Skip to main content
sharethis
  • ธงชัย วินิจจะกูล กล่าวในฐานะผู้ที่ได้อ่านวิทยานิพนธ์ของณัฐพล ใจจริงว่าประเด็นที่ณัฐพลถูกกล่าวหาว่าบิดเบือนข้อเท็จจริงนั้นเป็นเพียงความผิดพลาดเท่านั้นและเป็นความผิดเล็กๆ ที่ต่อให้ยกออกไปทั้งย่อหน้าก็ไม่ได้กระทบกับวิทยานิพนธ์ชิ้นนี้แต่กลับถูกกล่าวหาว่าเป็นการบิดเบือน 
  • นอกจากนั้นในเวทียังสะท้อนปัญหาการใช้อำนาจของจุฬาฯ จัดการกับณัฐพลที่เป็นเรื่องไม่สมควร เพราะวงการวิชาการจัดการเรื่องนี้ด้วยการถกเถียงเสนอมุมมองต่างๆ และการใช้อำนาจแบบนี้เป็นการทำลายพื้นที่วิชาการในจุฬาฯ ด้วยตัวเอง เสมือนเป็นมหาวิทยาลัยในอาณานิคม ทั้งที่ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทดลองหรือได้นำเสนอสิ่งใหม่หรือแตกต่างที่สังคมอาจไม่อยากได้ยินนัก 
  • อย่างไรก็ตาม เสรีภาพในมหาวิทยาลัยกลับมีความเปลี่ยนแปลงมาจากฝั่งนิสิตที่เป็นคนรุ่นใหม่หลุดพ้นจากโฆษณาชวนเชื่อของรัฐ งานเสวนาครั้งนี้ก็เกิดจากความพยายามของนิสิตจัดกันเอง  

เมื่อวันที่ 20 ก.ย.2565 ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสวนา “ถ้าจะปิดปากกันขนาดนี้ จะมีอาจารย์ไว้ทำไม” เวทียกกรณีที่จุฬาฯ มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาไต่สวนวิทยานิพนธ์ของณัฐพล ใจจริงที่ศึกษาหัวข้อบทบาทสหรัฐอเมริกาต่อการเมืองไทยช่วงปี 2495-2500 หรือที่รู้จักกันในชื่อของหนังสือ “ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี” ของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันที่นำเนื้อหาในวิทยานิพนธ์มาพิมพ์เผยแพร่

กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ร้องเรียนต่อมหาวิทยาลัยว่าวิทยานิพนธ์ดังกล่าวมีการบิดเบือนและใช้ข้อมูลปลอม อีกทั้งคนในราชสกุลรังสิตยังได้ดำเนินการฟ้องเป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดอีก 50 ล้านบาทจากผู้เกี่ยวข้องกับการตีพิมพ์หนังสือไดแก่ ณัฐพล, กุลลดา เกษบุญชู มี้ด และสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันด้วย

ในระหว่างเสวนามีการกล่าวถึงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวิทยานิพนธ์ของณัฐพลถึงสองครั้ง โดยในครั้งแรกเมื่อปี 2561 เมื่อไชยันต์ ชัยพร อจารณ์ประจำคณะรัฐสสาตร์เป็นผู้ร้องเรียน ทางคณะรัฐศาสตร์ได้ตั้งขึ้นมาโดยมีประธานคณะเป็นไชยวัฒน์ ค้ำชู ซึ่งเคยเป็นกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ชิ้นนี้ของณัฐพลด้วย โดยผลสอบครั้งนั้นก็ได้ตรวจสอบข้อร้องเรียนทั้ง 31 จุดแล้วพบว่ามีเพียง 1 จุดที่เป็นปัญหาและทางณัฐพลก็ได้ยื่นเรื่องเพื่อขอแก้ไขจุดผิดพลาดดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตามทางบัณฑิตวิทยาก็ได้แจ้งว่าไม่สามารถแก้ไขได้เนื่องจากเป็นวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกที่เสรฺจสิ้นไปแล้วและการสอบสวนครั้งนี้ก็จบ

