Skip to main content
sharethis

รมว.ศึกษาธิการ วางมาตรการแก้ปัญหายาเสพติด-อาวุธปืน สั่งสถานศึกษาทบทวนมาตรการสุ่มตรวจปัสสาวะ พร้อมให้ความรู้โทษภัยยาเสพติดเข้มข้น - 'เพื่อไทย' อัด 'ประยุทธ์' เตือนแล้วเรื่องครอบครองยาเสพติด แต่เพิ่งคิดแก้ ถนัดแต่ตั้งคณะกรรมการ ไร้แผนการทำงานเชิงรุก ทำสังคมไทยเสื่อมถอย


แฟ้มภาพสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2565 ว่านางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุม เพื่อกำหนดมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดและอาวุธปืน ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุม ว่านายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ส่วนราชการไปกำหนดมาตรการและแนวทางการดำเนินงานมาตรการอย่างเข้มข้นในอำนาจหน้าที่ของกระทรวงนั้น ๆ ซึ่งในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้กำชับส่วนราชการในการดูแลเด็กและเยาวชน ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดและอาวุธปืนให้เข้มข้นขึ้น โดยใช้กลไกตามนโยบายความปลอดภัยในสถานศึกษา ใช้หลักการทำเด็กให้เข้มแข็ง และจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ เน้นการดำเนินงานด้านการป้องกัน การปลูกฝัง และปราบปราม

สำหรับมาตรการป้องกัน คือ ให้สถานศึกษาวิเคราะห์นักเรียนเป็นรายบุคคล พิจารณานักเรียนกลุ่มเสี่ยง การสร้างข้อตกลงร่วมกัน และสร้างเครือข่ายในการเฝ้าระวังทั้งในสถานศึกษาและชุมชน เพื่อดูแลส่งต่อข้อมูล พฤติกรรมของนักเรียนอย่างต่อเนื่อง และอาจจะต้องมีการทบทวนมาตรการสุ่มตรวจปัสสาวะนักเรียนกลุ่มเสี่ยงด้วย เพื่อค้นหาว่าเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดด้วยหรือไม่

ส่วนมาตรการปลูกฝัง คือ ให้สร้างความรู้ ความเข้าใจถึงโทษภัย และผลกระทบของยาเสพติด การจัดกิจกรรมต่อต้านยาเสพติด โดยมีการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อส่งเสริมความคิด วิเคราะห์ การใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และสนองต่อความสนใจ ความต้องการของนักเรียน

มาตรการปราบปราม ให้สถานศึกษาใช้ระเบียบวินัยในสถานศึกษาอย่างเข้มข้น โดยแต่งตั้งคณะกรรมการสถานศึกษา การคัดกรองกลุ่มเสี่ยง การประสานเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ตลอดจนการประสานส่งต่อในกรณีที่เกินกว่าขอบเขตอำนาจหน้าที่ของสถานศึกษา ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้สถานศึกษาร่วมมือกับครอบครัว ชุมชน องค์กรท้องถิ่น สถานีตำรวจ เครือข่ายผู้ปกครอง เครือข่ายนักเรียน ตลอดจนองค์กรต่าง ๆ ในพื้นที่ร่วมกันวางระบบแก้ไขปัญหายาเสพติดและอาวุธปืน เพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่นักเรียน ครู และบุคลากรทุกคน

สำหรับการดูแลและส่งต่อกลุ่มเด็กที่ติดยาเสพติดไปบำบัด ดูแลรักษาให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น นั้น กระทรวงสาธารณสุขได้มีการนำเสนอหลายแนวทาง ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะมีการขับเคลื่อนในเรื่องนี้ให้เข้มข้นขึ้น ส่วนกระทรวงศึกษาธิการตั้งเป้าหมายที่จะจัดให้มีนักดูแลสุขภาพจิตในโรงเรียนมากขึ้น เพื่อที่จะได้เข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับเครือข่ายด้านสาธารณสุขให้เข้มข้นมากขึ้น รวมทั้งติดตามการดูแล บำบัด รักษาของนักเรียนอย่างต่อเนื่อง

'เพื่อไทย' อัด 'ประยุทธ์' ประเด็นครอบครองยาเสพติดเพิ่งคิดแก้ 

13 ต.ค. 2565 ทีมสื่อพรรคเพื่อไทยแจ้งข่าวว่า ดร.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำหนดมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหายาเสพติด และอาวุธปืน โดยระบุว่า อาจมีการทบทวนกรณี การแก้ไขกฎหมายปริมาณการครอบครองยาเสพติดใหม่ ถ้าเกินกว่า 5 เม็ดควรเป็นผู้ค้า เพื่อแยกประเภทผู้เสพ และผู้ค้ารายย่อยได้ชัดเจนขึ้น และให้มีการลงโทษอย่างเด็ดขาด ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น เรื่องนี้ตนได้เคยออกมาเสนอแนะในเรื่องนี้แล้วเมื่อ 2 เดือนก่อน โดยพบว่า ส่วนหนึ่งของปัญหา คือ การรวบรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดรวม 24 ฉบับเหลือ 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ที่ "ดูเหมือน" จะเปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิด หรือจำเลย ได้ต่อสู้หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความผิด โดยมีการปรับโทษให้ผู้ต้องหายาเสพติดที่เป็น "ผู้ค้าตัวจริง" ได้รับโทษเบาลงนั้น ซึ่งในความเป็นจริงหากย้อนไปดูกฎหมายเดิม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 หากผู้ใดครอบครองยาเกินปริมาณที่กำหนด ให้สันนิษฐานว่า "ครอบครองเพื่อจำหน่าย" และจะได้รับโทษรุนแรง แต่หลังจากได้มีการปรับการชี้วัดผู้ค้าออกจากผู้เสพ ด้วยปริมาณการครอบครองยาเสพติด เดิม "หากครอบครองเกินกำหนดให้สันนิษฐานว่าเป็นผู้ค้า" เปลี่ยนมาเป็น "การพิจารณาจากพฤติการณ์การครอบครองยาแทน" ทำให้ "คนขายกลายเป็นคนเสพ" ผู้ค้ารายย่อยตัวจริงกลายเป็นผู้เสพ และได้รับโทษเบาลง จากช่องโหว่ของกฎหมายนี้ เป็นสาเหตุทำให้ผู้ขายทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก ยาเสพติดจึงไม่หายไป และยังระบาดหนักมากขึ้นทุกปีจนเกิดเหตุโศกนาฏกรรมขึ้น

ดร.ลิณธิภรณ์ กล่าวต่ออีกว่า แม้หลังเหตุโศกนาฏกรรมที่สะเทือนใจคนไทยทั้งประเทศและทั่วโลกที่ส่วนหนึ่งมาจากปัญหายาเสพติด นอกจากทบทวนกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาผู้ค้า และผู้เสพให้ชัดเจนมากขึ้นแล้ว ในเรื่องการกำหนดการครอบครองยาเสพติด ในเวลานี้สถานการณ์ที่ยาเสพติดแพร่ระบาดอย่างหนักในทุกชุมชน ทางแก้เรื่องนี้อาจไม่ใช่ลดจำนวนการครอบครองยาเสพติดเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึง เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งมีข้อมูลผู้ค้า ผู้เสพ รวมถึงฝ่ายความมั่นคงทุกภาคส่วนต้องตรวจสอบ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อดูความเชื่อมโยงการนำเข้าสารตั้งต้นที่ใช้ในการผลิตยาเสพติด และรัฐบาลซึ่งเป็นต้นน้ำของการแก้ไขปัญหา มีอำนาจเต็มในการบริหารต้องเอาจริงเอาจังกับการปราบปรามยาเสพติดอย่างเข้มงวด ผู้ค้าคือผู้ค้า ผู้เสพคือผู้ป่วย ฝ่ายนโยบาย และฝ่ายความมั่นคง คือ ด่านหน้า ทุกฝ่ายต้องทำงานอย่างแข็งขันกันทั้งองคาพยพไปพร้อมๆ กัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net