Skip to main content
sharethis

เมื่อ 13 ต.ค. 65 ศาลทหารพม่าสั่งจำคุก โทรุ คุโบตะ นักข่าวญี่ปุ่นวัย 26 ปี เป็นเวลา 3 ปี จากข้อหาละเมิด กม.เข้าเมือง หลังเจ้าตัวถูกจับกุมระหว่างถ่ายสารคดีประท้วงต้านรัฐประหารในนครย่างกุ้ง เมื่อ ก.ค.ที่ผ่านมา 

 

17 ต.ค. 2565 สื่ออิรวดี รายงานเมื่อ 13 ต.ค. 2565 อ้างรายงานจากเอเอฟพี เผยว่า นายโทรุ คุโบตะ นักข่าวสัญชาติญี่ปุ่นวัย 26 ปี ถูกศาลพม่าสั่งลงโทษจำคุกอีก 3 ปี ข้อหาละเมิดกฎหมายคนเข้าเมือง โดยเจ้าตัวถูกจับระหว่างถ่ายทำการประท้วงต่อต้านรัฐประหารในเมียนมา ทั้งนี้ ก่อนศาลมีคำพิพากษา คุโบตะถูกจำคุกในเรือนจำมาแล้ว เป็นเวลานานกว่า 7 สัปดาห์ 

โทรุ คุโบตะ (ซ้าย) นักข่าวชาวญี่ปุ่น (ที่มา: ทวิตเตอร์ โทรุ คุโบตะ)

เอเอฟพี ระบุว่า รายงานดังกล่าวได้รับการยืนยันจากสถานทูตญี่ปุ่น ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจากทนายความของคุโบตะอีกที 

สำหรับการจับกุมคุโบตะนั้นเกิดขึ้นเมื่อ ก.ค.ที่ผ่านมา โดยเขาถูกจับใกล้กับการประท้วงของกลุ่มต่อต้านกองทัพพม่าในนครย่างกุ้ง พร้อมกับชาวพม่าอีก 2 ราย

ทั้งนี้ เมื่อ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา คุโบตะถูกศาลพม่าตัดสินจำคุกเป็นเวลา 7 ปี จากข้อหาละเมิดกฎหมายอาญาเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งรัฐ สันติภาพ และความสงบสุข และอีก 3 ปี จากข้อหาสนับสนุนผู้ต่อต้านกองทัพพม่า 

อย่างไรก็ตาม กองทัพพม่าเผยว่า โทษจำคุกทุกข้อหาของคุโบตะจะเริ่มนับโทษพร้อมกัน หมายความว่า คุโบตะ จะถูกจำคุกมากสุด 7 ปี

อิรวดี อ้างอิงข้อมูลจากทนายความของนักข่าวญี่ปุ่น เผยว่า คุโบตะ ยังคงมีสุขภาพที่ดีระหว่างฟังการพิจารณาคดีของศาลพม่า เมื่อ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้เมื่อ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา ทางสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ แห่งประเทศไทย หรือ FCCT โพสต์แถลงการณ์บนเฟซบุ๊ก ประณามกองทัพพม่า หลังศาลทหารสั่งจำคุกโดยมิชอบ ‘โทรุ คุโบตะ’ ผู้กำกับสารคดีชาวญี่ปุ่น และเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักข่าวญี่ปุ่นรายดังกล่าวโดยทันที พร้อมกับนักข่าวพม่าที่ถูกจำคุกในเรือนจำ อย่างน้อย 40 ราย

แถลงการณ์ระบุว่า เมื่อ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา คุโบตะถูกศาลทหารพม่าสั่งจำคุกในเรือนจำ เป็นเวลา 7 ปี จากการละเมิดกฎหมายทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และ 3 ปีสำหรับละเมิดกฎหมายยุยงปลุกปั่น โดยไม่คำนึงข้อเท็จจริงที่ว่าผลงานสารคดีของคุโบตะ ยังไม่ได้รับการฉาย ดังนั้นจึงไม่สามารถยุยงปลุกปั่นใครได้ และที่แย่ยิ่งกว่านั้นเขาควรถูกปรับและส่งตัวกลับประเทศ เนื่องจากละเมิดกฎหมายเข้าเมือง

เช่นเดียวกับประเทศยูเครน และเกาหลีเหนือ พม่าจำเป็นต้องมีการรายงานข่าวที่ดีจากนักข่าวที่มีความรับผิดชอบ คุโบตะสมควรได้รับคำชื่นชมจากความพยายามของเขาที่ต้องการทำให้โลกสนใจสถานการณ์อันเลวร้ายในรัฐที่ล้มเหลว ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  

แถลงการณ์ทิ้งท้ายว่า ความตั้งใจของคุโบตะคือการทำให้โลกตระหนักถึงสถานการณ์ที่แท้จริงในเมียนมามากขึ้น และนี่ไม่ใช่การก่ออาชญากรรม เขาควรได้รับการปล่อยตัวทันทีพร้อมกับนักข่าวพม่าอย่างน้อย 40 ราย ที่ตอนนี้กำลังถูกคุมขังจากทั้งหมด 116 คน ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่า พวกเขาถูกคุมตัวเพียงเพราะว่าเขาทำงานของพวกเขาเท่านั้น ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึง เอจ่อ ช่างภาพชาวพม่า ซึ่งมีรายงานเมื่อ 30 ก.ค.ที่ผ่านมาว่าเสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ 

ทั้งนี้ นับตั้งแต่กองทัพพม่าทำรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ. 2564 หน่วยงานความมั่นคงมีการใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมจำนวนมากในการดำเนินคดีฝั่งตรงข้าม และกดปราบการประท้วงต่อต้าน

สำหรับข้อมูลประวัติของคุโบตะ จากกลุ่ม "ฟิล์มฟรีเวย์" (FilmFreeWay) ก่อนหน้านี้เขาเคยทำสารคดีเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ "โรฮีนจา" และ "ประเด็นผู้ลี้ภัยและกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมา"

ขณะที่เสรีภาพสื่อของพม่าหลังมีการทำรัฐประหาร ก็อยู่ในสภาพย่ำแย่ มีการจับกุมนักข่าว และช่างภาพหลายราย รวมถึงเพิกถอนใบอนุญาตกระจายเสียงและโทรทัศน์หลายสำนักข่าว

รายงานจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า หรือ AAPP เผยว่า นับตั้งแต่กองทัพพม่าทำรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ. 2564 จนถึงเมื่อ 14 ต.ค. 2565 มีผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารเสียชีวิตด้วยน้ำมือของฝ่ายความมั่นคงพม่าแล้ว อย่างน้อย 2,356 ราย และมีผู้ประท้วงถูกจับกุม อย่างน้อย 15,853 ราย ในจำนวนนี้ยังถูกคุมขังราว 12,655 ราย 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net