อย่างไรก็ตาม ไชยันต์ร้องเรียนเรื่องเดียวกันนี้อีกครั้ง คณะกรรมการของมหาวิทยาลัยได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมาอีกครั้งในปี 2564 โดยในครั้งหลังนี้มีการเปลี่ยนตัวกรรมการและมีบวรศักดิ์ อุวรรนโณ มาร่วมเป็นกรรมการชุดหลังนี้ด้วย และเมื่อสิงหาคมที่ผ่านมา รศ.ดร.เขมรัฐ โอสถาพันธุ์กรรมการสภามหาวิทยาลัยได้มีจดหมายเปิดผนึกถึงสภามหาวิทยาลัยให้มีการตรวจสอบการสอบสวนของกรรมการชุดที่สองนี้เนื่องจากเขาพบว่ารายงานของคณะกรรมการสอบสวนนำเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยนั้น “เป็นรายงานเท็จ เพราะมีการใช้ข้อมูลปลอมมาประกอบรายงานการสอบสวนและใช้กล่าวหากับผู้ถูกสอบสวนอย่างณัฐพลอย่างผิดๆ”

กก.สภาจุฬาฯ ชี้ คกก.สอบ ‘ณัฐพล’ กรณี ‘ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี’

(ซ้ายไปขวา) วาสนา วงศ์สุรวัฒน์, ฉลอง สุนทราวาณิชย์, เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง และธงชัย วินิจจะกูล

ความผิดพลาดที่ถูกกล่าวหาว่า "บิดเบือน"

ธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราจารย์กิตติคุณ ภาควิชาประวัติศาสตร์ University of Wisconsin-Madison ตอบว่า จุดที่มีความผิดพลาดในวิทยานิพนธ์ของณัฐพลมีจุดที่ผิดอย่างเห็นได้ชัด 1 ที่ซึ่งเป็นที่เดียวกันกับคนอื่นบอก คือเขาแปลผิด เข้าใจผิด อย่างไม่มีทางปฏิเสธได้ โดยตนได้เขียนและมอบคำแนะนำให้กับณัฐพลอย่างเป็นทางการ ว่าเขาสามารถยกย่อหน้าที่ผิดนั้นออกได้ เพราะย่อหน้านั้นไม่ได้ส่งผลต่อเนื้อหาของวิทยานิพนธ์ จากกรณีของณัฐพลถามว่าเป็นการใช้เสรีภาพทางวิชาการบิดเบือนข้อมูลหรือไม่ คำตอบของตนคือไม่มีการใช้เสรีภาพทางวิชาการบิดเบือนข้อมูล เพราะณัฐพลพลาดอย่างไร้ข้อโต้แย้ง

“ผมเชื่อว่าณัฐพลไม่ได้ทำอย่างนั้น เพราะถ้าทำอย่างนั้นมันควรจะเป็นข้อมูลซึ่งมีความสำคัญ ซึ่งยึดโยงกับอีกหลายประเด็น ถึงขนาดที่คุณไม่สามารถ ยึด ยกเอาย่อหน้านั้นออกได้”

“สิ่งที่เกิดขึ้นมันคือการหยิบเอาความผิดพลาดจุดหนึ่งแล้วมาขยาย แล้วบิดเบือนทำให้มันเป็นการเรียกว่าบิดเบือน เอาความผิดพลาด เอาความไม่ระมัดระวังพอ มาบิดเบือนให้เรียกว่าเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง เป็นการเสกสรรปั้นแต่งข้อเท็จจริง”

“ถ้าหากเขาจะเสกสรรอย่างที่บอก หนึ่ง เขาจะทำเรื่องเล็ก ๆ ซึ่งสามารถยกออกได้แล้วไม่กระเทือนวิทยานิพนธ์ จะเสียเวลาทำทำไม สอง เขาจะทำเรื่องขอแก้สารพัดอย่างให้กับบัณฑิตวิทยาลัยทำไมกัน ด้วยเหตุนี้คณะรัฐศาสตร์จึงได้ลงมติว่าไม่มีเจตนาแบบนั้น”

เสรีภาพทางวิชาการเป็นสิ่งที่คนในประชาคมมหาวิทยาลัยควรจะหวงแหน

นอกจากนี้ธงชัยยังกล่าวถึงประเด็นความสำคัญของเสรีภาพทางวิชาการต่อจากการตอบคำถามข้างต้น

“เสรีภาพทางวิชาการไม่ใช่เสรีภาพที่บัญญัติในกฎหมาย เป็นวัฒนธรรม เสรีภาพทางวิชาการทำให้ราวกับว่านักวิชาการมีอภิสิทธิ์ ซึ่งนักวิชาการไม่ควรมีอภิสิทธิ์”

ธงชัยอธิบายถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยก่อนอธิบายประเด็นเสรีภาพทางวิชาการว่า มหาวิทยาลัยมีบทบาทเป็นพื้นที่ของสังคมซึ่งอนุญาตให้มีการทดลองความคิดใหม่ ๆ ทั้งทางวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และทางอื่น ๆ ซึ่งการทดลองนั้นอาจเป็นการทดลองที่สังคมหรือวัฒนธรรมนั้นยังไม่ยอมรับ โดยมหาวิทยาลัยมีความสัมพันธ์กับคน 2 กลุ่มที่มักจะทำการทดลองที่สังคมนั้นหรือวัฒนธรรมนั้นอาจไม่ยอมรับหรือการแหกคอก

กลุ่มแรกนักวิชาการที่มีความคิดประหลาดแตกต่างจากคนทั่วไป และกลุ่มที่สองนักศึกษาซึ่งเป็นเยาวชน มหาวิทยาลัยยุคใหม่ตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 17 -18 ซึ่งตนไม่นับมหาวิทยาลัยยุคกลางของยุโรปที่เป็นมหาวิทยาลัยที่บังคับให้คนอยู่ในกรอบ ถ้าคนไม่อยู่ในกรอบจะมีการสอบสวน ลงโทษ ซึ่งไม่ต่างจากจุฬาในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยยุคใหม่ต้องมีพื้นที่ในการทดลองสิ่งใหม่ที่สังคมหรือวัฒนธรรมนั้นอาจจะยังไม่ยอมรับ แต่พื้นที่แบบนี้ไม่ใช่อภิสิทธิ์ของนักศึกษาหรือวิชาการ เพียงแต่อนุญาตให้เป็นกลไลทางสังคม เพื่อให้เกิดทางเลือก เกิดความคิดใหม่ ๆ ในสังคม

“เสรีภาพทางวิชาการจึงมีความสำคัญในนัยยะนี้ ให้คนกล้าทดลอง ให้คนกล้าแหกกรอบ ไม่ใช่ผิดกฎหมาย แหกกฎหมาย และอนุญาตให้ธรรมเนียมการจัดการกับความคิดซึ่งดูเหมือนจะล้ำเส้น ใกล้เส้นเกินไป หรือเกิดอันตราย ให้เกิดการโต้กลับถกเถียงกันได้ อย่าเอากฎหมายมาฟ้องคดีต่าง ๆ มาใช้กันง่าย ๆ เพราะการกระทำแบบนั้นมันกด ปราบ บังคับให้คนอยู่ในกรอบทันที” ธงชัยชี้ว่าการทำแบบนี้จะทำให้วัตถุประสงค์และวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยยุคใหม่ทุกแห่งถูกทำลายทันที

“แต่สังคมต้องแคร์เสรีภาพทางวิชาการ เพียงแค่ว่ากล้าต้องยอมให้อาจารย์ นักศึกษากล้าทดลอง กล้าพูด แล้วในสังคมนี้ ในประชาคมนี้ เรา (นักวิชาการ) ไม่ได้มีอภิสิทธิ์ทางกฎหมาย เราไม่จัดการด้วยวิธีการเถื่อน ๆ วิธีการบังคับกดปราบกัน”

“ผมคิดว่าบทบาทของมหาวิทยาลัยในสังคมสมัยใหม่ที่มีเสรีภาพทางวิชาการ ที่ผมย้ำแล้วย้ำอีกว่าไม่ใช่อภิสิทธิ์ก็เพราะว่าบทบาทและเสรีภาพทางวิชาการเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่อภิสิทธิ์ เป็นเรื่องปกติในสังคมที่ปกติ”

มหาวิทยาลัยและเสรีภาพทางวิชาการเป็นภาพสะท้อนของเสรีภาพทางความคิด ทางปัญญา สุขภาพทางปัญญาของสังคมวงกว้าง ไม่ใช่เพื่อทำให้มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ยกเว้นของสังคมแต่เป็นกลไกหนึ่งที่ปกติของสังคมปกติ ที่สนับสนุนให้คนกล้าคิด กล้าทดลองทางความคิดแบบใหม่ ๆ

ธงชัยยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยในตะวันตกและอเมริกาว่าบางทีนักศึกษาหรืออาจารย์พูดเกินเลย คนข้างนอกจะโวยวายว่าเกินกว่าที่บรรทัดฐานของสังคมรับได้ มหาวิทยาลัยจะไม่ลงโทษอาจารย์หรือนักศึกษา ปล่อยให้เกิดการถกเถียงโต้ตอบ เพื่อให้มีเสรีภาพในการทดลองความคิดใหม่ ๆ

“ดังนั้นเสรีภาพทางวิชาการเป็นสิ่งที่คนในประชาคมมหาวิทยาลัยควรจะหวงแหน และต้องพยายามอย่างยิ่ง ลงมือแต่เริ่มเกิดคดีนี้ ไม่ใช่ปล่อยผ่านมาแล้วสองปี”

ช่างโชคร้ายเป็นอย่างยิ่งที่มหาวิทยาลัยมีรากมาจากมหาวิทยาลัยแบบอาณานิคม

“แต่ว่า unfortunately มหาวิทยาลัยไทยไม่ใช่มหาวิทยาลัยในโลกตะวันตก มหาวิทยาลัยไทยไม่ได้มีรากมาจากการปฏิเสธยุคกลาง มหาวิทยาลัยไทยมีรากมาจากมหาวิทยาลัยแบบอาณานิคม มหาวิทยาลัยอาณานิคมอาการคล้าย ๆ มหาวิทยาลัยไทยแทบทั้งนั้น” นักวิชาการจากวิสคอนซินกล่าวต่อจากการยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยในโลกตะวันตก

เนื่องจากมหาวิทยาลัยในโลกอาณานิคมหรือมหาวิทยาลัยที่พ้นจากโลกอาณานิคม เป็นมหาวิทยาลัยที่มีรากมาจากอุดมศึกษาแบบอาณานิคม เพราะมหาวิทยาลัยในรูปแบบข้างต้นไม่ได้ถูกผลิตมาเพื่อให้มีพื้นที่ในการทดลองความคิดใหม่ ๆ

“คำถามว่าจุฬาและอุดมศึกษาไทย พอใจจะเป็นมหาวิทยาลัยในโลกอาณานิคมต่อไปใช่ไหม”

“อย่ามาพูดกับผมว่าเมืองไทยไม่เคยเป็นอาณานิคม ผมพูดมาหลายปีแล้วว่าเมืองไทยเป็นอาณานิคมทางอ้อม เมืองไทยมีสถาบันต่าง ๆ ต่อให้ไม่เคยเป็นอาณานิคม ก็มีสถาบันต่าง ๆ ที่ลอกเลียนมาจากระบบอาณานิคมที่ทำกับประเทศอาณานิคมทั้งหลาย และอุดมศึกษาเป็นอย่างหนึ่งซึ่งสังคมไทยรับมา” ธงชัยกล่าวต่อหลังจากตั้งคำถามข้างต้น

เขาอธิบายว่าแม้ว่าอุดมศึกษาของไทยจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เป็นการศึกษาแบบของไทย แต่ว่ารากฐานก็รับมาจากอุดมศึกษาแบบอาณานิคม โดยธงชัยยกตัวอย่างเกาหลีใต้และสิงคโปร์ที่พยายามจะเปลี่ยนแปลงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาให้หลุดพ้นจากเงาของอุดมศึกษาแบบอาณานิคม

“ของไทยเรายังพอใจจะเป็นอุดมศึกษาแบบอาณานิคมอยู่อีกหรือ แทนที่จะเปิดอุดมศึกษาให้เป็นพื้นที่ สำหรับการทดลองความคิดใหม่ ๆ และไม่ลงโทษเล่นงานกันด้วยวิธีการเถื่อน ๆ แบบที่รัฐต้องการทำกับประชาชน” ธงชัยกล่าวทิ้งท้าย

เสรีภาพวิชาการคือการคุ้มครองเสียงที่สังคมไม่อยากฟัง

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า ตนขอเริ่มจากเสรีภาพทางวิชาการในสายตาของตนและจะกล่าวถึงณัฐพลต่อไป โดยอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ยกตัวอย่างจากการพัฒนาของโทรศัพท์มือถือไอโฟนที่ผู้คนเชื่อว่ารุ่นปัจจุบันคือรุ่นที่ดีที่สุด แต่เมื่อมีไอโฟนรุ่นใหม่ออกมาผู้คนก็กล่าวอีกว่านี่คือรุ่นที่ดีสุด จนในปัจจุบันที่โทรศัพท์มือถือไอโฟนผลิตออกมาถึงรุ่นที่ 14

“เรามักจะคิดเสมอว่าจุดที่เรายืนอยู่เป็นจุดที่ The most perfect เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ เทคโนโลยีต่าง ๆ ความรู้ต่าง ๆ มันจบตรงนี้แล้ว มันไม่น่าจะไปไกลกว่านี้ได้เท่าไหร่ ซึ่งมันไม่จริง”

เข็มทองกล่าวต่อว่าสิ่งที่เราเชื่อว่าเป็นความจริงวันหนึ่งอาจจะไม่จริง อาจจะมีการกลับมาทบทวนใหม่ โดยกระบวนการในการค้นหาความจริงไม่ได้เป็นเส้นตรงเข้าใจง่าย แต่กระบวนการค้นหาความจริงนั้นเต็มไปด้วยความซับซ้อน สับสนและขัดแย้ง ซึ่งสิ่งที่กล่าวไปข้างต้นคือกระบวนการในการค้นหาความรู้มาตลอดในทางวิชาการ เพราะความรู้ไม่ใช่สิ่งที่ไม่สามารถตั้งคำถามได้ เราสามารถกลับมาทบทวนและขบคิดความรู้ใหม่ตลอดเวลา

“เป็นสาเหตุว่าทำไมเราต้องมีเสรีภาพทางวิชาการที่จะขบคิดในเรื่องนี้ เพราะว่าเรายังต้องแสวงหาความรู้ ยังต้องพูดคุยเรื่องความรู้ ขบคิดใหม่ตลอดเวลา”

เข็มทองอธิบายว่าคนที่ต้องการเสรีภาพมากที่สุดคือคนที่อยู่แถวหน้าของการพยายามหาความรู้ ซึ่งเป็นที่โชคร้ายที่คนเหล่านั้นเป็นเสียงที่ไม่โดดเด่นในสังคม ซึ่งคนเหล่านี้ในอดีตที่เห็นต่างจากสิ่งที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่าจริงมักจะถูกนำไปเผา ตรึงกางเขนหรือลงโทษด้วยโทษร้ายแรง

“ทุกคนมี(เสรีภาพ)เท่ากัน แต่ถ้าถามว่าใครต้องการ(เสรีภาพ)มากที่สุด คือ คนที่ the unpopular ข้อเสนอของเขาอาจจะถูกหรือผิดก็ไม่รู้ แต่ว่าเขาต้องการความคุ้มครองที่เขาจะได้พูดความคิดของเขา งานของเขา”

เป็นงานที่ดีจนเป็นอันตราย

เข็มทองอธิบายว่างานเขียนวิชาการไม่ใช่งานที่มีความถูกต้องตั้งแต่แรก งานเขียนวิชาการของนักวิชาการคนหนึ่งคือทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม แต่การจะมาคาดคั้นให้ทำให้ถูกตั้งแต่ต้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

โดยเสรีภาพทางวิชาการไม่ได้คุ้มครองนักวิชาการจากการทำสิ่งใดผิดก็ได้ เสรีภาพทางวิชาการไม่ได้คุ้มครองนักวิชาการจากคำวิจารณ์เมื่อผลิตงานวิชาการที่แย่ไม่มีคุณภาพ (lousy job) และไม่คุ้มครองนักวิชาการจากกฎหมาย

เข็มทองยกตัวอย่างของการยอมปล่อยผ่านงานวิชาการของนักศึกษาปริญญาโท ปริญญาเอกของจุฬาที่ส่วนใหญ่เป็นงานที่ไม่มีคุณภาพ และไม่ได้เกิดแค่ในจุฬาฯ แต่ยังเกิดกับมหาวิทยาลัยต่าง เพราะงานเหล่านั้นไม่เป็นอันตราย แต่งานของณัฐพลมีปัญหาเพราะเป็นงานที่ดีเกินไปจนอันตราย

“งานอาจารย์ณัฐพลมีปัญหาเพราะอะไร เพราะมันดีเกินไป มันน่าเชื่อเกินไป อ่านแล้วมัน convince คน อ่านแล้วมันทำให้คนคิดต่อ มันทำให้คนตื่นเต้น มองมุมมองใหม่ อันนี้งานโคตรอันตรายเลย มันถึงต้องโดนอะไรสักอย่างหนึ่ง”

‘จุฬา’ ไม่ได้มีอำนาจไปครอบงำคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ อธิบายว่าจุฬาไม่ได้มีอำนาจไปครอบงำคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ ตนดูแล้วพบว่าเป็นแค่การเรียกมาสอบถามว่ามีเรื่องใดเกิดขึ้น ควรแก้ไขอย่างไร ตนคิดว่าจุฬาไม่ฉลาดเท่าไหร่ที่ไม่ใช้ธรรมเนียมของนักวิชาการ (peer) แต่ไปใช้กฎหมายแก้ปัญหา ซึ่งตนมองว่าการใช้กฎหมายในการแก้ปัญหาเป็นการมองไปถึงอำนาจที่เรามี โดยไม่สนใจหาทางออกอื่นที่ดีกว่าการใช้อำนาจบังคับกดขี่อีกทั้งกระบวนการสอบสวนก็ไม่ได้มีการเปิดเผยผลการพิจารณาให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาอย่างณัฐพลทราบด้วย

“อันนี้เป็นข้อเตือนใจของผมเอง เวลาคุณมีปัญหาอะไรในชีวิต อย่างเพิ่งไปถามนักกฎหมาย ผมคิดว่าการถามนักกฎหมายสร้างความฉิบหายให้กับคนจำนวนมาก เพราะแทนที่จะพูดคุยหรือหาทางออกอะไรที่สมเหตุสมผลได้ บางทีมันกลายเป็นว่าเรามีอำนาจอะไรอยู่บ้าง เรามากด option อำนาจ ซึ่งบางทีการใช้อำนาจพวกนี้มันไม่ได้ไปด้วยกันได้ดีกับสถาบันวิชาการ กับงานวิชาการ” เข็มทองกล่าวทิ้งท้าย

ใช้งานบริหารจัดการคนเห็นต่าง

ฉลอง สุนทราวาณิชย์ รองศาสตราจารย์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์กล่าวถึงบทบาทที่เปลี่ยนแปลงไปของอาจารย์ที่มีความจำเป็นต่อนักศึกษาน้อยลงในปัจจุบัน และบทบาทของมหาวิทยาลัยที่เปลี่ยนแปลงไปของโลกตะวันตกเมื่อมีการเรียนการสอนผ่านรูปแบบออนไลน์ ที่บทบาทของมหาวิทยาลัยมีความสำคัญน้อยลง แล้วจึงตอบคำถามเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน

ฉลองตอบว่าในกรณีของจุฬาตนพบว่าการลงโทษในกรณีที่นักศึกษามีความเห็นทางการเมืองต่างจากคณะผู้บริหาร คือ กรณีของจิตร ภูมิศักดิ์ ตนคิดว่ากรณีข้างต้นมีคนรู้จักมากที่สุด และตนก็ยังไม่พบกรณีอื่น ๆ ของจุฬาที่มีการลงโทษโดยตรงต่อนักศึกษาที่มีความเห็นต่างทางการเมือง

นอกจากนี้ฉลองยังกล่าวถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่นักวิชาการบางส่วนหนีเข้าป่า มีอาจารย์ในมหาวิทยาลัยสองที่เขารู้จักเคยหนีเข้าป่าด้วยเช่นกัน จนกระทั่งมีการเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่หนีเข้าป่ากลับเข้าสู่สังคมและสถาบันการศึกษา อาจารย์สองคนนั้นขอกลับเข้ามารับราชการสอนหนังสือต่อแต่ถูกมหาวิทยาลัยในสมัยนั้นปฏิเสธ

“เราอาจพูดได้ว่านี่เป็นวิธีหนึ่งที่มหาวิทยาลัยหรือผู้บริหารในสมัยนั้นใช้จัดการกับผู้ที่มีความเห็นต่าง” ฉลองกล่าวทิ้งท้าย

มหาวิทยาลัยที่ไม่มีบรรยากาศของเสรีภาพ

วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ รองศาสตราจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตอบว่า ตนอยู่จุฬาได้ไม่นานนักแต่ตอบได้ว่าในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาในส่วนของผู้บริหารหรือคณาจารย์ไม่ค่อยเปลี่ยน แต่ส่วนที่เปลี่ยนมากที่สุดคือนิสิต สาเหตุที่เปลี่ยนส่วนหนึ่งมาจากเทคโนโลยี อินเตอร์เน็ต และอีกส่วนหนึ่งคือโควิด-19 ที่ทำให้นิสิตต้องเรียนออนไลน์เป็นเวลากว่า 2 ปี

ในเรื่องของเสรีภาพทางวิชาการตนขอตอบในฐานะของอาจารย์ว่าไม่เคยมีตั้งแต่วันที่เข้ามาสอนในจุฬาและในปัจจุบันก็ยังคงไม่มี

“แต่ถามว่าเรารู้สึกว่าเรามีเสรีภาพทางวิชาการไหมอยู่ที่นี่ ต้องบอกว่าหลายครั้งต่อหลายครั้ง นับไม่ถ้วนมาแล้ว ขี้เกียจจะนับมาแล้ว ที่อยากจะจัดงานเสวนาวิชาการบางเรื่องแล้วก็ได้รับการไม่ให้ใช้สถานที่ หรือเวลาที่เราทำงานวิชาการหลาย ๆ อย่างแล้วตีพิมพ์ เราก็มีความรู้สึกว่าเราตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษในต่างประเทศดีกว่า เพราะว่าถ้าเราตีพิมพ์เป็นภาษาไทยในประเทศนี้ สงสัยว่าไม่ค่อยปลอดภัยเท่าไหร่”

มหาวิทยาลัยไทยเติบโตมาจากการที่อาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นข้าราชการ

วาสนากล่าวต่อว่าตนเห็นด้วยกับธงชัยที่กล่าวว่ามหาวิทยาลัยไทยพัฒนามาจากมหาวิทยาลัยแบบอาณานิคม แต่นอกจากนั้นมหาวิทยาลัยไทยเติบโตมาจากการที่อาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นข้าราชการในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนั้นอาจารย์ก็ถูกคาดหวังให้ยืนอยู่ข้างใดข้างหนึ่งทางการเมือง ถ้าหากไม่เลือกข้างก็จะเกิดอันตราย ตนไม่เคยรู้สึกปลอดภัยที่จะตีพิมพ์งานวิชาการของตนที่อาจถูกรัฐมองว่าอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ตนมั่นใจว่าถ้าหากตนตีพิมพ์งานชิ้นนั้นเป็นภาษาไทยตนอาจถูกคณะหรือมหาวิทยาลัยจับใส่พานมอบให้กับรัฐบาลดำเนินคดี ไม่มีความมั่นใจว่าจะได้รับการปกป้องจากองค์กรที่ตนทำงานอยู่ แต่ตนก็เข้าใจได้เพราะองค์กรของตนเป็นมหาวิทยาลัยที่เติบโตมาจากคณาจารย์ ผู้บริหารที่เป็นข้าราชการ และได้รับเงินอุดหนุนบางส่วนจากงบประมาณแผ่นดิน

“ถ้าเผื่อว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยมีความเห็นที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาล หรือมีความเห็นที่อาจจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ก็เข้าใจได้ว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยก็คงจะเข้าข้างรัฐ ไม่เข้าข้างอาจารย์”

โซตัสล่มสลายเพราะโควิด

รองศาสตราจารย์คณะอักษรศาสตร์กล่าวต่อว่าเราเข้าสู่โลกยุคอินเตอร์เน็ต การโฆษณาชวนเชื่อของรัฐจึงไม่อาจครอบงำคนรุ่นใหม่ได้ เพราะคนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงข้อมูลใหม่ ๆ ได้ ประกอบกับการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ต้องเรียนออนไลน์ทำให้ระบบโซตัสภายในจุฬาล่มสลายไป

นอกจากนั้นวาสนากล่าวถึงความลำบากในการจัดเสวนาครั้งนี้ว่า เบื้องต้นนิสิตถูกคณะรัฐศาสตร์ปฏิเสธที่จะให้จัดกิจกรรมเสวนาครั้งนี้ภายในคณะ แล้วนิสิตแก้ปัญหาโดยการจัดกิจกรรมที่สถาบันวิจัยสังคมที่ตึกอยู่ด้านข้างใกล้เคียงกับคณะรัฐศาสตร์ สะท้อนให้เห็นว่านิสิตมองเห็นถึงความขาดแคลนเสรีภาพทางวิชาการในรั้วมหาวิทยาลัยได้เป็นอย่างดี แต่ในขณะเดียวกันตนก็รู้สึกว่าความคิดของอาจารย์บุคคลากรทางการศึกษาในจุฬายังคงมีความคิดไม่เปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ตนคิดว่าคนที่ผลักดันให้มีการละเมิดเสรีภาพทางวิชาการก็คืออาจารย์ในมหาวิทยาลัยเองด้วย

“ดังนั้นในแง่หนึ่งต้องบอกว่าการขับเคลื่อนการละเมิดเสรีภาพทางวิชาการ ก็ทำโดยคนในประชาคมเดียวกัน”

วาสนากล่าวต่ออีกว่าตนคาดหวังว่าจะได้เห็นคณบดีคณะรัฐศาสตร์เข้าร่วมการเสวนาในครั้งนี้ แต่ก็ไม่มีเลยนอกจากเข็มทอง เธอมองปัญหานี้ว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เมื่ออาจารย์พูดถึงปัญหาต่าง ๆ ก็อาจจะถูกมหาวิทยาลัยหรือคณะผู้บริหารพิจารณาเป็นเหตุไม่ต่อสัญญาในการเป็นอาจารย์หรือต้องมีปัญหากับมหาวิทยาลัย ซึ่งตนก็เข้าใจได้

“แต่ว่าเราคิดว่าปัญหาของเสรีภาพทางวิชาการ ส่วนหนึ่งคือบริบทของสังคมที่ไม่มีประชาธิปไตย ที่ไม่ใส่ใจเรื่องสิทธิมนุษยชน และเรื่องต่าง ๆ และอีกส่วนหนึ่งคือประชาคมก็ยังไม่หลุดพ้นจากยุคอาณานิคมด้วย ต้องขอบใจนิสิตที่ยืนยันที่จะจัดงานนี้ และพยายามจัดขึ้นมาจนได้ และเราก็คิดว่าก้าวต่อไปอาจจะจำเป็นที่คณาจารย์อาจจะต้องพยายามตามให้ทันนิสิตในการเรียกร้องสิ่งเหล่านี้ เราคิดว่าถ้าเรามี solidarity กันมากขึ้น ถ้าเราลุกออกมาสนับสนุนเรียกร้องอะไรกันมากขึ้น เราก็อาจจะมีพลังมากขึ้น ถึงแม้ท้ายที่สุดแล้วเราจะโดนเชือดกันหมด ถ้าเราโดนเชือดด้วยกันหลาย ๆ คนมันก็คงจะอุ่นใจกว่าโดนเชือดแค่คนเดียว” วาสนากล่าวทิ้งท้าย

 

หมายเหตุ - ฉัตรลดา ตั้งใจ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่


 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net