Skip to main content
sharethis

9 ต.ค. 2565 เครือข่ายภาคประชาสังคมที่รณรงค์และติดตามการเข้าถึงยา แจ้งข่าวว่าจากกรณีที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ทักท้วง ร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .. ที่เสนอโดยกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งผ่านการเห็นชอบอนุมัติหลักการจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา โดยระบุว่าร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตร ดังกล่าวจะสร้างปัญหายาราคาแพง

ทั้งนี้ นายอนุทินได้แสดงจุดยืนของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งให้ความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ว่า ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการป้องกัน หรือบรรเทาปัญหาการขาดแคลนยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นต่อชีวิตผู้ป่วย และต้องประกาศใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐ (CL) ร่าง พ.ร.บ. สิทธิบัตร ฉบับนี้ ได้เพิ่มกระบวนการและสร้างเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคต่อความรวดเร็วในการเข้าถึงยาและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์เพื่อประโยชน์สาธารณะ และประวิงเวลาในการประกาศใช้ CL ออกไปโดยไม่สมควร โดยเฉพาะในสถานการณ์ฉุกเฉินที่จำเป็นต้องเข้าถึงยาและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์อย่างเร่งด่วน

ขณะเดียวกัน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องพึ่งพายาในการรักษาโรค เช่น favipiravir, remdesivir ซึ่งเป็นยาที่มีผู้ผลิตรายเดียว ทำให้เกิดการขาดแคลน ผู้ป่วยโควิด-19 ไม่สามารถเข้าถึงยาได้ ประเทศไทยพยายามดำเนินการประกาศใช้ CL ยา แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากยาดังกล่าวมีการยื่นจดสิทธิบัตรและอยู่ระหว่างการพิจารณาคำขอรับสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา

จากบทเรียนในครั้งนี้ เห็นได้ว่ายังมีช่องว่างของกฎหมายที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถดำเนินการเพื่อรักษาชีวิตและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในภาวะวิกฤต ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีบทบัญญัติที่เอื้อต่อการผลิตยาและเวชภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ที่อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาคำขอรับสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้สามารถประกาศใช้ CL ได้อย่างมีประสิทธิภาพหากเกิดภาวะฉุกเฉินในอนาคต และไม่เป็นเหตุให้ถูกฟ้องย้อนหลังได้

นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้จัดการโครงการส่งเสริมการเข้าถึงยา เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า “กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ควรจะรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาสังคมให้มากกว่านี้ ร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตรฉบับแก้ไข นี้ควรปรับปรุงให้มีสมดุลในเรื่องการเข้าถึงยาให้มากขึ้น เพราะสถานการณ์การเข้าถึงยาและวัคซีนโควิด 19 แสดงให้เห็นแล้วว่าระบบสิทธิบัตรมีปัญหาอย่างไร และควรยึดหลักการของปฏิญญาโดฮาว่าด้วยการสาธารณสุขและความตกลงทริปส์ ที่ให้ประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลกควรตีความและใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ด้านสุขภาพของประชาชนมาก่อนการค้า แต่การแก้ไขในหลายมาตรา โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับมาตรการ CL เรากำลังทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม”

เครือข่ายภาคประชาสังคมที่รณรงค์และติดตามการเข้าถึงยา เช่น มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย นักวิชาการด้านสิทธิบัตรและการเข้าถึงยา รวมถึงสภาองค์กรของผู้บริโภค เคยมีจดหมายแสดงความคิดเห็นต่อร่าง พรบ. สิทธิบัตรฉบับแก้ไขในช่วงที่เปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็น และแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งต่อการแก้ไขมาตราที่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิโดยรัฐหรือมาตรการ CL ที่จะทำให้การประกาศใช้มาตรการ CL ไปได้ยากหรือเป็นไปไม่ได้ เพราะกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้เสนอให้เพิ่มข้อความที่ระบุให้การประกาศมาตรา CL ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน ซึ่งในกฎหมายฉบับปัจจุบัน กระทรวง ทบวง กรม สามารถประกาศใช้ CL ได้โดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ภาคประชาสังคมยังเสนอให้หน่วยงานรัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพสามารถประกาศใช้มาตรการ CL ได้ด้วย และมาตรการ CL ต้องครอบคลุมสิทธิบัตรและคำขอรับสิทธิบัตรทั้งที่ประกาศโฆษณาแล้วและที่ยังไม่ประกาศโฆษณา เพราะมีบทเรียนจากคำขอรับสิทธิบัตรยาสำหรับรักษาโควิด 19 เป็นอุปสรรค ทำให้ประกาศใช้มาตรการ CL ไม่ได้

เครือข่ายภาคประชาสังคมยังมีความคิดเห็นอีกว่า ร่าง พ.ร.บ. สิทธิบัตรดังกล่าว ยังมีช่วงโว่และจะเป็นปัญหาต่อการเข้าถึงยา เช่น การไม่กำหนดระยะเวลาว่าจะประกาศโฆษณาครั้งที่ 2 การแก้ไขถ้อยคำจาก “ผู้ใด” เป็น “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” ที่มีสิทธิยื่นคำคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตร เป็นต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net