Skip to main content
sharethis
  • 'สภาองค์กรของผู้บริโภค' เปิดเผยผลการศึกษาของที่ปรึกษาต่างประเทศชี้ว่า หลังควบรวม ผู้ให้บริการที่เหลือสองค่ายจะเน้นกลุ่มรวยในเมือง และชุมชนหนาแน่น พื้นที่คนจนและคนชายขอบจะถูกมองข้าม กลุ่มผู้บริโภค นักการเมือง และอดีต กสทช. จับมือกันไม่รับเงื่อนไข 14 ข้อ ผลักดัน 'ล้มการควบรวม' หลังจากที่ กสทช. มีมติเลื่อนการพิจารณาดีลทรู – ดีแทค ไปวันที่ 20 ต.ค. นี้
  • ขณะที่ 'ศิริกัญญา ก้าวไกล' ชี้เป็นสัญญาณที่ดี เดินหน้าสร้างแรงกดดันให้มติ กสทช. เป็นไปข้างประชาชน

12 ต.ค.2565 สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) รายงานว่า  จากกรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีวาระในการพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ควบรวมกิจการระว่างทรูและดีแทค ในวันนี้ (12 ต.ค.65) และเมื่อช่วงเที่ยงที่ผ่านมา ที่ประชุม กสทช. ได้มีมติให้เลื่อนการลงมติออกไป โดยให้เหตุผลว่า ต้องรอข้อมูลใหม่เพิ่มเติม จากบริษัท SCF Associates ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยต่างประเทศที่บอร์ด กสทช. จ้างให้ศึกษาผลกระทบต่อผู้บริโภคจากการควบรวมกิจการบริการโทรศัพท์มือถือ โดยจะมีการนัดประชุมเป็นวาระพิเศษเพื่อตัดสินในเรื่องดังกล่าววันที่ 20 ต.ค.ที่จะถึงนั้น

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เปิดเผยว่า ผลการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศได้ชี้ว่าหลังการควบรวม กลุ่มคนจนและคนชายขอบจะถูกมองข้ามในการบริการที่ไม่ทั่วถึง ทั้งนี้เพราะการบริการจะเน้นไปในกลุ่มคนรวยในเมือง หรือชุมชนหนาแน่นที่จะสร้างกำไรได้มากกว่า จึงแสดงความมุ่งมั่นร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศ จะไม่ยอมรับพิจารณาเงื่อนไข 14 ข้อ และค้านการควบรวมที่ กสทช. ได้เลื่อนการพิจารณาลงมติออกไปถึงวันที่ 20 ตุลาคมนี้

การตื่นตัวของผู้บริโภคทั่วประเทศที่จะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการควบรวมครั้งนี้ทำให้ กสทช. ต้องพิจารณารายงานการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศอย่างรอบคอบก่อนมีมติ อีกประการหนึ่ง การมีมติเลื่อนในครั้งนี้ทำให้เห็นว่าคณะกรรมการ กสทช. มีอำนาจอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ควบรวม ดังนั้น สภาองค์กรของผู้บริโภคจึงเรียกร้องให้ กสทช. ใช้อำนาจของตัวเองเต็มที่เพื่อรักษาผลประโยชน์ประชาชน

นอกจากนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภคเสนอให้ทั้งทรู และ ดีแทค เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ใช้บริการของทั้งสองค่ายด้วย เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยเห็นผู้ให้บริการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ใช้บริการในประเด็นการควบรวมกิจการโทรคมนาคม รวมถึงการที่ กสทช. กำลังตัดสินใจจะทำให้ผู้บริโภคจ่ายค่าอินเทอร์เน็ตและค่าโทรศัพท์แพงขึ้นจากการควบรวมกิจการโทรคมนาคม แต่กลับไม่มีการรับฟังความคิดเห็นผู้บริโภคเลย ดังนั้น จึงอยากให้ กสทช. จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเป็นกรณีพิเศษด้วย

“ผู้บริโภคยืนยันว่าเราไม่อนุญาตควบรวมกิจการโทรคมนาคม เพราะกระทบกับทั้งกระเป๋าตังค์ผู้บริโภคและภาพรวม GDP ของประเทศ ประกอบกับที่อนุฯ กสทช. ที่ตั้งขึ้นมาเองเพื่อศึกษาผลกระทบการควบรวมดีลนี้ก็ระบุชัดว่ากระทบประชาชนและเสี่ยงผูกขาดตลาด” สารี กล่าว

สอดคล้องกับ สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค ที่แสดงความเห็นว่า กสทช. ควรมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการควบรวมกิจการทรูและดีแทค รวมถึงการควบรวมกิจจากเดียวกันในกรณีอื่น ๆ เนื่องจากการควบรวมจะเป็นการลดทางเลือกและกระทบต่อประโยชน์ผู้บริโภคโดยตรง

ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสารฯ สภาองค์กรของผู้บริโภค ย้ำถึงการทำงานของ กสทช. ว่า ควรยึดหลักการให้ความสำคัญกับผลประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง เนื่องจากจะเป็นการป้องกันการคัดค้านจากผู้บริโภคในระยะยาว แต่หากยืนตรงข้ามกับเจตนารมณ์ของธรรมนูญ กลับจะยิ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและความเชื่อมั่นต่อตลาดโทรคมนาคมในอนาคต พร้อมย้ำว่า กสทช. ควรพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของการจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งเป็นเจตจำนงของการมี กสทช. ในปัจจุบัน

“อยากเชิญชวนผู้ใช้บริการมือถือทุกคน ให้ออกมาร่วมแสดงพลังและแสดงความเห็นต่อการควบรวมดังกล่าว เพราะจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง ทั้งยังส่งผลต่อสิทธิในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ รายจ่าย และประโยชน์อื่น ๆ ที่ผู้บริโภคจะได้รับอีกด้วย” สุภิญญา กล่าว

กชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า เมื่อทราบว่าจะมีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่างทรูและดีแทคที่ส่งผลกระทบกับผู้บริโภค ทำให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรของผู้บริโภคทั่วประเทศติดตามและออกมาเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง โดยสิ่งหนึ่งที่ทำในฐานะพลเมือง ในฐานะเจ้าของภาษีซึ่ง กสทช. เองได้รับ คือ การร่วมมือกับเว็บไซต์ Change.org ชวนผู้บริโภคลงชื่อค้านการควบรวมดังกล่าว โดยมองว่าผู้บริโภคทุกคนเป็นพลเมืองในประเทศนี้ เป็นเจ้าของภาษีที่ กสทช. ได้รับเงินเดือนผ่านการจ่ายภาษีของประชาชน

 กชนุช กล่าวอีกว่า ในช่วงที่ผ่านมามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ไปยื่นหนังสือเมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่าน ให้ กสทช. พิทักษ์ประโยชน์ของผู้บริโภคด้วยการไม่อนุญาตให้ควบรวมกิจการ แต่สุดท้ายพบว่า กสทช. ได้ใช้เล่ห์กลทางกฎหมายต่าง ๆ อาทิเช่น การบอกว่าตัวเองไม่มีอำนาจในการพิจารณา แต่ทั้งศาลปกครองและคณะกรรมการกฤษฎีการะบุออกมาแล้วว่า กสทช. มีอำนาจอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ควบรวมกิจการ

“อยากเรียกร้อง กสทช. ในฐานะผู้บริโภคว่า ผู้บริโภคคือเจ้าของคลื่นความถี่ และคลื่นความถี่ยังเป็นสาธารณะสมบัติของประเทศชาติ และเงินทุกบาทที่เราเสียภาษีไปก็ควรถูกใช้ให้คุ้มค่ามากที่สุดโดยคำนึงถึงประชาชนเจ้าของประเทศ” กชนุช กล่าวและว่า ทั้งนี้ ยังตั้งข้อสังเกตว่า การยื้อเวลาการพิจารณาออกไปเป็นวันที่ 20 ตุลาคม อาจหมายถึงการซื้อเวลาหรือไม่ ซึ่งอาจมีการตัดสินใจพิจารณาควบรวมกิจการช่วงวันหยุด ดังนั้น ในระหว่างนี้ผู้บริโภคจะรวมพลัง ร่วมไม้ร่วมมือจับตา และเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านการควบรวมกิจการครั้งนี้ต่อไป และขอให้ กสทช. ทำหน้าที่ของตัวเองเพื่อประชาชน นอกจากนี้ ยังมีเครือข่ายผู้บริโภคจากทั่วประเทศ เข้ารับฟังการแถลงข่าว และร่วมแสดงจุดยืนที่จะคัดค้านการควบรวมครั้งนี้อย่างถึงที่สุด

'ศิริกัญญา ก้าวไกล' ชี้เป็นสัญญาณที่ดี เดินหน้าสร้างแรงกดดันให้มติ กสทช. เป็นไปข้างประชาชน

ขณะที่ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานต่อสื่อมวลชนว่า ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้ความเห็นต่อกรณีที่ กสทช. เลื่อนการพิจารณาดังกล่าวว่า การเลื่อนการลงมติในครั้งนี้เป็นสัญญาณที่ดี เพราะกสทช.จะสามารถรวบรวมข้อมูลที่สำคัญได้มากขึ้นก่อนการตัดสินใจใดๆ โดยเฉพาะในครั้งนี้ที่เพิ่งมีข้อมูลใหม่ออกมาจากที่ปรึกษาต่างประเทศที่รายงานว่าการควบรวมจะส่งผลกระทบต่อการแข่งขันตลาดโทรคมนาคมอย่างชัดเจน อย่างที่ไม่สามารถเยียวยาแก้ไขได้ มีโอกาสสูงที่จะทำให้ค่าบริการแพงขึ้น คุณภาพบริการแย่ลง ทั้งตลาดโทรศัพท์มือถือ อินเตอร์เน็ต ตลอดจนสินค้าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น นี่คือเวลาที่ กสทช. จะไปคิดให้ตกผลึกให้ดีก่อนตัดสินใจในทิศทางใด

ศิริกัญญายังให้ความเห็นว่าการที่ กสทช. ประกาศเลื่อนการพิจารณาในครั้งนี้ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า กสทช. ยอมรับว่าตนมีอำนาจเต็มในการพิจารณาการควบรวมธุรกิจในครั้งนี้ตามที่คำพิพากษาศาลปกครองเคยบอกไว้ เพราะถ้า กสทช. ไม่มีอำนาจ การเลื่อนการพิจารณาอาจกระทำไม่ได้ เพราะติดล็อก 90 วันของประกาศควบรวมธุรกิจ

ในขั้นต่อไป เราจะทำทุกวิถีทางที่จะหาพันธมิตรที่จะร่วมคัดค้านการควบรวมนี้ อย่างที่ทราบว่าบริษัทแม่ของ DTAC คือบริษัท เทเลนอร์ เป็นรัฐวิสาหกิจในกำกับดูแลของรัฐมนตรีด้านการค้า-การลงทุนของประเทศนอร์เวย์ เราได้มีการติดต่อผ่าน ส.ส.ของประเทศนอร์เวย์และสถานทูตนอร์เวย์ ให้ส่งสารไปถึงรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ให้ทบทวนการตัดสินใจของบริษัทที่ขัดต่อหลักธรรมาภิบาลและการแข่งขันทางการค้าอย่างชัดเจน เพื่อให้หาวิธีการดำเนินธุรกิจแบบอื่นที่ต่างออกไป ไม่ว่าจะเป็นการขายกิจการให้บริษัทอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในบริษัทโทรคมนาคม

“อยากฝากถึงประชาชนทุกคนว่าแรงกดดันของเรามีผล เรายังไม่หยุดที่จะเดินหน้าทำงานกันต่อไป
ภายในวันที่ 20 ตุลาคม เรายังมีโอกาสที่จะสร้างแรงกดดันให้มติ กสทช. เป็นไปในข้างที่เป็นผลประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก” ศิริกัญญากล่าวทิ้งท้ายถึงประชาชนให้ร่วมกันหยุดการกินรวบธุรกิจในครั้งนี้

สำหรับ 14 มาตรการเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น หากอนุญาตให้ควบรวมกิจการ ประกอบด้วย

มาตรการ

ข้อเสนอสำนักงาน กสทช.

ความเห็นสำนักงาน กสทช. ภายหลังประมวลความเห็นที่ได้รับ

1.การถือครองคลื่นความถี่

เห็นควรกำหนดว่า ทรูและดีแทค ไม่สามารถใช้คลื่นความถี่ร่วมกันเพื่อให้บริการได้ และต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับใช้งานคลื่นความถี่ของ กสทช. อย่างเคร่งครัด

สำนักงาน กสทช. เห็นควรให้เพียงมีการกำชับแก่ผู้ขอรวมธุรกิจให้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ซึ่งบังคับใช้อยู่แล้ว โดยไม่ให้มีการใช้คลื่นความถี่รวมกัน และไม่มีการเรียกคืนคลื่นแต่อย่างใด อย่างไรก็ดี สำนักงาน กสทช. ก็อาจพิจารณาในอนาคตในเรื่องของการจัดสรรคลื่นความถี่ให้แก่ผู้ให้บริการรายใหม่ผ่านการประมูลได้ผ่านกลไกต่าง ๆ เช่น set-aside คลื่นความถี่ หรือการกำหนดเพดานการถือครองคลื่นความถี่

2.การคงทางเลือกของผู้บริโภค

การกำหนดให้ทรูและดีแทค ไม่มีการรวมธุรกิจกัน และยังคงแบรนด์การให้บริการแยกจากกัน เป็นระยะเวลาหนึ่ง เช่น 3 ปี

ไม่มีความเห็นที่ได้รับ

3.การสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย

การกำหนดให้ทรูและดีแทค ต้องจำหน่าย Capacity ในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้กับ MVNO โดยอาจกำหนดเป็นร้อยละ 20 ของ Capacity ของโครงข่ายตนเอง (มากกว่าเงื่อนไขปกติที่กำหนดที่ร้อยละ 10)

จากความเห็นหลากหลายที่ได้รับ นอกจากการส่งเสริม MVNO ให้เข้าสู่ตลาดโดยการกำหนดมาตรการให้จำหน่าย Capacity ในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้กับ MVNO ตามที่เสนอแล้ว อาจพิจารณากำหนดมาตรการเพิ่มเติมได้แก่

(1) การเพิ่มจำนวนหรือคงจำนวน MVNO ในตลาด เช่น การกำหนดให้ก่อนรวมธุรกิจหรือหลังรวมธุรกิจต้องทำสัญญากับผู้ประกอบกิจการ MVNO ที่ไม่ได้อยู่ในเครือของผู้รวมธุรกิจจำนวนอย่างน้อย 1-2 ราย ซึ่งจะทำให้เกิด MVNO และทำให้เกิดผู้เล่นในตลาดมากขึ้นทันที อย่างไรก็ดี การกำหนดมาตรการดังกล่าวอาจทำให้เกิด MVNO ที่ไม่มีความพร้อมในการให้บริการแต่เข้าสู่ตลาดด้วยสภาพบังคับของมาตรการ ซึ่งท้ายสุดก็ไม่สามารถแข่งขันได้และต้องออกจากตลาดไปในที่สุด

(2) การกำหนดให้การขายส่งบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แก่ผู้ประกอบกิจการ MVNO ต้องคิดค่าตอบแทนตามปริมาณที่ใช้จริง (Pay as you go) เพื่อลดภาระและความเสี่ยงในการให้บริการ ตามความเห็นคณะอนุกรรมการฯ ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง ซึ่งหาก MVNO สามารถซื้อบริการในปริมาณที่สอดคล้องกับความสามารถในการให้บริการของตนเองแล้ว จะเป็นการลดต้นทุนและเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้ MVNO สามารถแข่งขันและคงอยู่ในตลาดได้

4.การกำหนดอัตราค่าบริการ

เห็นควรกำหนดว่า ทรูและดีแทค จะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกกับการกำกับดูแลอัตราค่าบริการของ กสทช. อย่างเคร่งครัด”ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. เห็นควรกำหนดมาตรการเกี่ยวข้องกับอัตราค่าบริการเพิ่มขึ้นจากที่มีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้การกำกับดูแลมีความเหมาะสมกับโครงสร้างตลาดที่เปลี่ยนไปจากการรวมธุรกิจ และมีสภาพที่เหมาะและยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ปัจจุบัน โดยควรมีลักษณะเดียวกับแนวทางที่ที่ปรึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเสนอ เรื่อง การกำหนดราคาในรูปแบบ Price Cap ซึ่งมีการคำนึงสภาพตลาดในปัจจุบันและประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เป็นต้น

สำนักงาน กสทช. ได้มีการทบทวนแล้ว เห็นว่าแนวทางที่เหมาะสมที่สุดคือการให้ทรูและ ดีแทคต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลอัตราค่าบริการของ กสทช. อย่างเคร่งครัด ซึ่งปัจจุบันการกำกับดูแลอัตราค่าบริการเป็นไปตามประกาศ กสทช. เรื่อง การกำหนดและกำกับดูแลโครงสร้างอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศ และประกาศ กสทช. ว่าด้วยการกำหนดและกำกับดูแลอัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศในส่วนที่เกินกว่าสิทธิการใช้งานของรายการส่งเสริมการขายหลัก และมีการพิจารณาเพิ่มมาตรการเกี่ยวข้องกับอัตราค่าบริการเพิ่มขึ้นจากที่มีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้การกำกับดูแลมีความเหมาะสมกับโครงสร้างตลาดที่เปลี่ยนไปจากการควบรวม

5.คุณภาพในการให้บริการ (QoS)

(1) QoS ของสัญญาณ

(1.1) ทรูและดีแทคต้องไม่ลดคงจำนวน cell sites ของทั้งสองบริษัทลงจากเดิม เพื่อรักษาคุณภาพและมาตรฐานของบริการที่ให้ประชาชนได้รับให้ไม่ต่ำไปกว่าเดิม

(1.2) ทรูและดีแทคต้องรักษา QoS ตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานของคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคม อย่างเคร่งครัด

(2) QoS ในการให้บริการลูกค้า

กำหนดให้บริษัททั้ง 2 มีความพร้อมเพื่อรองรับจำนวนลูกค้าที่จะเพิ่มขึ้นจากการรวมธุรกิจเพื่อให้คุณภาพในการให้บริการต่อผู้ใช้บริการไม่ต่ำกว่าเดิม เช่น จำนวนเจ้าหน้าที่ที่เพียงพอเพื่อรองรับการให้บริการทั้งในส่วนของศูนย์บริการ และพนักงานรับสาย (Call center) รวมถึงขนาดพื้นที่ของศูนย์บริการลูกค้าที่สามารถรองรับการเข้ามาติดต่อของผู้ใช้บริการ

ข้อเสนอมาตรการของสำนักงาน กสทช. มีลักษณะที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับมาตรการเฉพาะที่เสนอโดยหน่วยงานอื่นๆ แล้ว

6.สัญญาการให้บริการ

เห็นควรกำหนดให้ทรูและดีแทค ต้องคงไว้ซึ่งเงื่อนไขของสัญญาและข้อตกลงระหว่างบริษัทและผู้ใช้บริการรวมถึงผลประโยชน์ที่ได้รับตามที่ได้มีการทำสัญญาหรือข้อตกลงไว้ตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา เว้นแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของสัญญาที่เป็นคุณหรือเป็นประโยชน์และได้รับการยินยอมจากผู้ใช้บริการ

เห็นว่าสำนักงาน กสทช. ได้มีการกำหนดการรักษาสัญญาไว้เพื่อคุ้มครองเพื่อผู้บริโภคแล้ว แต่อาจมีการพิจารณาเพิ่มเติมในเรื่องระยะเวลาที่เหมาะสมที่ผู้ขอรวมธุรกิจควรคงไว้ซึ่งสัญญา และวิธีการแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบเมื่อมีการสิ้นสุดสัญญาและการเปลี่ยนแปลงสัญญา เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับประโยชน์สูงสุด โดยทั้ง บล. ฟินันซ่าฯ และคณะอนุกรรมการฯ ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมืองได้เสนอระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน คือประมาณ 3 ปี จึงเป็นระยะเวลาที่อาจมีการพิจารณานำมาปรับใช้

7.ความครอบคลุมของโครงข่าย

กำหนดมาตรการเพิ่มเติมข้อกำหนดความครอบคลุมของโครงข่ายโทรคมนาคมด้วยเทคโนโลยี 5G เช่น ให้มีความครอบคลุมโครงข่าย 5G มากกว่าร้อยละ 80 ของประชากรภายใน 5 ปี

เห็นว่าควรกำหนดมาตรการในเรื่องข้อกำหนดในเรื่องการขยายความครอบคลุมของโครงข่ายโทรคมนาคมด้วยเทคโนโลยี 5G โดยไม่น้อยกว่าข้อเสนอของผู้แจ้งรวมธุรกิจ ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของอนุกรรมการฯ ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและที่ปรึกษาอิสระ (85% ภายใน 3 ปี)

8.การใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน (Infrastructure Sharing)

เห็นควรกำหนดว่า ทรูและดีแทคจะต้องเปิดให้ผู้รับใบอนุญาตรายอื่นเช่าใช้โครงข่ายโทรคมนาคมของตนเอง และจะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้โครงข่ายโทรคมนาคม ของ กสทช. อย่างเคร่งครัด

มาตรการที่สำนักงาน กสทช. เสนอ มีลักษณะที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับความเห็นที่ได้รับ

9.การประชาสัมพันธ์การให้บริการเพื่อความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการ ภายหลังการรวมธุรกิจ

การประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ต่อสาธารณชนว่าจะคงไว้ซึ่งบริการที่มีคุณภาพ และราคาค่าบริการที่เป็นธรรมต่อผู้ใช้บริการ

ข้อเสนอมาตรการของสำนักงาน กสทช. มีความสอดคล้องกับความเห็นที่ได้รับ แต่ในรายละเอียดแล้วนั้น สำนักงาน กสทช. ยังมิได้มีการกำหนดรายละเอียดขั้นตอน กรอบระยะเวลา วิธีการประชาสัมพันธ์ไว้ ในขณะที่คณะอนุกรรมการฯ ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมืองมีการกำหนดที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม จึงอาจมีการพิจารณาต่อไปในการนำมาปรับใช้ เพื่อให้การประชาสัมพันธ์ตามมาตรการของสำนักงาน กสทช. เป็นไปโดยชัดเจนมากขึ้น

10.การติดตามผลการดำเนินการและเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นภายหลังการรวมธุรกิจ

การรายงานผลการประกอบธุรกิจ ภายใต้การดำเนินการตามกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขที่ได้รับจาก กสทช. เป็นรายไตรมาสหรือตามแต่ระยะเวลาที่ กสทช. กำหนด ตามแบบที่ กสทช. กำหนด ไว้เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 ปี

ข้อเสนอมาตรการของสำนักงาน กสทช. ยังมิได้มีการกำหนดรายละเอียดว่าผู้ขอรวมธุรกิจจะต้องรายงานข้อมูลส่วนใดให้กับ กสทช. ทราบบ้าง ในขณะที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการเสนอรายละเอียดสิ่งที่ควรรายงาน และยังเสนอให้มีมาตรการในการติดตามผลการดำเนินการโดยให้มีหน่วยงานอื่นเข้ามาร่วมตรวจสอบด้วย จึงอาจนำมาพิจารณานำมาปรับใช้ต่อไปร่วมกับการให้ผู้รับใบอนุญาตรายงานผลการดำเนินการที่มีอยู่เดิม

11.การส่งเสริมการแข่งขัน-เพิ่มผู้ให้บริการ MNO

– กำหนดให้มีการรับคืนคลื่นความถี่จากผู้ประกอบกิจการรายเดิมที่ขอรวมธุรกิจ และจัดประมูลคลื่นความถี่เพื่อจัดสรรให้แก่ผู้ประกอบกิจการ MNO รายใหม่เป็นการเฉพาะ

– กำหนดให้มีการกระจายการถือครองทรัพย์สิน เช่น คลื่นความถี่ เสาโทรคมนาคม หรือโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น และควรกำหนดรายละเอียดการกระจายการถือครองทรัพย์สินให้แล้วเสร็จก่อนการรวมธุรกิจ เพื่อจัดทำแผนจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับผู้ให้บริการรายใหม่ และดำเนินการจัดประมูลคลื่นความถี่อย่างช้าภายใน 6 เดือนหลังการรวมธุรกิจ

– กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการ MNO รายใหม่สามารถทำสัญญา Roaming กับผู้ขอรวมธุรกิจหรือผู้ให้บริการรายเดิมได้จนกว่าจะมีโครงสร้างพื้นฐานของตนเองเพียงพอ

ทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะอนุ กรรมการฯ ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง เสนอแนวทางที่จะทำให้เกิดผู้ให้บริการรายใหม่ที่มีการสร้างโครงข่ายในการให้บริการโดยใช้คลื่นความถี่ที่มีการคืนจากผู้แจ้งรวมธุรกิจ ตลอดจนการขายโครงข่ายบางส่วนให้กับผู้ให้บริการรายใหม่ และการเปิดให้เช้าใช้โครงข่าย เช่น ในลักษณะของ Roaming ซึ่งวิธีการเหล่านี้เน้นให้ผู้ประกอบ การรายใหม่สามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการให้บริการ ทั้งการได้รับการจัดสรรทรัพยากรและการใช้โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นของผู้ประกอบการรายเดิมในตลาดไปจนกว่าจะสามารถให้บริการได้ด้วยตนเอง อย่างไรก็ดี โดยที่ทรัพยากรสำคัญในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้แก่ คลื่นความถี่ มาตรการในลักษณะนี้จึงอาจต้องพิจารณาประกอบกับมาตรการในเรื่องของการถือครองคลื่นความถี่และกำหนดให้สอดคล้องกันด้วย

12.การป้องกันการครอบงำกิจการ เพื่อลดโอกาสที่จะทำให้ TRUE Corp หรือ dtac ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถควบคุม NewCo ได้แต่เพียงฝ่ายเดียว

(1) เงื่อนไขเกี่ยวกับคณะกรรมการ NewCo

อาจกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ถือหุ้นของ TRUE Corp และ dtac ต่างฝ่ายไม่สามารถเสนอชื่อกรรมการได้ไม่เกินกึ่งหนึ่งของรายชื่อกรรมการใน NewCo ในระยะเวลา 3 ปีแรกภายหลังการรวมธุรกิจ

(2) เงื่อนไขเกี่ยวกับการแต่งตั้ง ผู้บริหารและ คณะกรรมการบริษัทย่อยของ NewCo

การแต่งตั้งผู้บริการและกรรมการบริษัทย่อยของ NewCo จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนของ NewCo โดยคณะกรรมการชุดย่อยของ NewCo จะต้องได้รับการแต่งตั้งที่สอดคล้องกับลักษณะการแต่งตั้งคณะกรรมการของ NewCo

บล. ฟินันซ่าฯ เสนอมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการครอบงำบริษัทที่เกิดขึ้นใหม่โดยบริษัทใดบริษัทหนึ่ง โดยเสนอมาตรการให้ กสทช. กำหนดการเข้าถือหุ้น และการแต่งตั้งผู้บริหารและคณะกรรมการย่อยของบริษัทใหม่ ในทางหนึ่งวิธีการดังกล่าวอาจเป็นการป้องกันการครอบงำบริษัทโดยบริษัทใดบริษัทหนึ่งได้ แต่ก็มีข้อกังวลว่าจะเป็นการเข้าไปแทรกแซงการบริหารกิจการของผู้แจ้งรวมธุรกิจหรือไม่ จึงควรต้องพิจารณาข้อเสนอมาตรการและวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้อย่างเหมาะสมต่อไป

13.การลงทุนเพื่อพัฒนาบริการใหม่ และพัฒนาเทคโนโลยีใหม่

(1) กสทช. ควรมีการกำหนดสัดส่วนการลงทุนของผู้ประกอบการด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่อรายได้

(2) กำหนดให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีและระบบโครงสร้างพื้นฐาน เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค และเพิ่มแรงกดดันต่อผู้ประกอบการรายอื่นต้องพัฒนาเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐาน ผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาดได้ยากขึ้น ต้องหาเทคโนโลยีที่ทัดเทียมเข้ามาด้วย

(3) กสทช. ควรมีบทบาทหลักกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลและกำหนดนโยบายด้านการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิทัล เนื่องจากมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีกลุ่มนี้มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีโทรคมนาคมเป็นส่วนใหญ่

(4) กสทช. ควรมีการกำหนดแผนการลงทุนด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของ กสทช. เอง โดยพิจารณาความคุ้มค่าในการลงทุนและการใช้ทรัพยากรร่วมกันกับภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนการดำเนินการของภาครัฐ

มาตรการเหล่านี้นั้นควรเป็นมาตรการที่ส่งเสริมการเติบโตและการพัฒนาเทคโนโลยีในภาพรวมมากกว่าที่จะกำหนดเฉพาะสำหรับผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่งเท่านั้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาของอุตสาหกรรมต่อไป

14.การรับเรื่องและกลไกการแก้ไขปัญหาแก่ผู้ใช้บริการ

(1) กำหนดให้ผู้ขอรวมธุรกิจต้องกำหนดให้มีกลไกในการรับเรื่องและแก้ไขปัญหาแก่ผู้ใช้บริการหลังการรวมธุรกิจ

(2) กำหนดให้ผู้ให้บริการทุกรายต้องจัดให้มีช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนและเผยแพร่สถิติและปัญหาการร้องเรียนตามหลักเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนด

ปัจจุบัน ได้มีประกาศ กสทช. เรื่อง กระบวนการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2559 ซึ่งกำหนดกระบวนการต่างๆ เช่น กระบวนการยื่นเรื่องร้องเรียน กระบวนการพิจารณาและตรวจสอบการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน และหน้าที่ของผู้รับใบอนุญาตในการบริหารจัดการเรื่องร้องเรียน รวมถึงการรับและแก้ไขข้อร้องเรียน โดยใช้บังคับกับผู้รับใบอนุญาตทุกราย จึงเห็นว่าหากมีการเพิ่มเติมรายละเอียดใดๆ ในข้อกำหนดในเรื่องดังกล่าวควรใช้บังคับในภาพรวมจะเหมาะสมกว่า

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net