ธปท.เผยยอดลงทะเบียนออนไลน์แก้หนี้แล้ว 158,539 รายการ จากลูกหนี้ 62,595 ราย

ธปท.เผยยอดลงทะเบียนออนไลน์ “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ออนไลน์” ข้อมูล ณ 14 ต.ค. 2565 มีคำขอแก้หนี้ 158,539 รายการ จากลูกหนี้ 62,595 ราย เฉลี่ยคนละ 2-3 รายการ ส่วนใหญ่เป็นบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล

16 ต.ค. 2565 สำนักข่าวไทย รายงานว่า น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2  ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าตามที่กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมจัดงาน "มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ : มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน" เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจนไม่สามารถชำระหนี้ได้ โดยมีเจ้าหนี้เข้าร่วมกว่า 60 ราย นั้น

สำหรับระยะที่ 1 "มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ออนไลน์" จัดให้ลูกหนี้เข้าร่วมลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย. 2565 - 30 พ.ย. 2565 โดย ณ 14 ต.ค. 2565 มีคำขอแก้หนี้ 158,539 รายการ จากลูกหนี้ 62,595 ราย เฉลี่ยคนละ 2-3 รายการ ส่วนใหญ่เป็นบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล

ข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่ากระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมจัดงาน "มหกรรมร่วมใจแก้หนี้" มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน  เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจนไม่สามารถชำระหนี้ได้ โดยมีเจ้าหนี้เข้าร่วมกว่า 60 ราย เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังไม่กลับมาเต็มที่ และอาจได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น

โดยการจัดงาน "มหกรรมร่วมใจแก้หนี้" แบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 "มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ออนไลน์" จัดให้ลูกหนี้เข้าร่วมลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย. 2565 เวลา 14.00 น. - 30 พ.ย. 2565 ลงทะเบียนแก้หนี้ออนไลน์ คลิกที่นี่ 

ระยะที่ 2 "มหกรรมร่วมใจแก้หนี้สัญจร" จัดงานในช่วงเดือน พ.ย. 2565 - ม.ค. 2566 โดยมีเจ้าหนี้ที่เข้าร่วมได้แก่ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และธนาคารกรุงไทย ซึ่งมีการสัญจรในจังหวัด กรุงเทพฯ ขอนแก่น เชียงใหม่ หาดใหญ่ และ ชลบุรี ลูกหนี้สามารถลงทะเบียนล่วงหน้าได้ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย. 2565 เวลา 15.00 น. ลงทะเบียนแก้หนี้สัญจร คลิกที่นี่

ลูกหนี้ที่เข้าร่วม "มหกรรมร่วมใจแก้หนี้" มีเงื่อนไขดังนี้

ลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้ จากผลกระทบที่รายได้ยังไม่กลับมา เพราะสถานการณ์โควิด หรือค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น

บุคคลธรรมดา

  • บัตรเครดิต/บัตรกดเงินสด/สินเชื่อส่วนบุคคล
  • เช่าซื้อรถยนต์
  • เช่าซื้อรถจักรยานยนต์
  • จำนำทะเบียนรถ
  • นาโนไฟแนนซ์
  • หนี้ที่โอนไปบริษัทบริหารสินทรัพย์
  • สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย

นิติบุคคล

  • บัตรเครดิต/บัตรกดเงินสด/สินเชื่อส่วนบุคคล (นิติบุคคล)
  • สินเชื่อเกษตรกร (นิติบุคคล)
  • สินเชื่อธุรกิจ วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท (นิติบุคคล)
  • สินเชื่อธุรกิจ วงเงินเกิน 20 ล้านบาท (นิติบุคคล)
  • หนี้ค่าประกันชดเชย (บสย.) (นิติบุคคล)
  • หนี้ที่โอนไปบริษัทบริหารสินทรัพย์ (นิติบุคคล)

 
เจ้าหนี้และประเภทหนี้ที่เข้าร่วม

สถาบันการเงิน/ผู้ให้บริการทางการเงิน ภาคเอกชนและภาครัฐ (SFIs) กว่า 60 แห่ง ครอบคลุม หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ จำนำทะเบียนรถ ที่อยู่อาศัย นาโนไฟแนนซ์ สินเชื่อการเกษตร สินเชื่อธุรกิจ หนี้ค่าประกันชดเชย บสย. หนี้ที่โอนไปบริษัทบริหารสินทรัพย์ (บบส.) และสินเชื่อของผู้ให้บริการทางการเงินภาครัฐ  ตรวจสอบเจ้าหนี้และประเภทหนี้ที่เข้าร่วมมหกรรม คลิกที่นี่

ข้อควรปฏิบัติ สำหรับการเข้าร่วมโครงการ  "มหกรรมร่วมใจแก้หนี้"  

  • เช็คว่ามีหนี้ประเภทไหน
  • เช็คว่ามีหนี้กับผู้ให้บริการทางการเงินรายไหนบ้าง
  • ตรวจสอบรายได้ รายจ่าย ว่าสามารถชำระหนี้ได้เท่าไร

ข้อมูลเพิ่มเติม คลิกที่นี่

'ประยุทธ์' เผยแก้หนี้ครัวเรือน ลดปัญหาหนี้สินประชาชนกว่า 2 แสนราย

เว็บไซต์เดลินิวส์ รายงานว่าเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า วันนี้ (14 ต.ค.65) ผมมีข่าวดี ที่เป็นความคืบหน้า สืบเนื่องจากการที่รัฐบาลได้ประกาศให้ปี 2565 เป็น “ปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน” โดยล่าสุดก็ได้มีการกำหนดให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์/รถจักรยานยนต์ คิดอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี (Effective Interest Rate) แบบ “ลดต้น ลดดอก” ซึ่งจะต้องคิดดอกเบี้ยจาก “เงินต้นคงเหลือ” ในแต่ละงวด ไม่ใช่คิดดอกเบี้ยแบบ “เงินต้นคงที่” (Flat rate) แบบเดิม ที่ทำให้ลูกค้า/ผู้ที่เช่าซื้อเสียเปรียบบริษัทเช่าซื้อ หรือลีสซิ่ง

นอกจากนี้ ได้มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อใหม่ ได้แก่ (1) รถยนต์ใหม่ : คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 10% ต่อปี (2) รถยนต์ใช้แล้ว : คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปี (3) รถจักรยานยนต์ : คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 23% ต่อปี และสำหรับผู้ที่สามารถปิดบัญชีได้ก่อน ก็จะต้องให้ “ส่วนลด” กับผู้เช่าซื้อด้วย ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในอีก 90 วัน ภายหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว (หรือวันที่ 11 ม.ค. 2566) ครับ

ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ให้ความสำคัญและพยายามช่วยเหลือพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง มีหนี้สินติดตัว ให้ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น เช่น ผลักดันให้การเปลี่ยน “ฐานคำนวณดอกเบี้ย” จากเดิมที่คิดดอกเบี้ยจากยอด “เงินต้นคงค้างทั้งหมด” มาเป็นการคิดดอกเบี้ยจาก “เงินต้นเฉพาะเดือนที่ผิดนัดชำระ” เท่านั้น หลักการนี้ ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์การคิดดอกเบี้ยในประเทศไทย เป็นการแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้าง ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อพี่น้องประชาชนที่เป็นหนี้ ขาดสภาพคล่อง โดยเฉพาะบรรดาเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา มนุษย์เงินเดือน คนหาเช้ากินค่ำ ที่มีความจำเป็นจะต้องกู้หนี้ยืมสิน เพื่อมาใช้ดำรงชีวิตและเพื่อเป็นทุนในการประกอบอาชีพ ตลอดจนกลุ่มลูกหนี้นอกระบบ กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ให้ชำระดอกเบี้ยลดลงอีกด้วย

นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้จัด “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้” เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขหนี้ครัวเรือนให้ประชาชน เราได้เดินสายไปทุกจังหวัด ทั่วประเทศ สามารถลดปัญหาหนี้สินประชาชนได้ กว่า 200,000 ราย มูลหนี้มากกว่า 30,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยได้รับความสนใจจากพี่น้องประชาชน-ลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อเป็นการเก็บตกและต่อยอด จึงจัดให้มี “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้”  เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง ที่รายได้ยังไม่กลับมาเต็มที่ และอาจได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ซึ่งภายหลังจากดำเนินการมาได้ 2 สัปดาห์ ณ 14 ต.ค. 2565 มีคำขอแก้หนี้เข้ามาแล้ว 158,539 รายการ จากลูกหนี้ 62,595 ราย เฉลี่ยคนละ 2-3 รายการ ส่วนใหญ่เป็นบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เป็นต้น

ขณะนี้ เราได้จัดการสถานการณ์โควิดได้สำเร็จ และควบคุมดูแลสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในยุโรป ควบคุมอัตราเงินเฟ้อ และรักษาความมั่นคงทางการคลังไว้ได้อย่างดี รัฐบาลและประเทศไทย พร้อมเดินหน้าแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนอย่างเต็มกำลัง และทุกอย่างกำลังเดินหน้าไปได้อย่างดี สะท้อนได้จากการรายงาน GDP ต่อหัวประชากรโดย IMF ที่แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีอัตราเพิ่มขึ้นสูงสุดในอาเซียนในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา จากมาตรการกระตุ้นรายได้ของรัฐหลายโครงการ ทั้งโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โครงการคนละครึ่ง และอื่นๆ 

นอกจากนั้น ช่วงปลายปีนี้ เศรษฐกิจของไทยยังมีโอกาสที่จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการต้อนรับนักท่องเที่ยวกลับมากระตุ้นเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวอีกครั้ง รวมถึงนักธุรกิจ นักลงทุนมูลค่ามหาศาลที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC และนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะในหลากหลายพื้นที่ที่รัฐบาลได้เตรียมการไว้ล่วงหน้า ทั้งระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะเสริมความเชื่อมั่นต่อประชาคมโลก ด้วยการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคที่กำลังจะมาถึง

ประเทศไทยของเราอาจมีปัญหาหลายประการที่ผมและรัฐบาลต้องเร่งแก้ไข แต่หลายครั้งเมื่อผมมองย้อนกลับไปแล้ว ก็รู้สึกว่าเราได้เดินมาไกลอย่างมั่นคง แม้จะต้องประสบกับวิกฤตการณ์หลายครั้ง ผู้ที่ติดตามข่าวสาร จะได้รับรู้ว่า ประเทศไทยก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในประเทศอันดับต้นๆ ของโลกในหลากหลายด้านจากการจัดอันดับขององค์กรระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่น่าอยู่ น่ามาเกษียณและมาทำงาน ระบบสาธารณสุขระดับดีเยี่ยม ประเทศที่น่าเริ่มต้นธุรกิจใหม่ และร่ำรวยด้วยวัฒนธรรมอันดีงาม สถานที่ท่องเที่ยว อาหารติดอันดับโลก ขอให้เราคนไทยร่วมแรงร่วมใจกันเช่นนี้ต่อไป ผมเชื่อมั่นว่าอนาคตของเราจะดียิ่งๆ ขึ้นไปอย่างแน่นอนครับ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท