Skip to main content
sharethis

เครือข่ายยุติโทษประหารชีวิต และนักสิทธิฯ ออกแถลงการณ์เนื่องในวันยุติโทษประหารสากล ย้ำสังคมไทยไม่ควรมีบทลงโทษที่มีความโหดร้ายนี้อีกต่อไป เสนอกระบวนการนำไปสู่ขั้นตอนการยุติโทษนี้ 4 ขั้นตอน เริ่มจากพักการใช้การประหารชีวิตในทางปฏิบัติอย่างเป็นทางการโดยทันที

10 ต.ค.2565 เนื่องในวันยุติโทษประหารสากล (World Day against the Death Penalty) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) และ เครือข่ายยุติโทษประหารชีวิต ออกแถลงการณ์เรียกร้องว่าสังคมไทยไม่ควรมีบทลงโทษที่มีความโหดร้ายนี้อีกต่อไป และขอเรียกร้องต่อทุกภาคส่วนของสังคม พร้อมขอเสนอกระบวนการนำไปสู่ขั้นตอนการยุติโทษนี้ อย่างเป็นขั้นตอน ดังนี้ 1. ประกาศพักการใช้การประหารชีวิตในทางปฏิบัติอย่างเป็นทางการโดยทันที และให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเลือกรับฉบับที่สองของกติการะหว่างประเทศ ICCPR ที่มีความมุ่งหมายที่จะยุติโทษประหารชีวิตในที่สุด 2. ขอให้มีการแก้ไขกฎหมายอาญาโดยในเบื้องต้นให้แก้ไขกฎหมายที่มีบทลงโทษกำหนดโทษประหารชีวิตไว้สถานเดียว ให้มีการกำหนดโทษคุกตลอดชีวิตไว้ด้วย

3. สำหรับกฎหมายที่จะตราขึ้นใหม่ หากกำหนดให้มีโทษอาญา ให้โทษสูงสุดเป็นจำคุกตลอดชีวิต และ 4. สร้างหลักประกันให้มีการปฏิบัติตามมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับของสากลอย่างเข้มงวดเกี่ยวกับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมและการไต่สวนที่เกี่ยวข้องกับโทษประหารชีวิต

ทั้งนี้มีรายละเอียดของแถลงการณ์ดังนี้ : 

วันที่ 10 ตุลาคม ของทุกปีคือวันยุติโทษประหารสากล (World Day against the Death Penalty) ที่กำหนดขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในประเด็นโทษประหารชีวิตซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน วันยุติโทษประหารชีวิตสากล ถูกกำหนดจากการประชุมร่วมกันขององค์กรต่างๆ ที่กรุงโรมประเทศอิตาลีเมื่อปี 2543 และมีมติกำหนดให้วันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันที่ทั่วโลกรณรงค์เรียกร้องให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต สร้างการรับรู้ถึงข้อเสียของโทษดังกล่าวและเรียกร้องให้ทุกประเทศลงนามในพิธีสารเลือกรับของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ฉบับที่ 2 เพื่อการยุติโทษประหารฯ (Second Optional Protocol to the ICCPR, aiming at the abolition of death penalty) ซึ่งประเทศไทยยังอยู่ในกลุ่มประเทศที่ยังไม่เข้าเป็นภาคี แต่เข้าเป็นภาคี ICCPR ฉบับหลัก โดยการภาคยานุวัติ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2539 และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2540

เนื่องในโอกาส วันยุติโทษประหารสากลนี้ เครือข่ายยุติโทษประหารชีวิต ประกอบด้วย สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล มูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรม สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ขอคัดค้านการสังหารหรือเข่นฆ่าชีวิตมนุษย์ในทุกกรณี รวมทั้งว่าการประหารชีวิตเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์คือสิทธิในการมีชีวิตอยู่ การประหารชีวิตเป็นการกระทำที่โหดร้าย รุนแรง และเป็นการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมที่สุด มีผลต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่มีความเสี่ยงที่จะตัดสินผิดพลาด ไม่มีระบบใดที่จะสามารถตัดสินได้อย่างเป็นธรรม สม่ำเสมอ และโดยไม่มีข้อบกพร่อง การประหารชีวิตที่เกิดขึ้นแล้วไม่สามารถเรียกชีวิตกลับคืนมาได้ แม้ในภายหลังจะมีการสอบสวนว่าผู้ที่ถูกประหารชีวิตนั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ก็ตาม นักโทษที่ถูกประหารชีวิตส่วนใหญ่ คือ คนยากจนคนด้อยโอกาสซึ่งไม่สามารถว่าจ้างทนายความที่มีความสามารถเพื่อให้ความรู้และแก้ต่างให้กับตนเองได้ การประหารชีวิตไม่ได้ยับยั้งอาชญากรรมรุนแรง หรือทำให้สังคมปลอดภัยขึ้น แต่ยังส่งผลกระทบที่เลวร้ายต่อสังคม

