รัฐประหาร 'บูร์กินาฟาโซ' 2 ครั้งในปีเดียว สะท้อนปัญหากลุ่มหัวรุนแรง-อิทธิพลรัสเซียและฝรั่งเศส

ประเทศบูร์กินาฟาโซ เพิ่งจะเกิดการรัฐประหารเป็นครั้งที่ 2 ภายในปีเดียว ในขณะที่กลุ่มประชาคมเศรษฐกิจแห่งรัฐแอฟริกาตะวันตก (ECOWAS) เพิ่งจะเจรจากับคณะรัฐประหารของบูร์กินาฟาโซ แล้วแถลงว่าผลการเจรจาเป็นที่น่าถึงพอใจ แต่ผู้นำองค์กรต่อต้านกลุ่มหัวรุนแรงก็บอกว่า ECOWAS ยังทำได้ไม่ดีพอในการช่วยยับยั้งรัฐประหาร นอกจากนี้ยังมีความกังวลว่าการรัฐประหารที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ในประเทศนี้จะเอื้อต่อกลุ่มติดอาวุธหรือกลายเป็นเวทีให้รัสเซียแผ่อิทธิพลมาแทนที่อิทธิพลเดิมของฝรั่งเศสหรือไม่

 

7 ต.ค. 2565 บูร์กินาฟาโซ เพิ่งจะเกิดการรัฐประหารซ้อนเมื่อไม่นานนี้ นับเป็นการรัฐประหารครั้งที่ 2 ภายใน 1 ปี ท่ามกลางความวิตกกังวลเรื่องกลุ่มหัวรุนแรง เรื่องการที่ต่างประเทศฉวยใช้เป็นพื้นที่แย่งชิงอิทธิพล และ เรื่องที่องค์กรระหว่างประเทศในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกปล่อยให้บูร์กินาฟาโซ ไร้เสถียรภาพอยู่เสมอมา โดยไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้

เหตุการณ์เริ่มต้นขึ้นนวันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมา เมื่อ ร.อ. อิบราฮิม ทราโอเร ทำการรัฐประหารต่อ พันโท พอล-เฮนรี ดามีบา ผู้นำกองทัพและรักษาการประธานาธิบดี และมีการยุบรัฐบาลเปลี่ยนผ่านของดามีบารวมถึงระงับการใช้รัฐธรรมนูญ ดามีบาลงจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 2 ต.ค. ที่ผ่านมาแล้วหนีไปยังประเทศโตโกที่อยู่ใกล้ๆ กัน

ทราโอเรอ้างถึงเหตุผลที่เขานำกองกำลังเข้าก่อเหตุรัฐประหารว่า พวกเขาโค่นล้มดามีบาเพราะดามีบาไร้ความสามารถในการจัดการกับปัญหากลุ่มติดอาวุธในประเทศ ซึ่งมีความรุนแรงขึ้นในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ในวันที่ 24 ม.ค. 2565 ดามิบาเคยเป็นฝ่ายนำกองทัพของบูร์กินาฟาโซ ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจประธานาธิบดี รอช มาร์ก กาโบเร ผู้ที่เข้าสู่ตำแหน่งผ่านการเลือกตั้ง 2 สมัย โดยที่ดำรงตำแหน่งมาเป็นเวลารวมแล้ว 6 ปี ดามีบาอ้างเหตุกลที่ก่อการรัฐประหารต่อรัฐบาลพลเรือนว่า กาโบเรล้มเหลวในเรื่องการบริหารประเทศให้เป็นปึกแผ่นและไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ด้านความมั่นคงของประเทศที่กำลังย่ำแย่ลงได้

นับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมาบูร์กินา ฟาโซ ต้องเผชิญกับเหตุการณ์รุนแรงอย่างต่อเนื่องจากกลุ่มที่ติดอาวุธที่เป็นพันธมิตรกับทั้งอัลกอดิดะฮ์และกับไอซิส มีผู้คนถูกสังหารหลายพันคนและทำให้เกิดผู้พลัดถิ่นมากขึ้น 2 ล้านราย มีนักวิเคราะห์ประเมินว่าปัจจัยนี้ทำให้บูร์กินาฟาโซ กลายเป็นศูนย์กลางความขัดแย้งใหม่ในภูมิภาคซาเฮล คือภูมิภาคเขตรอยต่อทะเลทรายซาฮาราที่แบ่งทวีปแอฟริกาเป็นเหนือและใต้

ถึงแม้ว่าการรัฐประหารที่เกิดขึ้นล่าสุดนี้จะทำให้กลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลเฉลิมฉลอง แต่กลุ่มองค์กรต่างประเทศหลายกลุ่มก็แสดงความกังวลต่อการรัฐประหารที่เกิดขึ้น รวมถึงประเทศสหรัฐฯ และประเทศฝรั่งเศสด้วย นอกจากนี้กลุ่มประชาคมเศรษฐกิจแห่งรัฐแอฟริกาตะวันตก (ECOWAS) ก็สั่งระงับสถานะบูร์กินาฟาโซ ออกจากการเป็นสมาชิกขององค์กรและเรียกร้องให้มีการจัดเลือกตั้งใหม่ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

ECOWAS ได้ทำการหารือกับกลุ่มคณะรัฐประหารของบูร์กินา ฟาโซ และเมื่อวันที่ 5 ต.ค. ที่ผ่านมา มาฮามาโด อิสโซโฟ ผู้แทนเจรจาของ ECOWAS แถลงหลังจากที่เขาได้เข้าพบปะหารือกับทราโอเรและกลุ่มผู้นำศาสนาว่า ผลการเจรจาเป็นที่น่าพอใจ มีการ "แลกเปลี่ยนกันอย่างลึกซึ้ง และอย่างตรงไปตรงมามาก"

ทาง ECOWAS ได้ย้ำอยู่เสมอว่าเผด็จการทหารบูร์กินาฟาโซ จะต้องเคารพในแผนการที่วางไว้ในการทำให้ประเทศคืนสู่การปกครองตามหลักการรัฐธรรมนูญภายในเดือน มิ.ย. 2567

อย่างไรก็ตาม มูตารู มูมูนี มุกตาร์ ผู้อำนวยการบริหารของศูนย์แอฟริกาตะวันตกเพื่อการต่อต้านกลุ่มหัวรุนแรง (WACCE) กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับบูร์กินาฟาโซ มาตลอด 6 ปีที่ผ่านมานั้นถือว่าน่าเป็นห่วง และมองว่าการที่  ECOWAS ประณามการรัฐประหารนั้นยังไม่มากพอ จากเรื่องที่ภัยคุกคามจากการก่อเหตุของกลุ่มหัวรุนแรงในพื้นที่เหล่านั้นอาจจะลุกลามไปสู่ประเทศอื่นๆ ใกล้เคียงกันอย่างกานาได้

"ผมไม่พึงพอใจกับวิธีการของ ECOWAS" มุกตาร์กล่าว "ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พวกเราได้เห็นวิธีการที่ไร้ประสิทธิภาพในการจัดการกับปัญหาการรัฐประหารและปัญหาความมั่นคงในภูมิภาคนี้มาแล้ว"

มุกตาร์เรียกร้องให้ ECOWAS มีมาตรการมากกว่านี้ต่อการรัฐประหารที่เกิดขึ้นกับบูร์กินาฟาโซ โดยเรียกร้องให้มีการคว่ำบาตรและขอให้ ECOWAS ใช้กฎบัตรในทุกข้อต่อกรณีการเมืองการปกครองเช่นนี้

 

การขับเคี่ยวอิทธิพลระหว่างรัสเซียกับฝรั่งเศส?

นอกจากเรื่องกลุ่มหัวรุนแรงแล้ว สิ่งที่สื่อต่างประเทศวิเคราะห์และจับตามองคือกรณีการรัฐประหารในบูร์กินา ฟาโซ เป็นเรื่องของการที่อิทธิพลจากต่างประเทศอย่างรัสเซียกับฝรั่งเศสเข้ามามีบทบาทด้วยหรือไม่?อย่างไร?

การรัฐประหารรอบที่สองของปีนี้โดยทราโอเร ดูเหมือนจะได้รับการชื่นชมจากนักธุรกิจรัสเซีย เยฟเกนี พริโกชิน ซึ่งมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย พริโกชิน เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทกองทัพเอกชนสัญชาติรัสเซียที่ชื่อ "แวกเนอร์ กรุ๊ป" เขาได้กล่าวชื่นชมผู้ก่อรัฐประหารว่า "ผมขอแสดงความเคารพและแสดงการสนับสนุนต่อ ร.อ. อิบราฮิม ทราโอเร ... ผู้ที่เป็นบุตรผู้กล้าหาญแห่งมาตุภูมิ"

ประชาชนในบูร์กินาฟาโซ ผู้ที่สนับสนุนการรัฐประหารในครั้งนี้ส่วนหนึ่งมาจากความไม่พอใจฝรั่งเศส มีชาวบูร์กินาฟาโซ ที่ชุมนุมแสดงความยินดีต่อการรัฐประหารโค่นล้ม ดามีบา ผู้ที่ถูกมองว่าเป็นฝ่ายเดียวกับฝรั่งเศส และถึงขั้นกล่าวหาว่าฝรั่งเศสกำลังวางแผนร่วมกับดามีบาในการก่อรัฐประหารซ้อนอีกรอบหนึ่ง มีผู้ชุมนุมบางส่วนที่โบกธงรัสเซียและขว้างปาก้อนหินใส่สถานทูตฝรั่งเศส มีกลุ่มคนอีกจำนวนหนึ่งที่โจมตีศูนย์วัฒนธรรมฝรั่งเศสด้วย

ทางการฝรั่งเศสพยายามตีตัวออกห่างจากเหตุการณ์รัฐประหารในบูร์กินา ฟาโซ ระบุว่าพวกเขาเป็นเหยื่อของการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิด

ถึงแม้ว่าประชาชนส่วนหนึ่งจะแสดงความพึงพอใจต่อการรัฐประหารในครั้งนี้โดยบอกว่าเป็นเพราะในยุคสมัยของดามีบา "ประเทศมีการบริหารแย่ๆ" และมีประชาชนอีกรายหนึ่งที่บอกว่า "ประธานาธิบดีดามีบาไม่เคารพในอาณัติ" แต่นักวิเคราะห์ด้านนโยบายต่างประเทศและความมั่นคง ซานี แอดดิบ จากกานาก็กล่าวเตือนว่า การรัฐประหารไม่ใข่ "ไม้คทาวิเศษ" ที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศชั่วข้ามคืนได้

แอดดิบบอกว่าคนๆ หนึ่งอย่าง ร.อ. บราโอเร ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ชั่วข้ามคืน การเปลี่ยนแปลงบูร์กินาฟาโซ มันต้องใช้วิธีการแบบที่มีอาศัยการประสานงานร่วมมือจากนานาชาติ ดังนั้นแล้วแอดดิบจึงเรียกร้องให้ประเทศอื่นๆ ช่วยเหลือด้านทรัพยากรต่อบูร์กินาฟาโซ ตรงจุดนี้ด้วย อย่างไรก็ตามรัฐประหารซ้ำซ้อนในบูร์กินาฟาโซ เช่นนี้จะกลายเป็นชัยชนะของผู้ก่อการร้าย

ในช่วงที่ดามีบาปกครองประเทศหลังทำรัฐประหาร วิกฤตการก่อการร้ายกลับยิ่งรุนแรงขึ้นถึงแม้ว่าเขาจะให้สัญญาว่าจะทำให้ความมั่นคงในประเทศดีขึ้นก็ตาม โครงการข้อมูลด้านตำแหน่งและเหตุการณ์การสู้รบกลุ่มติดอาวุธ (ACLED) ระบุว่าเหตุโจมตีโดยกลุ่มติดอาวุธเกิดเพิ่มขึ้นร้อยละ 23 ในช่วง 5 เดือนหลังจากที่ดามีบาทำการยึดอำนาจ ผู้แทนเจรจาระหว่าง ECOWAS กับบูร์กินา ฟาโซ เปิดเผยเมื่อเดือน มิ.ย. ว่า รัฐบาลบูร์กินา ฟาโซ ควบคุมพื้นที่ในประเทศร้อยละ 60 เท่านั้น พื้นที่นอกเหนือจากนั้นไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ

นอกจากนี้ดามีบายังถูกวิจารณ์เรื่องที่ว่า เขาดูมีท่าทีสนับสนุนฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศอดีตเจ้าอาณานิคม โดยพยายามร่วมมือกับฝรั่งเศสในการต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธในประเทศ แต่ทว่าในหมู่ประชาชนชาวบูร์กินาฟาโซ บางส่วนก็มีความรู้สึกในเชิงต่อต้านฝรั่งเศสอยู่

ในการรัฐประหารครั้งล่าสุดนี้ นักวิเคราะห์จับตามองว่าทราโอเร ผู้ก่อการรัฐประหารจะพยายามขอความช่วยเหลือทางการทหารจากรัสเซียแบบเดียวกับที่ประเทศมาลีเคยทำหรือไม่ คนบางกลุ่มในบูร์กินาฟาโซ ได้เสนอให้รัฐบาลขอความช่วยเหลือจากรัสเซียในการสู้รบกับผู้ก่อการร้าย แบบเดียวกับที่ประเทศมาลีเคยอาศัยความช่วยเหลือจากกองทัพเอกชนแวกเนอร์กรุ๊ปให้เข้าไปสู้รบภายในประเทศของพวกเขา

ในแง่เศรษฐกิจแล้ว ทางสหประชาชาติระบุว่า บูร์กินาฟาโซ กำลังประสบปัญหาความอดอยาก "ในระดับที่น่าตระหนก" เช่นเดียวกับหลายประเทศในแอฟริกาตะวันตก มีการประเมินว่าบูร์กินา ฟาโซ กำลังเผชิญวิกฤตความอดอยากร้ายแรงที่สุดในรอบ 6 ปี มีประชาชนมากกว่า 630,000 ล้านคน จากทั้งหมด 16 ล้านคน ที่เสี่ยงต่อการอดตาย การที่กลุ่มติดอาวุธทำการปิดล้อมเมืองต่างๆ ยิ่งทำให้การส่งความช่วยเหลือไปสู่ประชาชนทำได้ยากขึ้น

 

 

เรียบเรียงจาก

Burkina Faso: Is the coup a boost for Russian influence in Africa?, DW, 04-10-2022
https://www.dw.com/en/burkina-faso-is-the-coup-a-boost-for-russian-influence-in-africa/a-63332163

Burkina Faso’s coup and political situation: All you need to know, Aljazeera, 05-10-2022
https://www.aljazeera.com/news/2022/10/5/coup-in-burkina-faso-what-you-need-to-know

West Africa bloc mediator ‘satisfied’ after meeting Burkina Faso new military leader, CNN, 05-10-2022
https://edition.cnn.com/2022/10/05/africa/ecowas-mediator-burkina-faso-intl/index.html

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท