ฆ่าตัดตอนในสงครามปราบยาเสพติด

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

 

เฟสบุ๊คของ “CARE คิดเคลื่อนไทย” รายงานว่าเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรกล่าวว่า “เขาสร้างวาทกรรมฆ่าตัดตอนเพราะจะรัฐประหารผม แต่พอตั้งกรรมการสอบ กลับไม่พบว่าผมสั่งฆ่าตัดตอนแม้แต่รายเดียว”  “ส่วนตัวเลข 2,000 ราย เขาเอาตัวเลขมารวมๆ กัน เอาตัวเลขคนตายผิดธรรมชาติที่ไม่เกี่ยวกับการปราบปรามยาเสพติดรวมกัน แต่ตายจริงๆ จากยาเสพติดอยู่ 80 ราย ซึ่งผมไม่ได้สั่ง แต่ในทางปฏิบัติเวลาตำรวจบุกจับมันก็มีการต่อสู้กัน ตำรวจยิงคนร้าย คนร้ายยิงตำรวจ มันก็เลยมีคนเสียชีวิต นี่เป็นการตายที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีการปราบ”    

ข้อความข้างต้นทำให้เข้าใจได้ว่าคุณทักษิณยืนยันว่าตนไม่ต้องรับผิดชอบกับความตายใดๆ ที่เกิดขึ้นในสงครามปราบยาเสพติด ความตายเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตัดสินใจทำเอง เขาไม่ได้สั่งให้ฆ่าตัดตอน หรือวิสามัญฆาตกรรมใครคนใดคนหนึ่งเลย

ในความเป็นจริง บรรดาผู้ที่วิพากษ์นโยบายนี้ของทักษิณ รวมทั้งดิฉันด้วย ไม่มีใครบอกว่าคุณทักษิณสั่งการให้ฆ่าตัดตอนผู้ค้ายาฯ รายใดรายหนึ่งโดยตรง แต่เขาวิพากษ์นโยบาย คำสั่ง คำพูดของคุณทักษิณและคนในรัฐบาล ที่เป็นดั่งแนวทาง-แรงกดดัน-ไฟเขียวให้เจ้าหน้าที่ใช้กำลังเกินกว่าเหตุต่อ “ผู้ต้องสงสัย” โดยไม่คำนึงถึงกระบวนการยุติธรรมใดๆ

ขอให้ผู้อ่านคิดถึงกรณีรัฐบาลอภิสิทธิ์-สุเทพ-ศอฉ. ที่สั่งปราบปรามผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 2553 พวกเขาก็ปฏิเสธความรับผิดชอบ ด้วยเหตุผลว่ามีชายชุดดำยิงใส่ผู้ชุมนุม คนเสื้อแดงมีอาวุธ คนเสื้อแดงเผาบ้านเผาเมือง ทหารจึงต้องจัดการฟื้นฟูความสงบให้กับบ้านเมือง แล้ว “Unfortunately, some people died.” แต่ศูนย์ข้อมูลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเมษา-พฤษภา 53 หรือ ศปช. ก็ยืนยันว่าพวกเขาต้องรับผิดชอบกับการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของกองทัพ การประกาศใช้ “เขตกระสุนจริง” การอนุมัติให้เบิกกระสุนจริงหลายแสนนัดและระดมกำลังทหารกว่า 70,000 คน คือ “นโยบาย”  “การให้ไฟเขียว” กับการใช้ความรุนแรงที่นำไปสู่ความตายของประชาชนที่ปราศจากอาวุธ 84 คน และบาดเจ็บอีกกว่า 2,000 คน ศปช.ไม่ได้บอกเลยว่าอภิสิทธิ์-สุเทพ-ผู้นำทหาร ต้องรับผิดชอบเพราะสั่งให้ทหารยิงผู้ชุมนุมคนใดเป็นการเฉพาะ พวกเขาไม่ใช่ผู้ลั่นไกปืนเอง แต่นโยบายและคำสั่งของพวกเขาส่งผลให้เกิดการลั่นไกปืนใส่ผู้ชุมนุมอย่างไม่เลือกหน้า

