Skip to main content
sharethis

สวนดุสิตโพลสำรวจ 1,067 คน เรื่อง "ของแพงกับคนจน" พบว่า 54.54% ระบุรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย 77.32% คิดว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาคนจนไม่ได้

9 ต.ค. 2565 ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อและสินค้าแพง ส่งผลให้คนไทยต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากรายได้ รายจ่ายไม่สัมพันธ์กัน และจากการเปิดรับลงทะเบียน "บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" หรือ "บัตรคนจน" รอบใหม่ในปี 2565 พบว่า "คนจน" ในประเทศไทยเพิ่มเป็น "20 ล้านคน" หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด ทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลต่อสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางสังคม สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนจำนวน 1,067 คน จากทั่วประเทศ เรื่อง "ของแพง กับ คนจน" พบว่า

ณ วันนี้ รายได้ของประชาชนเพียงพอกับรายจ่ายหรือไม่
ร้อยละ 54.54 ระบุ ไม่เพียงพอกับรายจ่าย
ร้อยละ 45.46 ระบุ เพียงพอกับรายจ่าย

สินค้าประเภทใดที่คิดว่า "แพง" เกินกว่าที่จะรับได้
อันดับ 1 ร้อยละ 82.96 ระบุ ค่าน้ำมัน ค่าเดินทาง
อันดับ 2 ร้อยละ 71.19 ระบุ ค่าน้ำ ค่าไฟ
อันดับ 3 ร้อยละ 66.38 ระบุ แก๊สหุงต้ม
อันดับ 4 ร้อยละ 53.67 ระบุ อาหารจานเดียว อาหารตามสั่ง
อันดับ 5 ร้อยละ 52.64 ระบุ วัตถุดิบสำหรับทำอาหาร

ประชาชนอยากให้รัฐบาลดำเนินการอย่างไรเพื่อช่วยเหลือกรณีของแพง
อันดับ 1 ร้อยละ 85.73 ระบุ ควบคุมราคาสินค้า ลดราคาสินค้า
อันดับ 2 ร้อยละ 68.43 ระบุ ลดภาษีน้ำมัน
อันดับ 3 ร้อยละ 56.52 ระบุ นำเสนอข้อมูลความจริง ไม่ปิดบัง
อันดับ 4 ร้อยละ 54.35 ระบุ จัดโครงการสินค้าราคาถูกช่วยเหลือประชาชน
อันดับ 5 ร้อยละ 52.36 ระบุ เร่งออกมาตรการช่วยเหลือ เช่น คนละครึ่ง ช่วยค่าน้ำ ค่าไฟ

ประชาชนคิดอย่างไรกับกรณี "คนจน" ในประเทศเพิ่มเป็น "20 ล้านคน" หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด
อันดับ 1 ร้อยละ 80.38 ระบุ ของแพงทำให้คนมีเงินไม่พอใช้
อันดับ 2 ร้อยละ 74.72 ระบุ คนตกงานมากขึ้น ไม่มีรายได้
อันดับ 3 ร้อยละ 70.47 ระบุ เงินจำนวนเท่าเดิม ซื้อของให้น้อยลง
อันดับ 4 ร้อยละ 67.64 ระบุ คนเป็นหนี้เพิ่มขึ้น
อันดับ 5 ร้อยละ 65.57 ระบุ เศรษฐกิจไม่ดีเป็นเวลานาน

ประชาชนอยากให้รัฐบาลดำเนินการอย่างไรเพื่อช่วยเหลือกรณี "คนจน"
อันดับ 1 ร้อยละ 78.32 ระบุ สร้างโอกาส สร้างรายได้ เน้นการพุ่งตนเองได้ในระยะยาว
อันดับ 2 ร้อยละ 77.19 ระบุ แก้ปัญหาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
อันดับ 3 ร้อยละ 66.54 ระบุ ยอมรับและหาต้นเหตุของปัญหาที่แท้จริง
อันดับ 4 ร้อยละ 63.15 ระบุ ทุกภาคส่วนร่วมมือกันแก้ไขปัญหา
อันดับ 5 ร้อยละ 59.10 ระบุ เพิ่มสวัสดิการช่วยเหลือดูแลด้านสุขภาพ

ประชาชนคิดว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหา "คนจน" ได้หรือไม่
ร้อยละ 77.32 ระบุ แก้ไขไม่ได้
ร้อยละ 22.68 ระบุ แก้ไขได้

ประชาชนคิดว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหา "ของแพง" ได้หรือไม่
ร้อยละ 59.23 ระบุ แก้ไขไม่ได้
ร้อยละ 40.77 ระบุ แก้ไขได้

นางสาวพรพรรณ บัวทองนักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุว่าสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,067 คน ระหว่างวันที่ 3-6 ตุลาคม 2565 พบว่า ณ วันนี้รายได้ของประชาชนไม่เพียงพอกับรายจ่าย ร้อยละ 54.54 เพียงพอกับรายจ่าย ร้อยละ 45.46 โดยสินค้าที่คิดว่า “แพง” เกินกว่าที่จะรับได้ อันดับ 1 คือ ค่าน้ำมัน ค่าเดินทาง ร้อยละ 82.96 รองลงมาคือ ค่าน้ำ ค่าไฟ ร้อยละ71.19 สิ่งที่อยากให้รัฐบาลดำเนินการ คือ ควบคุมราคาสินค้า ลดราคาสินค้า ร้อยละ 85.73 ลดภาษีน้ำมัน ร้อยละ 68.43  กรณี “คนจน” เพิ่มเป็น 20 ล้านคน มองว่าเพราะของแพงทำให้คนมีเงินไม่พอใช้ ร้อยละ 80.38 รองลงมาคือ คนตกงานมากขึ้น ไม่มีรายได้ 74.72 สิ่งที่อยากให้รัฐบาลดำเนินการเพื่อช่วยเหลือ คือ สร้างโอกาส สร้างรายได้ เน้นการพึ่งตนเองได้ในระยะยาว ร้อยละ 78.32 รองลงมาคือ ควรแก้ปัญหาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ร้อยละ 77.19 ในภาพรวมประชาชนคิดว่ารัฐบาลไม่น่าจะแก้ปัญหา “คนจน” ได้ ร้อยละ 77.32 ส่วนปัญหา “ของแพง” ก็ไม่น่าจะแก้ไขได้เช่นกัน ร้อยละ 59.23
    
จากผลการสำรวจเชิงลึก พบว่า กลุ่มอาชีพที่มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย 3 อันดับแรก คือกลุ่มอาชีพรับจ้าง รองลงมา คือ นักเรียน นักศึกษา และกลุ่มคนทำธุรกิจส่วนตัวและค้าขาย อาจเป็นเพราะทั้งสามกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำที่แน่นอน จึงเกิดปัญหารายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย โดยปัญหาของแพงเข้ามากระทบต่อการใช้จ่ายประชาชนเป็นอย่างมาก คนมีเงินไม่พอใช้ ช่วงโควิด-19 ยิ่งทำให้เกิดภาวะตกงาน ว่างงาน ต้องหยิบยืมมาใช้จ่ายทำให้เป็นหนี้เพิ่มขึ้น อัตราคนจนหรือคนรายได้น้อยก็เพิ่มสูงขึ้น เสียงสะท้อนจากผลโพลจึงต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่องเพื่อลดภาระของประชาชนโดยเร็ว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิตต์วิมล คล้ายสุบรรณ  อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุว่าในปัจจุบันประชาชนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจและการจ้างงาน ทำให้คนตกงานมากขึ้น ไม่มีรายได้ หรือบางคนถูกลดเงินเดือน จึงส่งผลให้คนมีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายของค่าครองชีพในชีวิตประจำวัน ซึ่งก็หมายถึงมีจำนวนคนจนมากขึ้นนั้นเอง เมื่อ “รายได้น้อยลง” แต่ “ของแพงขึ้น” จึงทำให้เงินที่มีอยู่ไม่เพียงพอสำหรับการเลี้ยงปากท้องในแต่ละวัน จากปัญหาถึงแม้รัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชนอยู่หลายโครงการ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้น ดังนั้นการแก้ไขปัญหาระยะยาวโดยเฉพาะวางแผนในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งระบบเป็นเรื่องที่ท้าทายรัฐบาลชุดนี้เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน โดยสิ่งสำคัญจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยมีการปรับเปลี่ยนกลไกและวิธีการในการแก้ไขปัญหาให้สอดรับกับบริบททางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน และสำหรับความตั้งใจของรัฐบาลที่ว่า “30 กันยายน 2565 คนจนจะหมดไป” ณ วันนี้ก็ยังไม่เห็นผลที่ชัดเจน จึงเป็นเรื่องที่จะต้องหาวิธีการแก้จนกันต่อไป
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net