Skip to main content
sharethis

เครือข่ายประชาชนเข้าพื้นที่สะเมิง เชียงใหม่ ชวนมองข้อกฎหมาย-ผลกระทบ ก่อนเข้าเวทีรับฟังความเห็นประกาศอุทยานฯ ออบขานพรุ่งนี้ ย้ำข้อกังวลหากินในอุทยานฯ จัดการทรัพยากรตามวิถีไม่ได้ นักกฎหมายย้ำ กฎหมายอุทยานฯ ปัจจุบันไม่รองรับสิทธิประชาชนในพื้นที่

17 ต.ค. 2565 เครือข่ายภาคประชาชน ได้แก่ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ทนายความ และนักวิชาการ ร่วมกับชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่ลานคำและบ้านป่าคา ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ได้จัดให้มีวงพูดคุยประเมินสถานการณ์ก่อนเข้าร่วมเวทีรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อประกาศอุทยานแห่งชาติออบขาน โดยชาวแม่ลานคำและป่าคายืนยันว่าตนเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง รวมถึงกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 18 ต.ค. นี้ ยังขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนในพื้นที่

นันทวัฒน์ เที่ยงตรงสกุล ผู้ใหญ่บ้านแม่ลานคำ หมู่ที่ 6 ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ชาวบ้านไม่ได้ค้านการประกาศอุทยานฯ ทั้งผืน แต่คัดค้านการประกาศทับพื้นที่ของุชมชนที่ยืนยันแล้วว่าได้รับผลกระทบ ชาวบ้านยังคงกังวลถึงผลกระทบจากการประกาศอุทยานฯ อย่างมาก โดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่กับป่ามาอย่างยาวนาน ในพื้นที่เตรียมการประกาศอุทยานฯ ที่ยังทับพื้นที่ป่าชุมชนอยู่มีขนาด 24,513 ไร่ ซึ่งก็มีผลการสำรวจจากคณะทำงานของพีมูฟ ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ จนเห็นแล้วว่าชาวบ้านใช้ประโยชน์อยู่ 300 กว่าจุด มีทั้งการเก็บหาของป่า เก็บเห็ด เก็บหน่อ เลี้ยงวัว ควาย ใช้ไม้ ใช้ฟืนตามวิถี ซึ่งทั้งหมดถือว่าผิดกฎหมาย 

นอกจากนั้นนัทวัฒน์ยังย้ำว่า ชุมชนทั้ง 2 หมู่บ้านมีภูมิปัญญาในการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนมาตลอด เช่น ช่วงไฟป่า จะมีการทำแนวกันไฟ รวมถึงจัดการไร่หมุนเวียนตามความจำเป็นของเราในพื้นที่การเกษตร ซึ่งมีระบบการจัดการทั้งหมดตามกลไกของชุมชน ท้องถิ่น และจังหวัด ส่วนหน้าฝนก็ทำฝายชะลอน้ำ ดักตะกอน และฝายกั้นน้ำสู่ระบบเกษตร แต่ไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อม บางฝายก็จะทำให้พื้นที่ป่าที่ชุมชนดูแลชุ่มชื้นด้วย การดักตะกอนก็เพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดิน ทั้งหมดนี้เพื่อชุมชนและเพื่อป่าไม่ให้เสื่อมสลายได้ ได้ประโยชน์ทั้งคน สัตว์ป่า และผืนป่า 

“เราเคยต่อสู้กับการสัมปทานป่าไม้ ฟื้นฟูจนอุดมสมบูรณ์ขนาดนี้ เพราะเราอยู่กับป่า ต้องใช้ประโยชน์จากป่า ตั้งแต่ลืมตาอ้าปากมา ถ้าพูดตามกฎหมายเราก็ผิดไปหมด แต่ตามวิถีชีวิตนั้นเราจะได้รับผลกระทบ กฎหมายมันบังคับเราอยู่แล้ว ทุกวันนี้เราใช้ชีวิตอย่างยึดโยงกับธรรมชาติและยืดหยุ่น แต่ยั่งยืน ถ้าประกาศอุทยานฯ เราก็เกรงกลัวเรื่องคดีความ ชุมชนจะไม่มีสิทธิอะไรในการเรียกร้องเลย รวมถึงเราก็คงจะจัดการทรัพยากรแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว” ผู้ใหญ่บ้านแม่ลานคำย้ำ

สุมิตรชัย หัตถสาร

สุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความจากศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ยืนยันว่าชุมชนจะได้รับผลกระทบอย่างหนักหากถูกอุทยานแห่งชาติออบขานประกาศทับ เนื่องจากพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ที่มีการสำรวจพื้นที่ทำกินของราษฎรตามบทเฉพาะกาลมาตรา 64 และการใช้ประโยชน์จากป่า หรือการเก็บหาของป่า ตามมาตรา 65 นั้น ระบุไว้ในกฎหมายว่าสามารถดำเนินการได้เฉพาะอุทยานแห่งชาติที่ประกาศก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ ซึ่งหมายความว่าหากอุทยานฯ ประกาศทับวันนี้ กฎหมายจะไม่รองรับสิทธิอะไรเลย

“หากชุมชนไม่มีการกันพื้นที่ออกจากแนวเขตอุทยานฯ ชุมชนหรือชาวบ้านจะไม่ได้สิทธิที่พึงได้ เช่น การเลี้ยงสัตว์ ชุมชนต้องทำการขออนุญาตการเลี้ยงสัตว์และการทำมาหากินต่างๆ ขอใบอนุญาตเลี้ยงสัตว์ต่อใบ 10,000 บาท ตามกฎหมายลำดับรอง หรือแม้กระทั่งการเก็บของป่าในพื้นที่ป่าชุมชนกว่า 20,000 กว่าไร่ ก็จะไม่ได้การรับรองใดๆ ตามกฎหมาย ฉะนั้นจากประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชุมชนกว่า 30 ปี จนถึงวันนี้ก็คือการต่อสู้เพื่อสิทธิของชุมชนชาติพันธุ์ ต่อสู้เพื่อชีวิตของลูกหลาน” สุมิตรชัยกล่าว

ทนายความจากศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ย้ำว่า ขั้นตอนกระบวนการของรายงานผลการรับฟังความเห็นหลังจากนี้ จะมีการสรุปผลการรับฟังความเห็นชงเข้าคณะรัฐมนตรี ให้เห็นชอบออกมาเป็นกฤษฎีกาแนบท้ายประกอบการประกาศอุทยานฯ อาจมีระยะเวลาในการเขียนรายงานสรุปการรับฟังความเห็นประมาณ 30 วัน และทำการติดประกาศในพื้นที่ต่างๆ เช่น สำนักงานอุทยานฯ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ต้องโต้แย้งรายงาน ซึ่งชุมชนอาจใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 43 ในการต่อสู้ต่อไปได้

ธนากร อัฐฏ์ประดิษฐ์ นักวิชาการผู้ติดตามนโยบายและกฎหมายด้านป่าไม้-ที่ดิน กล่าวว่า ทั่วประเทศมีการเตรียมการประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์จำนวน 22 แห่ง โดยจะเห็นว่าตลอดเวลาการต่อสู้ของชุมชนนั้นมีความพยายามจากหน่วยงานรัฐที่จะอพยพคนออกจากป่าอย่างไม่เป็นธรรมมาโดยตลอด แต่ไม่สามารถเอาชาวบ้านออกจากป่าได้จริง ความต้องการของรัฐในวันนี้คือการเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์ภายใต้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หลายล้านไร่ จึงมีความพยายามหาพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์เป็นเป้าหมายในการประกาศป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม และมีการออกกฎหมายที่เข้มข้นกว่าอดีตโดยการเพิ่มโทษค่าปรับหลักล้านบาท โทษจำคุกอีกหลายปี หากไม่คัดค้าน ชีวิตของชาวบ้านต้องเปลี่ยนไปภายใต้กฎหมายอุทยานฯ แน่นอน รวมถึงสังคมก็จะไม่ได้อะไรจากการประกาศเขตป่าทับป่าที่ชาวบ้านดูแล เพราะพื้นที่นั้นก็เป็นป่าอุดมสมบูรณ์อยู่แล้วแม้ไม่ได้เป็นอุทยานฯ

“จากกกฎหมายนโยบายของรัฐที่ต้องการพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น กลับมาสู่การตั้งคำถามว่าแล้วพื้นที่ที่ชุมชนใช้ประโยชน์และดูแลในปัจจุบันนี้ไม่ใช่พื้นที่ป่าหรือ? เราไม่จำเป็นต้องพิสูจน์สิทธิหรือพิสูจน์แนวทางการดูแลรักษาป่าของชุมชนแต่อย่างใดแล้ว เพราะสภาพพื้นที่ป่าที่ชุมชนใช้ประโยชน์มาจนถึงปัจจุบัน เป็นสิ่งยืนยันได้แล้วว่าชุมชนสามารถอยู่กับป่าได้” ธนากรย้ำ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2565 ได้มีประกาศสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เรื่อง ขอเชิญชวนรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ในการกำหนดพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติออบขาน จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีเนื้อที่ 141,756.26 ไร่ โดยระบุว่าอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 6 และมาตรา 8 ประกอบกับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฉบับลงวันที่ 25 พ.ย. 2564 เรื่อง การรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียฯ ซึ่งหากดำเนินการรับฟังความเห็นแล้วจะได้เสนอไปยังคณะรัฐมนตรีประกาศกฤษฎีกาแนบท้าย ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติออบขานต่อไป โดยมีนัดหมายรับฟังความคิดเห็นที่ อ.สะเมิง ในวันที่ 18 ต.ค. นี้

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2565 ก่อนหน้านี้ ชุมชนชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่ลานคำ หมู่ที่ 6 และบ้านป่าคา หมู่ที่ 11 ได้ออกมายื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงการคัดค้านกรณีดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า การประกาศเขตอุทยานแห่งชาติออบขานจะทับที่ชุมชนกว่า 24,000 ไร่ ทับป่าชุมชน ที่ทำกินของชุมชนที่ใช้ประโยชน์ตามวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่มายาวนาน เช่น ไร่หมุนเวียน พื้นที่จิตวิญญาณ พื้นที่เก็บหาของป่าตามฤดูกาล เลี้ยงสัตว์และแหล่งน้ำที่ใช้หล่อเลี้ยงชีวิตและการทำเกษตรของชุมชน รวมถึงความกังวลต่อความขัดแย้งระหว่างชุมชนและเจ้าหน้าที่จะมากขึ้น ไปจนถึงการที่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีในการบุกรุกป่าในอนาคต 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net