Skip to main content
sharethis

นักปกป้องสิทธิฯ กลุ่ม “คำโตนดไม่เอาเหมืองทรายแก้ว” บุก กพร. จี้เลิกคำขอประทานบัตรเหมืองในพื้นที่ หวั่นกระทบสิ่งแวดล้อม-สุขภาพชุมชน ซัดประชามติไม่ชอบ พร้อมตั้งข้อสังเกตมีคนนอกย้ายทะเบียนบ้านมาอยู่ในชุมชนออกเสียงโหวต ระบุชาวบ้านถูกข่มขู่คุกคาม ด้านรองอธิบดี กพร. รับเรื่องตรวจสอบ ระบุขอเช็คทะเบียนราษฎร์กับจังหวัดก่อนพิจารณาให้เป็นโมฆะหรือไม่ ระบุกรณีมีเรื่องร้องเรียนยังไม่อนุมัติให้ดำเนินการแน่นอน

เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2565 เวลา 10.00 น.ที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มคำโตนดไม่เอาเหมืองแร่ทรายแก้ว ต.คำโตนด อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี กว่า 20 คน เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมอุตสาหกรรมและการเหมืองแร่ (กพร.) เพื่อขอให้ยกเลิก/เพิกถอนคำขอประทานบัตรของเอกชน และกระบวนการขอประทานบัตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากชุมชนมีข้อห่วงกังวลผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ โดยมีนายอดิทัต วะสีนนท์ รองอธิบดี กพร. เป็นตัวแทนรับหนังสือ

จี้เลิกคำขอประทานบัตรเหมืองในพื้นที่ หวั่นกระทบสิ่งแวดล้อม-สุขภาพชุมชน

พิรุฬห์พิช สิทธิมงคล ผู้ประสานงานกลุ่มคำโตนดไม่เอาเหมืองแร่ทรายแก้ว กล่าวว่า สืบเนื่องจากบริษัทเอกชนได้มีการยื่นคำขอประทานบัตรเหมืองแร่ ชนิด แร่ทรายแก้วในพื้นที่ ต.คำโตนด อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2560 แก่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี จำนวน 3 คำขอ รวมพื้นที่ประมาณ 527 ไร่ โดยที่ผ่านมามีชาวบ้านแสดงความคิดเห็นว่าไม่เห็นด้วยกับการทำเหมืองแร่ทรายแก้วในพื้นที่ดังกล่าว แต่ปรากฏว่าก็ยังมีการดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เมื่อวันที่ 5 พ.ค.2565 กลุ่มคำโตนดไม่เอาเหมืองแร่ทรายแก้ว รวมตัวกันประมาณ 80 คน ได้เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ขอให้ยุติกระบวนการประชามติ เพื่อประกอบกิจการเหมืองแร่ทรายแก้ว เนื่องจากมีข้อกังวลเกี่ยวกับความชอบธรรมในกระบวนการดังกล่าว

พิรุฬห์พิช กล่าวว่า อย่างไรก็ตามยังมีการเดินหน้าต่อไป โดยวันที่ 8 พ.ค.2565 มีการจัดทำประชามติ โดยกลุ่มคำโตนดไม่เอาเหมืองแร่ทรายแก้ว ได้ติดตามสังเกตการณ์การลงประชามติในวันดังกล่าวด้วย พบว่าผลการลงประชามติมีผู้มาใช้สิทธิ 190 คน เห็นด้วย 91 คน ไม่เห็นด้วย 82 คน ไม่ประสงค์ลงคะแนน 7 คน บัตรเสีย 10 คน

ทางกลุ่มฯ จึงมีข้อสังเกตว่าผลการประชามติอาจไม่ถูกต้อง เนื่องจากพบว่ามีคนนอกพื้นที่ที่ไม่เคยอยู่อาศัยในชุมชนเดินทางเข้ามาลงประชามติถึง 35 คน ซึ่งผลการลงประชามติที่เกิดขึ้นอาจไม่สะท้อนเสียงของผู้ได้รับผลกระทบหรือผู้มีส่วนได้เสียในชุมชนอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังมีประเด็นการยื่นคำขอประทานบัตรของเอกชนที่อาจไม่เป็นไปตามที่ พ.ร.บ.แร่ฯ กำหนดไว้ รวมถึงชุมชนมีข้อห่วงกังวลต่อผลกระทบจากมลพิษที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง

พิรุฬห์พิช ถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มทั้ง 4 ข้อ ดังนี้

1.ยกเลิก/เพิกถอน หรือให้มีคำสั่งให้การทำประชามติคำขอประทานบัตร ที่ 3/2560 ของบริษัท สินทรัพย์ธรรมชาติ จำกัด ในวันที่ 8 พ.ค. 2565 เป็นโมฆะเสีย

2.ขอให้ยกเลิก/เพิกถอน หรือให้มีคำสั่งให้เอกสารคำขอประทานบัตรที่ 3/256 ของบริษัท สินทรัพย์ธรรมชาติ จำกัด เป็นโมฆะเสีย เหตุเนื่องจากว่าไม่ปฏิบัติตามมาตรา 54 ที่ผูกพันกับมาตรา 188 ในเรื่องการยื่นคำขอประทานบัตรที่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ให้ครบถ้วน โดยเอกสารการสำรวจแร่ที่บริษัทฯ นำมายื่นไม่ระบุถึงปริมาณแร่สำรองของแหล่งแร่ อันเป็นเนื้อหาหรือสาระสำคัญที่ละเว้นมิได้ตามระเบียบกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ว่าด้วยหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่าพบแร่ชนิดที่ประสงค์จะทำเหมือง พ.ศ. 2561

3. ขอให้มีคำสั่งให้บริษัท สินทรัพย์ธรรมชาติ จำกัด ไปดำเนินการขออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่หรืออาชญาบัตรพิเศษเสียก่อน จึงค่อยมาดำเนินการยื่นคำขอประทานบัตรที่ 3/2560 ในภายหน้า เพื่อจะได้มีรายงานผลการสำรวจแร่ที่สามารถคำนวณปริมาณแร่สำรองของแหล่งแร่ได้อย่างโปร่งใส ไม่ปกปิดข้อมูลหรือปิดบังอำพราง หรือแสดงออกถึงความตั้งใจ มุ่งมั่น จริงจังในการที่จะทำเหมืองที่ใส่ใจหรือไม่ละเลยต่อกระบวนการ/ขั้นตอนต่าง ๆ อันมีสาระสำคัญที่จะเป็นประโยชน์ต่อการมีส่วนร่วมและการรับรู้ของประชาชนในพื้นที่

และ4. ขอให้ กพร.ประสานร่วมมือกับคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติไปดำเนินการกำหนดพื้นที่ตามคำขอประทานบัตรที่ 3/2560 ซึ่งเป็นพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึมตามมาตรา 17 วรรคสี่ ให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองเสียก่อน จึงค่อยปิดประกาศอนุญาตให้เอกชนมาดำเนินการยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่หินทรายแก้วได้ในภายหน้า

รองอธิบดี กพร.รับเรื่องตรวจสอบ

ด้าน อดิทัต วะสีนนท์ รองอธิบดี กพร. กล่าวว่า ถึงการทำประชามติตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 ที่กำหนดให้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของชุมชนในพื้นที่ และเมื่อดำเนินการทำประชามติครั้งแรกคะแนนเสียงระหว่างคนที่เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วยมีเท่ากัน แต่การทำประชามติครั้งที่ 2 ในเดือน พ.ค. ฝ่ายที่อยากให้ทำเหมืองมีคะแนนมากกว่า ซึ่งชาวบ้านมีการร้องว่ามีผู้ย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาอยู่ในพื้นที่ กรมฯ ก็จะต้องตรวจสอบว่ากระบวนการถูกต้องครบถ้วนตามระเบียบหรือไม่ ซึ่งขอให้ความมั่นใจกว่ากรมฯ ให้ความสำคัญต่อผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน

รองอธิบดี กพร.กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากรณีที่มีเรื่องร้องเรียนอยู่ คณะกรรมการแร่ก็ไม่เคยพิจารณาอนุญาตแต่อย่างใด ขอให้ความมั่นใจว่ากรมฯ มีหน้าที่กำกับดูแลการทำเหมืองและขอให้ความมั่นใจว่าเราเป็นกลาง ซึ่งอุตสาหกรรมเหมืองแร่เป็นสิ่งจำเป็นในขณะเดียวกันก็ต้องพยายามลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่มากที่สุด ดังนั้นก็ขอรับปากชาวคำโตนดว่าจะพิจารณาตรวจสอบทุกสิ่งทุกอย่างๆ ครบถ้วน ขอใช้เวลาพอสมควร เพราะข้อมูลต่างๆ เยอะพอสมควร เมื่อได้ผลออกมาเป็นอย่างไรก็จะแจ้งให้ทราบต่อไป

“ส่วนประเด็นที่ระบุว่ามีผู้ย้ายเข้ามาอยู่ในชุมชนนั้น กรมฯ ก็จะตรวจสอบขอให้ไม่ต้องกังวล ซึ่งเป็นข้อดีของ พ.ร.บ.แร่ 2560 ที่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม ส่วนจะใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบนานแค่ไหนนั้น มีข้อมูลเยอะพอสมควรที่ต้องตรวจสอบ ซึ่งก็ขึ้นกับทางจังหวัดในการตรวจสอบทะเบียนราษฎร์ด้วย ถ้ามันผิดปกติจริงๆ ก็ต้องพิจารณาต่อไปว่าจะทำประชามติอีกครั้งหรือยกเลิกตามที่ชาวบ้านร้องเรียนมาหรือไม่ และต้องดูข้อกฎหมายด้วยถ้ามันเป็นไปตามระเบียบแล้วไปยกเลิก ทาง ก.พ.ร.อาจจะเป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามระเบียบเองก็ได้ ซึ่งกรมต้องเป็นกลางในเรื่องนี้ด้วย โดยจะพยายามเร่งรัดให้เร็วที่สุด ส่วนในเรื่องขั้นตอนการอนุมัติเหมืองแร่นั้นก็ต้องตรวจสอบว่าถึงขั้นตอนไหนแล้ว ยืนยันว่าตอนนี้กระบวนการยังไม่มีการอนุมัติอนุญาตใดๆ ทั้งสิ้น”รองอธิบดี กพร.กล่าว

ขณะที่พิรุฬห์พิช กล่าวภายหลังยื่นหนังสือ ว่า วัตถุประสงค์หลักในการมาวันนี้ คือ การยกเลิกการขอประทานบัตรและยกเลิกการทำประชามติเมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2565 เพื่อที่จะไม่ให้เกิดเหมืองเลย การมายื่นหนังสือเพราะเรารู้สึกว่าอย่างน้อยก็มีคนที่จะสามารถให้ความช่วยเหลือเราอยู่ แต่ผลออกมาจะเป็นยังไงเราก็ต้องรอดูต่อไป ในเรื่องความกังวลถ้าเกิดยังอยู่กับที่มันก็จะไม่เกิดผลอะไรต่อเรา ถ้าเราดำเนินการต่อไปตามขั้นตอนมันก็จะมีผลต่อเราแน่ ๆ เราเชื่อว่าไม่ได้มีคนเดียวที่ออกมาสู้ตรงนี้ คนอื่นก็อยากมาแต่ไม่มีโอกาส แต่เราก็เชื่อว่าเขาส่งกำลังใจมาให้

เปิดเสียงผลกระทบ

ขณะที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มคำโตนดไม่เอาเหมืองแร่ทรายแก้วในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบในการทำเหมืองในครั้งนี้ กล่าวว่า ไม่อยากให้เหมืองอนุมัติผ่าน เพราะจะทำให้ชาวบ้านลำบาก ไม่ใช่แค่หมู่ที่ 8 , 10 , 12 แต่ลำบากแทบทุกหมู่บ้านที่เป็นทางออก ตนจึงมีความกลัวแต่ก็ต้องสู้ คนอื่นเขาสู้ได้ ทำไมเราจะสู้ไม่ได้ ตนมีที่ดินใกล้พื้นที่ทำเหมืองก็เลยมีความกังวลว่าอาจจะมีปัญหาทีหลัง เราก็ค่อยเป็นค่อยไป คอยดูไปเรื่อยๆ ว่าเขาจะมาในรูปแบบไหนบ้าง ถ้ามีญาติพี่น้องช่วยกันสู้ ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องหมู่ 8 หมู่ 10 หรือหมู่ 12 ถ้าเหมืองเกิดขึ้นจริงๆ จากที่เคยเห็นมาระยะทาง 3 กม. เขาจะไม่ให้คนนอกเข้าเลย ระยะขอบที่เขาทำไว้ก็ไม่สามารถที่จะไปเดินดูได้ เพราะมีลูกน้องคอยดูตลอด ตอนแรกเขาบอกชาวบ้านว่าเป็นเรื่องดีทำให้มีงานทำ แต่หากเหมืองเกิดขึ้นแล้วเท่าที่เคยเห็นไม่มีทางปฏิบัติได้จริงเลย

แม่ทองซ้อน เชิงกราน จากหมู่ 8 ต.คำโตนด กล่าวว่า การมาวันนี้เพื่อขอให้ล้มเลิกการอนุมัติเหมืองแร่เพราะตนได้รับความลำบากมาก มีที่ดินติดถนน รถวิ่งทั้งวัน แล้วลูกหลานของตนจะอยู่อย่างไรต่อไป จะไปไร่ไปนาไปสวน ลูกหลานไปโรงเรียนก็ลำบากและฝุ่นละอองก็จะเพิ่มขึ้น ถ้าไม่เดือดร้อนก็ไม่มาร้องเรียน หากทางกรมฯไม่ช่วยพวกเราจะเป็นเรื่องแย่มาก

ศรัญญา ธีรศาสตร์ หมู่ 8 ต.คำโตนด กล่าวว่า ชาวบ้านมาวันนี้เพื่อขอให้อธิบดี กพร. ยกเลิกการทำเหมืองแร่ ไม่ให้มีการทำเหมืองใดๆ ทั้งสิ้น เพราะชาวบ้านเดือดร้อน ซึ่งบ้านเราเป็นแหล่งน้ำซับซึมจากเขาใหญ่ที่เป็นแหล่งต้นน้ำ หากมีเหมืองก็จะเกิดปัญหาฝุ่นละอองขึ้นกระทบกับสุขภาพของชาวบ้านโดยเฉพาะเด็กๆ ด้วย ความกังวลของชาวบ้านคือกลัวว่าเหมืองแร่จะได้รับการอนุมัติและสามารถดำเนินการได้ ทุกวันนี้ชาวบ้านกินไม่ได้นอนไม่หลับ กลัวว่าจะไม่มีใครช่วยเหลือ ชาวบ้านช่วยกันเองไม่รู้กฎหมาย ก่อนที่จะมาก็มีคนข่มขู่ เราต้องอยู่กันอย่างระวังตัว 4-5 โมงเย็นต้องรีบกินข้าวและปิดบ้านแล้ว เพราะไม่รู้ใครจะถูกหมายหัวบ้างตนก็เคยได้รับการติดต่อให้ไปพบแต่ตนไม่ไป และที่ผ่านมาก็มีคนถูกชาย 7-8 คนเข้ามาข่มขู่ตามบ้านในเวลากลางคืน ซึ่งชาวบ้านกังวลในเรื่องภัยมืดลักษณะนี้มาก

สมหมาย ขยันชิด หมู่ 8 ต.คำโตนด กล่าวว่า การมาวันนี้เพราะไม่อยากให้เขาทำเหมืองแร่ทรายแก้ว เพราะชาวบ้านเดือดร้อน มองภาพไปข้างหน้าลูกหลานจะเดือดร้อนมาก เกิดความเสียหายกับในชุมชน ถนนหนทางก็ลำบาก ชำรุดและพัง ตากเสื้อผ้าก็จะลำบากเพราะมีฝุ่น น้ำใต้ดินก็จะเหือดหายเพราะพื้นที่เป็นแหล่งน้ำซับซึม น้ำบ่อ น้ำบาดาลก็จะหมด ทั้งนี้รู้สึกภูมิใจและอบอุ่นใจที่รองอธิบดีลงมารับหนังสือ ความหวังของชาวบ้าน คือการไม่อยากให้มีความเสียหายต่อไปในวันข้างหน้า ถ้าเสียหายไปแล้วก็จะแก้ไขไม่ได้ และกลัวว่าเหมืองจะมีการอนุมัติผ่าน ซึ่งจะเกิดผลกระทบต่อชาวบ้านและชุมชน วันนี้รู้สึกว่าในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไรถ้าเราไม่ปกป้องไว้ให้เป็นที่ทำมาหากินของลูกหลาน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net