การที่รัฐอนุญาตให้มีการประหารบุคคลนั้น แสดงถึงการสนับสนุนการใช้กำลังและการส่งเสริมวงจรการใช้ความรุนแรง ถึงแม้ว่าโทษดังกล่าวจะไม่เป็นการป้องปรามอาชญากรรมอย่างมีประสิทธิภาพ ยังมีการยกเหตุผลอื่น ๆ มาสนับสนุนโทษประหารชีวิตอีก เช่น การรักษากฏหมายและความเป็นระเบียบเรียบร้อย และการให้ความยุติธรรมแก่ผู้เสียหาย อย่างไรก็ดี มีหลายประเทศที่แม้จะคงโทษประหารชีวิตไว้ แต่ก็หลีกเลี่ยงที่จะบังคับโทษประหารชีวิต และเลือกที่จะพักการบังคับโทษในทางปฏิบัติ และใช้การจำคุกตลอดชีวิตแทนการประหารชีวิต

นอกจากนี้ การลงโทษด้วยวิธีการประหารชีวิตเป็นการกระทำที่กระทบกระเทือนอารมณ์คนในสังคม สามารถปลุกความรู้สึกร่วมอันรุนแรงของผู้คนในสังคมมาโดยตลอด และจะยังเป็นเช่นนี้ตลอดไป โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์ฆาตกรรมอย่างสยดสยอง หรือการก่อการร้าย สร้างอารมณ์โกรธ แค้น ตื่นตระหนกจนขาดสติยับยั้งจนไม่เห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ หากมีการตัดสินคดีผิดพลาดก็จะไม่มีวันฟื้นชีวิตผู้ถูกประหารกลับคืนมาได้ รวมถึงยังเป็นการปิดโอกาสคนที่กระทำความผิดมิให้สำนึกในสิ่งที่กระทำลงไป และที่ตนต้องรับผิดชอบต่อเหยื่อและสังคม

ด้วยเหตุนี้ เครือข่ายยุติโทษประหารชีวิตประเทศไทย มีความเห็นร่วมกันว่าสังคมไทยไม่ควรมีบทลงโทษที่มีความโหดร้ายนี้อีกต่อไป และขอเรียกร้องต่อทุกภาคส่วนของสังคม พร้อมขอเสนอกระบวนการนำไปสู่ขั้นตอนการยุติโทษนี้ อย่างเป็นขั้นตอน ดังนี้

1. ประกาศพักการใช้การประหารชีวิตในทางปฏิบัติอย่างเป็นทางการโดยทันที และให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเลือกรับฉบับที่สองของกติการะหว่างประเทศ ICCPR ที่มีความมุ่งหมายที่จะยุติโทษประหารชีวิตในที่สุด

2. ขอให้มีการแก้ไขกฎหมายอาญาโดยในเบื้องต้นให้แก้ไขกฎหมายที่มีบทลงโทษกำหนดโทษประหารชีวิตไว้สถานเดียว ให้มีการกำหนดโทษคุกตลอดชีวิตไว้ด้วย

3. สำหรับกฎหมายที่จะตราขึ้นใหม่ หากกำหนดให้มีโทษอาญา ให้โทษสูงสุดเป็นจำคุกตลอดชีวิต

4. สร้างหลักประกันให้มีการปฏิบัติตามมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับของสากลอย่างเข้มงวดเกี่ยวกับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมและการไต่สวนที่เกี่ยวข้องกับโทษประหารชีวิต

10 ตุลาคม 2565

เครือข่ายยุติโทษประหารชีวิต

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net