Skip to main content
sharethis

ผลสำรวจครูในญี่ปุ่น 10,010 คน พบส่วนใหญ่ต้องทำงานล่วงเวลา (OT) ยาวนาน เฉลี่ยแล้วมีชั่วโมงทำงานอยู่ในระดับที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ครูมากกว่าครึ่งจะไม่แนะนำอาชีพนี้ให้กับผู้อื่น เพราะภาระงานหนัก ชั่วโมงการทำงานยาวนาน และต้องเผชิญกับความเครียดอย่างรุนแรง


ที่มาภาพประกอบ: Wikimedia (CC0)

13 ต.ค. 2565 สถาบันวิจัยเพื่อความก้าวหน้ามาตรฐานการครองชีพของญี่ปุ่น ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นครู 10,010 คน (มีอัตราการตอบกลับ 92.1%) เมื่อช่วงเดือน มิ.ย. 2565 พบว่าในวันทำงาน ครูจะใช้เวลาทำงานทั้งสิน 11 ชั่วโมง 21 นาที แม้ว่าจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยจากการสำรวจครั้งก่อนเมื่อปี 2558 ที่ 11 ชั่วโมง 29 นาที (ลดลง 8 นาที) แต่ก็ยังถือว่าเป็นชั่วโมงทำงานที่ยาวนานอยู่ 

นอกจากนี้หากเพิ่มเวลาทำงานจากที่บ้าน ค่าเฉลี่ยชั่วโมงการทำงานของครูจะเพิ่มขึ้นเป็น 12 ชั่วโมง 7 นาที ซึ่งเกินกว่าระยะเวลาการทำงานที่กฎหมายที่ปุ่นกำหนดไว้ที่ 7 ชั่วโมง 45 นาที กว่า 4 ชั่วโมงเลยทีเดียว ส่วนในวันหยุดสุดสัปดาห์ครูยังต้องทำงานโดยเฉลี่ย 3 ชั่วโมง 24 นาที เนื่องจากความรับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของชมรมและงานอื่นๆ 

เมื่อรวมชั่วโมงการทำงานทั้งหมดในแต่ละเดือน พบว่าครูในญี่ปุ่นมีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ย 293 ชั่วโมง 46 นาที แม้จะน้อยกว่าการสำรวจครั้งก่อน 6 นาที แต่ก็ยังเกินชั่วโมงทำงานที่กฎหมายกำหนด 123 ชั่วโมง 16 นาที ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติความปลอดภัยและสุขภาพอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ให้คำนิยม "สายงานคาโรชิ" (karōshi line) ไว้ว่าเป็นงานที่ทำงานล่วงเวลามากกว่า 100 ชั่วโมงต่อเดือน กล่าวอีกนัยหนึ่งครูจำนวนมากตกอยู่ในสถานการณ์อันตรายที่อาจทำลายสุขภาพของพวกเขาอย่างร้ายแรง

เมื่อถูกถามถึงสิ่งที่ควรทำเพื่อปรับปรุงสภาพการทำงาน ครูผู้ตอบแบบสำรวจจำนวนมากระบุว่าจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการแบ่งงานผ่านมาตรการต่างๆ เช่น โรงเรียนควรจ้างผู้ดูแลการเดินทางของเด็กไปและกลับจากโรงเรียน รวมทั้งขอให้มีการประชุมที่โรงเรียนน้อยลง 

แม้ครูผู้ตอบแบบสำรวจเรียกร้องให้รัฐบาลกลางและท้องถิ่นเพิ่มจำนวนครูให้มากขึ้น แต่เมื่อถูกถามว่าจะแนะนำอาชีพครูให้ผู้อื่นหรือไม่ พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 57.6 ตอบว่า "ไม่" โดยให้เหุตผลว่าอาชีพนี้มีภาระงานหนัก ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน และต้องเผชิญกับความเครียดอย่างรุนแรง


ที่มา
Extreme Overtime Takes a Toll on Japan’s Teachers (nippon.com, 6 October 2022)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net