Skip to main content
sharethis

นักกิจกรรมที่ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและนักวิชาการวิเคราะห์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ชี้สร้างความสูญเสียให้กับชนกลุ่มน้อยเชื้อสายเอเชียในรัสเซีย จากการเกณฑ์ทหารกับกลุ่มคนชายขอบทางเชื้อชาติสีผิว ระบุอาจเป็นวิธีหนึ่งในการ "กวาดล้างเผ่าพันธุ์" ชนกลุ่มน้อยในประเทศ


ที่มาภาพประกอบ: @ehmitrich (Unsplash License)

12 ต.ค. 2565 ย้อนไปเมื่อช่วงเดือน ก.ย. 2565 ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน เคยประกาศว่าจะมีการเกณฑ์กำลังพลส่วนหนึ่งในรัสเซียเพื่อนำไปเสริมให้กับกองทัพแนวหน้าของรัสเซียในสงครามยูเครน หลังจากที่พวกเขาได้รับความเสียหายอย่างหนัก แต่ถึงแม้ว่ารัสเซียให้สัญญาว่าจะทำการเกณฑ์กำลังพลจากทหารกองหนุนที่ไม่ได้พิการและมีประสบการณ์ทางการทหารเท่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกลับต่างกันออกไป

ในเรื่องนี้ รามูเอล รามานี นักวิจัยจากอ็อกซ์ฟอร์ดผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับรัสเซียถึงขั้นระบุว่าการเกณฑ์กำลังพลล่าสุดในรัสเซีย อาจจะนับเป็น "การกวาดล้างเผ่าพันธุ์" (ethnic cleansing) เลยก็ว่าได้

สาเหตุที่นักวิชาการประเมินว่ามันอาจจะนับเป็นการกวาดล้างเผ่าพันธุ์ ก็เพราะว่าทางการรัสเซียได้ทำการเกณฑ์ทหารอย่างไร้ข้อยกเว้น โดยตั้งเป้าหมายเป็นกลุ่มชุมชนชายขอบผู้ยากไร้อย่างเช่น ชาวรัสเซียเชื้อสายเอเชีย รวมถึงชนกลุ่มน้อยทางเชื้อชาติสีผิวกลุ่มอื่นๆ ในรัสเซีย

อัลดาร์ เอเรนดเยนอฟ ตัวแทนของกลุ่มมูลนิธิปลดปล่อยคัลมืยคียา ซึ่งเป็นกลุ่มนักกิจกรรมที่ช่วยเหลือชาวคัลมืยในการหนีออกจากรัสเซียกล่าวว่า พวกเขาได้เห็นอย่างชัดเจนกับตาว่า ชนกลุ่มน้อยในพื้นที่คัลมืยคียาถูกเกณฑ์ไปรบในสงครามมากกว่าเป็น 3-4 เท่า เมื่อเทียบกับประชากรในเขตที่เป็นชาวสลาฟ

เอเรนดเยนอฟบอกอีกว่าบางหมู่บ้านในคัลมืยเคยา มีประชากรลดลงไปราวร้อยละ 20 นับตั้งแต่ที่มีการเกณฑ์กำลังพล ซึ่งคัลมืยคียาเป็นพื้นที่เดียวในรัสเซียที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ

ในรัสเซียนั้นมีกลุ่มชาวรัสเซียเชื้อสายเอเชียอยู่หลากหลายกลุ่มมาก ไม่ว่าจะเป็นชาวตูวานที่มีเชื้อสายเติร์ก ชาวเอเวนค์ที่มาจากเชื้อสายตุงกูซิก และชาวคัลมืยที่มาจากเชื้อสายมองโกล กลุ่มชนชาติต่างๆ เหล่านี้กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ของรัสเซีย สิ่งที่พวกเขามีร่วมกันคือการที่รัฐของรัสเซียเคยขยายอิทธิพลเข้ายึดอาณานิคมพวกเขาในช่วงใดช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์

ทั้งนี้ส่วนกลางของรัสเซียก็ดูเหมือนจะคอยขูดเลือดขูดเนื้อชาวเอเชียที่ถูกทำให้เป็นข้ารับใช้มาโดยตลอด ในยามสันติจะมีการขึ้นภาษีกับกลุ่มชนเหล่านี้ และในยามสงครามก็มีการเกณฑ์คนจากพื้นที่เหล่านี้ไปรับใช้จักรวรรดิ์ที่ล่าอาณานิคมพวกเขา

อีกกลุ่มหนึ่งที่พูดถึงเรื่องนี้คือ สมาคมนักสันติวิธีซาคา ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต่อสู้เพื่อต่อต้านการเกณฑ์ทหารในสาธารณรัฐซาคา ภูมิภาคหนึ่งของรัสเซียที่มีพื้นที่ใหญ่เกือบจะเท่ากับอินเดียตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของไซบีเรียที่มีภูมิประเทศเป็นป่าเขตหนาวไทก้า กลุ่มสมาคมสันติวิธีซาคาบอกว่า "การเกณฑ์ไพร่พลโดยทางการรัสเซีย สะท้อนให้เห็นนโยบายเชิงอาณานิคมในระยะยาวจากรัฐบาลรัสเซียที่มุ่งลดจำนวนประชากรชนพื้นเมืองในประเทศของพวกเขา พวกเราเชื่อว่าเป้าหมายคือการที่จะได้ขูดรีดทรัพยากรธรรมชาติจากดินแดนของพวกเราได้มากกว่านี้ โดยเฉพาะ น้ำมันและก๊าซ"

สงครามได้ส่งผลกระทบต่อชาวรัสเซียเชื้อสายเอเชียมาตั้งแต่ก่อนหน้าการเกณฑ์กำลังพลแล้ว นักวิชาการ รามานี บอกว่า มันเป็นเรื่องง่ายกว่าที่จะเกณฑ์ทหารในกลุ่มพื้นที่ยากจนที่สุดและส่วนมากก็มักจะเป็นพื้นที่ที่มีชนกลุ่มน้อยทางเชื้อชาติอาศัยอยู่ เช่น สาธารณรัฐบูเรียตียาซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ยากจนที่สุดของรัสเซีย มีคนถูกเกณฑ์ไปรบในแนวหน้าที่ยูเครนมากที่สุดและมีการส่งโลงศพกลับบ้านเกิดเป็นจำนวนมากด้วย รามานีบอกว่า การตั้งเป้าเล่นงานชนกลุ่มน้อยทางเชื้อชาติสีผิวเช่นนี้เป็นไปได้ว่าเป้าหมายหนึ่งของทางการรัสเซียคือ "การทำให้รัสเซีย เป็นรัฐสำหรับพวกคนขาวมากขึ้นกว่านี้"

ชาวเชื้อสายเอเชียในรัสเซียเป็นหนึ่งในกลุ่มที่มีขบวนการต่อต้านอาณานิคมที่ยาวนานที่สุดในโลก ขบวนการดังกล่าวมีชื่อว่า "บาสมาจี" ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต่อต้านจักรวรรดิรัสเซีย กลุ่มนี้เกิดขึ้นในเอเชียกลางถือกำเนิดมาจากการเคลื่อนไหวต่อต้านการบังคับเกณฑ์ทหารให้ไปรบในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ถึงแม้ว่าขบวนการต่อสู้ของชนกลุ่มน้อยทางเชื้อชาติสีผิวในรัสเซียจะยังคงดำเนินต่อเนื่องมาเรื่อยๆ นับตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา แต่ทางการรัสเซียก็ทำการปราบปรามพวกเขาอย่างได้ผล

เลย์ลา ลาติโปวา นักข่าวและนักวิชาการชาวบัชคอร์โตสตานกล่าวว่ามีนักกิจกรรมจำนวนมากที่ถูกคุมขัง จนทำให้เห็นได้ชัดเจนว่ามีนักกิจกรรมเหลืออยู่ไม่กี่คนในรัสเซียเท่านั้นที่ยังคงพูดถึงเรื่องการปลดแอกจากอาณานิคมรัสเซียได้โดยไม่ถูกจับกุม

ในตอนนี้ชาวรัสเซียเชื้อสายเอเชียก็ต้องเผชิญกับการถูกบังคับเกณฑ์ไปรบอีกครั้งแบบเดียวกับสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 เรื่องนี้ทำให้เกิดกระแสการต่อต้านและการจัดตั้งการเคลื่อนไหว เช่นการประท้วงในยาคุตสค์ เมืองหลวงของเขตปกครองซาคา มีกลุ่มองค์กรที่ช่วยเหลือชาวเอเชียในพื้นที่เหล่านี้อพยพหนีออกจากประเทศรัสเซีย

วาสิลี มาเทนอฟ นักกิจกรรมเชื้อสายตูวานจากกลุ่มเอเชียนออฟรัสเซียกล่าวว่า นับตั้งแต่ที่มีสงครามกับยูเครนมีการต่อต้านขัดขืนทางการรัสเซียเกิดขึ้นจำนวนมากในหมู่ประชาชนเชื้อสายเอเชียที่อยู่ในรัสเซีย ผู้คนก่อตั้งขบวนการต่อต้านสงครามและมีการพูดปราศรัยต่อต้านสงครามในที่ชุมนุมเดินขบวน มาเทนอฟบอกอีกว่า "มันชวนให้รู้สึกว่าการเกณฑ์กำลังพลเป็นการที่ปูตินแก้แค้นประชาชนของพวกเราผ่านวิธีการกวาดล้างเผ่าพันธุ์"

ในเอ็นไซโคลปิเดียบริแทนนิกา ระบุว่า "การกวาดล้างเผ่าพันธุ์" (Ethnic Cleansing) หมายถึง การพยายามทำให้พื้นที่มีแต่กลุ่มคนเหลืออยู่เชื้อชาติเดียว ด้วยวิธีการขับไสเชื้อชาติอื่นๆ ออกจากพื้นที่นั้นๆ หรือบังคับย้ายถิ่นฐาน รวมถึงการทำลายอนุสรณ์หรือวัตถุทางวัฒนธรรมของกลุ่มเชื้อชาตินั้นๆ ด้วย

ชาวรัสเซียจำนวนมากตามชายแดนต่อต้านการเกณฑ์คนไปรบในยูเครนเช่นกัน บ้างก็หนีไปหลบซ่อนตัว พวกเขากลัวตาย กลัวถูกทำให้อดอยาก กลัวบาดเจ็บ เช่นเดียวกับชาวรัสเซียเชื้อสายเอเชีย มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ากองทัพรัสเซียไม่สามารถหาที่พักพิง ไม่สามารถเลี้ยงดู และไม่สามารถจัดหาเสบียงให้กับทหารที่ถูกเกณฑ์ไปรบในสงครามยูเครนได้ ไม่เพียงเท่านั้น กองกำลังในแนวหน้าของรัสเซียมีตัวเลขความสูญเสียสูงถึงขนาดที่แม้แต่ผู้สนับสนุนปูตินระดับเดนตายยังต้องคิดหนักถ้าหากจะสมัครไปรบ

นับตั้งแต่ที่เริ่มมีการเกณฑ์กำลังพล มีกองกำลังประมาณ 700,000 นายที่มุ่งหน้าออกจากรัสเซียไปแล้ว และมีกำหนดการจะเกณฑ์กำลังพลเพิ่มอีก 300,000 นาย ผู้ลี้ภัยไม่เหลือทางให้หนีมากนัก หลังจากที่รัสเซียประกาศว่าจะมีการเกณฑ์กำลังพลเพิ่ม นักการเมืองสหภาพยุโรปหลายคนก็ออกมากล่าวเน้นย้ำอย่างทันควันว่าประเทศของพวกเขาจะไม่ให้ที่พักพิงแก่ผู้หนีการเกณฑ์ทหารในรัสเซีย

ในทางตรงกันข้าม ประเทศเอเชียกลางโดยเฉพาะ คาซัคสถาน และมองโกเลีย ต่างก็ต้อนรับผู้ลี้ภัยเหล่านี้ ไดอานา คูไดเบอเกโนวา นักสังคมวิทยาชาวคาซัคสถานจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์กล่าวว่า ถึงแม้ว่าสถานการณ์จะยังคงดำเนินอยู่และต้องการข้อมูลมากกว่านี้ในการจะพูดถึงเรื่องนี้ แต่เท่าที่เห็นจนถึงปัจจุบัน ประเทศเอเชียกลางมีการปฏิบัติต่อผู้อพยพหลายรูปแบบแต่ส่วนมากจะเป็นการต้อนรับให้เข้าประเทศได้

เอเรนดเยนอฟกล่าวว่า ชาวรัสเซียเชื้อสายเอเชียได้รับการต้อนรับมากเป็นพิเศษในประเทศมองโกเลีย  เขาบอกว่า "แม้กระทั่งในระดับรัฐ ชนกลุ่มน้อยชาวเอเชียต่างก็ได้รับการเชื้อเชิญและต้อนรับ มันทำให้รู้สึกอุ่นใจที่มีการเล็งเห็นปัญหาของพวกเราที่นั่น"

ลาติโปวาบอกว่า การเกณฑ์กำลังผลของกองทัพรัสเซียอาจจะจุดกระแสให้เกิดแนวคิดการรวมกลุ่มชาวเติร์กเกิดขึ้นอีกครั้ง เพราะว่ามีภาษาและค่านิยมที่คล้ายคลึงกัน

นอกจากนี้การเกณฑ์กำลังพลที่เกิดขึ้นในรัสเซียอาจจะจุดชนวนให้เกิดวาทกรรมต่อต้านอาณานิคมเกิดขึ้นในรัสเซียอีกก็เป็นได้ กลายเป็นสิ่งท้าทายต่อฐานอำนาจของรัฐชาติรัสเซีย โดยที่หลังจากเกิดเหตุรัสเซียรุกรานยูเครน กระแสแนวคิดการต่อต้านอาณานิคมรัสเซียก็เริ่มเป็นกระแสพูดถึงในตะวันตกและในหมู่นักกิจกรรมพลัดถิ่น ลาติโปวาชี้ว่า "ชุมชนชาวยูเครนได้ผลักดันวาทกรรมการต่อต้านอาณานิคมตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นเกิดสงคราม มันได้ช่วยทำให้เกิดการยกระดับการพูดถึงแนวคิดต่อต้านอาณานิคมมากขึ้นทั้งภายในและภายนอกรัสเซีย"

นักกิจกรรมรัสเซียบางคนบอกว่ารัสเซียขาดการศึกษาในเรื่องการเมือง โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรคนจนในรัสเซียเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่ของวาทกรรมโฆษณาชวนเชื่อจากทางการรัสเซีย แอดเลีย นักกิจกรรมชาวซาคาผู้พลัดถิ่นพูดหลังจากถอนหายใจอย่างโกรธเคืองว่า แม้แต่ชาวรัสเซียเชื้อสายเอเชียจำนวนมากก็ชื่นชอบปูตินเพราะพวกเขาดูแต่โทรทัศน์ช่องของรัฐบาล โดยเฉพาะคนในชนบทที่กันดาร

อย่างไรก็ตาม ลาติโปวา โต้แย้งว่าเรื่องนี้อาจจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเพราะสภาพการณ์ปัจจุบันทำให้ผู้คนเห็นได้ชัดกับตาตัวเองว่ารัฐบาลรัสเซียจริงๆ แล้วเป็นอย่างไร "เมื่อผู้คนเห็นว่าคนครึ่งหมู่บ้านถูกเกณฑ์ไปรบ แนวคิดเรื่องนี้ก็ได้รับการสนับสนุนจากข้อเท็จจริงที่มาจากประสบการณ์โดยตรง มันทำให้โวหารเรื่องการต่อต้านอาณานิคมมีความน่าเชื่อถือขึ้นมาก" ในความเป็นจริงแล้ว แม้กระทั่งกลุ่มคนที่ไม่ฝักใฝ่ทางการเมืองมาก่อนในรัสเซียเมื่อต้องได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเกณฑ์คนไปรบในสงครามแล้ว พวกเขาก็ไม่พอใจเท่าไหร่

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มชนชาติเชื้อสายเอเชียในรัสเซียบางกลุ่ม การเปลี่ยนแปลงก็มาช้าเกินไป แอดเลียบอกว่า ภาษาและวัฒนธรรมของชาวเอเวนค์และชาวชุกชีกำลังจะสูญหายไป และถ้าหากกลุ่มคนหนุ่มจากทั้งรุ่นของกลุ่มชนชาติเหล่านี้เสียชีวิตไปหมด ผู้คนเหล่านี้ก็จะถูกทำให้สาบสูญเร็วขึ้นไปอีก


เรียบเรียงจาก
The War in Ukraine Is Decimating Russia’s Asian Minorities, The Diplomat, 10-10-2022

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://www.britannica.com/topic/ethnic-cleansing

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net