ฮิวแมนไรท์วอทช์ฉะเผด็จการพม่าใช้เรือญี่ปุ่นบริจาค-นำไปใช้เพื่อการทหาร

เผด็จการทหารพม่านำเรือที่ได้รับบริจาคมาจากญี่ปุ่น 2 ลำไปใช้ในทางการทหาร ถือว่าผิดกฎการใช้งาน เนื่องจากเรือนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือพม่า แต่ระบุห้ามนำไปในทางการทหาร ทำให้ฮิวแมนไรท์วอทช์เรียกร้องให้ญี่ปุ่นยกเลิกโครงการช่วยเหลือที่จะเอื้อต่อเผด็จการทหาร แต่ให้เน้นช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมโดยนำไปให้กับกลุ่มเอ็นจีโอของพม่าแทน

15 ต.ค. 2565 องค์กรสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอทช์รายงานว่าเผด็จการทหารพม่าได้อาศัยเรือโดยสารที่ได้รับบริจาคมาจากญี่ปุ่นเพื่อให้ใช้ในการพลเรือน นำมาใช้ในเชิงการทหารเมื่อช่วงเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา

ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้ทำการวิเคราะห์จดหมายจากเจ้าหน้าที่ทางการของพม่าหลายฉบับ ทำให้พบว่ามีเรือ 2 ลำจากทั้งหมด 3 ลำ ที่ได้รับมาจากญี่ปุ่นในช่วงระหว่างปี 2560-2562 ถูกนำไปใช้ในการขนส่งลำเลียงกำลังทหารมากกว่า 100 นาย และใช้ลำเลียงวัสดุไปที่เมือง Buthidaung บนแม่น้ำ Mayu ในรัฐยะไข่ ซึงเป็นพื้นที่ที่มีการสู้รบกันอยู่ระหว่างกองกำลังชาติพันธุ์อาระกันอาร์มีกับเผด็จการทหารพม่า

ทางฮิวแมนไรท์วอทช์ได้เรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นระงับการให้ความช่วยเหลือในแบบที่ไม่ใช่ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อรัฐบาลพม่าโดยทันที และให้ทำการคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ทหารพม่าที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง

เทปเปย์ คาไซ เจ้าหน้าที่โครงการเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า "การที่เผด็จการทหารพม่านำการช่วยเหลือด้านการพัฒนาที่ญี่ปุ่นมอบให้ไปใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์ ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นผู้สนับสนุนปฏิบัติการของเผด็จการทหารไปด้วย ... รัฐบาลญี่ปุ่นควรจะต้องทำการทบทวนใหม่อย่างเร่งด่วนจากการที่พวกเขาล้มเหลวอย่างเห็นได้ชัดในเรื่องการจำกัดไม่ให้เผด็จการทหารพม่าก่อเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชน"

การใช้เรือที่ว่านี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2565 ฝ่ายการคมนาคมของรัฐบาลรัฐยะไข่ได้สั่งกำชับกรมการขนส่งทางแม่น้ำของยะไข่ (IWT) ให้ "เตรียมพร้อม" ใช้เรือ "Kisapanadi I" และ "Kisapanadi III" ในการ "เดินทางจาก Sittwe ไปที่ Buthidaung และกลับมาที่ Sittwe"

เรื่องนี้มีระบุไว้ในจดหมายระหว่าง IWT กับกระทรวงคมนาคมและการสื่อสารของพม่า โดยระบุว่าเป็นเอกสารลับ ในจดหมายระบุอีกว่ามีการใช้เรือสองลำในการขนส่งพลทหารของกองทัพ "ทัตมะตอว์" ซึ่งเป็นชื่อเรียกกองทัพเผด็จการพม่า รวมถึงมีการใช้เรือเหล่านี้ขนส่งลำเลียงวัสดุและเสบียงของเผด็จการพม่าด้วย โดยมีการขนส่งลำเลียงไปที่ Buthidaung

รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมกำชับว่าการเดินเรือเพื่อขนส่งลำเลียงในครั้งนี้ต้อง "เป็นความลับสุดยอด" และปลายทางของการขนส่งควรจะต้องถูกระบุว่า "ไม่มีในรายงาน" ในกรณีถ้าจะมีการแจ้งต่อกลุ่มบุคคลที่สาม ซึ่งฮิวแมนไรท์วอทช์มองว่าการระบุให้เป็นความลับเช่นนี้เป็นหลักฐานว่าสิ่งที่เผด็จการพม่ากำลังทำอยู่เป็นสิ้งไม่ดี ทาง IWT ระบุว่าพวกเขาได้หารือกับรัฐมนตรีด้านคมนาคมของรัฐยะไข่แล้วและระบุว่าเรือเหล่านี้ไม่ได้ใช้งานเพื่อจุดประสงค์ทางการทหารอีกต่อไป

ต่อมาในวันที่ 23 ก.ย. ผู้บัญชาการตำรวจของรัฐยะไข่และรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมในฐานะตัวแทนมุขยมนตรีของรัฐยะไข่เขียนจดหมายถึงรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมและการสื่อสารของรัฐบาลกลางระบุยืนยันเป็นพิเศษว่ามีการใช้เรือสองลำนี้ "ด้วยวัตถุประสงค์ทางการทหาร"

ทางการรัฐยะไข่พยายามจะอ้างความชอบธรรมในการใช้เรือเหล่านี้ทางการทหารโดยอ้างบทเฉพาะการมาตรา 250 ของรัฐธรรมนูญพม่าปี 2551 ที่ระบุว่า "รัฐบาลส่วนภูมิภาคและส่วนของรัฐจะต้องมีความรับผิดชอบในการช่วยเหลือรัฐบาลสหภาพพม่าในการดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพของสหภาพพม่า ความสงบเรียบร้อยและความผาสุกในชุมชนรวมถึงการควบคุมและปราบปรามอาชญากรรมอย่างทั่วถึง"

กองทัพพม่ากับกองกำลังรัฐอาระกันมีสนธิสัญญาหยุดยิงร่วมกันอย่างไม่เป็นทางการนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2563 เป็นต้นมา แต่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาสนธิสัญญาหยุดยิงก็ถูกทำลายลง ในเดือน ส.ค. กองทัพพม่าได้เริ่มเสริมกำลังกองทัพของตัวเองที่ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ ที่ซึ่งมีการยกระดับการสู้รบหนักขึ้นทั้งในแง่ขอบเขตและความรุนแรง มีการโจมตีด้านอากาศยาน, การยิงปืนใหญ่ถล่มอย่างหนัก, และการใช้กับดักระเบิด มีตัวเลขพลเรือนที่เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

นับตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา เผด็จการทหารพม่าได้ทำการตัดขาดพลเรือนชาวยะไข่และพลเรือนทางตอนใต้ของรัฐชีนให้โดดเดี่ยวจากโลกภายนอกและสร้างความหวาดผวาต่อพวกเขา เพื่อที่จะทำให้กองกำลังอาระกันอาร์มีอ่อนกำลังลง วิธีการในเชิงกดขี่ผู้คนเช่นนี้มาจากนโยบายของกองทัพพม่าที่มีมานานแล้วเรียกว่า "นโยบาย 4 ตัด" โดยที่เผด็จการพม่ายังได้ออกกฎจำกัดการเดินทางของกลุ่มคนที่ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ปิดกั้นไม่ให้พวกเขาเข้าถึงผู้คนได้ด้วยทางถนนและทางน้ำ รวมถึงจับกุมโดยพลการต่อกลุ่มคนทำงานช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การทำเช่นนี้ของรัฐบาลพม่านับเป็นการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

ในวันที่ 15 ก.ย. เผด็จการทหารพม่าได้ออกคำสั่งแบนหน่วยงานของสหประชาชาติและองค์กรเอ็นจีโอของนานาชาติทั้งหมดจากเมือง 6 เมืองในรัฐยะไข่ คือ Maungdaw, Buthidaung, Rathedaung, Mrauk-U, Minbya และ Myebon รวมถึงสั่งปิดกั้นเส้นทางเดินเรือและขนส่งมวลชนในพื้นที่เหล่านี้ การสู้รบที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่เดือน ส.ค. ที่ผ่านมาได้ส่งผลให้มีผู้พลัดถิ่นมากกว่า 18,000 รายแล้ว จากเดิมที่มีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศอยู่แล้ว 70,000 ราย ผู้พลัดถิ่นจำนวนมากกำลังเผชิญปัญหาการขาดแคลนอาหารและยา การที่เผด็จการทหารพม่าสั่งสกัดกั้นช่องทางความช่วยเหลือยิ่งทำให้ปัญหาการขาดแคลนเหล่านี้เลวร้ายลงกว่าเดิม

กระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่นได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 3 ต.ค. ที่ผ่านมาต่อกรณีที่ฮิวแมนไรท์วอทช์ทำการสืบสวนในเรื่องนี้ไว้ในเดือน ก.ย. โดยระบุว่า "ทางรัฐบาลญี่ปุ่น จะดำเนินการเพื่อให้มีการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือที่ได้รับผ่าน ODA (โครงการช่วยเหลือด้านการพัฒนาของรัฐบาลญี่ปุ่น) โดยตั้งอยู่บนฐานของหลักการตามกฎบัตรความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ว่า 'ห้ามไม่ให้ใช้ความร่วมมือด้านการพัฒนาใดๆ ก็ตามไปวัตถุประสงค์ด้านการทหาร' "

เจ้าหน้าที่ทางการจากกระทรวงต่างประเทศของญี่ปุ่นบอกอีกว่า ญี่ปุ่นกำลังหาดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเกี่ยวกับประเด็นนี้ แต่ก็ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดไปมากกว่านั้น โดยอ้างว่ามันเป็น "เรื่องในเชิงการทูต"

ญี่ปุ่นเคยส่งเรือ 3 ลำให้พม่ามาก่อนในฐานะส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมภายใต้งบประมาณ 500 ล้านเยน (ราว 128 ล้านบาท) โดยมีการลงนามส่งมอบเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2559 โดยที่สถานทูตญี่ปุ่นในพม่าระบุว่าโครงการนี้ "มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาความสามารถในการขนส่งทางน้ำในพม่าและช่วยส่งเสริมการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมในพม่า ด้วยการบริจาคเรือโดยสารเพื่อการคมนาคมชายฝั่งในรัฐยะไข่"

หลังจากที่พม่ามีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 รัฐบาลญี่ปุ่นก็ประกาศว่าพวกเขาจะระงับการช่วยเหลือโครงการ ODA กับพม่าในแบบที่ไม่ใช่การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม แต่ก็จะไม่ระงับการช่วยเหลือในโครงการที่กำลังดำเนินอยู่ จากข้อมูลเมื่อเดือน พ.ย. 2564 ญี่ปุ่นได้ให้ความช่วยเหลือด้านการกู้ยืมต่อพม่ารวมแล้ว 1.4 ล้านล้านเยน (ราว 360,000 ล้านบาท) เงินบริจาคช่วยเหลือ 360,000 ล้านเยน (ราว 92,700 ล้านบาท) และเงินช่วยเหลือด้านเทคนิค 100,000 ล้านเยน (ราว 26,000 ล้านบาท)

ฮิวแมนไรท์วอทช์เรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นใช้กลไกเรื่องที่กฎบัตรความร่วมมือด้านการพัฒนาต้องเป็นไปตามเงื่อนไขด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวระบุว่า "ญี่ปุ่นจะให้ความสนใจต่อสถานการณ์ของประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือ ในแง่ของกระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตย, หลักนิติธรรม และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ด้วยมุมมองที่มุ่งส่งเสริมความเข้มแข็งของกระบวนการประชาธิปไตย, หลักนิติธรรม และการเคารพต่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน"

ฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่า ในเรื่องของการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมนั้น ญี่ปุ่นควรจะยังคงดำเนินโครงการเหล่านี้ต่อไปโดยหันไปให้เงินช่วยเหลือกับกลุ่มเอ็นจีโอแทนเพื่อให้แน่ใจว่าจะมีการใช้มันอย่างมีประสิทธิภาพและทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชนที่จำเป็นต้องพึ่งพาความช่วยเหลือ

คาไซกล่าวว่า "การที่ญี่ปุ่นทำอะไรครึ่งๆ กลางๆ ในการคว่ำบาตรไม่ได้ทำให้เผด็จการทหารพม่าลดการละเมิดสิทธิมนุษยชนเลยแม้แต่น้อย ... ญี่ปุ่นควรจะนำภาพลักษณ์ของตัวเองมาใช้อย่างเต็มที่ในฐานะที่เป็นประเทศประชาธิปไตยที่เคารพในสิทธิฯ โดยการใช้เครื่องมือทางการทูตทุกอย่างที่มีในการทำให้กองทัพพม่าต้องรับผิดชอบ"

เรียบเรียงจาก
Myanmar: Military Used Japan-Funded Ships, Human Rights Watch, 11-10-2022

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท