สรุปเสวนาเปิดตัวหนังสือ 'สถาบันกษัตริย์: ความจริงที่ถูกบิดเบือน'-มองเรื่อง ‘กษัตริย์’ ผ่านแว่น ‘อนุรักษ์นิยม’

สรุปเสวนาเปิดตัวหนังสือ ‘สถาบันกษัตริย์: ความจริงที่ถูกบิดเบือน’ เขียนโดย อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ นักวิชาการจาก ‘นิด้า’ สะท้อนความคิดอนุรักษ์นิยมต่อการถกเถียงประเด็นเรื่อง 'กษัตริย์' เช่น ความชอบธรรมการใช้มาตรา 112 พ.ร.ก.โอนกำลังพลฯ งบสถาบันฯ และอื่นๆ พร้อมมองนักวิชาการฝ่ายซ้ายติดกรอบ ไม่มองความจริง

 

เมื่อ 13 ต.ค. 2565 สำนักพิมพ์ ‘บ้านพระอาทิตย์’ เผยแพร่ไลฟ์สดเสวนาเปิดตัวหนังสือ ‘สถาบันกษัตริย์ : ความจริงที่ถูกบิดเบือน’ เขียนโดย อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ นักวิชาการคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า ซึ่งงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ จัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยผู้เข้าร่วมเสวนา ประกอบด้วย อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ผู้เขียนหนังสือ นิรันดร์ เยาวภาว์ บรรณาธิการหนังสือ และเว็บไซต์ข่าว ‘ผู้จัดการออนไลน์’ และ ยุทธิยง ลิ่มเลิศวาที เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

ไลฟ์สดงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ 'สถาบันกษัตริย์ ความจริงที่ถูกบิดเบือน' เขียนโดย อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ นักวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า 

ต้องช่วยกันเอาความจริงออกมา

อานนท์ กล่าวว่า เหตุผลที่เขาเขียนหนังสือเล่มนี้เนื่องจากนับตั้งแต่ปี 2563 เขาเห็นขบวนการเคลื่อนไหวที่บิดเบือนข่าวสารเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างรุนแรง และทำเป็นขบวนการทั้งบนโลกออนไลน์ และออฟไลน์ โดยเขาเป็นเห็นว่าข้อมูลข่าวสารเหล่านี้มีลักษณะ ‘บิดเบือน’  และ ‘ใส่ร้ายป้ายสี’ ดังนั้น เขามีความเชื่อว่าการสู้กับข่าวลวง หรือเฟกนิวส์ ต้องสู้ด้วย ‘สัจจะ’ หรือ ‘ความเป็นจริง’ จึงไปแสวงหาข้อเท็จจริง เพื่อนำมาเขียน เพื่อให้สังคมได้ตื่นรู้ และเท่าทันข้อเท็จจริง "ต้องเอาความจริงออกมา" 

อานนท์ ระบุต่อว่า ความจริงที่นำเสนอต้องนำเสนออย่างรัดกุม และให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด รู้ขอบเขตที่เหมาะสม 

“เราต้องเอาความจริงขึ้นมาตีแผ่ เราต้องมั่นใจว่าเหล่านั้นเป็นเรื่องจริง และมีหลักฐานยืนยันแบ็กอัปอยู่ด้านหลัง และเราก็ต้องรู้ว่าเราจะพูดได้แค่ไหน เผยแพร่ได้แค่ไหนในขอบเขตที่เหมาะสม และพอดีกับสถานการณ์” อานนท์ กล่าว

ยุทธิยง ลิ่มเลิศวาที (ซ้าย) นิรันดร์ เยาวภาว์ (กลาง) และอานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ผู้เขียนหนังสือ (ขวา)

อานนท์ กล่าวว่า ไม่ง่ายนักสำหรับการค้นคว้าหาข้อมูล เพราะว่าเรื่องราวของทางวังค่อนข้างจำกัด และเข้าถึงได้ยาก หลายบทความต้องใช้เวลาในการค้นคว้า และอ่านกฎหมายหลายสิบฉบับ นอกจากอ่านแล้ว ต้องอาศัยถามผู้เชี่ยวชาญ หรือไปสืบเอกสารชั้นต้น 

ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สิ่งประดิษฐ์ภายหลัง 

นิรันดร์ กล่าวว่า อานนท์ อธิบายตั้งแต่ระบอบการปกครองที่มีอยู่ทุกวันนี้ที่เรียกว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่แท้จริงเป็น “ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ” เหตุที่เป็นเช่นนี้ระบอบการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 กลุ่มผู้ก่อการมีแนวคิดแยกออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกต้องการเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นระบอบสาธารณรัฐไปเลย และอีกกลุ่มคือกลุ่มที่ยอมรับสภาพความจริงว่าสถาบันกษัตริย์ยังมีความจำเป็น และมีความสำคัญต่อประเทศไทย เลยได้ข้อสรุปว่ายังมีสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามรอยประเทศอังกฤษ เป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และประชาธิปไตยอันมีสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลัง

“ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Constitutional Monarchy” ส่วนคำว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อันเป็นประมุขเกิดขึ้นภายหลัง เพราะอยากใส่คำว่า “ประชาธิปไตย” อยู่ แต่ว่าจริงๆ แล้ว คือ ระบอบราชาธิปไตย สิ่งนี้สะท้อนว่าสังคมยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีสถาบันพระมหากษัตริย์ ” นิรันดร์ กล่าว

ขาดสถาบันกษัตริย์ ประเทศแตกแยก-นักการเมืองจะแย่งชิงอำนาจ

อานนท์ กล่าวว่า ถ้าไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ประเทศจะแตกเป็นเสี่ยงๆ ทะเลาะกัน พร้อมยกตัวอย่าง ประเทศจีนหลังสิ้นสถาบันพระมหากษัตริย์ก็มีการรบสงครามกลางเมืองเป็นเวลานานถึง 60 ปี ตายไปเกือบร้อยล้านคน รวมถึงกรณีของอังกฤษมีการยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็มีสงครามกลางเมือง และต้องกลับไปรื้อฟื้นสถาบันฯ กลับมาใหม่อีกครั้ง 

อานนท์ ระบุต่อว่า ถ้าไม่มีสถาบันกษัตริย์ นักการเมืองจะเริ่มทะเลาะแย่งชิงอำนาจ และสุดท้าย ประชาชนจะขาดศูนย์รวมจิตใจ

“นี่คือสภาพที่จะเกิดขึ้นเมื่อไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมพยากรณ์ได้เลยว่า เมื่อวันนั้นมาถึงประเทศไทยจะแตกเป็นเสี่ยงๆ แล้วคนไทยก็จะฆ่ากันเองอย่างแน่นอน” นักวิชการจากนิด้า กล่าว

บรรยากาศงานเสวนาที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์

ฝ่ายซ้ายติด ‘กรอบ’ ไม่มองโลกความจริง

นิรันดร์ ระบุว่า ฝ่ายซ้ายที่ไม่เอาสถาบันกษัตริย์ได้รับแนวคิด ‘วัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์’ ของคาร์ล มาร์กซ (Karl Marx) นักปรัชญาชาวเยอรมัน โดยทฤษฎีดังกล่าวระบุว่า ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เริ่มจากสังคมคอมมิวนิสต์ หรือสังคมบรรพการ ซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของทรัพยากร ก่อนพัฒนามาเป็นสังคมทาส ซึ่งคนที่มีกำลังเหนือกว่าจะบังคับให้คนที่อ่อนแอกว่าทำงานรับใช้

ต่อจากนั้น สังคมจะพัฒนาสู่สังคมศักดินา ซึ่งมีผู้ครอบครองปัจจัยการผลิตเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ และพัฒนามาเป็นสังคมทุนนิยม ซึ่งมีนายทุนเป็นผู้ครอบครองปัจจัยการผลิต และมีอิทธิพล 

คนที่ไม่เอาสถาบันฯ จะเชื่อว่า สังคมหลังจากยุคทุนนิยม จะพัฒนามาเป็น “สังคมนิยม” มีผู้ใช้แรงงานขึ้นมาเป็นผู้ปกครอง และมีการจัดสรรปันส่วนให้ทรัพยากรให้เท่าเทียมกัน 

หนังสือ มาร์กซ ความรู้ฉบับพกพา

ดังนั้น ฝ่ายซ้าย หรือคนไม่เอาสถาบันฯ ก็จะมีมุมมองว่า สถาบันกษัตริย์ เป็นสิ่งที่ “ล้าหลัง” และเป็นสัญลักษณ์ของสังคมศักดินา เขาจึงพยายามไม่ให้มีสถาบันกษัตริย์ 

อานนท์ มองว่า พวกนักวิชาการเป็นพวกติดกรอบ หรือ ‘Dogmatism’ และเขาเลือกใช้ความจริงเข้าสู้ ซึ่งทฤษฎีของมาร์กซ เป็นแนวคิดที่ตกยุคไปแล้ว ในเยอรมนีเองก็ไม่มีใครที่สนใจ แต่กลับยังแพร่หลายในนักวิชาการฝ่ายซ้ายไทย

"ยึดติดกับกรอบจนลืมดูว่าข้อเท็จจริงมันคืออะไร สัจจะเป็นอย่างไร ซึ่งทำให้เรามองไม่เห็นความจริง เราจะเห็นแต่กรอบ ซึ่งเป็นเปลือกนอก ซึ่งทำให้เรามองเห็นเป็นอย่างนั้น เหมือนเรามองเห็นเป็นสีของเลนส์แว่นตา แต่ไม่ได้มองเห็นข้อเท็จจริง นั่นคือปัญหาการวิเคราะห์สังคมในมุมมองของผม งั้นผมก็เขียนจากข้อเท็จจริงเป็นหลัก ไม่ได้ใช้กรอบอะไรเลย"  

"มันเป็นสิ่งตกค้างจากการเป็นปฏิวัติอุตสาหกรรมมาก่อน การมี Modernization บ้านเมืองเป็นสมัยใหม่มาก่อน เราเลยยึดถือลัทธิกรอบความคิดอะไรของเขาบางอย่างดีกว่าเรา เราไปตามเขาโดยที่เราไม่ได้ดูว่า สิ่งเหล่านั้นมันเหมาะสมกับสภาพบ้านเมืองเรามากแค่ไหน มันไม่มีทางเหมือนเลย เพราะว่าผู้คนจิตใจความคิดก็ต่างกัน ความรู้ความคิดก็ต่างกัน สภาพอากาศก็ต่างกัน เราไปเรียนอะไรก็ต้องอาจจะปรับให้เหมาะสมกับบ้านเมืองเราซะก่อน" อานนท์ กล่าว

ด้านนิรันดร์ กล่าวว่า หากต้องการจะหลุดจากความเชื่อนักวิชาการฝ่ายซ้ายแบบนี้ ประชาชนต้องดูที่ความจริง หรือสัจจะเป็นหลัก การยึดติดทฤษฎีหรืออุดมการณ์ รังเกียจการกดขี่ข่มเหงมันเป็นทฤษฎี และก็ไปมองว่าการมีสถาบันฯ เป็นสัญลักษณ์ของการกดขี่ข่มเหง และการแบ่งชนชนั้น ซึ่งอันนั้นเป็นทฤษฎี แต่ในข้อเท็จจริง สถาบันกษัตริย์กดขี่ข่มเหงมันเป็นแบบนั้นจริงหรือไม่ และสิ่งที่คุณเชื่อและทำให้คุณเท่ ในข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

บิดเบือนงบฯ สถาบันกษัตริย์ สร้างวาทกรรม “เงินรายปี”

อานนท์ กล่าวว่า ตอนที่ขบวนการล้มล้างสถาบันฯ เริ่มเคลื่อนไหวเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เขาลองไปสำรวจสื่อโซเชียลมีเดียพบว่า ร้อยละ 95 ไม่พอใจเรื่องภาษี และงบประมาณของสถาบันพระมหากษัตริย์

อานนท์ ระบุต่อว่า เมื่อเขาเริ่มค้นหาข้อเท็จจริง ก็พบว่าเรื่องงบประมาณถูกหยิบยกขึ้นมา เนื่องจากง่ายที่จะทำให้คนผิดใจกัน ดังนั้น จึงมีความพยายามใส่ไฟ และบิดเบือน เรื่องงบประมาณของสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยการประดิษฐ์วาทกรรมใหม่ คือ ‘เงินรายปี’

นักวิชาการนิด้า แย้งว่าเขาไม่เคยได้ยินคำว่า “เงินรายปี” เพราะในประเทศไทยปกติจะมีคำว่า “เงินปี” หรือเป็นเงินที่รัฐบาลถวายให้องค์พระมหากษัตริย์ เพื่อใช้เป็นการส่วนตัว และพระราชทานให้พระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งมีต่างประเทศก็มีเหมือนกันอย่างในประเทศอังกฤษ และญี่ปุ่น และเงินปีส่วนนี้ไม่ได้จำนวนมาก นอกจากนี้ จะยังมีงบประมาณประจำปีของหน่วยราชการในพระองค์ด้วย

อย่างไรก็ตาม มีคนที่พยายามเอางบประมาณส่วนราชการในพระองค์ภายใต้สำนักพระราชวัง สำนักองคมนตรี และหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ มารวมกัน ซึ่งทั้ง 3 หน่วยงานมีบุคลากรจำนวนราว 14,000 คน และมาเรียกงบฯ ทั้งหมดว่า “เงินรายปี” และมีการนำมาตีความว่าเป็น “เงินปี” ซึ่งเป็นเงินที่ในหลวงใช้ส่วนพระองค์ ซึ่งอานนท์ มองว่า ‘เงินปี’ และงบประมาณส่วนราชการในพระองค์ฯ สำนักองคมนตรี และหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยฯ เป็นงบฯ คนละส่วน ต้องมองแยกกัน

“อันหนึ่งเป็นเรื่องใช้ส่วนพระองค์ คือ เงินปี ส่วนเงินงบประมาณประจำปี เป็นเรื่องของงบประมาณแผ่นดิน กับราชการส่วนพระองค์ มาประดิษฐ์คำใหม่ว่า ‘เงินรายปี’ ให้คนงงเล่นๆ ใช้วิธีการในการโกหกได้ง่ายที่สุดคือการประดิษฐ์คำพูดใหม่” อานนท์ กล่าว

นอกจากนี้ อานนท์ ระบุว่าในความเป็นจริง พระมหากษัตริย์และพระราชินีไม่เคยรับเงินปีที่รัฐบาลถวาย และพระราชทานคืน ‘กรมบัญชีกลาง’ ทั้งหมด และเงินในส่วนที่ถวายให้พระบรมวงศานุวงษ์ ในหลวงใช้เงินส่วนพระองค์เองทั้งหมด ซึ่งไม่เกี่ยวกับที่รัฐบาลถวาย 

พ.ร.บ.โอนกำลังพล ไม่ได้สร้างกองทัพ แต่เป็นการจัดสรรสายบังคับบัญชา

สืบเนื่องจากเมื่อปี 2563 ทางรัฐบาลมีการออกพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก ไปเป็นหน่วยบัญชาการความปลอดภัยรักษาพระองค์ ทำให้ฝ่ายต่อต้านสถาบันฯ ออกมาวิจารณ์ว่าเป็นการสร้างกองทัพส่วนพระองค์

อานนท์ กล่วถึงประเด็นนี้ว่า นี่เป็นเรื่องปกติที่ประมุขของทุกประเทศต้องได้รับการคุ้มครอง อย่างในสหรัฐฯ การดูแลความปลอดภัยของประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ปีหนึ่งใช้งบฯ ประมาณ 4 หมื่นกว่าล้านบาท และมีคนในหน่วยงานหลายหมื่นคน 

ในบริบทของประเทศไทย การถวายอารักขานั้นเป็นหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตัวข้าราชการที่ทำงานจะต้องมาทำงานในวัง แต่เจ้านายที่ให้คุณให้โทษอยู่ที่ต้นสังกัด เช่น สตช. กองทัพบก กองทัพอากาศ และอื่นๆ จึงเกิดเป็นปัญหา “ข้าสองเจ้า บ่าวสองนาย” ซึ่งไม่รู้จะขึ้นกับต้นสังกัดไหน ส่งผลให้การบังคับบัญชาไม่มีประสิทธิภาพตามมา

ดังนั้น พ.ร.ก.โอนกำลังพลฯ คือการโอนกำลังพลที่เคยทำหน้าที่ถวายอารักขาพระมหากษัตริย์ ให้มาสังกัดหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์โดยตรง โดยมีเจตนาเพื่อให้มีสายบังคับบัญชาที่ชัดเจน และเกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ แก้ปัญหา “ข้าสองเจ้า บ่าวสองนาย” 

นอกจากนี้ อานนท์ ระบุว่า เป็นการโอนเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารจำนวน 8,000 รายเท่านั้น ซึ่งไม่ได้เยอะมากพอจะไปตั้งเป็นกองทัพส่วนพระองค์ตามที่ถูกกล่าวอ้าง และเป็นคนเดิมที่ถวายงานอารักษาให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่แล้ว และการโอนอัตรากำลังพลครั้งนี้ โอนมาแค่กำลังพล และไม่มีการโอนอาวุธยุทโธปกรณ์มาด้วย

นักวิชาการสถิติศาสตร์ ระบุว่า ตามประวัติศาสตร์ กองพันทหาร ราบ 1 และราบ 11 แต่เดิมเป็นทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ของรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 แต่พอเปลี่ยนแปลงการปกครองในสมัย 2475 คณะราษฎรกังวลว่า พระเจ้าแผ่นดินจะมีทหารรักษาความปลอดภัยในมือ ก็มีการโอนทหารไปขึ้นอยู้กับกองทัพบก สุดท้ายก็แค่โอนกลับไปอยู่ทางพระราชวังเหมือนเดิม เป็นกองบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ 

นิรันดร์ เสริมว่า กำลังพลที่โอนมามีจำนวนทั้งหมดคิดเป็นร้อยละเพียง 2.7% เมื่อเทียบกับกำลังพลของกองทัพ และสำนักงานตำรวจทั้งประเทศ เป็นไปไม่ได้ที่จะเรียกว่าเป็นกองทัพ 

มาตรา 112 ไม่ใช่ ‘Lese Majeste Law’

อีกประเด็นที่ถูกวิจารณ์และรณรงค์ให้มีการยกเลิก คือ มาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ เนื่องจากฝ่ายต่อต้านสถาบันฯ มองว่า เป็นกฎหมายที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และขัดต่อเสรีภาพการวิจารณ์สถาบันฯ 

อานนท์ มองว่า นักวิชาการฝ่ายตรงข้ามสถาบันฯ มักเขียนมาตรา 112 ให้น่ากลัวกว่าความเป็นจริง โดยใช้คำว่า “Lese Majeste Law” หรือแปลเป็นไทยว่า “Do wrong to the king” ซึ่งอานนท์ ไม่เห็นด้วย และระบุว่า มาตรา 112 ไม่ใช่ ‘Lese Majeste Law’ เนื่องจากมีการยกเลิกกฎหมายนี้ในสมัยยุคอาณานิคม หรือสมัยรัชกาลที่ 5 

อานนท์ กล่าวต่อว่า เหตุที่มีการยกเลิก 'Lese Majeste Law' เนื่องจากสมัยรัชกาลที่ 5 มีปัญหาเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขต และมีการเขียนกฎหมายใหม่ให้ไทยโดยชาวต่างชาติ ชื่อว่ากฎหมาย ‘โรลังยัคมินส์’ หรือเจ้าพระยาอภัยราชาสยามนุกูลกิจ เสนาบดีไทยชาวเบลเยียม 

ในครั้งนั้นมีการยกเลิกกฎหมาย ตรา 3 ดวง ซึ่งกฎหมายฉบับดังกล่าวคือ Lese Majeste Law หรือกฎหมายลงโทษคนหมิ่นหรือให้ร้ายพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งมีขอบเขตกว้างขวางไพศาล แต่ในมาตรา 112 ปัจจุบัน มีการลดขอบเขตการกระทำผิดเหลือแค่ 2 กรณี คือ หมิ่นประมาทกษัตริย์ และขู่อาฆาตมาดร้ายประมุขของรัฐ 

อานนท์ มองว่า มาตรา 112 มีไว้เพื่อคุ้มครองประมุขของรัฐ แต่ให้ความคุ้มครองพิเศษกว่าในฐานะองค์รัฏฐาธิปัตย์

“ไม่มีใครเดือดร้อน ถ้าคุณไม่จ้องทำร้ายใคร” อานนท์ กล่าว 

นอกจากประเด็นทั้งหมด เสวนามีการพูดคุยประเด็นอื่นๆ เช่น ทำไมแนวคิดฝ่ายซ้ายยังคงตกทอดมาถึงปัจจุบัน การยกระดับสื่อเพื่อต่อสู้กับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และอื่นๆ 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท