Skip to main content
sharethis

สมาชิกยูเอ็นมากกว่า 140 ประเทศ ลงคะแนนสนับสนุนมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ประณามความพยายามของรัสเซียผนวกดินแดน 4 ภูมิภาคของยูเครน ขณะที่ไทยงดออกเสียงร่างมติฉบับนี้


ที่มาภาพ: Wikimedia 

13 ต.ค. 2565 Thai PBS รายงานอ้างสำนักข่าวต่างประเทศระบุว่าประธานสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) ประกาศผลการลงมติ โดย 143 ประเทศ จากทั้งหมด 193 ประเทศทั่วโลก สนับสนุนร่างมติ UNGA ซึ่งระบุว่าความพยายามผนวกรวม 4 ภูมิภาคยูเครนของรัสเซียผิดกฎหมาย

รวมทั้งเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศไม่รับรองการผนวกรวม และให้รัสเซียยุติการกระทำดังกล่าวทันที นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้บรรเทาสถานการณ์ความขัดแย้งผ่านการเจรจา

มติประณามรัสเซียฉบับนี้ แม้เป็นเพียงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ แต่ถือว่ามีความหมาย เนื่องจากได้รับเสียงสนับสนุนจากประเทศสมาชิกยูเอ็นมากที่สุด นับตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากบุกโจมตียูเครน

ขณะที่ประเทศคัดค้านร่างมติมีเพียง 5 ประเทศ คือ รัสเซีย เบลารุส เกาหลีเหนือ ซีเรียและนิการากัว ส่วนอีก 35 ประเทศ รวมถึงจีน อินเดียและไทย งดออกเสียง

สำหรับประเทศไทย แสดงความกังวลว่าการผ่านมติดังกล่าวท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดในปัจจุบัน อาจส่งผลกระทบต่อโอกาสในการแก้ไขความขัดแย้งผ่านวิถีทางการทูต และอาจผลักให้โลกเข้าสู่ความเสี่ยงเกิดสงครามนิวเคลียร์และการล่มสลายทางเศรษฐกิจโลก

ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ เปิดเหตุผลของไทยที่ตัดสินใจงดออกเสียง

มติชนออนไลน์ รายงานว่าหลังจากที่ที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (UNGA) ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ได้มีการจัดลงมติประณามรัสเซียต่อกรณีการผนวก 4 ดินแดนยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ตามเวลาท้องถิ่น โดยมี 143 ประเทศ จาก 193 ชาติสมาชิกที่ลงมติสนับสนุนข้อมติดังกล่าว ขณะที่ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่งดออกเสียง 35 ประเทศ ร่วมกับลาว เวียดนาม จีน อินเดีย

นายสุริยา จินดาวงษ์ เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ได้กล่าวถึงเหตุผลของไทยที่ตัดสินใจงดออกเสียง โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. ในฐานะประเทศขนาดเล็กที่มีอำนาจธิปไตย ประเทศไทยยึดถือกฎบัตรบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศเป็นสำคัญเสมือนแนวป้องกันสุดท้าย ไทยยังยึดถือโดยชัดแจ้งต่อหลักการเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐต่างๆ ตามหลักของกฎบัตรแห่งสหประชาชาติ

ประเทศไทยยึดถือนโยบายมาอย่างยาวนานและต่อเนื่องว่าจะคัดค้านการข่มขู่คุกคามหรือใช้กำลังต่อบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐใดรัฐหนึ่งและการใช้กำลังผนวกดินแดนของรัฐอื่นโดยไม่ได้ถูกยั่วยุ

2. อย่างไรก็ดี ประเทศไทยเลือกที่จะงดออกเสียงลงคะแนนต่อข้อมติซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศและมีสถานการณ์ขึ้นลงอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นการด้อยค่าต่อโอกาสที่การทูตจะยังผลให้เกิดการเจรจาข้อมติที่สันติและปฏิบัติได้จริงเพื่อแก้ไขความขัดแย้งซึ่งอาจผลักให้โลกไปสู่ความเสี่ยงของสงครามนิวเคลียร์และการพังทลายของเศรษฐกิจโลก

3. ประเทศไทยมีความห่วงกังวลอย่างแท้จริงต่อการแบ่งแยกขั้วทางการเมืองที่สูงขึ้นในหลักการระหว่างประเทศซึ่งทำให้เกิดผลในทางลบต่อวิธีการและแนวทางการยุติสงคราม การประณามนั้นยั่วยุให้เกิดความขัดขืนและลดทอนโอกาสของการมีปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์เป็นอย่างยิ่ง

4. ประเทศไทยโศกเศร้าเสียใจกับการทำลายล้างทางกายภาพ ทางสังคม และทางมนุษยธรรมของยูเครนและความยากลำบากที่รุนแรงซึ่งประชาชนชาวยูเครนต้องทนทุกข์ทรมาน ไทยจึงต้องการเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลายในโศกนาฏกรรมในยูเครนนี้จะต้องลดความขัดแย้งและความรุนแรง ทั้งพยายามเสาะหาสันติวิธีเพื่อจัดการกับความไม่ลงรอย โดยอิงกับความเป็นจริงที่ปฏิบัติได้และข้อห่วงกังวลจากทุกฝ่าย ความมั่นคงของมนุษย์และสิทธิในการมีชีวิตนั้นเป็นเสาหลักที่สำคัญในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ข้อ3) และถึงทุกวันนี้สิทธิดังกล่าวได้ถูกพรากจากชาวยูเครนและประชาชนอีกหลาย ล้านคนทั่วโลก มันจึงเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบสูงสุดขององค์กรที่ได้รับความเคารพสูงสุดแห่งนี้ในการนำสันติภาพและความปกติสุขของชีวิตกลับมาสู่ชาวยูเครน ไม่ใช่โดยการใช้ความรุนแรงแต่ด้วยกลไกทางการทูตเท่านั้นที่จะสามารถนำสันติสุขกลับมาได้จริงและโดยถาวร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net