Skip to main content
sharethis
  • ประชาไทสรุปเสวนาหัวข้อ ‘เสรีภาพหรือเสรีพร่อง’ ตอน “แดก ดื่ม ดูด” เสวนาที่บอกเล่าเสรีภาพการเที่ยวกลางคืนของคนพิการ จัดโดย thisable และศูนย์ดำรงชีวิตอิสระฯ พุทธมณฑล เมื่อ 8 ต.ค. 65
  • วงเสวนาชวนคนพิการมาร่วมแลกเปลี่ยนว่า คนรอบตัวหรือคนในสังคมมีทัศนคติอย่างไรเมื่อเห็นคนพิการไปเที่ยวกลางคืน 
  • กำแพงที่กั้นขวางไม่ให้คนพิการเข้าถึงเสรีภาพการใช้ชีวิต และการท่องเที่ยวกลางคืน ยังสะท้อนผ่านสถาปัตย์ขั้นบันได และห้องน้ำอันคับแคบ ในร้านเหล้า และร้านอาหารต่างๆ
  • จากปัญหาสู่ข้อเสนอ ‘มองคนพิการให้เป็นคนเท่ากัน’ และการพัฒนาเมืองที่เอื้อให้คนพิการใช้ชีวิตโดยไม่ต้องพึ่งพิงคนอื่นๆ

เมื่อ 8 ต.ค. 2565 ‘thisable.me’ สื่อที่นำเสนอเรื่องราวของคนพิการ และศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ พุทธมณฑล จัดงานเสวนาภายใต้หัวข้อ 'เสรีภาพหรือเสรีพร่อง' ตอน 'แดก ดื่ม ดูด' ชวนผู้ฟังสำรวจความคิดของคนในสังคมเวลาเห็นผู้พิการเที่ยวยามราตรี ปาร์ตี้ และใช้ชีวิต และข้อเสนอของผู้พิการต่อการสร้างสถานประกอบการที่ทำให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงได้ ที่ดีคอมมูเน (Die Kommune) เลียบคลองทวีวัฒนา กทม.

ลิงก์ชมเสวนา ‘เสรีภาพ เสรีพร่อง’ ตอน 'แดก ดื่ม ดูด' เมื่อ 8 ต.ค. 2565

ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย เอกชัย ศิริผล 'จ๋า' รุจิเรข และ รณภัฎ วงศ์ภา มาร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับผู้พิการ และมี อรรถพล ศรีชิษณุวรานนท์ จากศูนย์การดำรงชีวิตอิสระฯ พุทธมณฑล เป็นผู้ดำเนินรายการ

อรรคพล เล่าว่าเสวนาครั้งนี้เริ่มจากแนวคิดที่ทางผู้จัดเชื่อว่า 'ผู้พิการ คือ มนุษย์' มีชีวิต จิตใจ ตลอดจนเสรีภาพในการใช้ชีวิตไม่ต่างจากคนทั่วไป อย่างไรก็ตาม ผู้จัดก็ตั้งคำถามว่าทำไมเรื่องราวของผู้พิการต้องนำเสนอผ่านมิติงานวิชาการหรือทางการแพทย์เท่านั้น แต่มิติเสรีภาพการใช้ชีวิตและเรียบง่าย กลับไม่ค่อยได้รับการนำเสนอผ่านหน้าสื่อเลย ดังนั้น งานเสวนานี้มุ่งหวังว่าผู้ฟังไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม จะเข้าใจผู้พิการในด้านที่เป็นมนุษย์มากขึ้น

บรรยากาศวงเสวนา 'แดก ดื่ม ดูด'

เสรีภาพการใช้ชีวิตที่ถูกขวางกั้นโดยทัศนคติ (?)

วงเสวนาเริ่มต้นจากการชวนทุกคนคุยว่า หลังจากต้องเป็นผู้พิการแล้ว คนรอบตัวมีความเป็นห่วง หรือมีทัศนคติอย่างไรบ้าง เวลาที่ผู้พิการไปเที่ยวกลางคืน

'จ๋า' รุจิเรข ผู้พิการหญิงที่ต้องใช้วีลแชร์ เล่าให้ฟังว่า ตอนช่วงมหาวิทยาลัยเธอเป็นคนชอบไปเที่ยวกลางคืนมากๆ เวลาไปบางร้านจะมีสายตาจากคนรอบข้างที่อาจจะแปลกใจที่เห็นผู้พิการมาเที่ยว และด้วยความที่เธอเป็นคนชอบทานเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เที่ยวแบบสุดตัว เวลาเมาก็เมาหนัก ทำให้เมื่อก่อนเวลาเมาแทบทุกครั้งมักจะได้แผลกลับมา หรือสร้างวีรกรรมมากมาย ซึ่งนี่เป็นปัจจัยที่ทำให้หลายคนห่วงว่า ถ้าผู้พิการเมาจะทำยังไง โดยเฉพาะคนในครอบครัว

'จ๋า' รุจิเรข ผู้หญิงพิการ

"เราไม่ได้มองว่าเราพิการแล้วเราจะต้องถนุถนอมตัวเองเซฟตัวเอง หรือจะต้องเหนียมอาย เราก็รู้สึกว่า เราก็คนพิการคนหนึ่งที่อยากใช้ชีวิต อยากใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไป ความพิการเป็นแค่อุปสรรคในร่างกาย แต่ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิต" จ๋า กล่าว

จ๋า กล่าวว่า สำหรับการปรับความเข้าใจกับครอบครัว เธอเริ่มจากใช้วิธีคุย หรือพูดติดตลก เพื่อให้ครอบครัวยอมรับ หรือเปิดโลกเกี่ยวการใช้ชีวิตของผู้พิการมากขึ้น เธอกล่าวว่าที่ใช้วิธีนี้เพราะอยากบอกกับครอบครัวว่าไม่จำเป็นต้องโอบอุ้มผู้พิการขนาดนั้น ซึ่งปัจจุบันก็ได้ผล และเวลาที่เธอไปเที่ยวช่วงกลางคืน ครอบครัวเองก็ถามเพียงว่าตอนนี้อยู่ไหน หรือทำอะไรอยู่ ไม่ได้เป็นห่วงมาก 

"ภาพจำของทุกคนจะมองว่า ผู้พิการจะต้องติดเตียง ผู้พิการจะต้องแบบแต่งตัวโทรมๆ จะต้องอยู่กับบ้าน ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ นอนติดเตียง แต่นั่นมันคือในยุคในช่วงที่ยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกมันเอื้อขนาดนี้ หรือการออกมาขับเคลื่อนให้ชีวิตคนพิการมันมีการพัฒนา ซึ่งพอมองไปมันเลยทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องค่อยๆ ปรับความเข้าใจก่อนกับคนในครอบครัว กับคนรอบข้าง เหมือนเราอยู่กับใครเราก็ปรับความคิด ปรับมายด์เซตเขา ชีวิตเรามันสามารถที่จะใช้ได้ ทำไมเราต้องรอให้อุปสรรคนั้นมันถูกแก้ไขก่อน ทำไมเราไม่ออกไปจนกว่าอุปสรรคนี้มันจะถูกพัฒนา หรือมีความเปลี่ยนแปลง" จ๋า กล่าว

ด้าน 'เอก' เอกชัย ศิริผล อีกหนึ่งคนพิการที่ต้องใช้วีลแชร์ มาร่วมคุยว่า โดยพื้นฐานเขาไม่ใช่คนกลัวการออกไปอยู่ข้างนอก และครอบครัวก็พยายามผลักดันให้เขาไปเที่ยวอยู่ตลอด ไม่อยากให้เก็บตัวอยู่ในบ้านอย่างเดียว 

เอก เล่าว่าเขาไม่มีปัญหากับสายตาคนรอบข้างมากนัก เพราะเขารู้สึกว่า พื้นฐานของคนในสังคมเป็นคนใจดีและมีน้ำใจ ดังนั้นเวลาที่มีคนมอง เขาจะจัดการตัวเองหรือมองตัวเองว่า ‘เป็นคนธรรมดา’ เหมือนกับคนอื่นๆ  

ขณะที่ 'ออม' รณภัฎ วงศ์ภา ผู้พิการที่ต้องใช้วีลแชร์อีกราย บอกว่า เวลาไปเที่ยว ครอบครัวก็เป็นกังวล เพราะว่าที่เขาต้องนั่งวีลแชร์มีสาเหตุมาจากการไปเที่ยวกลางคืน แต่เขาก็ใช้วิธีคุยกับครอบครัวจริงจังว่า วันนี้ไม่เที่ยวที่ไหน หรือยังไงบ้าง เพื่อให้เขาคลายความกังวล และรู้สึกว่าเขาดูแลตัวเองได้

ส่วนเรื่องสายตาคนรอบข้างนั้น ออม เจอสายตามองบ้างมีทั้งมองในแง่ดี กับมองแบบว่าทำไมพิการยังออกมาเที่ยวเหมือนกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เขารู้สึกได้

อยากเที่ยว แต่สถาปัตย์ไม่เอื้อ

จากวงเสวนา ร่วมสะท้อนว่าการออกแบบเชิงสถาปัตยกรรมสถานที่เที่ยวบางแห่งเป็นอุปสรรคต่อผู้พิการการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นการไม่มีทางลาดทางเข้าร้านจนบ่อยครั้งต้องให้คนช่วย  หรือห้องน้ำที่มีความคับแคบ 

จ๋า สังเกตว่า ร้านเหล้าส่วนใหญ่ถูกสร้างโดยไม่อำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการมากเท่าใด ไม่ว่าจะเป็นบันไดทางเข้าร้าน หรือต้องขึ้นไปชั้น 2 แต่เธอโชคดีที่เพื่อนเป็นคนช่วยจัดการ หรือโทรสอบถามร้านว่ามีสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้พิการหรือไม่ 

ด้าน 'เอก' กล่าวว่า เขาเป็นคนหนึ่งที่ชอบไปเที่ยวมากไปคอนเสิร์ต ไปปาร์ตี้ หรือไปชมภาพยนตร์ ซึ่งถ้าไม่ติดปัญหาเรื่องทางเข้า และห้องน้ำ เขาพร้อมจะไปทุกที่ 

เอก สะท้อนปัญหาว่า สิ่งที่เป็นอุปสรรคคือทุกที่โดยเฉพาะถ้าเป็นตึก มักจะมีขั้นบันไดบริเวณทางเข้าทุกครั้ง ร้านเกือบเท่าพื้นก็ต้องมียกพื้นขึ้นมานิดหนึ่ง ซึ่งทำให้ผู้พิการใช้วีลแชร์ไม่สามารถเข็นเข้าไปในร้านได้เลย และต้องมีคนช่วยยกเข้าไป  อีกปัญหาหนึ่งที่เอก ร่วมสะท้อนคือเรื่องห้องน้ำ ซึ่งบางครั้งมีขนาดเล็กเกินไป เมื่อเข็นวีลแชร์เข้าไปแล้วปิดประตูไม่ได้ เขาก็ไม่สามารถใช้ได้ 

เอก แบ่งปันประสบการณ์ต่อว่า นอกจากร้านเหล้า หรือผับบาร์ การออกแบบภายในโรงภาพยนตร์ที่ไม่มีทางลาดก็สร้างความลำบากให้กับผู้พิการที่ต้องใช้วีลแชร์ด้วย 

ประเทศที่ดีคนพิการต้องมีเสรีภาพการใช้ชีวิต

เอก เล่าว่า เขาเองไม่แน่ใจว่าจะผลักดันเรื่องการออกแบบโครงสร้างหรือสถาปัตย์ที่เอื้อต่อคนพิการได้อย่างไรเพราะเขาเชื่อว่าไม่สามารถเปลี่ยนใจใครได้ ถ้าคนๆ นั้นไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับคนพิการ แม้แต่เขาก็เริ่มมาคิดเรื่องนี้จริงจังตอนที่ต้องนั่งวีลแชร์ 

อย่างไรก็ตาม เอกเชื่อว่าประเทศที่ดีต้องทำให้คนพิการมีเสรีภาพในการไปเที่ยวได้ อย่างการเดินทางบนเกาะไต้หวันที่เขาสามารถเดินทางเองได้ โดยไม่ต้องขอให้ใครมาช่วยเป็นพิเศษ

'เอก' เอกชัย ศิริผล

"ผมไปประมาณ 7 วัน เดินทางไปไหนได้หมดเลย ผมคิดว่าสิ่งนี้เกิดที่เมืองไทย ตอนนั้นผมอาจจะไม่ซื้อรถเลยก็ได้ ผมเคยมีประสบการณ์เรื่องรถยนต์ เคยขึ้นแท็กซี่เดินไม่ได้ ผมมีวีลแชร์รับผมไหม เขาบอกเดี๋ยวเบาะพี่ขาด ไม่รับ"

"ถ้ามันเจริญขนาดนี้ผมคงไม่ซื้อรถ คนพิการที่นั่นออกจากบ้านเข็นไปถึงสถานีรถไฟใต้ดิน ลงได้สะดวก ในสถานีมีห้องน้ำคนพิการด้วย ไปที่ไหนที่รถไฟฟ้าไปไม่ถึง คุณขึ้นรถเมล์ได้ เปิดกูเกิลแอปฯ มาตรงมาก ตรงเป๊ะ มาถึงไม่มีกระเป๋ารถเมล์ คนขับมาเปิดทางลาดให้ ใช้บัตรเดียวกับรถไฟฟ้าจ่าย บัตรเดียวกับรถไฟฟ้าจ่ายของที่เซเว่นได้ บัตรเดียวทำได้ทุกอย่าง ขึ้นเรือได้หมดเลย ผมเลยรู้สึกว่าอยากให้ประเทศเราเป็นแบบนั้น" เอก กล่าวเสริม

อย่างไรก็ตาม เอกมองว่าร้านเหล้าที่เขาได้ไปในไต้หวันมีปัญหาคล้ายคลึงของไทย โดยเฉพาะห้องน้ำคือห้องน้ำขนาดเล็ก เนื่องจากอยู่ในตึกแถว แต่เขาแก้ปัญหาไปเข้าห้องน้ำที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินแทน

ปรับเปลี่ยนมุมมองให้ ‘คนพิการเป็นคนเท่ากัน’

ในเรื่องข้อเสนอ จ๋า มองว่า ปัญหาเรื่องที่สถานประกอบการหลายแห่งไม่ได้มีการสร้างที่คำนึงถึงคนผู้พิการ อาจเป็นเพราะพวกเขาอาจมองแค่ว่าคนพิการเป็นแค่ลูกค้ากลุ่มเดียวที่ขาดไป ก็คงไม่ได้กระทบเรื่องรายได้ของเขา ซึ่งเธออยากให้เจ้าของสถานประกอบการปรับเปลี่ยนความคิด และอาจมองว่าคนทุกคนทุกกลุ่มควรมีเสรีภาพในการใช้ชีวิต และการเข้าถึงอย่างเท่าเทียมกัน 

นอกจากนี้ เธอ กล่าวต่อว่า การเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกภายในอาคารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ทางลาด หรือห้องน้ำผู้พิการ ไม่ใช่แค่คนพิการที่ได้รับประโยชน์ แต่ทุกคนจะได้รับประโยชน์จากตรงนั้น ซึ่งเธอมองว่า ผู้ประกอบการไม่น่าจะเสียประโยชน์ หรือเดือดร้อนตรงไหน จากการต่อเติมหรือสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงได้ทุกคน 

"รัฐอาจจะต้องเพิ่มงบประมาณในการจัดสรรตรงนั้นมากขึ้น หรือภาษีที่เพิ่มตรงนั้นมากขึ้น แต่ตรงนั้นก็มีการใช้สิ่งที่อำนวยความสะดวกจากตรงนั้นอยู่แล้ว ลองมองว่ามีทางลาดหนึ่งอัน ลองไปนั่งดูสิ มีคนทั่วไปที่ไม่ขึ้นทางนั้นไหม และคุณจะรู้ว่าสิ่งพวกนั้นมันเข้าถึงคนพิการทุกกลุ่ม มันไม่ใช่แค่กลุ่มคนพิการกลุ่มเดียว แต่มันแค่ช่วยเอื้อให้กลุ่มคนพิการเข้าถึงสังคมได้ง่ายขึ้น" จ๋า กล่าว

สุดท้าย ผู้หญิงพิการมองคำถามว่าทำไมผู้พิการต้องมีเสรีภาพการใช้ชีวิต อาจจะไม่ต้องแบ่งแต่แรกว่าใครพิการหรือไม่พิการ เพราะว่าทุกคนควรมีเสรีภาพการใช้ชีวิตอย่างเท่าเทียม 

"ให้นึกถึงคนทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้พิการ ถ้าไม่มีเสรีภาพเขาจะใช้ชีวิตยังไง และทำไมต้องมองว่าพิการหรือไม่พิการที่จะต้องมีเสรีภาพ เพราะคนพิการก็คือคนหนึ่งๆ ที่อยากมีชีวิต อยากใช้ชีวิต อยากทำอะไรได้เหมือนกันทุกคน" จ๋า กล่าว

สำหรับเรื่องข้อเสนอ เอก มองว่า เรื่องทางเข้าอาจแก้ไม่ยาก เพราะทำทางลาดก็เสร็จแล้ว แต่ปัญหาห้องน้ำเล็กไปอาจจะแก้ยากกว่า ส่วนที่เขาอยากได้มากที่สุด เป็นเรื่องห้องน้ำสาธารณะที่อยากให้มีมากขึ้น และเอื้อต่อผู้พิการ

การใช้ชีวิตอย่างอิสระ โดยไม่ต้องพึ่งพิงคนอื่น

ออม มองว่า เสรีภาพการใช้ชีวิตของผู้พิการ และการได้ไปทุกสถานที่โดยไม่ต้องให้คนอื่นๆ มาคอยช่วยเหลือเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่สภาพแวดล้อมในไทยปัจจุบันผลักให้คนพิการออกมา และการไปเที่ยวเขาไม่ได้อยากให้คนรอบๆ มาช่วยเหลือตลอดเวลา ผู้พิการก็อยากทำอะไรได้ด้วยตัวเองเช่นกัน เขาคงจะรู้สึกดีใจหากมีร้านเหล้า ผับ บาร์ มีโครงสร้างที่คนเข้าถึงได้ทุกลุ่ม

'ออม' รณภัฎ วงศ์ภา (ซ้าย)

ออม เสนอว่า การบังคับใช้กฎหมายอย่างเดียวอาจไม่พอ เพราะแม้ว่าในไทยจะมีกฎหมายที่บังคับให้ผู้ประกอบการต้องสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงได้ แต่มันไม่ได้ไปเปลี่ยนความคิดคนด้วย

"อยากให้สถานประกอบการทุกที่ ไม่ใช่แค่ผับแค่บาร์ หรือร้านอาหารก็แล้วแต่ ให้เขาคำนึงหรือเข้าใจว่าไม่ได้มีแค่กลุ่มคนพิการกลุ่มเดียวนะ มันยังมีกลุ่มคนผู้สูงอายุด้วย ที่อนาคตประเทศไทยเราก็จะเกิดกลุ่มผู้สูงอายุที่เยอะมาก ก็อยากทำให้เขาสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องมานั่งคอยช่วยเหลือ" ออม ทิ้งท้าย

ทั้งนี้เสวนา ‘เสรีภาพหรือเสรีพร่อง’ จัดทุกวันเสาร์เว้นเสาร์ที่ ดิคอมมูเน โดยครั้งที่ 2 จะจัดขึ้นวันที่ 22 ต.ค.ว่าด้วยประเด็น ‘เย็ด ยัง ยาก’ เสวนาที่ว่าด้วยเซ็กส์ของคนพิการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net