ปัญหาของนโยบายสงครามปราบยาเสพติด

คำพูดและคำสั่งอะไรบ้างของคุณทักษิณและคนในรัฐบาลในช่วงสงครามปราบยาเสพติด (เฟสหนึ่ง 1 กพ.-30 เม.ย. 2546, เฟสสอง 1 ต.ค.-30 พ.ย. 2546) ที่เป็นแนวทางปฏิบัติและแรงกดดันต่อเจ้าหน้าที่

1. ในการกล่าวสุนทรพจน์เปิดตัวการรณรงค์วันที่ 14 มกราคม 2546 คุณทักษิณกล่าวว่า "ไม่มีอะไรภายใต้ดวงอาทิตย์ที่ตำรวจไทยทำไม่ได้" "เพราะพวกค้ายามันโหดร้ายต่อลูกหลานของเรา เราก็ต้องโหดร้ายกับมันกลับไปบ้าง ซึ่งไม่ใช่เรื่องเลวร้าย มันอาจต้องมีผู้สูญเสียบ้าง..และการที่ผู้ค้ายาต้องตายบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดา"
 

2. นายวันมูหะหมัด นอร์มะทา รัฐมนตรีมหาดไทย พูดถึงผู้ค้ายาว่า "พวกเขาอาจถูกจับกุมคุมขังหรือสูญหายไปอย่างไรร่องรอย ก็ใครจะไปสนล่ะ ก็พวกมันกำลังทำลายชาติของเรา"
 

3. รัฐบาลกำหนดกรอบเวลาปฏิบัติการที่เร่งรัดอย่างมาก ต้องบรรลุผลภายในสามเดือน ทุกอำเภอต้องรายงานผลการดำเนินการต่อศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดจังหวัด (ศตส.จ.) ภายในเวลา 16.30 และ ศตส.จ. ต้องรายงานให้ก.มหาดไทยทราบภายในเวลา 18.00 น.ของทุกวัน
 

4. รัฐบาลประกาศว่าทุกจังหวัดต้องทำยอดให้ได้ 25% ของตัวเลขที่ส่วนกลางกำหนดไว้ ถ้าทำไม่ได้จะถูกลงโทษ
 

5. คำสั่งของนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองผอ.ศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติด มีไปถึงผู้ว่าฯทั่วประเทศ ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2546 มีข้อความระบุว่า

  • ต้องตระหนักว่า ประชาชนคือเพื่อนเรา ชาติคือพวกเรา ในหลวงคือนายเรา ผู้ค้ายาเสพติดเป็นศัตรูเรา แม้เป็นญาติก็ถือเป็นศัตรู ผู้ค้ายาเสพติดคือผู้ทรยศต่อชาติ ต้องขจัดให้สิ้น ขออย่าได้เมตตาปราณี เพราะทำลายคนไทย ทำลายชาติ และศาสนา
     
  • กำหนดเป้าหมายการปราบปรามผู้ค้า/ผู้ผลิต ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2546 ให้ได้ร้อยละ 25 จากจำนวนเป้าหมายที่ ศตส.จ. กำหนดไว้ ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์
     
  • กรณีการปราบปรามผู้ค้า/ผู้ผลิต จะลดยอดใน 3 กรณี ได้แก่ถูกจับกุม วิสามัญ หรือเสียชีวิต (สิ้นอายุขัยด้วยเหตุต่างๆ)

รายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบ ศึกษา และวิเคราะห์การกำหนดนโยบายปราบปรามยาเสพติดให้โทษและการนำนโยบายไปปฏิบัติจนเกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง และทรัพย์สินของประชาชน” (คตน.) ระบุว่ามีคดีฆาตกรรมเกิดขึ้น 2,604 คดี มีผู้เสียชีวิตจำนวน 2,873 คน โดยแยกออกเป็นคดีฆาตกรรม 2,559 คดี มีผู้เสียชีวิต 2,819 คน ในจำนวนนี้เป็นคดีฆาตกรรมที่ผู้ตายมีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติด 1,187 คดี โดยมีผู้เสียชีวิต 1,370 คน และเป็นคดีฆาตกรรมที่ผู้ตายไม่มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด 834 คดี โดยมีผู้เสียชีวิต 878 คน และเป็นคดีฆาตกรรมที่ไม่ทราบสาเหตุการตาย 538 คดี โดยมีผู้เสียชีวิต 571 คน

นอกจากนี้ คตน.ระบุว่าคดีวิสามัญฆาตกรรมเกิดขึ้นทั้งสิ้น 45 คดี มีผู้เสียชีวิต 54 คน ในจำนวนนี้เป็นคดีวิสามัญฆาตกรรมที่ผู้ตายมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด 35 คดี โดยมีผู้เสียชีวิต 41 คน และเป็นคดีวิสามัญฆาตกรรมที่ผู้ตายไม่มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด 2 คดี โดยมีผู้เสียชีวิต 2 คน และเป็นคดีวิสามัญฆาตกรรมที่ไม่ทราบสาเหตุการตายจำนวน 8 คดี มีผู้เสียชีวิต 11 คน

 

อนึ่ง รายงานของ คตน.ไม่ได้ให้รายละเอียดวิธีจำแนกแยกแยะตัวเลขความตายข้างต้น ระบุแต่เพียงว่าในกรณีคดีฆาตกรรมที่ผู้ตายมีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติด 1,187 คดีนี้ สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้แล้ว 29 คดี ทราบตัวแต่จับกุมไม่ได้ 47 คดี อยู่ระหว่างสืบสวนหาตัวผู้กระทำผิด 1,111 คดี  ในแง่นี้  เป็นไปได้ไหมว่าคดีฆาตกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด 1,111 คดีที่ยังหาตัวผู้กระทำผิดไม่ได้นั้น บางส่วนอาจเป็นการฆ่าตัดตอนที่ถูกทำให้เป็นวิสามัญฯ โดยหาคนรับผิดชอบไม่ได้   เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มตระหนักถึงการเอาผิดที่อาจตามมาในภายหลังได้

ตัวเลขที่น่าสนใจอีกตัวหนึ่งคือ เมื่อเปรียบเทียบกับคดีฆาตกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงสองปีก่อนและหลังการประกาศสงครามปราบปรามยาเสพติด ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน 2546 มีคดีฆาตกรรมเกิดขึ้นสูงเฉลี่ยถึงร้อยละ 87.98 ต่อเดือน หรือเฉลี่ยจากเดือนละ 454 คดี เป็น 853 คดี  นี่เป็นผลของการเร่งให้เจ้าหน้าที่ทำตัวเลขให้ได้ตามเป้าหรือไม่?  

อย่างไรก็ดี คุณทักษิณจะไม่ยอมรับรายงานฉบับนี้ก็ได้ จะบอกว่ารายงานที่เต็มไปด้วยอคติก็ได้ เพราะคณะกรรมการชุดนี้แต่งตั้งโดยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ผู้มีส่วนร่วมในการยึดอำนาจจากรัฐบาลของคุณทักษิณ  แต่ คตน.ไม่ใช่เป็นองค์กรเดียวที่ทำเรื่องนี้

 

ในช่วงปี 2546 และ 2547 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) (ชุดที่ อ.จรัล ดิษฐาอภิชัย เป็นกรรมการและต่อมากลายมาเป็นแกนนำคนเสื้อแดงจนถึงปัจจุบัน)  ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสงครามปราบปรามยาเสพติด 299 ราย (ดูตาราง) ความเดือดร้อนเกิดจาก

  • มีชื่อในบัญชีหรือถูกกล่าวหาหรือถูกเรียกไปรายงานตัวว่าเป็นผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดทั้งๆ ที่ไม่มีพฤติกรรม
     
  • ถูกฆาตกรรม โดยญาติเชื่อว่าเกิดจากนโยบายปราบยาเสพติด
     
  • ถูกตำรวจยัดยาบ้าแล้วดำเนินคดี หรือถูกดำเนินคดีโดยมิชอบ
     
  • ถูกซ้อมให้รับสารภาพว่าค้ายาเสพติด แล้วถูกดำเนินคดี
     
  • ถูกตำรวจแนะนำให้หายาบ้าหรือยาเสพติดไว้ในครอบครอง หรือถูกขู่ให้ยอมรับสารภาพแล้วยอมถูกดำเนินคดี ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาหรืออาจได้รับอันตราย
     
  • ถูกยึดทรัพย์ในคดียาเสพติด

กรณีที่ญาติร้องเรียนว่าคนในครอบครัวถูกเจ้าหน้าที่ฆาตกรรม มีหลักฐานว่าหลายกรณีพวกเขาไม่ได้มีอาวุธ ไม่ได้กำลังต่อสู้กับเจ้าหน้าที่แต่ประการใด จุดยืนของดิฉันคือ ต่อให้เจ้าหน้าที่เชื่อว่าพวกเขาเกี่ยวข้องกับยาเสพติด การวิสามัญฆาตกรรมในลักษณะนี้คือการฆาตกรรม  ฝ่ายประชาธิปไตยที่เรียกร้องนิติรัฐ สิทธิตามกฎหมาย ก็ต้องไม่ยอมรับการกระทำเช่นนี้ด้วย

กสม. ตั้งขอสังเกตว่าบุคคลซึ่งมีชื่อปรากฏอยู่ในบัญชีรายชื่อของรัฐนั้น ส่วนใหญ่มาจากการประชุมประชาคมหมู่บ้านจึงเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความขัดแย้งกันมาก่อน ทั้งเรื่องส่วนตัวและเรื่องการเมืองท้องถิ่น กลั่นแกล้งกันได้ ส่วนใหญ่คนที่อยู่ในบัญชีรายชื่อยังประกอบด้วยบุคคลที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ (โดยเฉพาะชาวเขา) บุคคลที่เคยมีประวัติเกี่ยวข้องกับยาเสพติด บุคคลที่มีฐานะไม่ค่อยดีแต่กลับมีเงินทุนในการประกอบกิจการ บุคคลที่เคยร้องเรียนหรือมีความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ และบุคคลที่เป็นฐานเสียงหรือหัวคะแนนพรรคการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามกับรัฐบาลในขณะนั้น หรืออาจมีญาติที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด แล้วถูกเหมารวมว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติดด้วย (ดูรายงาน กสม. ได้ที่นี่ http://library.nhrc.or.th/ulib/document/Fulltext/F06731.pdf)

ในเดือนมีนาคม 2551  เมื่อนายสมัคร สุนทรเวช จากพรรคพลังประชาชนของคุณทักษิณ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี เครือข่ายภาคประชาชนบนพื้นที่สูงหรือกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ ออกแถลงการณ์เตือนรัฐ อย่าใช้ “อยุติธรรมอำมหิต” ฆ่าผู้บริสุทธิ์เหมือนรัฐบาลทักษิณ ตัวแทนของพวกเขาเล่าว่า “เฉพาะในพื้นที่ อ.ปาย และอ.ปางมะผ้า ในช่วงที่มีนโยบายสงครามปราบยาเสพติด มีเจ้าหน้าที่นำกำลัง 70-80 นายเข้าปิดล้อมหมู่บ้าน พอชาวบ้านถาม ก็อ้างว่าใช้กฎอัยการศึก มีพี่น้องลีซูกว่า 30 คนถูกอุ้มหายไป ซึ่งเหตุการณ์ณ์ในช่วงนั้นมีความรุนแรงและไร้มนุษยธรรมอย่างมาก บางรายถูกจับไปแล้วมีการตอกตะปู ตรึงสองขา ก่อนยิงทิ้งก็มี” (ดู https://prachatai.com/journal/2008/03/15983)

กรณีตำรวจยัดข้อหาให้ประชาชนเพื่อสร้างผลงานหรือข่มขู่รีดไถ ไม่ใช่เรื่องที่ไม่มีอยู่จริงในสังคมนี้ ถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดา ก็ถือว่าเดินไปชนโศกนาฏกรรมระดับที่ทำให้ชีวิตฉิบหายได้ ถ้าพอมีสถานะในสังคมอยู่บ้างก็อาจจะพอมีทางออกแต่ก็ยังทุกข์ระทมอยู่ดี ดังเช่นกรณีครึกโครมในปี 2543 ที่นิสิตจุฬาคณะสหเวชศาสตร์ถูกจับด้วยข้อหามียาบ้า 1 เม็ด ขณะที่เขากำลังเดินอยู่ใกล้มหาวิทยาลัยก็ถูกตำรวจจับ โดยตำรวจยังไม่รู้ว่าเป็นนิสิต แล้วตำรวจบอกว่าเจอยาบ้า 1 เม็ด คดีนี้เป็นมหากาพย์ยาวถึงปี 2545 สิ้นสุดที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องตามคำตัดสินของศาลชั้นต้น คดีนี้นิสิตชนะด้วยฝีมือของทนายสมชาย นีละไพจิตร แต่ที่น่าเศร้าคือทนายสมชายกลับจบชีวิตลงด้วยวิธีอำมหิต “ซ้อม ทรมาน อุ้มหาย” ของรัฐไทยเสียเอง ทุกวันนี้ที่คณะสหเวชศาสตร์จึงมีห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ “สมชาย นีละไพจิตร” เพื่อแสดงความคารวะต่อผู้ที่ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมให้กับประชาชนตัวเล็กๆ

สื่อออนไลน์ “ประชาไท” ในยุคที่คุณชูวัส ฤกษ์ศิริสุข เป็นบรรณาธิการ ได้นำเสนอข่าวผู้ได้รับผลกระทบบ่อยครั้ง  คุณชูวัสน่าจะส่งข้อมูลจากเว็บประชาไทให้กับคุณทักษิณและพรรคเพื่อไทยได้ ตัวคุณชูวัสเองก็เคยวิพากษ์นโยบายสงครามปราบยาเสพติดไว้เช่นกัน โดยเปรียบเทียบการใช้กฎอัยการศึกของ คสช. กับนโยบายของคุณทักษิณว่า

ไม่น่าเชื่อว่า ผู้บัญชาการทหารบก จะได้ให้เหตุผลที่ไม่ยกเลิกกฎอัยการศึกว่า "คนดีไม่เดือดร้อน" เพราะนี่คือเหตุผลเดียวกับที่ผู้นำเผด็จการทหารทุกยุคทุกสมัยนิยมใช้เสมอมา ขณะที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใช้อำนาจตามประกาศคณะปฏิวัติยิงเป้าคนโดยไม่ต้องให้ศาลพิพากษา เหตุผลนี้ก็คงมีการหยิบมาใช้ ตอนที่คุณทักษิณ ชินวัตร มีนโยบายปราบปรามยาเสพติดและเกิดการฆ่าตัดตอนกันเต็มบ้านเต็มเมือง คนดีก็ไม่เดือดร้อน  (https://prachatai.com/journal/2007/09/23737)

 เขาสร้างวาทกรรม “ฆ่าตัดตอน” เพื่อจะรัฐประหารทักษิณ จริงหรือไม่?

ข้อความข้างต้นของคุณทักษิณ มีส่วนถูก แต่ไม่ใช่ทั้งหมด

วลี “ฆ่าตัดตอน” มาพร้อมกับสงครามปราบยาเสพติดของคุณทักษิณ โดยก่อนหน้านี้สื่อมักใช้คำว่า ตำรวจ “วิสามัญฆาตกรรม” ผู้ต้องสงสัยค้ายาเสพติด  ต่อมาเมื่อคุณทักษิณถูกโจมตีจากกลุ่มสิทธิฯ ว่ากำลังละเมิดสิทธิมนุษยชน เขาจึงปฏิเสธว่าความตายส่วนใหญ่เป็นผลงานของ “การฆ่าตัดตอน” ของพวกผู้ค้ายาด้วยกัน เพราะกลัวว่าผู้ที่ถูกฆ่าจะถูกทางการจับกุมและอาจโยงใยมาถึงตน จึงต้องฆ่าปิดปากกันเอง ซึ่งนี่เป็นคำอธิบายใหม่เพื่อตอบโต้คำวิจารณ์

แต่ไม่ว่ารัฐบาลทักษิณจะพยายามอธิบายอย่างไร ก็ยากที่จะเปลี่ยนทัศนะของผู้คนได้ รวมถึงประชาชนที่สนับสนุนนโยบายนี้ด้วย ประชาชนและสื่อมวลชนในขณะนั้นจึงใช้คำว่าฆ่าตัดตอนกับกรณีที่ตำรวจวิสามัญฯ ผู้ต้องสงสัยค้ายาด้วย  ประการสำคัญ ด้วยความเชื่อที่ว่าการฆ่าตัดตอนหรือการวิสามัญฆาตกรรมด้วยฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐนี้เองมิใช่หรือ ที่ทำให้คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้พากันยกมือสนับสนุนนโยบายดังกล่าว พากันเชียร์ให้พรรคเพื่อไทยนำวิธีการเด็ดขาดกลับมาใช้ใหม่  ในแง่นี้ รัฐบาลทักษิณก็ได้ประโยชน์จากวาทกรรมฆ่าตัดตอนเช่นกัน

ส่วนที่ว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมใช้เรื่อง “ฆ่าตัดตอน” เป็นข้ออ้างเพื่อรัฐประหารทักษิณจริงหรือไม่ คำตอบคือ จริง

พวกเขาใช้เรื่องนี้เพื่อทำลายความชอบธรรมของคุณทักษิณทั้งก่อนและหลังรัฐประหาร โดยที่พวกเขาไม่ได้สนใจเรื่องสิทธิในชีวิตของประชาชนจริงๆ หรอก  ดิฉันเคยเขียนเล่าเรื่องนี้ไว้ในเฟสบุ๊ค ตั้งแต่ 2562 ว่าหลังรัฐประหารปี 2549 ดิฉันทะเลาะกับเพื่อนนักวิชาการที่เป็นเสื้อเหลือง โดยเขายกเรื่องฆ่าตัดตอนเป็นข้ออ้างว่าต้องหยุดทักษิณ ไม่เช่นนั้นจะมีคนตายอีก และพวกเขาจะหาทางดำเนินคดีกับทักษิณ ดิฉันตอบกลับไปว่า อยากเห็นพวกคุณทำนะ แต่เชื่อเถอะว่าไม่ทำหรอก เพราะอะไร เพราะถ้าคุณจะเอาผิดในกรณีนี้ มันจะต้องสืบสวนไปถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหารในปฏิบัติการนี้ด้วย ต้องไปดูทีละรายเลยว่าใครบ้างที่เป็นคนยิงหรือสั่งการ ซึ่งหมายความว่า จะต้องมีการนำเจ้าหน้าที่รัฐมาดำเนินคดีด้วย

ดิฉันต่อว่าดิฉันอยากเห็นการเอาผิดในกรณีนี้จริงๆ แต่มันจะไม่เกิดขึ้น เพราะคณะรัฐประหารและฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็จะต้องปกป้องคนในระบบราชการด้วยกันเอง รัฐบาลใหม่ย่อมไม่อยากมีปัญหากับตำรวจ-ทหาร ที่พวกเขามองว่าทำตามหน้าที่เพื่อความมั่นคงของรัฐ คนพวกนี้ไม่เคยมีปัญหากับการละเมิดกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ  นี่คือระบบที่อุ้มชูการลอยนวลพ้นผิดของรัฐไทยมาตลอด การโจมตีทักษิณด้วยเรื่องนี้จึงเป็นแค่อาวุธทางการเมือง ไม่ใช่เพราะพวกเขาต้องการคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อ  การเอาผิดรัฐบาลทักษิณในกรณีตากใบก็จะไม่เกิดขึ้นเช่นกัน เพราะทุกกรณีจะถูกสืบสาวไปถึงเจ้าหน้าที่ทุกระดับ พวกเขาจะยอมให้ระบบที่ปกป้องการลอยนวลพ้นผิดที่พวกเขาอุปถัมภ์พังลงไม่ได้ 

รัฐบาลไทยทุกยุคล้มเหลวในการแก้ปัญหายาเสพติด เพราะมุ่งใช้วิธีการปราบปรามเพื่อให้ได้ผลเร็วที่สุด  มองปัญหายาเสพติดด้วยกรอบ “คนดี คนชั่ว คนทรยศต่อชาติ” จึงต้องใช้การปราบปรามเป็นหลัก การแก้ปัญหาในมิติทางสังคม ก็มักเอานักเรียนนักศึกษามาเดินพาเหรดชูคำขวัญ ประเภท “รักในหลวง ห่วงลูกหลาน ร่วมกันต้านยาเสพติด”  โครงการโรงเรียนสีขาว โรงเรียนปลอดยาเสพติด ก็เน้นเอาผลลัพธ์แต่ไม่รู้ว่าจะใช้วิธีการอะไรมากไปกว่าติดคำขวัญทั่วโรงเรียน  นั่งฟังการอบรมให้รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เพราะพวกเขาคิดไม่ได้ว่าจะทำอย่างไรให้โรงเรียนปลอดความเครียด ให้ความหวัง แล้วเด็กก็จะห่างไกลจากยาเสพติดได้เอง 

แต่หากรัฐบาลเปลี่ยนมุมมองว่าปัญหายาเสพติดเกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจของครัวเรือน การทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ ปัญหาวัยรุ่นที่เผชิญความกดดันทุกด้าน ปัญหาการศึกษาที่ล้มเหลวที่เอาแต่กดดันมากกว่าจะพัฒนาเยาวชน ฯลฯ วิธีการแก้ปัญหาก็จะแตกต่างไป รัฐบาลควรหัดเรียนรู้จากประเทศที่ป้องกันปัญหานี้ได้อย่างจริงจังบ้าง หรือเริ่มเรียนรู้จากบทความนี้ของคุณคำ ผกาก็ได้ ที่สั่งสอนเราว่า

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากประกาศสงครามกับยาเสพติดกันมาห้าทศวรรษ ไม่เพียงแต่อเมริกา แต่ทุกประเทศทั่วโลกที่ดำเนินนโนบายนี้ด้วยใฝ่ฝันคือ free drug society หรือ สังคมปลอดยาเสพติด ประเทศที่ทำสงครามกับยาเสพติดรุนแรงมาก เช่น รัสเซีย เม็กซิโก-แต่ผลกลับกลายเป็นว่า ทุกประเทศที่ทำสงครามกับยาเสพติดนั้นพ่ายแพ้ ย่อยยับ

จำนวนผู้เสพยาในคุกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มาเฟีย เจ้าพ่อค้ายาเพิ่มขึ้น เพราะพอมันผิดกฎหมายก็เป็นของแพง ทำกำไร ใครๆ ก็อยากค้า ยิ่งค้าของผิดกฎหมายได้ ก็ยิ่งกลายเป็นผู้มีอิทธิพล สถิติอาชญากรรมพุ่ง การละเมิดสิทธิมนุษยชนก็พุ่ง การวิสามัญก็เพิ่ม การยัดคดียาเสพติดให้ศัตรูทางการเมืองก็มี (https://www.matichonweekly.com/column/article_1097)

และล่าสุดที่เธอทวีตว่า “พรรคเพื่อไทยไม่ควรกลับไปใช้วาทกรรมเก่า “สงครามยาเสพติด” แนวคิดเรื่องการแก้ไขปัญหายา update จากยุคไทยรักไทยไปมากแล้ว พรรคเสนอแนวทาง #harmreduction ดีกว่าค่ะ”

รัฐบาลหลังเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหน ต่างต้องมีนโยบายแก้ปัญหายาเสพติดทั้งสิ้น แต่ขอให้เป็นนโยบายที่มุ่งแก้ปัญหาทั้งตัวต้นเหตุและปลายเหตุไปพร้อมๆ กันเถอะ เริ่มแก้ปัญหาด้วยการทำความเข้าใจว่าหลายๆ ส่วนในสังคมนี้มันล้มเหลวอย่างไร มันผลักให้คนเข้าหายาเสพติดอย่างไร 

ยาเสพติดเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติที่ไม่สามารถแก้ได้ด้วยมาตรการปราบปราม 3 เดือน

The End

ตารางนี้นี้นำมาจาก คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ. รายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2547. หน้า 10. http://library.nhrc.or.th/ulib/document/Fulltext/F06731.pdf

หมายเหตุ: อาจมีผู้แย้งว่าช่วงเวลาที่ร้องเรียนไม่ได้อยู่ในช่วงประกาศใช้นโยบายสงครามปราบยาเสพติด ขอเรียนว่าตามปกติ ประชาชนจะพยายามต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่ในพื้นที่ก่อน ซึ่งมักใช้เวลาพอสมควร พวกเขาจะมุ่งหน้าสู่องค์กรระดับชาติในเมืองหลวงก็ต่อเมื่อหมดหนทางจริงๆ

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท