Skip to main content
sharethis
  • วันนี้ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย กำลังเผชิญวิกฤตรายได้ และพื้นที่ค้าขาย หลังจากมีการใช้มาตรการจัดระเบียบแผงลอย ทำให้มีการยกเลิกจุดผ่อนผันจากเมื่อปี 2548 มีจุดผ่อนผันขายของริมทาง จำนวน 683 จุด ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 86 จุด 
  • หลังผ่านมา 100 วันหลัง 'ชัชชาติ' เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ทางสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ จึงได้จัดเสวนา 'หาบเร่แผงลอย : ก้างชิ้นใหญ่ เรื่องท้าทายผู้ว่าฯ' ชวนผู้ค้าฯ สำนักเทศกิจ และนักวิชาการมาร่วมหาทางออกร่วมกัน 
  • พิญช์ พงษ์สวัสดิ์ นักวิชาการจากจุฬาฯ เสนอแนะว่า การแก้ปัญหาหาบเร่แผงลอย ต้องเริ่มที่ระดับเขตที่ต้องเข้มแข็ง และต้องมีนโยบายที่เอื้อให้ผู้ค้าฯ ในแต่ละพื้นที่ และ กทม.ได้คุยและร่วมแก้ปัญหา
  • นักวิชาการจากจามจุรี เสนอต่อว่าทาง กทม.จะต้องมีโมเดลแผนเศรษฐกิจ อย่างการกู้ธนาคาร หรืออื่นๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และรายได้ของผู้ค้าฯ ให้สูงขึ้นด้วย


การบริหารจัดการหาบเร่แผงลอย ถือเป็นหนึ่งในสี่นโยบายเร่งด่วนของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา หลังผ่านมาครบ 100 วัน มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ร่วมด้วยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (จุฬาฯ) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จัดเวทีเสวนาวิชาการ หัวข้อ ‘หาบเร่แผงลอย : ก้างชิ้นใหญ่ เรื่องท้าทายผู้ว่าฯ’ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ 29 ก.ย. 2565 ซึ่งมีการเชิญผู้เข้าร่วมเสวนาจากหลายฝ่ายร่วมพูดคุยว่าการแก้ไขหาบเร่แผงลอยของผู้ว่าฯ กทม. ไปถึงไหนแล้ว

ผู้เข้าร่วมอภิปรายประกอบด้วย ปรีชา ไทยสงเคราะห์ ประธานสหพันธ์ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย กรุงเทพมหานคร เขมิสา โคกทับทิม ตัวแทนหาบเร่แผงลอยและสมาชิกสหพันธ์ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยกรุงเทพมหานคร แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์ SME ไทย วิรัตน์ สายแวว หัวหน้ากลุ่มงานกิจการพิเศษ ส่วนตรวจและบังคับการ 1 สำนักเทศกิจฯ ปฏิญญา แสงนิล หัวหน้ากลุ่มงานบังคับคดี 2 กองนิติการและบังคับคดี สำนักเทศกิจฯ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ นักวิชาการ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.บวร ทรัพย์สิงห์ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ

ชมเสวนา "หาบเร่แผงลอย : ก้างชิ้นใหญ่ เรื่องท้าทายของผู้ว่าฯ"

บวร ทรัพย์สิงห์ ผู้ดำเนินรายการ ระบุว่า ประเด็นเรื่องการแก้ปัญหากำลังเป็นประเด็นท้าทายของผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ อ้างอิงข้อมูลจากตัวแทนเทศกิจ เมื่อ 2548 กทม.มีจุดผ่อนผันทั้งหมด 683 จุด และมีผู้ค้าหาบเร่แผงลอยราว 2 แสนคน โดยในจำนวนนี้มี 2 หมื่นราย เคยเป็นผู้ค้าบนจุดผ่อนผันของ กทม. แต่ในปัจจุบันมีการยกเลิกจุดผ่อนผัน 500 กว่าจุด หรือเพียง 171 จุด มีการประกาศเป็นจุดผ่อนผันแล้ว 55 จุด และกำลังประกาศตามมาอีก 31 จุด 

บวร กล่าวต่อว่า ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ถือเป็นกลุ่มคนที่มีคุณค่าใน กทม.อย่างยิ่ง เนื่องจากเนื่องจากช่วยในการลดค่าครองชีพ ค่าอาหาร สร้างความมั่นคงทางอาหาร ช่วยผู้ผลิตฐานรากและเกษตรกร ตลอดจนเศรษฐกิจนอกระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อีกทั้ง เป็นหูเป็นตาให้กับคนเมือง ช่วยลดการว่างงานทั้งสภาวะปกติ หรือในช่วงโควิด-19 

“แต่ในวันนี้กำลังเผชิญเรื่องการพื้นที่การค้าไม่เพียงพอ และข้อพิพาทกับหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะเทศกิจ ซึ่งเสวนาครั้งนี้มีเจตนาพาทุกฝ่ายร่วมหาทางออก และจุดสมดุลระหว่างกัน” บวร กล่าว 

นักวิชาการมอง 8 ปีหลัง รปห. ทำลายระบบเขต 

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ นักวิชาการจากรั้วจามจุรี มองว่า ปัญหาข้อพิพาทระหว่างเทศกิจและผู้ค้า และปัญหาพื้นที่จุดผ่อนผันเพื่อขายของริมทาง เป็นผลกระทบจากการทำรัฐประหารเมื่อ 2557 โดย คสช. ซึ่งมีส่วนเสริมในการทำลายโครงสร้าง กทม.ที่สำคัญ คือ ในระดับเขต โดยเฉพาะการยุบสภาเขต (เมื่อปี 2561) 

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พิชญ์ มองว่า การแก้ปัญหาหาบเร่แผงลอยไม่ได้เริ่มจากสำนักเทศกิจ ซึ่งเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย หรือส่วนกลาง แต่ต้องเริ่มจากระดับเขต ที่ต้องมีการหารือกันระหว่างสำนักงานเขต และประชาชน จนนำมาสู่การยืดหยุ่น และการกำหนดจุดผ่อนผันขายของริมทางในแต่ละเขต ซึ่งนโยบายส่วนกลางต้องเอื้อให้การเจรจาเกิดขึ้น

เมื่อระดับเขตมีความเข้มแข็งแล้ว พิชญ์ เสนอแนะประเด็นที่ไม่ค่อยมีการพูดถึงคือ การสร้างความเป็นพลเมืองหรือเจ้าเข้าเจ้าของในแต่ละเขต ซึ่งเขาเห็นว่าผู้ค้าที่อาศัยในเขตต้องได้รับสิทธิในการขายในเขตนั้นก่อน ในกรณีที่ผู้ค้าไม่สามารถหาที่อยู่ในเขตนั้น ต้องยอมรับสิทธิลำดับสอง หรือ second priority รองลงมาจากผู้ที่อยู่อาศัย 

สร้างโมเดลเศรษฐกิจให้กับผู้ค้าหาบเร่ฯ

นักวิชาการจากจุฬาฯ เสนอต่อว่า กทม.ต้องมีโมเดลทางเศรษฐกิจพื้นที่หาบเร่แผงลอย และต้องมีการทำข้อมูลพื้นฐานควบคู่ เช่น การทำข้อมูลประวัติผู้ขาย และอื่นๆ ไม่ใช่เพราะเรื่องความปลอดภัย หรือป้องกันอาชญากรรม แต่เป็นข้อมูลที่ประชาชนเช็กได้ว่าผู้ที่เข้ามาค้าขายในเขตที่อยู่อาศัยเป็นใคร รายได้อยู่ที่เท่าไร และหากเกิดปัญหาใครที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

สำหรับโมเดลการพัฒนาเมืองต่อไป นักวิชาการรั้วจามจุรี มองว่า หน่วยพัฒนาเศรษฐกิจของ กทม. ต้องมองหาบเร่แผงลอยในฐานะหุ้นส่วนการพัฒนาเมือง และในเวลาเดียวกัน ต้องมีโมเดลด้านเศรษฐกิจให้พ่อค้าแม่ค้าริมทางด้วย 

พิชญ์ มองว่า ถนนต้องเป็นพื้นที่สาธารณะที่เอื้อประโยชน์และโอกาสให้ผู้ค้าหาบเร่ขายของที่ต้องการตั้งหลักยังไม่ได้ ให้ได้เริ่มขายของได้ เมื่อผู้ค้ารายเดิมสามารถสร้างกำไรและมีรายได้ที่สูงขึ้น ก็ต้องขยับขยายไปขายของที่อื่นๆ ซึ่งขั้นตอนนี้ กทม.ต้องมีโมเดลทางเศรษฐกิจเข้ามาหนุนเสริม ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนด้านเงินกู้ หรืออื่นๆ ซึ่งจะทำให้ผู้ค้าหาบเร่สามารถต่อยอดค้าขายพื้นที่อื่นได้ พิชญ์ มองด้วยว่า เขาไม่เห็นด้วยที่คนๆ เดียวจะขายของที่เดิมเป็น 30-50 ปี แต่ต้องช่วยให้เขาขยับ มีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ไม่ใช่เถียงแค่ว่าตรงไหนควรมีสิทธิขายหรือไม่มีสิทธิขาย 

พิชญ์ มองว่า เรื่องการกำหนดนโยบายพัฒนาเมือง ไม่ใช่หน้าที่ของเทศกิจ เพราะเขาเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย แต่หน่วยพัฒนาเศรษฐกิจของ กทม. อาจต้องเป็นผู้คิดนโยบาย ธนาคารต่างๆ ต้องมองเป็นโอกาส ซึ่งทั้งหมดนี้ คือการผูกตัวเองเข้ากับแผนการพัฒนาเมือง ไม่ใช่พูดทุกเรื่องเป็นข้อยกเว้น ปัญหาใหญ่คือเราไม่มีแผนเศรษฐกิจให้ผู้ประกอบการหาบเร่ฯ
   
"ผมคิดว่ามันต้องหารือกันส่วนนี้ไม่งั้นมันจะวนอยู่กับที่ มันจะวนเป็นการปะทะกัน และก็ข้อยกเว้นอันเป็นนิรันดร์ ต่อ (อายุ) ข้อยกเว้นอย่างเดียว เพราะว่าคุณยังไม่มองเป็นโมเดล คุณมองเป็นข้อยกเว้น พอคุณมองเป็นข้อยกเว้น มันจะเป็นยกเว้นกันไปอย่างนี้เรื่อยๆ tension (ความตึงเครียด) มันก็จะมา คอรัปชันมันก็จะมา" พิชญ์ กล่าว 

เหรียญสองด้านของปรากฏการณ์ ‘ชัชชาติ’

พิชญ์ แสดงข้อกังวลต่อ “ปรากฏการณ์ชัชชาติ” ช่วงที่ผ่านมาว่า อาจทำให้ประชาชนไม่กล้าวิจารณ์การทำงานของชัชชาติ เพราะมัวแต่เกรงอกเกรงใจ และอาจทำให้การทำงานของ กทม.ไม่ไปถึงไหน 

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.

ปัญหาของปรากฏการณ์ชัชชาติในมุมมองของนักวิชาการรั้วจุฬาฯ คือ การเชื่อในแอปพลิเคชัน ‘Traffy Fondue’ หรือเทคโนโลยี ว่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง Traffy Fondue คือการรายงานปัญหา แต่การแก้ปัญหาเมืองไม่ได้แก้ด้วยเทคโนโลยี แต่ต้องการด้วยการเข้าอกเข้าใจ และพูดคุยกัน

“สำหรับผมมันแก้ได้บางเรื่อง แต่แก้เรื่องซึ่งเป็นปัญหาที่มันจะต้องพูดคุยกันไม่ได้ มันแก้ได้ง่ายๆ เช่น คุณไม่เก็บขยะหน้าบ้านผม คุณถ่ายรูป Traffy Fondue ไป แต่ปัญหานี้คุณไปเอา Traffy Fondue มาถ่ายรูป แล้วมันจะแก้ปัญหานี้ได้ยังไงในสัมมนานี้ มันแก้ไม่ได้ มันมีระดับของปัญหา” พิชญ์ กล่าว 

เวลาเป็นสิ่งสำคัญ

ท้ายสุด พิชญ์ กล่าวว่า ต้นทุนเรื่อง ‘เวลา’ เป็นเรื่องที่สำคัญ ปัญหาของประชาชนเป็นเรื่องเร่งด่วน บางรายขายของไม่ได้มา 5 ปี ขาดรายได้ ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจหนัก ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ระบบราชการไม่เข้าใจ เวลาของราชการกับประชาชนไม่เท่ากัน นักวิชาการจากจุฬาฯ เสนอว่า ระบบราชการควรมีการวางกำหนดกราบเวลาว่า ราชการจะใช้เวลาแก้ปัญหานี้ให้เสร็จภายในกี่วัน และหน่วยงานหรือใครมีส่วนเกี่ยวข้อง 

นอกจากการอภิปรายจาก ‘พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์’ แล้ว มีตัวแทนจากสมาพันธ์หาบเร่แผงลอยกรุงเทพมหานคร ร่วมสะท้อนปัญหาช่วงที่ผ่านมา และเรียกร้องให้ทาง กทม.อะลุ่มอล่วยให้พ่อค้าแม่ค้าสามารถขายตามจุดผ่อนผันเดิมได้ เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถเดินต่อไปได้

ขณะที่สำนักเทศกิจมาร่วมชี้แจงถึงเหตุผลที่มีการยกเลิกจุดผ่อนผัน และฉายภาพให้เห็นว่าหลังชัชชาติเป็นผู้ว่าฯ กทม.มาแล้วกว่า 3 เดือน มีการดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net