Skip to main content
sharethis

ศาลฎีกาพิพากษายืน คดี เจมส์ ประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ นักกิจกรรมเชียงใหม่ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเชิญชวนคนมาแฟลชม็อบ #ไม่ถอยไม่ทน บริเวณลานประตูท่าแพ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2562 ถือเป็น “ผู้จัดการชุมนุม” และเป็นการกระทำที่พ.ร.บ.ชุมนุมฯ หลังเจ้าตัวสู้คดีมานานเกือบ 3 ปี โดยศาลตัดสินลงโทษปรับ 9,000 บาท จำเลยให้การเป็นประโยชน์ลดเหลือปรับ 6,000 บาท

 

18 ต.ค. 2565 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลแขวงเชียงใหม่นัดอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดี “เจมส์” ประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ นักกิจกรรมในจังหวัดเชียงใหม่ และบัณฑิตจากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งถูกฟ้องในข้อหา “เป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งการชุมนุม ก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง” ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 10 จากกรณีกิจกรรมแฟลชม็อบ #ไม่ถอยไม่ทน ของประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ ที่บริเวณลานประตูท่าแพ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2562

คดีนี้ ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเห็นว่าประสิทธิ์มีความผิดตามฟ้อง โดยให้ลงโทษปรับในอัตราเกือบเต็มของกฎหมาย คือปรับ 9,000 บาท แต่เห็นว่าจำเลยให้การเป็นประโยชน์ จึงลดเหลือปรับ 6,000 บาท ประสิทธิ์ยังยืนยันตลอดมาว่าเขาไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุมครั้งดังกล่าว จึงไม่ควรต้องมีหน้าที่ในการแจ้งจัดการชุมนุม หลังการต่อสู้คดีเกือบ 3 ปี

ประสิทธิ์ระบุว่า รู้สึกตื่นเต้นกับการฟังคำพิพากษาครั้งนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากจะเป็นคดี พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ที่เกี่ยวข้องกับการร่วมกิจกรรมทางการเมืองคดีแรกๆ ที่ศาลฎีกาจะมีคำตัดสิน หากผลการตัดสินออกมาดีก็จะส่งผลดีต่อบรรยากาศการชุมนุมของประชาชน แต่หากผลออกมาตรงกันข้ามก็จะส่งผลต่อประชาชนในทางตรงกันข้ามเช่นกัน

“เจมส์” ประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ (คนที่ 3 จากขวามือ)

เวลาประมาณ 09.50 น. ศาลแขวงเชียงใหม่ได้เปิดซองคำพิพากษา และอ่านคำพิพากษาในส่วนของศาลฎีกาให้จำเลยฟังโดยสรุปว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2562 เวลา 17.00 น. มีการจัดการชุมนุมสาธารณะบริเวณประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ โดยไม่ได้แจ้งการชุมนุมสาธารณะก่อนการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง และก่อนจัดการชุมนุมดังกล่าวจำเลยได้โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊กชื่อ สมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตยว่า “ร่วมแสดงพลัง ประกาศจุดยืนว่ามิยอมจำนนต่อความอยุติธรรม มาร่วมทวงคืนความเป็นธรรม ร่วมทวงคืนประชาธิปไตย แล้วพบกัน วันนี้ (14 ธันวาคม) เวลา 17.00 น. ณ ข่วงประตูท่าแพ #ก็มาดิค้าบ #กลัวที่ไหน”

มีปัญหาต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานมิได้แจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อผู้รับแจ้งก่อนการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า การตีความว่าบุคคลใดเป็น “ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุม” ตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 10 ต้องตีความอย่างเคร่งครัดเพราะเป็นกฎหมายที่มีโทษทางอาญา และต้องพิจารณาประกอบนิยาม “ผู้จัดการชุมนุม” ตามมาตรา 4 ต้องมีการแสดงออกหรือพฤติการณ์ทำให้บุคคลอื่นเข้าใจว่าบุคคลนั้นเป็นผู้จัดหรือผู้ร่วมจัดการชุมนุมด้วยนั้น

ศาลเห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 44 รับรองและคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธไว้ โดยมีข้อยกเว้นในการจำกัดเสรีภาพดังกล่าวได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น

และมาตรา 26 บัญญัติให้การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ เมื่อ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ตราขึ้นเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การใช้สิทธิชุมนุมสาธารณะให้ชัดเจนโดยสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เพื่อให้การชุมนุมสาธารณะเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของชาติ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ตลอดจนสุขอนามัยของประชาชนหรือความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ และไม่กระทบกระเทือนสิทธิและเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น

ดังนั้นบทบัญญัติเกี่ยวกับการแจ้งการชุมนุมตามมาตรา 10 มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการชุมนุมสาธารณะ การดูแลการชุมนุมสาธารณะและการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง รวมทั้งเพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกและคุ้มครองผู้ชุมนุม จึงเป็นบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญและมีการกำหนดโทษทางอาญาไว้

“ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ” ในวรรคสองจึงต้องตีความโดยเคร่งครัดและไม่อาจนำบทนิยาม “ผู้จัดการชุมนุม” ตามมาตรา 4 มาพิจารณาประกอบ หากมาตรา 10 ต้องการที่จะกำหนดเงื่อนไขให้ผู้เชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุม ต้องแสดงออกพฤติการณ์ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้จัดหรือผู้ร่วมจัดการชุมนุม จึงจะถือว่าเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะแล้ว ก็น่าจะระบุเงื่อนไขดังกล่าวไว้ให้ชัดเจนในมาตรานี้ โดยไม่จำต้องระบุเงื่อนไขให้ซ้ำซ้อนในบทนิยามดังกล่าวอีก

นอกจากนี้หากแปลความดังที่จำเลยอ้าง ย่อมจะทำให้มีการเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเรื่องแจ้งการจัดการชุมนุมสาธารณะ ด้วยวิธีการที่ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะอาจไม่แสดงตัว แล้วให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมแทนตนเอง หรืออาจมีการจัดการชุมนุมโดยใช้วิธีต่างคนต่างเชิญชวนให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมสาธารณะ อันจะทำให้การบริหารจัดการการชุมนุมสาธารณะก่อนที่จะเริ่มการชุมนุมไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

แม้ทางพิจารณาจะไม่ปรากฏแกนนำในการจัดการชุมนุมสาธารณะตามฟ้องที่ชัดเจน แต่เมื่อจำเลยโพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กเพื่อเชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมในวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนด และต่อมามีการจัดการชุมนุมโดยไม่มีการแจ้งการชุมนุมสาธารณะก่อนเริ่มชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานมิได้แจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อผู้รับแจ้ง ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 10

ส่วนที่จำเลยฎีกาอ้างว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยโพสต์ข้อความวันที่ 13 ธันวาคม 2562 แต่ข้อเท็จจริงปรากฎว่าเป็นวันที่ 14 ธันวาคม 2562 ซึ่งข้อแตกต่างดังกล่าวแม้จะเป็นเพียงรายละเอียด แต่จำเลยให้การปฏิเสธและในชั้นพิจารณาจำเลยนำพยานหลักฐานเข้าสืบหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ ถือว่าจำเลยต่อสู้เรื่องวันเวลากระทำความผิด จึงต้องยกฟ้องโจทก์

ศาลเห็นว่า เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธว่า พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 10 มีเจตนารมณ์เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐได้ทราบถึงการที่จะมีการชุมนุมสาธารณะเพื่อจะได้อำนวยความสะดวกและดูแลรักษาความปลอดภัยในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน มิใช่เพื่อมุ่งเอาผิดหรือสร้างภาระอันเป็นการรบกวนสิทธิเสรีภาพของผู้จัดการชุมนุมและผู้ร่วมการชุมนุม เมื่อการชุมนุมเป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธ และไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย ประกอบกับเจ้าพนักงานตำรวจทราบถึงการชุมนุมสาธารณะและเข้ามาดูแลโดยตลอดตั้งแต่ก่อนเริ่มการชุมนุมจนกระทั่งเสร็จสิ้น จึงตีความให้มาลงโทษแก่จำเลยไม่ได้ เนื่องจากจำเลยเป็นเพียงผู้เข้าร่วมการชุมนุมเท่านั้น และในชั้นพิจารณาจำเลยนำสืบต่อสู้ตามประเด็นที่ให้การไว้ โดยรับว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก แสดงว่าจำเลยไม่ได้หลงต่อสู้ เมื่อข้อแตกต่างเกี่ยวกับวันเวลาดังกล่าวมิใช่สาระสำคัญ ทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจึงลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นได้

ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

ทั้งนี้ ประสิทธิ์ได้ชำระค่าปรับตามคำพิพากษาไปตั้งแต่ในวันฟังคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้ว ในวันนี้ จึงไม่ต้องชำระค่าปรับดังกล่าวอีก

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net