม่า คนเขมร หรือคนไทยในต่างประเทศต้องเติบโตควบคู่กับเศรษฐกิจที่ขยายตัว พร้อมขอบคุณแรงงานข้ามชาติที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโต 

นอกจากปัญหาเรื่องค่าแรงและสวัสดิการ สมยศ มองว่า ยังมีความเดือดร้อนทางการเมือง เสรีภาพการแสดงออก การชุมนุม และการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่ต้องแก้ไข โดยทั้งไทย พม่า และเขมร กำลังเผชิญกับรัฐบาลเผด็จการด้วยกัน 

สมยศ กล่าวเรียกร้องให้แรงงานพม่ามีเสรีภาพในการชุมนุมในไทย เพื่อขับไล่กองทัพพม่า และเรียกร้องให้มีการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรมให้แรงงานชาวเขมรด้วย 

"ผมอยากจะให้การทำงานที่มีคุณค่า มีความหมายถึงความร่วมมือ ความสามัคคี ความเป็นพี่น้องของผู้ใช้แรงงาน โดยไม่มีการแบ่งแยกว่านี่คือเขมร นี่คือไทย ขอให้เราเป็นหนึ่งเดียวกันที่จะต่อสู้เรียกร้อง ให้เกิดการทำงานที่มีคุณค่าและมีความหมาย" สมยศ กล่าว และปิดท้ายด้วยคำว่า 'แรงงานสร้างชาติ มิใช่มหาราชองค์ใด'

หลังจากนั้น มีการผลัดกันขึ้นมาปราศรัยสะท้อนปัญหาจากแรงงานภาคส่วนต่าง ๆ เช่น คนทำงานกลางคืน แรงงานข้ามชาติ แรงงานแพลตฟอร์ม และอื่นๆ 

 

ท้ายสุด เวลา 11.52 น. ตัวแทนสหภาพคนทำงาน ร่วมอ่านแถลงการณ์ วันงานที่มีคุณค่าสากล 4 ภาษา ไทย พม่า กัมพูชา และอังกฤษ 

เนื่องด้วยทุกวันที่ 7 ตุลาคม นับเป็นวันงานที่มีคุณค่าสากล เพื่อย้ำเตือนความเป็นธรรม ให้กับแรงงานทั่วทุกแห่งหน ทุกสัญชาติ เชื้อชาติ และเพศสภาพ ให้ได้มีการจ้างงานที่มั่นคง มีความปลอดภัยในการทำงาน มีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ และมีสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่ม เพื่อส่งเสียงร้องต่อรอง สร้างสรรค์ประชาธิปไตยในที่ทำงาน เราจึงมารวมตัวกันที่นี่ในวันนี้ เพื่อตอกย้ำความสำคัญดังกล่าว 

ปัจจุบันนี้ พวกเราเห็นว่าสภาพการจ้างงานของแรงงานในไทย ไม่ว่าจะเป็นแรงงานในระบบ นอกระบบ หรือแรงงานข้ามชาติก็ตาม โดยส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเป็นไปตามบรรทัดฐานของงานที่มีคุณค่า ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นในสถานการณ์โควิดล่าสุด แรงงานจำนวนมากถูกเลิกจ้างลอยแพ ส่วนผู้ที่ไม่ถูกเลิกจ้างก็พบกับสภาพการทำงานที่หนักหน่วง ไม่เป็นธรรม ไร้ทางเลือกการรวมตัว ไม่มีอำนาจต่อรอง 

ในสภาวะที่สิทธิแรงงานถดถอย ประชาชนเผชิญหน้ากับวิกฤติค่าใช้จ่าย นี่คือสภาพความเป็นอยู่ที่เราลยอมรับไม่ได้ สหภาพคนทำงานจอแสดงเจตจำนงทั้งหมด 5 ข้อ ในนามของผู้ใช้แรงงาน ทั้งสำหรับผู้ที่กำลังอยู่ในการจ้างงาน ซึ่งขาดคุณค่าและผู้ที่ต้องการให้มีคุณค่าและผู้ที่ต้องการให้งานที่มีคุณค่าของตนดำรงต่อไป 

1. รัฐบาลไทยต้องให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพการทำงาน 

2. รัฐบาลไทยต้องรับรองหลักการค่าจ้างเพื่อการดำรงชีวิตที่มีคุณภาพโดยปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอย่างน้อย 723 บาทต่อวัน เท่ากันทุกจังหวัดทั่วประเทศ 

3.รัฐบาลไทยต้องมุ่งมั่นผลักดันให้คนทำงานทุกภาคส่วนได้รับการคุ้มครองภายใต้กฏหมายแรงงานฉบับเดียวกัน 

4. รัฐบาลไทยต้องจัดให้มีการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมภายในปี 2565 และให้สิทธิแรงงานข้ามชาติเลือกตั้งผู้แทนคณะกรรมการประกันสังคมฝ่ายผู้ประกันตน 

5. รัฐบาลไทยต้องหยุดละเมิดสิทธิแรงงานและต้องสนับสนุนหลักการประชาธิปไตยทั้งในประเทศไทย ในอาเซียน และในประชาคมโลก

 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net