Skip to main content
sharethis

ที่อิหร่านมีการประท้วงนัดหยุดงานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการต่อต้านรัฐบาลรอบล่าสุด นอกจากนี้ยังมีมือดีแฮ็กรายการข่าวช่องของรัฐบาลที่กำลังนำเสนอกิจกรรมของผู้นำสูงสุด "อาลี คาเมเนอี" แล้วแทนที่ด้วยรูปเหยื่อที่เสียชีวิตจากตำรวจศีลธรรม และผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุประท้วง

ที่มา: The Times of Israel

10 ต.ค. 65 การประท้วงต่อต้านรัฐบาลอิหร่านดำเนินมาเป็นสัปดาห์ที่ 4 แล้ว ท่ามกลางตัวเลขความสูญเสียที่เพิ่มสูงขึ้น โดยที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนจากนอร์เวย์ที่ติดตามประเด็นอิหร่าน "อิหร่านฮิวแมนไรท์" แถลงเมื่อวันที่ 8 ต.ค. ที่ผ่านมาว่า มีประชาชนอย่างน้อย 185 ราย ที่ถูกสังหารในเหตุการณ์ประท้วงในอิหร่านและในจำนวนนี้มี 19 ราย ที่เป็นเด็ก นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนงานและนักเรียนหญิง นัดหยุดงาน-หยุดเรียน ประท้วงด้วย

นอกจากนี้ยังมีกรณีที่มีคนคาดเดาว่า น่าจะเป็นปฏิบัติการแฮ็กช่องสื่อโทรทัศน์ของรัฐบาลอิหร่าน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อช่วงคืนวันที่ 8 ต.ค. ที่ผ่านมา เมื่อรายการประกาศข่าวเวลา 3 ทุ่ม ของ IRINN และ IRIB ถูกแฮ็กชั่วขณะหนึ่งโดยกลุ่มต่อต้านรัฐบาลอิหร่าน

ในตอนนั้นสำนักข่าวสองแห่งกำลังนำเสนอเหตุการณ์ที่ผู้นำสูงสุด อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี เข้าร่วมการประชุมที่เมืองบูเชห์ทางตอนใต้ของอิหร่าน แต่การแพร่ภาพก็ถูกทำให้ขาดตอนและมีภาพแบบอื่นที่แทรกเข้ามาแทนที่ เป็นวิดีโอรูปหน้ากากการ์ตูนที่มีเครายาว คิ้วดกหนา อยู่บนพื้นหลังสีดำ จากนั้นก็ตามมาด้วยรูปภาพของคาเมเนอีจัดวางอยู่เหนือรูปภาพของผู้หญิง 4 คนที่เสียชีวิตในอิหร่านเมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมาคือ นิกา ชาห์คารามี, ฮาดิส นาจาฟี, มาห์ซา อามีนี และ ซารีนา เอสมาอิลซาเดห์

อามีนี อายุ 22 ปี เสียชีวิตหลังจากที่ถูกควบคุมตัวโดยตำรวจศีลธรรมของอิหร่าน จนกลายมาเป็นชนวนที่ทำให้เกิดการประท้วงครั้งล่าสุด ซึ่งดำเนินอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 4 สัปดาห์แล้ว ผู้หญิงอีก 3 รายที่ปรากฏในรูปเสียชีวิตในช่วงที่มีการประท้วง มีอยู่ 2 ราย ที่ยังคงเป็นวัยรุ่น

บนหน้าจอที่มีภาพของคาเมเนอีและผู้หญิงเหล่านี้ยังมีข้อความระบุุด้วยว่า "ร่วมกับพวกเราแล้วจงลุกฮือ" และ "เลือดเยาวชนของพวกเราไหลหยดออกมาจากกำมือของคุณ" นอกจากนี้ยังมีการระบุถึงโซเชียลมีเดียของกลุ่มแฮกเกอร์ที่ชื่อ "Edalaat-e Ali" ที่แปลว่า "ความยุติธรรมของอาลี" ด้วย

รูปภาพดังกล่าวนี้ปรากฏอยู่บนหน้าจอเป็นเวลาหลายวินาที ซึ่งกลุ่มแฮ็กเกอร์ Edalaat-e Ali อ้างว่าพวกเขาเป็นผู้ทำการแฮ็กรายการข่าวโทรทัศน์ โดยมีการโพสต์คลิปลงในโซเชียลมีเดียของพวกเขาเองระบุว่า "จากการที่ผู้คนเรียกร้องเข้ามา พวกเราได้ทำตามสัญญาที่พวกเราให้ไว้ และทำในสิ่งที่คนคิดไม่ถึงเพื่อปลดปล่อยอิหร่าน"

การประท้วงในอิหร่านรอบล่าสุดปะทุขึ้นหลังจากที่มีข่าวว่า อามีนี หญิงชาวเคิร์ดที่ถูกตำรวจศีลธรรมจับกุมและถูกลงโทษด้วยการเฆี่ยนตีเสียชีวิตในโรงพยาบาล ทำให้กลุ่มสตรีนิยมประท้วงด้วยการตัดผมตัวเองเพื่อแสดงความโกรธเกรี้ยวต่อระบอบอำนาจนิยม นอกจากนี้ยังมีผู้คนกลุ่มอื่นๆ ในสังคมที่ไม่พอใจรัฐบาลอิหร่านในเรื่องอื่นๆ ก็ออกมาประท้วงด้วย

อย่างไรก็ตามฝ่ายรัฐบาลอิหร่านก็พยายามนำเสนอเรื่องนี้ไปในอีกรูปแบบหนึ่ง โดยเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมาพวกเขาประกาศว่ามีอามีนีเสียชีวิตเพราะ "อาการป่วยที่มีมานานแล้ว" ไม่ใช่เพราะ "ถูกฟาด" ที่ศีรษะ แต่ครอบครัวของอามีนีก็บอกว่าอามีนีสุขภาพดีมาโดยตลอด

นอกจากนี้ประธานาธิบดีของอิหร่าน เอบราฮิม ไรซี ยังพยายามสร้างภาพลักษณ์ที่ดีกับกลุ่มสตรีด้วยการเดินทางไปเยือนมหาวิทยาลัยหญิงล้วนอัลซาห์ราในกรุงเตหะราน เพื่อร่วมพิธีเปิดเทอมใหม่ แล้วถ่ายรูปหมู่ร่วมกับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยหญิงแห่งนี้

รัฐบาลอิหร่านบอกว่าการประท้วงที่เกิดขึ้นเป็นแผนการของศัตรูของอิหร่าน รวมถึงประเทศสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังกล่าวหาว่ามีกลุ่มติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลและกลุ่มอื่นๆ ก่อความรุนแรงจนทำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเสียชีวิตอย่างน้อย 20 นาย

ไรซี แถลงที่งานเปิดเทอมของมหาวิทยาลัยหญิงอัลซาห์รา อ้างว่ากลุ่มศัตรูของอิหร่านเหล่านี้ไม่สามารถบรรลุ "เป้าหมายอันชั่วร้าย" ของพวกเขาที่มหาวิทยาลัยได้เพราะ "นักศึกษาและคณาจารย์ของพวกเรามีความตื่นตัวและจะไม่ยอมให้ศัตรูทำเป้าหมายอันชั่วร้ายของพวกเขาได้สำเร็จ"

ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ในเมือง ซาเกซ เมืองบ้านเกิดของอามีนีที่จังหวัดเคิร์ดดิสถาน มีนักเรียนหญิงเดินขบวนเหวี่ยงฮิญาบของตัวเองไปมาบนท้องถนนพร้อมประสานเสียงคำขวัญว่า "ผู้หญิง, ชีวิต, อิสรภาพ" มีการประท้วงของกลุ่มเด็กผู้หญิงในแบบเดียวกันโดยใช้คำขวัญเดียวกันที่โรงเรียนที่เมืองซานันดาจ เมืองหลักของจังหวัดเคิร์ดดิสถาน

นอกจากนี้หน่วยงานสิทธิมนุษยชนชาวเคิร์ดยังระบุอีกว่ามี "การนัดหยุดงาน-หยุดเรียน" ประท้วงในวงกว้างเกิดขึ้นที่เมืองต่างๆ ในจังหวัดเคิร์ดดิสถาน, ที่เมืองมาฮาบัด ของจังหวัดอาเซอร์ไบจานตะวันตก รวมถึงที่นครอิสฟาฮาน กับที่เมืองทาบริซ ก็มีการนัดหยุดเรียนประท้วงด้วย

เรียบเรียงจาก

‘Not afraid anymore’: Iran protests enter fourth week, Aljazeera, 08-10-2022

Iran’s state broadcaster hacked during nightly news program, CNN, 10-10-2022

Protests continue across Iran as rights group reports 185 deaths, including 19 minors, Al Arabiya, 09-10-2022

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net