Skip to main content
sharethis

ที่ประชุม บอร์ด สปสช. รับทราบความคืบหน้ากรณี ‘ยกเลิกสัญญา 9 รพ. เอกชน’ ใน กทม. – แนวทางการลดผลกระทบที่เกิดกับประชาชน จัดหาหน่วยบริการรองรับกลุ่มที่นอนรักษาตัวอยู่-กลุ่มนัดผ่าตัด-กลุ่มโรคเรื้อรังที่นัดรักษาต่อเนื่อง จัดเครือข่ายบริการปฐมภูมิ ประสาน กทม.-สธ. ดูแลระบบส่งต่อ เพิ่มบริการพบแพทย์ทางไกล-ร้านยาคุณภาพ

9 ต.ค. 2565 ทีมสื่อ สปสช. แจ้งข่าวว่าที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 10/2565 เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2565 โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน ได้มีมติรับทราบความคืบหน้ากรณียกเลิกสัญญาบริการและหน่วยบริการ (โรงพยาบาล) ทั้ง 9 แห่ง และแนวทางที่ สปสช.จัดเตรียมไว้สำหรับรองรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยจัดหาหน่วยบริการให้กับกลุ่มที่มีนัดหมายผ่าตัด และกลุ่มโรคเรื้อรังที่มีนัดหมายรักษาต่อเนื่อง และจัดเครือข่ายบริการปฐมภูมิ รวมถึงประสาน กรุงเทพมหานคร (กทม.) และ สธ. รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องดูแลด้านระบบส่งต่อ พร้อมทั้งเพิ่มบริการอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการอย่างมีประสิทธิภาพ 

ทั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องภายหลังพบว่าหน่วยบริการทั้ง 9 แห่งมีการเบิกจ่ายไม่ถูกต้อง โดยเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2565 ทาง คณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ (อปสข.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้รับทราบและมีมติให้ สปสช. จัดเตรียมแนวทางและเร่งดำเนินการเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งกับประชาชนที่ลงทะเบียนกับโรงพยาบาลทั้ง 9 แห่ง พร้อมทั้งจัดทำแผนขับเคลื่อนการสนับสนุนบริการปฐมภูมิในเขตพื้นที่ กทม. 

ตลอดจนเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2565 ทาง สปสช. ได้มีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาไปยังโรงพยาบาลทั้ง 9 แห่ง โดยประกอบด้วยสัญญาหน่วยบริการปฐมภูมิ หน่วยบริการประจำและหน่วยบริการรับส่งต่อทั่วไป  

สำหรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน ได้แก่ ประชาชนที่ลงทะเบียนหน่วยบริการปฐมภูมิและหน่วยบริการประจำ ณ รพ.ที่ยกเลิกสัญญา จำนวน 220,313 คน ซึ่งจะเป็นสิทธิว่าง โดยในจำนวนนี้ พบว่า ในรอบ 1 ปี  มีประชาชนที่รับบริการจำนวน 62,331 คน ซึ่งมีกลุ่มโรคเรื้อรัง 21,135 คน รวมถึงประชาชนที่มาใช้บริการต่อเนื่อง 4 ครั้งต่อปี จำนวน 4,000 คน และประชาชนที่ลงทะเบียนที่ 9 รพ.เป็นหน่วยบริการรับส่งต่อ อีก 475,790 คน   

พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่าแนวทางในการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยหลักแล้วจะเป็น กลุ่มที่ยังนอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล และกลุ่มที่มีนัดหมายผ่าตัด หรือทำหัตถการ รวมถึงกลุ่มโรคเรื้อรังที่มีนัดหมายรักษาต่อเนื่อง โดยทาง สปสช. ได้ขอความร่วมมือจากโรงพยาบาลทั้ง 9 แห่งในระหว่างที่ สปสช. กำลังจัดหาหน่วยบริการเพื่อรองรับประชาชน ถ้าทางโรงพยาบาลยังมีการให้บริการประชาชนในกลุ่มนี้อยู่ สปสช. จะมีระบบเบิกจ่ายให้ 

สำหรับการจัดหาหน่วยบริการรองรับ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ในกลุ่มที่รับบริการทั่วไป ทั้งบริการปฐมภูมิ รวมถึงบริการรับส่งต่อมีการจัดเครือข่ายบริการเพื่อรองรับผลกระทบ โดยทาง กทม.เป็นเจ้าภาพในการบริหารจัดการระบบบริการใน กทม. ซึ่งในกรณีหน่วยบริการปฐมภูมิจะมีคลินิกชุมชนอบอุ่น คลินิกเวชกรรมและร้านยาในระบบหลักประกันสุขภาพ โดยมีศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) ที่เป็นหน่วยบริการประจำ (หน่วยบริการแม่ข่าย) ในการให้บริการดูแลรักษา  

ด้านหน่วยบริการรับส่งต่อ ผู้ที่จะทำหน้าที่หลักคือโรงพยาบาลในสังกัด กทม. ที่จะดูแลครอบคลุม 6 พื้นที่ ทั้งหมดใน กทม. โดยมีโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์เป็นส่วนเสริม รวมถึงหากกรณีเกินขีดความสามารถ จะมีการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลสังกัดอื่นๆ ใน กทม. และโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในบริเวณพื้นที่ชายขอบ  

“นอกจากนี้ตามนโยบายยกระดับบัตรทอง OP Anywhere หรือ 30 บาทรักษาทุกที่ในหน่วยบริการปฐมภูมิจะมีการเพิ่มบริการ Telemedicine (โทรเวชกรรม) ใน 41 กลุ่มโรค รวมถึงร้านยาคุณภาพ ครอบคลุม 16 กลุ่มอาการ และ 53 กลุ่มโรค ซึ่งทาง กทม. เป็นพื้นที่นำร่อง” พญ.ลลิตยา กล่าวและว่า สำหรับสายด่วน สปสช. 1330 จะมีกลไกในการรองรับสำหรับกรณีการยกเลิกสัญญา โดย กด 6 รวมถึงจะมีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เพื่อแจกแจงบริการต่างๆ ทั้งรายประเภท ไปจนถึงการประสานส่งต่อให้กับหน่วยบริการ  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net