BRN ‘สู้ไป คุยไป’ จนกว่าฝ่ายไทยจะ ‘ลงนามหยุดยิง’

นิมะตุลเลาะ คณะพูดคุยสันติภาพ BRN ระบุว่า การเหยียดเชื้อชาติและการกดขี่ข่มเหงเป็นสาเหตุความขัดแย้งในปาตานี/ชายแดนใต้ พร้อมสู้ไปคุยไป เพราะการพูดคุยเป็นแนวทางญีฮาดและมองเห็นทางออกจากความขัดแย้ง ไม่ใช่การยอมจำนน ยก 2 หลักนิติศาสนาอิสลามมาอธิบาย แม้การพูดคุยจะล้ม แต่การญีฮาดยังอยู่ ถึงจะช้าแต่ก้าวหน้ามาตลอด พร้อมเผยความสำเร็จสำคัญ ขอฝ่ายไทยลงนามหยุดยิง เพราะเกี่ยวข้องกับชีวิตและศักดิ์ศรี ถามจะกลัวอะไรกับการลงนาม คนละเรื่องกับเอกราช ส่วนอนาคตของปาตานีให้ประชาชนเป็นผู้กำหนด

7 ต.ค.2565 Nikmatullah bin Seri หรือ นิมะตุลเลาะ บิน เสรี คณะเจรจาสันติภาพของแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani : BRN) หรือ ขบวนการบีอาร์เอ็นในกระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ร่วมสนทนาไลฟ์สดผ่านทางเพจ People's College และ The PEN เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมาในหัวข้อ “มุมมอง BRN ยุติการเหยียดเชื้อชาติ สร้างสันติภาพร่วมกัน ว่าด้วยแคมเปญ UN เนื่องด้วยวันสันติภาพโลก มีเนื้อหาโดยสรุป ดังนี้

เหยียดเชื้อชาติและการกดขี่ข่มเหงเป็นสาเหตุความขัดแย้ง

นิมะตุลเลาะ ได้ยกคำสอนของศาสนาอิสลามว่า การเหยียดเชื้อชาติครั้งแรกเกิดขึ้นจากไซตอน นั่นคืออิบลิส (สิ่งถูกสร้างที่ปฏิเสธพระเจ้า) เมื่อครั้งพระเจ้าบังคับให้อิบลิสกราบไหว้ศาสดาอาดำ (มนุษย์คนแรกที่พระเจ้าสร้าง) แต่อิบลิสปฏิเสธเพราะรู้สึกว่าตนเองเหนือกว่าศาสดาอาดำที่ถูกสร้างมาจากดิน ต่อมาในยุคของท่านศาสดามูฮัมมัดเมื่อกว่า 1,400 ปีที่แล้วได้นำอิสลามมาเพื่อที่จะล้มล้างความรู้สึกเหยียดดังกล่าว ก่อนที่สหประชาชาติ (UN) จะรณรงค์ต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติเสียอีก ดังนั้น บีอาร์เอ็นที่ต่อสู้ในทางศาสนาอิสลามจึงต้องการทำลายการเหยียดเชื้อชาติด้วย

นิมะตุลเลาะ กล่าวว่า เนื่องจากต้นเหตุของความขัดแย้งในโลกนี้ มาจากความรู้สึกหยิ่งยโส รู้สึกว่าตนเองยิ่งใหญ่กว่าคนอื่น ซึ่งเป็นที่ต้องห้ามของศาสนาอิสลามนั้น บีอาร์เอ็นจึงยึดมั่นในหลักคำสอนนี้ เพราะการเหยียดนั้นขัดกับหลักของความยุติธรรม และสหประชาชาติเองก็มองว่า การที่จะสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในโลกนี้ได้นั้น จำเป็นต้องกำจัดความรู้สึกเหยียดเชื้อชาติออกไปให้ได้ ตราบใดที่ยังมีความรู้สึกเหยียดเชื้อชาติยังมีอยู่ความสงบสุขและสันติภาพจะไม่เกิดขึ้น

“เช่นเดียวกับที่แผ่นดินเกิดของเรา ในบริบทของเรา ปรัชญาการต่อสู้ของบีอาร์เอ็นเกิดขึ้นเพราะมีการยึดครองของคนเชื้อชาติหนึ่งเหนืออีกเชื้อชาติหนึ่ง ซึ่งบีอาร์เอ็นสำนึกอยู่ตลอดว่า สาเหตุของความขัดแย้งในบ้านเรานั้น มันไม่ใช่อื่นใดนอกจากการกดขี่ข่มเหงของคนเชื้อชาติหนึ่งต่อคนอีกเชื้อชาติหนึ่ง” คณะเจรจาสันติภาพของ BRN กล่าว

สู้ไป คุยไป การพูดคุยเป็นแนวทางญีฮาด

นิมะตุลเลาะ กล่าวว่า  บีอาร์เอ็นได้วางแนวทางการต่อสู้ คือ การต่อสู้ด้วยอาวุธ-สันติภาพ ต่อสู้แล้วพูดคุย แต่ไม่ใช่จะสู้รบกันอย่างเดียว เพราะแนวทางการญีฮาด (การต่อสู้ในทางศาสนา) ไม่ได้มีแค่การต่อสู้ด้วยอาวุธ การพูดคุยเจรจาก็เป็นแนวทางญีฮาดด้วย การญีฮาดบางครั้งก็ด้วยลิ้น เป็นการญีฮาดด้วยความจริง แต่ในสายทหารของบีอาร์เอ็นนั้นเขาญีฮาดด้วยการใช้อาวุธ แต่การต่อสู้ด้วยอาวุธนั้นก็เพื่อให้เกิดสันติภาพ

“ถ้าคุณกระตือรือร้นที่จะสร้างสันติภาพ คุณก็ต้องเตรียมพร้อมสำหรับการต่อสู้ด้วยอาวุธด้วย” นิมะตุลเลาะ ระบุว่าเป็นคำกล่าวภาษาลาตินเก่าเมื่อ ค.ศ.400 และเป็นแนวทางที่ผู้นำโลกในวันนี้ยึดถือ

คณะเจรจาสันติภาพของ BRN กล่าวว่า เพราะการต่อสู้ด้วยอาวุธนั้นก็เพื่อรักษาความสงบสุข ถ้าไม่มีการต่อสู้ด้วยอาวุธก็ไม่มีสันติภาพ แม้จะมีความสงบแต่ก็ไม่มีสันติภาพ เช่นกลุ่มโรฮิงญาที่ละทิ้งแนวทางการญีฮาดพวกเขาจึงถูกสังหาร ซึ่งบีอาร์เอ็นสำนึกดีในเรื่องเหล่านี้

ยึด 2 หลักนิติศาสนาอิสลาม

นิมะตุลเลาะ กล่าวว่า ตั้งแต่ก่อตั้ง บีอาร์เอ็นได้จับอาวุธสู้และได้สร้างความเข้มแข็งด้านการทหารและด้านอื่นๆ เพื่อรักษาความสงบและสันติภาพ ไม่ใช่เพื่อการเข่นฆ่ากัน ดังนั้นเพื่อแสวงหาสันติภาพ บีอาร์เอ็นจึงเข้าร่วมโต๊ะพูดคุยเพื่อเจรจาสันติภาพ แม้ฝ่ายไทยจะไม่เรียกว่าการเจรจาก็ไม่เป็นไร แต่สิ่งสำคัญคือต้องมุ่งไปสู่การสร้างสันติภาพ แต่ถ้าฝ่ายไทยยังไม่เข้าใจเรื่องนี้อีก บีอาร์เอ็นก็จะต้องต่อสู้อีกต่อไป

คณะเจรจาสันติภาพของ BRN กล่าวถึงหลักการต่อสู้ของบีอาร์เอ็นว่า การสู้รบนั้นจะพิจารณาหลักนิติศาสตร์อิสลามทั่วไปเหมือนหลักการปฏิบัติศาสนกิจไม่ได้ แต่ต้องใช้หลักนิติศาสตร์อิสลามอื่นประกอบนั่นคือ ฟิกห์ญีฮาด (หลักนิติศาสตร์อิสลามว่าด้วยการญีฮาด) และฟิกห์ว่าด้วยความเปราะบางทางสังคม/ฟิกห์ว่าด้วยผู้ที่อ่อนแอ (فقه الاستضعفين) (ความหมายโดยผู้แปล) ที่ให้ต่อสู้โดยใช้อาวุธได้แค่เพียงเพื่อ “ส่งสัญญาณต่อคู่ขัดแย้งเท่านั้น ไม่ใช่ใช้จนเกินเลยขอบเขต เป็นการส่งข้อความให้ทราบว่าที่นี่มีเจ้าของ และแผ่นดินนี้ถูกยึดครองโดยคนอื่น”

แม้การพูดคุยจะล้ม แต่การญีฮาดยังอยู่

นิมะตุลเลาะ กล่าวว่า บีอาร์เอ็นต้องการสร้างสันติภาพและหาทางออกด้วยสันติวิธี จึงเข้าร่วมการพูดคุยอย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ใช่การยอมจำนนหรือการมอบตัว แต่เพราะการพูดคุยมีทางออกบีอาร์เอ็นจึงเข้าร่วม แม้ว่าเมื่อครั้งการพูดคุยเมื่อปี 2013 ที่นำโดยอุสตาซฮาซัน ตอยิบ ที่ล่มไปนั้นบีอาร์เอ็นก็ไม่ได้นิ่งเฉย ยังคงทำงานทั้งในทางเปิดและทางลับ เพื่อให้กระบวนการสันติภาพเดินหน้าต่อไป จนกระทั่งเกิดฉันทามติหรือข้อตกลงต่างๆ เช่น การริเริ่มเบอร์ลิน (Berlin Initiative) ซึ่งเป็นแนวทางของการเจรจาในปัจจุบัน

“หากโต๊ะพูดคุยครั้งนี้ล่มอีกจากปัจจัยต่างๆ ทั้งจากฝ่ายไทย ฝ่ายบีอาร์เอ็น หรือฝ่ายผู้อำนวยความสะดวก ก็ไม่ได้หมายความว่าล้มเหลวหรือบีอาร์เอ็นแพ้ เพราะหลักการต่อสู้ของบีอาร์เอ็นยังอยู่ อย่างที่ท่านนบีกล่าวว่า การญีฮาดนั้นจะดำเนินต่อไปจนวันสิ้นโลก หมายความว่าเราต้องพร้อมกับการญีฮาด” คณะเจรจาสันติภาพของ BRN กล่าว

ขอฝ่ายไทยลงนามหยุดยิง เพราะเกี่ยวข้องกับชีวิตและศักดิ์ศรี

นิมะตุลเลาะ ยังได้กล่าวถึงการหยุดยิง (ceasefire) ด้วยว่า เป็นไปได้ที่จะมีการพักการต่อสู้ด้วยอาวุธไว้ เมื่อมีการประกาศหยุดยิง (ceasefire) ซึ่งที่ผ่านมาบีอาร์เอ็นเคยหยุดยิงฝ่ายเดียวเมาแล้วเป็นเวลานาน 15 วัน โดยไม่ได้เรียกร้องอะไรใดๆ เป็นข้อแลกเปลี่ยนกับรัฐไทย และบีอาร์เอ็นได้ใช้ช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมาประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียวเพื่อเป็นการแสดงสปิริตถึงพี่น้องประชาชนคนปาตานีที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยโควิดอีกด้วย โดยไม่มีการเคลื่อนไหวทางทหาร ไม่ว่าจะเป็นการยิงหรือการวางระเบิด

นิมะตุลเลาะ เปิดเผยด้วยว่า สิ่งที่บีอาร์เอ็นขอต่อฝ่ายไทยก็คือการลงนามในเอกสารเกี่ยวกับการพูดคุยด้วย เพื่อสร้างความไว้วางใจต่อกันและทดสอบความจริงจังของการพูดคุยว่ามีมากน้อยเพียงใด

“สิ่งที่เกี่ยวข้องกับเลือดเนื้อของคนและศักดิ์ศรีที่เราต้องขอให้มีการลงนาม”  คณะเจรจาสันติภาพของ BRN ย้ำถึงการลงนามดังกล่าวนั้นเกี่ยวข้องกับการหยุดใช้กำลังและความรุนแรง

จะกลัวอะไรกับการลงนาม คนละเรื่องกับเอกราช

นิมะตุลเลาะ กล่าวว่า ถ้ารัฐไทยไม่ยอมลงนามในข้อตกลงหยุดยิง ทางบีอาร์เอ็นก็ยากที่จะดำเนินการหยุดยิงได้ เพราะหากไม่มีการลงนามก็เท่ากับว่ารัฐไทยไม่ได้มีเจตนาที่จะหยุดยิง

คณะเจรจาสันติภาพของ BRN อธิบายว่า ในเมื่อรัฐไทยยังไม่ต้องการจะหยุดยิง ทางบีอาร์เอ็นก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องหยุดยิงเช่นกัน เพราะเรื่องการหยุดยิงนั้น เป็นเรื่องของคู่สงครามหรือคู่ขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธจะต้องมีความต้องการร่วมกันจริงๆ จึงจะสามารถมีความเป็นไปได้จริงในทางปฏิบัติ

นิมะตุลเลาะ กล่าวว่า ส่วนเรื่องอื่นๆ เช่นเรื่องการแสวงหาทางออกด้วยแนวทางการเมือง ทางรัฐไทยต้องการหารือกับบีอาร์เอ็นในเรื่องความเป็นไปได้ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจให้เป็นออโตโนมี หรือการกระจายอำนาจในรูปแบบต่างๆ นั้น ทางบีอาร์เอ็นพร้อมจะพูดคุยและนำไปพิจารณา ซึ่งก็ไม่จำเป็นจะต้องมีการลงนามเหมือนกับเรื่องการหยุดยิง

“มันจะผิดอะไรหรือ การลงนามไม่ใช่เรื่องเอกราช แต่ถ้าฝ่ายไทยกลัวว่า ถ้าลงนามไปแล้วบีอาร์เอ็นจะได้เอกราชนั้น มันจะเป็นไปได้หรือ ดังนั้น ทุกสิ่งที่ทำไปเพื่อต้องการแสดงความมั่นใจด้วย ต้องลงนาม” นิมะตุลเลาะ กล่าว

คณะเจรจาสันติภาพของ BRN กล่าวว่า ที่ผ่านมาฝ่ายไทยไม่ยอมลงนามในเอกสารใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพูดคุยนั้นยังเป็นปริศนา ทั้งที่ในสนธิสัญญาแองโกล-สยาม เมื่อปี ค.ศ.1909 ฝ่ายไทยลงนามมาแล้ว อาจเป็นเพราะไทยถือว่าตนเองเป็นประเทศใหญ่ที่ไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของใคร เพราะความหยิ่งยโสของตนเอง โดยที่ไม่รู้ว่าโลกนี้เป็นของพระเจ้าที่สามารถจะทำให้อ่อนแอเมื่อไหร่ก็ได้ เช่น โซเวียตก็เคยแตกเป็นประเทศเล็กมาแล้ว

ถึงจะช้าแต่ก็ก้าวหน้า พร้อมเผยความสำเร็จสำคัญ

นิมะตุลเลาะ กล่าวว่า เอกราชเป็นเรื่องต้องช่วงชิงไม่ใช่การขอ เพราะฉะนั้นบีอาร์เอ็นจึงใช้ทั้งอาวุธและการเจรจา เพราะเอกราชนั้นเป็นไปได้ด้วยการช่วงชิง คนที่ไม่แข็งแรงแต่ต้องการเจรจาด้วยอันนั้นเรียกว่าขอทาน ก็มีหลายกรณีในประวัติศาสตร์โลก

นิมะตุลเลาะ กล่าวว่า การพูดคุยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5 แล้วแต่ก็ยังหมุนวนอยู่ที่เดิม แต่กระบวนการพูดคุยก็ยังดำเนินต่อ ไม่ได้ยุติ แม้จะช้าแค่ไหนก็ตาม แต่เพราะความพยายามที่ยาวนานและไม่หยุดจึงทำให้ได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติ ซึ่งก็มีผลสำเร็จแม้ว่าจะทีละน้อยก็ตาม เชื่อว่าคนรุ่นใหม่จะมีแนวทางที่รวดเร็วกว่านี้ ด้วยเหตุนี้การพูดคุยจึงต้องมีคนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุนแนวทางนี้ด้วย

นิมะตุลเลาะ กล่าวว่า ในความช้าก็มีความสำเร็จอยู่ เพราะตั้งแต่การพูดคุยเมื่อปี 2013 ทำให้โลกได้รู้ว่าพื้นที่นี้มีเจ้าของ ต่อมาในยุคมาราปาตานี (MARA PATANI) ได้แสดงให้เห็นถึงพลวัตของการพูดคุย จนมาถึงการพูดคุยยุคนี้ก็มีความสำเร็จหลายอย่างในหลายๆ แง่มุม เช่น เกิดกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ ที่พูดถึงปาตานีทั้งในพื้นที่และต่างประเทศ แม้แต่ชาวพุทธก็ลุกขึ้นมาพูดถึงการแสวงหาสันติภาพ รวมถึงหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นมาด้วย

อนาคตปาตานีให้ประชาชนกำหนด

“ถ้าไม่มีการพูดคุย เราก็ไม่สามารถแสดงความยิ่งใหญ่ของเราได้ การแสดงออกดังกล่าวทำให้ไม่ถูกมองเห็นแต่เรื่องรุนแรง อย่างเช่น กลุ่มอาบูซายับหรือกลุ่มไอเอสที่คนเห็นเป็นกลุ่มหัวรุนแรง แต่บีอาร์เอ็นคนกลับเห็นเป็นกลุ่มต่อสู้เพื่อเอกราช นั่นคือความสำเร็จที่สำคัญ”

คณะเจรจาสันติภาพของ BRN กล่าวทิ้งท้ายว่า แม้เป้าหมายของบีอาร์เอ็นยังไปไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็นเอกราช หรือปกครองตนเอง หรือในระดับที่ต่ำกว่านั้นลงมาก็ตาม แต่บีอาร์เอ็นก็ไม่ใช่กลุ่มที่จะมากำหนดอนาคตของปาตานี แต่จะมอบหมายให้ทุกคนได้ร่วมกันกำหนดอนาคตของตัวเองของคนปาตานี

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท