Skip to main content
sharethis

นิสิตจุฬาฯ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และสมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิม ร่วมกับกลุ่มทะลุฟ้า แถลงเตรียมจัด  “รำลึกตากใบ รัฐไทยไม่ยอมจํา” 19 และ 25 ต.ค.นี้ ที่จุฬาฯ เพื่อรำลึกเหตุการณ์โศกนาฏกรรมตากใบ

19 ต.ค.2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา เฟซบุ๊ก 'ทะลุฟ้า - Thalufah' เผยแพร่ถ่ายทอดสด ฝ่ายวิชาการ องค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาฯ ร่วมกับกลุ่มนิสิตจุฬาฯ 3 จังหวัดชายแดนใต้ สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย และกลุ่มทะลุฟ้า อ่านแถลงการณ์กิจกรรม “รำลึกตากใบ รัฐไทยไม่ยอมจํา” ณ ตึกกิจกรรมนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ  ซึ่งกิจกรรมจะจัดขึ้นในวันที่ 19 และ 25 ต.ค. ที่จะถึงนี้ เพื่อรำลึกเหตุการณ์โศกนาฏกรรมตากใบ

โดยมีรายละเอียดคำแถลงดังนี้  

แถลงการณ์ : กิจกรรมงานรำลึกตากใบ รัฐไทยไม่เคยจำ

ประเทศไทยนั้นไม่ได้มาจากเขาอัลไต แต่เกิดจากความหลากหลายของผู้คน ทั้งเชื้อชาติ ความเชื่อ ศาสนา และวัฒนธรรม ก่อนที่จะถูกทำให้รวมกันผ่านแนวคิดของการสร้างรัฐชาติ บังคับให้ทุกคนพูดภาษาเดียวกัน เชื่อในสิ่งเดียวกัน นับถือศาสนาเดียวกัน และ มีวัฒนธรรมเดียวกัน รัฐไทยไม่เคยเข้าใจ และไม่ให้คุณค่ากับความแตกต่างหลากหลาย และปฏิบัติตามหลักการสิทธิมนุษยชน ชนชั้นปกครองเพียงต้องการให้ทุกคนเหมือนกันโดยใช้อำนาจรัฐกดทับและควบคุม ไม่ได้สร้างให้คนเท่ากันเคารพและยอมรับความแตกต่างหลากหลายของความเป็นมนุษย์ ในประวัติศาสตร์ตั้งแต่การสร้างรัฐชาติของไทย เกิดขึ้นจากอคติและการสร้างความกลัวในการปกครอง ความต้องการผูกขาดอำนาจที่ส่วนกลาง การเรียนการสอนที่ต้องใช้ภาษากลางศาสนาพุทธเป็นศาสนาในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่โรงเรียน มหาลัย แม้แต่ในคุก สิ่งที่เกิดขึ้นเล่านี้ เป็นผลมาจากการสถาปนาแนวคิดชาตินิยม ซึ่งความเป็นจริงนั้น ประเทศไทยมีความแตกต่างหลากหลาย ในแต่ละภูมิภาค แต่สุดท้ายก็ถูกหล่อหลอมให้มีความคิดความเชื่อเหมือนกัน ผ่านอุดมการณ์ ชาติ ศาสนา มหากษัตริย์

ในปาตานีเป็นปราการด่านสุดท้ายของความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม ที่ชนชั้นปกครองไทยต้องการควบคุมความคิดความเชื่อ ศาสนา และ วัฒนธรรม รัฐไทยได้ใช้ความรุนแรงผ่านกฏอัยการศึกที่ปกครองมาตั้งแต่ พ.ศ. 2547 โดยใช้กำลังทหารในนามของการดูแลความเรียบร้อย ทั้งที่ความเป็นจริง ทหารเองกลับเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งและความรุนแรงที่ไม่เคยถูกพื้นถึง ชนวนเหตุสำคัญที่เกิดเหตุความขัดแย้งนั้น เกิดจากการใช้กำลังที่เกินกว่าเหตุ และเหล่าทหารนั้นก็ได้หากินกับความขัดแย้งภายใต้อำนาจของกฏอัยการศึก งบประมาณต่างๆที่ถูกแบ่งสันลงไปจำนวนมาก บำนาญที่ได้เพิ่มขึ้นจากการเป็นกำลังพลในพื้นที่ปาตานี เป็นต้น

เมื่อมองย้อนกลับไปกว่า 18 ปีก่อน ในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 หรือที่เราเรียกกันว่า “เหตุการณ์ตากใบ” เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการจับกุม ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านจำนวน 6 คน ด้วยสงสัยว่าเป็นสายให้กับกลุ่มผู้เห็นต่าง ทำให้ชาวบ้านหลายร้อยคนออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมและให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมทั้งหก ก่อนที่ความรุนแรงจะเริ่มบานปลาย ตำรวจได้ขอให้ทหารเข้ามาช่วยในการสลายการชุมนุม จนนำไปสู่การใช้กระสุนจริง ทำให้มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตถึง 7 ราย ต่อมาเจ้าหน้าที่ทหารจึงนำตัวผู้ชุมนุม จำนวน 1350 คน ขึ้นรถบรรทุกโดยให้นอนซ้อนกันเป็นชั้นๆกว่าห้าชั้นในรถห้าคัน เดินทางจากตากใบไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร ระยะทางกว่า 150 กิโล เป็นเวลา 6 ชม. ส่งผลให้มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตระหว่างการเดินทางกว่า 78 คน และมีหนึ่งคนที่ต้องกลายเป็นผู้พิการตลอดชีวิต นอกจากนั้นในประวัติศาสตร์ก่อนหน้านั้นเองก็ยังคงมีอีกหลายต่อหลายครั้งที่ทหารใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุจนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและการอุ้มหายซ้อมทรมานผ่านอำนาจกฏอัยการศึก

จวบจนกระทั่งวันนี้ ในพื้นที่จังหวัด ยะลา ปัตตานี และ นราธิวาส ยังคงมีการประกาศใช้กฏอัยการศึกมาโดยตลอด ซึ่งทุกท่านก็คงจะทราบกันดีว่า ในสมัยที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศใช้กฏอัยการศึกภายหลังจากการทำรัฐประหาร ตั้งแต่ปี 2557 ถึงปี 2558 นั้นเลวร้ายอย่างไรบ้าง ผู้เห็นต่างที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ต่อการกระทำที่เกิดขึ้น หรือผู้ที่เรียกร้องในสิทธิเสรีภาพอันเป็นหลักพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนนั้นกลับถูกดำเนินคดี ใช้ความรุนแรง และอุ้มหาย อย่างไม่สามารถสืบสวนเอาความได้ เราจึงอยากเรียกร้องให้รัฐไทยประกาศยกเลิกกฏอัยการศึกในพื้นที่จังหวัด ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ให้สังคมได้เป็นปกติ อยู่ภายใต้กฏหมายอย่างเท่าเทียม ไม่ใช่อยู่ภายใต้บรรยากาศของเผด็จการอำนาจนิยมทหารที่สร้างความรุนแรงขัดแย้งอยู่ตลอดเวลา

พวกเราในนามทะลุฟ้า ขอประณามการใช้ความรุนแรงต่อเหตุการณ์ตากใบ การกระทำดังกล่าว เป็นการกระทำที่ไม่มีสำนึกในความเป็นมนุษย์ และ ไม่เคารพซึ่งหลักสิทธิมนุษยชน
เราขอให้ชนชั้นปกครองเลิกอ้างความเป็นไทย เพื่อลดทอนความเป็นคน
เอาทหารออกจากสมการการแก้ปัญหาในพื้นที่ปาตานี คืนพื้นที่แห่งเสรีภาพ ที่ทุกคนเคารพซึ่งกันและกัน เสมอหน้ากันภายใต้กฏหมายอย่างเท่าเทียม

เปลี่ยนจากการควบคุมเป็นเคารพ เปลี่ยนจากกฏอัยการศึกเป็นกฏหมาย

มาร่วมกันรำลึกเหตุการณ์ตากใบ ที่ชนชั้นปกครองไทยพยายามลืม
วันที่ 19 ตุลาคมนี้ ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และวันที่ 25 ตุลาคม ที่ลานจักรพงศ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net