มอง 6 ตุลา จากสถานที่จริงกับกิจกรรม Walking Tour

6 ตุลาคม 2556 ในงานรำลึก 46 ปี 6 ตุลาคมตามหา (อ)ยุติธรรม มีกิจกรรม Walking Tou เดินดูสถานที่จริงในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 กับทนายด่าง กฤษฎางค์ นุตจรัส ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และผู้ร่วมเหตุการณ์ในวันนั้น

ชมไลฟ์ Walking Tour

บริเวณหน้าหอประชุมใหญ่

จุดเริ่มต้นของการเดินทางเริ่มต้นณบริเวณลานปฏิมากรรมหน้าหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชาญวิทย์เล่าถึงประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์วัดดังเดิมเคยเป็นวังหน้ามาก่อน และเมื่อกลายเป็นมหาวิทยาลัยมีการจัดสร้างอาคารเรียนต่างๆล้อมรอบสนามฟุตบอลมีลักษณะเป็นป้อมปราการ เพราะฉะนั้นเมื่อมีการชุมนุมเกิดขึ้นพื้นที่มหาวิทยาลัยจึงมีลักษณะเป็นป้อมปราการให้ผู้ชุมนุมได้เข้ามาใช้พื้นที่เพื่อความปลอดภัยเสมอตั้งแต่ช่วง 14 ตุลา 6 ตุลาก็ใช้พื้นที่ดังกล่าวจนกระทั่งเจ้าหน้าที่ใช้อาวุธหนักจนเกินกว่าที่จะป้องกันได้ ชาญวิทย์เล่าถึงสิ่งที่ จรัล ดิษฐาอภิชัย นักศึกษาในเวลานั้นเล่าให้ฟังว่ามีการคุยกันว่าจะสลายตัวในช่วงวันที่ 5 และ 6 ตุลา แต่ก็ถูกปราบปรามลงเสียก่อน

กฤษฎางค์ นุตจรัส

ทนายด่าง กฤษฎางค์ เล่าถึงบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าตรงนี้เป็นจุดที่เจ้าหน้าที่และฝ่ายขวา บุกเข้ามาในมหาวิทยาลัยจากบริเวณด้านหน้าของหอประชุมใหญ่ ในช่วงเช้า ซึ่งจะทำให้หน่วยรักษาความปลอดภัยของนักศึกษาของการชุมนุมเสียชีวิตหลายร้ายรายในบริเวณนี้

ชูศิลป์ หนึ่งในผู้ที่เคยเป็นการ์ดในยุคนั้นเล่าว่า เห็นเจ้าหน้าที่ในชุดเครื่องแบบอยู่บริเวณพิพิธภัณฑ์ด้านข้าง ก่อนที่ต่อมาจะมีการระดมยิงจากอาวุธปืนทั้งฝั่งหน้ามหาวิทยาลัยและฝั่งพิพิธภัณฑ์

บริเวณสนามหญ้ามหาวิทยาลัย

ทนายด่างเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการชุมนุมในครั้งเมื่อ 6 ตุลาคมว่า ตุลาคมว่ามาต่อต้านกิตติขจร ซึ่งพยายามกลับมาไทยหลังจากนี้ออกไปในช่วง 14 ตุลาคม 2516 และได้บวชอยู่ที่วัดบวร จึงเกิดการเรียกร้องให้มีการดำเนินคดีกับจอมพลถนอม ในช่วงเวลาที่ใกล้กันของการขับไล่นักกิจกรรมสหภาพแรงงาน 2 คนที่จังหวัดนครปฐมถูกฆ่าแล้วแขวนคอในขณะที่ติดป้ายประท้วง และเชื่อมโยงมาถึงนักศึกษาในกรุงเทพฯที่จะเล่นละครเพื่อพูดถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น

ช่วง 5:00 น ของวันที่ 6 ตุลาคม เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธสงครามยิงเข้ามาบริเวณสนามหญ้าหน้าตึกบัญชี ทำให้ผู้ชุมนุมที่อยู่บริเวณนั้นเสียชีวิตทันที 4 คน และมีคนบาดเจ็บจำนวนมาก และหลังจากระเบิดลูกแรกก็มีการยิงปืนเข้ามาในบริเวณพื้นที่ชุมนุมจึงทำให้ผู้ชุมนุมต้องหนีเข้าไปในอาคารเรียนทั้งสองฝั่ง ทนายด่างเล่าถึงเกร็ดประวัติศาสตร์อย่างหนึ่งก็คือหลังการชุมนุม 6 ตุลาคมมีนักศึกษาที่หลบซ่อนตัวอยู่ในอาคารสังคมสงเคราะห์อยู่ถึง 2 วัน คือจรัล ดิษฐาอภิชัย

ภาพหนึ่งที่ควรจดจำกันได้มากคือภาพของนักศึกษาที่ถูกผ้าขาวม้าผูกคอแล้วลากไปตามสนามฟุตบอลบริเวณนี้ก็คือภาพของจารุพงษ์ ทองสินธุ์ ซึ่งเป็นกรรมการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขณะนั้น ซึ่งเขาทำหน้าที่ดูแลคนให้หลบหนีออกจากมหาวิทยาลัยขณะนั้นก่อนที่จะถูกฆ่า ซึ่งจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ปรากฏว่าศพของจารุพงษ์ทองสินธุ์หายไปไหน

หลังจากที่นักศึกษาบางส่วนหลบขึ้นไปในตามอาคารเรียนซึ่งหนึ่งในนั้นก็คืออาคารคณะบัญชี ซึ่งจะถูกตำรวจตระเวนชายแดนบางส่วนตามขึ้นไปแล้วใช้อาวุธปืนกราดยิงส่งผลให้นักศึกษาหลายคนเสียชีวิตในตึก

สาโรจ นักศึกษาในเหตุการณ์ครั้งนั้นเล่าว่า บริเวณตึกบัญชีถูกยิงตั้งแต่เช้าจนถึง 9 โมงกว่า เวลายิงเจ้าหน้าที่ตำรวจจะตั้งเป็นสองแถว แถวหน้ายิงแล้วแถวหลังจะนั่งเพื่อบรรจุกระสุนใหม่ก่อนที่จะสลับกันยิงไปมา จนกระทั่งช่วง 11:00 น จึงยอมเดินลงมามอบตัว ก่อนที่จะถูกบังคับให้ถอดเสื้อบริเวณสนามหญ้า เหมือนกับคนอื่นๆทั้งผู้หญิงและผู้ชาย บางคนถูกเหยียบถูกทำร้าย รวมถึงล้วงเอาทรัพย์สินมีค่าในตัวและนักศึกษาทั้งหมดก็จะต้องนอนถอดเสื้ออยู่บริเวณนั้นจนถึงช่วงบ่าย 3 โมงก่อนจะถูกจับตัวขึ้นรถเมล์ และถูกส่งไปขังที่โรงเรียนตำรวจจังหวัดนครปฐม

ลานโพธิ์

ชาญวิทย์เล่าถึงที่มาของบริเวณลานโพธิ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าจุดนี้ดังเดิมเป็นหน้ามหาวิทยาลัยนักศึกษาส่วนใหญ่ในยุคนั้นจะใช้ประตูบริเวณท่าพระจันทร์ในการเดินทางเข้ามาในมหาวิทยาลัย และในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก็ถูกใช้เป็นบริเวณพื้นที่ของการชุมนุมด้วยในยุคนั้นนักศึกษาจะใช้การสื่อสารผ่านการใช้กระดาษเขียนใส่กระป๋องนมแล้วผูกเชือกโยงลงมาจากตึกเพื่อสื่อสารกันระหว่างคนบนตึกและด้านล่าง เพื่อสื่อสารว่าตอนนี้ในสนามกำลังประท้วงกันเรื่องอะไรบ้าง เพราะในตอนนั้นยังไม่มีมือถือและเครื่องมือสื่อสารที่ทันสมัยเหมือนทุกวันนี้

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

อรวรรณ พิธีกรในเหตุการณ์ช่วงการชุมนุม 6 ตุลาคม 2519 พูดถึงเหตุการณ์ในช่วงนั้นว่ากิจกรรมการชุมนุมเริ่มตั้งแต่วันที่ 4 แล้ววันนั้นก็ได้มีการแสดงการล้อเลียนการแขวนคอที่จังหวัดนครปฐม ซึ่งถูกฆ่าแขวนคอ โดยหน้าที่หนึ่งของตนในวันนั้นคือการปราศรัย เชิญชวนเพื่อนนักศึกษาไม่ให้เข้าห้องสอบในเวลานั้น จนกว่าฆาตกรในเหตุการณ์ 14 ตุลาคมจะได้รับการลงโทษ แล้วต่อมาในเวลา 14:00 น วันเดียวกันก็มีการประกาศงดสอบ

ทนายด่างเล่าว่าละครวันที่ 4 ตุลาคม เป็นละครที่มีจุดประสงค์เพื่ออยากจะเล่าเหตุการณ์การถูกแขวนคอของพนักงานการไฟฟ้าจังหวัดนครปฐมหนึ่งในกิจกรรมคือการที่มีนักศึกษาแต่งตัวเป็นศพผู้เสียชีวิตนอนอยู่ตามพื้นและบริเวณอาคารเรียนเพื่อชี้ให้เห็นว่าก่อนที่นักศึกษาจะขึ้นไปสอบได้นั้นก็ต้องข้ามศพของผู้เสียชีวิตเหล่านี้ไปสอบ ละครวันนั้นก็จบไปได้ด้วยดีโดยไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น จนกระทั่งถูกสื่อนำไปตีข่าวว่าเป็นละครหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

อภินันท์ บัวหภักดี นักแสดงในกิจกรรมแขวนคอ เล่าว่าในตอนนั้นตนก็ไม่ได้ตั้งใจที่จะมาเล่นละครในการแสดงครั้งนี้ในตอนแรกตั้งใจจะไปชมภาพยนตร์แต่บังเอิญว่าผิดนัดกับเพื่อน แล้วไปเจอกับกลุ่มกิจกรรมที่เขากำลังซ้อมละครจึงอาสาเข้าไปร่วมการแสดงในครั้งนั้น

อภินันท์ บัวหภักดี

อภินันท์กล่าวว่าตนเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ความตั้งใจของเขาคือการแสดงเพื่อพูดถึงนักกิจกรรมที่ถูกฆ่าแขวนคออย่างโหดเหี้ยม แต่กลับถูกอีกฝ่ายนำไปบิดเบือนจนกลายเป็นอีกทางหนึ่งซึ่งนำมาซึ่งความสูญเสีย เขาใช้เครื่องมือสื่อสารของรัฐเพื่อมาทำร้ายประชาชน เป็นการก่ออาชญากรรมโดยรัฐ คนที่บิดเบือนข่าวสารในวันนั้นเป็นคนที่สมควรจะต้องถูกลงโทษ

ตนและคณะกรรมการนักศึกษาถูกจับออกมานอกการชุมนุมในวันที่ 6 ตุลาคมเพื่อนำตัวไปบ้านเสนีย์ปราโมชหรือนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นแต่พอไปถึงหน้าบ้านก็ถูกจับและติดคุกอยู่ที่เรือนจำบางขวาง 2 ปี

ลานปรีดี ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

ทนายด่างเล่าว่าบริเวณนี้เป็นจุดที่นักศึกษาหลายคนพยายามใช้หนีออก หลายคนต้องกระโดดลงแม่น้ำเจ้าพระยาแต่ไปจากทางจุดนี้ก็ไม่พ้นเพราะเนื่องจากมีตำรวจน้ำรออยู่บริเวณนี้ มีการใช้อาวุธปืนยิงเข้ามา และคอยห้ามเรือที่จะเข้ามารับนักศึกษา ส่วนศึกษาบางคนก็พังตะแกรงเหล็กแล้วว่ายน้ำไปที่ท่าพระจันทร์บ้าง บางส่วนก็หลบหนีไปทางวัดมหาธาตุแถวศูนย์พระเครื่อง

ข้างอาคารศูนย์ภาษา

บริเวณข้างอาคารศูนย์ภาษาทนายด่างเล่าว่า บริเวณนี้ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เป็นจุดที่ตำรวจตระเวนชายแดน ระดมยิงอาวุธสงครามมายังบริเวณข้างเวทีปราศรัยและทำให้เกิดผู้เสียชีวิตอีกจำนวนหนึ่ง ส่วนด้านประตูบริเวณอาคารโดมมีนักศึกษาบางส่วนพยายามพังประตูเข้าไปในอาคาร

อาคารคณะวารสารศาสตร์

บริเวณนี้ก็เป็นจุดหนึ่งที่มีคนหนีขึ้นไปเยอะ และก็ถูกระดมยิงใส่เหมือนตึกบัญชี บริเวณดังกล่าวมีผู้เสียชีวิตเป็นตำรวจ 1 คน เนื่องจากนำอาวุธปืนกระแทกใส่หัวนักศึกษาแล้วปืนลั่นใส่เสียชีวิต ส่วนภายในอาคารก็มีการกราดยิงเข้าไปข้างในจนมีเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเช่นเดียวกัน

หนึ่งในผู้เข้าร่วมเหตุการณ์และเป็นหน่วยพยาบาลในเวลานั้นเล่าว่า บริเวณใต้ตึกบัญชีมีหน่วย พมช. หรือแพทย์เพื่อมวลชน โดยหลายคนเป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งรับผิดชอบเรื่องการรักษาพยาบาลในการชุมนุมครั้งนั้น พอเริ่มเกิดการปะทะขึ้นก็มีการหาผู้บาดเจ็บเข้ามาอยู่ใต้ตึกบัญชี แม้กระทั่งหน่วยพยาบาลเองก็ถูกยิงเสียชีวิตเนื่องจากเข้าไปช่วยผู้บาดเจ็บ สุดท้ายหน่วยแพทย์พยาบาลและผู้บาดเจ็บทั้งหมดก็ถูกกวาดลงมาบริเวณสนามหญ้าแล้วถูกจับถอดเสื้อ นอกจากนี้ยังมีหน่วยพยาบาลที่ประจำจุดอยู่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาถูกยิงเสียชีวิตด้วย เป็นสิ่งที่ทำให้เราเจ็บปวดกลายเป็นบาดแผลในความรู้สึกจนถึงปัจจุบัน

ภาพบรรยากาศกิจกรรม : 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท