ศาลอาญามีคำสั่ง 'ไม่คุ้มครองพยาน' อังคณา คดีอุ้มหายทนายสมชาย

ศาลอาญารัชดามีคำสั่งไม่คุ้มครองพยานอังคณา นีละไพจิตร คดีอุ้มหายทนายสมชายตามที่ดีเอสไอยุติการคุ้มครองไปเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2565 โดยให้เหตุผลว่าเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว หลังเจ้าตัวยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวและขอขยายการคุ้มครองต่อ ทนายความเผยว่า หลังจากนี้คดีที่ยังหาผู้กระทำผิดมาลงโทษไม่ได้จะมีความน่าเป็นห่วงสูง เนื่องจากอาจไม่มีใครกล้ามาเป็นพยานอีก เพราะเกรงว่าจะไม่ได้รับการคุ้มครอง ขณะที่อังคณา ระบุ ผิดหวังกับคำตัดสินของศาลที่ผ่านมาถูกข่มขู่คุกคามหลากหลายรูปแบบ ล่าสุดถูกบุกปากรรไกรหน้าบ้าน

 

20 ต.ค. 2565 เมื่อวันที่ 19 ต.ค. ที่ผ่านมา ศาลอาญารัชดาได้นัดฟังคำสั่งกรณีที่อังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของทนายสมชาย นีละไพจิตร ได้ยื่นอุทธรณ์คำร้องต่อศาลยุติธรรมเพื่อขอให้คณะกรรมคุ้มครองพยานกรมสอบสวนคดีพิเศษพิจารณาคุ้มครองในฐานะพยานคดีอุ้มหายทนายสมชาย หลังจากที่คณะกรรมการฯ ได้มีมติให้ยุติการคุ้มครองพยานอังคณาไปเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2565 โดยให้เหตุผลว่าคดีของทนายสมชายได้งดการสอบสวนคดีเพราะสอบสวนมานานและไม่ปรากฏตัวผู้กระทำผิด

ในคดีนี้ทนาย ส.รัตนมณี พลกล้า และ ทนายทิตศาสตร์ สุดแสน ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนเดินทางเข้ารับฟังคำสั่งของศาลด้วย

ก่อนหน้านี้ในวันที่ 1 ส.ค. 2565 อังคณาได้เข้าไต่สวนคำร้องในการขอยื่นอุทธรณ์ในครั้งนี้และบุตรสาวได้เข้าร่วมเป็นพยานในการไต่สวนคำร้องด้วยโดยได้บอกเล่าถึงเหตุการณ์การถูกคุกคามข่มขูในหลากหลายเหตุการณ์รวมถึงเหตุการณ์ล่าสุดที่ถูกคนร้ายบุกปากรรไกรใส่หน้าบ้านหลังสิ้นสุดการคุ้มครองพยานของดีเอสไอเพียง 10 กว่าวันด้วย

ทนายความเผยหลังจากนี้คดีที่ยังหาผู้กระทำผิดมาลงโทษไม่ได้จะมีความน่าเป็นห่วงสูงและจะไม่มีใครกล้ามาเป็นพยานอีกเพราะเกรงว่าจะไม่ได้รับการคุ้มครอง

ทิตศาสตร์ให้สัมภาษณ์ภายหลังฟังคำสั่งศาลเสร็จสิ้นว่า วันนี้ศาลพิพากษาว่ากรณีที่ดีเอสไอมีคำสั่งไม่คุ้มครองพยานคุณอังคณาต่อนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว โดยศาลระบุในคำวินิจฉัยสองมุมคือเรื่องของคดีที่ตอนนี้ยังไม่พบผู้กระทำความผิด และคดีก็ได้ถูกยุติการสอบสวนไว้ก่อน และประเด็นเรื่องภัยคุกคามศาลเน้นไปที่การขึ้นให้การของเจ้าหน้าที่ดีเอสไอที่เป็นผู้ดูแลความปลอดภัยของคุณอังคณา โดยเจ้าหน้าที่ได้ระบุในศาลว่าระหว่างที่ดูแลความปลอดภัยมาเป็นเวลา 11 ปี ตั้งแต่ตอนที่คุณอังคณายังไม่ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชน หรือยังไม่ได้ทำงานในระดับสากลก็ยังไม่เห็นภัยคุกคามในรูปแบบอื่น และด้วยภัยคุกคามอย่างอื่น เรื่องโทรศัพท์หรือการปากรรไกรก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเกิดจากเหตุที่ทนายสมชายถูกอุ้มหายไป ศาลจึงมีคำวินิจฉัยว่าคำสั่งของดีเอสที่ไม่คุ้มครองพยานคุณอังคณาต่อนั้นจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

 

“ผมมองว่าคำพิพากษาของศาลในลักษณะดังกล่าวนี้น่าเป็นห่วงว่าต่อไปในกรณีที่เรายังหาตัวผู้กระทำผิดไม่เจอในลักษณะดังกล่าวนี้ แล้วระหว่างนี้ใครจะคุ้มครองพยานในคดีแบบนี้ ซึ่งการที่หน่วยงานรัฐไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้นั้นไม่ใช่ไม่ใช่ความผิดพยาน แต่เป็นรัฐคือดีเอสไอหาไม่เจอเองแล้วยุติการสอบสวน  และเมื่อตัวรัฐเองยุติการสอบสวนไปเองแล้วจะไปเจอผู้กระทำผิดได้อย่างไร และหากไม่ได้รับการคุ้มครองตามคำพิพากษาของศาลในลักษณะนี้ใครจะอยากมาเป็นพยาน ใครจะอยากมาร้องเรียนหน่วยงานรัฐให้ตนเองตกเป็นเป้า ซึ่งทางดีเอสไอก็จะบอกว่าทางคุณอังคณาไม่ได้ทำให้ตัวเองปลอดภัย ยังรับตำแหน่งยังขับเคลื่อนงาน ซึ่งมันก็เป็นความจำเป็นที่ต้องขับเคลื่อนงานเหล่านี้ หากตอนนี้มี พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ที่คุณอังคณาได้ร่วมขับเคลื่อนคดีความก็จะยังดำเนินการต่อได้ ไม่ใช่ยุติการสอบสวนไปในลักษณะดังกล่าวนี้ ไม่ใช่ว่าเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาแล้วจะทำอะไรไม่ได้เลย แล้วประโยชน์สาธารณะมันจะอยู่ตรงไหน” ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าว

 

ทนายระบุเมื่อมีเหตุละเมิดทางอาญาเกิดขึ้นเป็นหน้าที่รัฐที่ต้องคุ้มครองประชาชนให้ปลอดหรือปราศจากอันตรายจากการที่จะถูกคุกคามหรืออะไรก็ตามในฐานะพยาน

ขณะที่ ส. รัตนมณี กล่าวว่า รัฐมีหน้าที่ที่จะต้องปกป้องประชาชน ไม่ให้ถูกบังคับให้สูญหายต้องป้องกันไม่ให้ประชาชนถูกกระทำละเมิดอาญาใด ๆ เลย ดังนั้นเมื่อมันมีเหตุละเมิดทางอาญาเกิดขึ้นก็เป็นหน้าที่รัฐที่ต้องคุ้มครองประชาชนให้ปลอดหรือปราศจากอันตรายจากการที่จะถูกคุกคามหรืออะไรก็ตามในฐานะพยาน ดังนั้นข้ออ้างเรื่องบอกว่าที่ผ่านมาก็ไม่เห็นมีเหตุการณ์ใดๆเกิดขึ้น แล้วยังบอกว่าคดีนี้เกิดเหตุการณ์มานานแล้วมันไม่เป็นเหตุไม่เป็นผลในการที่จะบอกว่าไม่คุ้มครอง มันซึ่งขัดกับหลักของรัฐมีหน้าที่คุ้มครองประชาชน เพราะหลักเรื่องการคุ้มครองพยานนั้นมีขึ้นมาเพื่อที่จะมาบอกว่าถ้ารัฐป้องกันไม่ให้เกิดคดีอาญาได้ รัฐก็มีหน้าที่ที่จะต้องคุ้มครองพยานในคดีอาญาที่เขาเห็นว่ายังมีความเสี่ยงอยู่ เนื่องจากผู้กระทำความผิดยังไม่ได้ถูกนำตัวมาลงโทษ

“ในกรณีเห็นชัดมากว่ามันไม่มีความพยามอีกต่อไปแล้วที่จะนำคนผิดมาลงโทษ มันก็เท่ากับปล่อยให้พยานไปเจอภาวะเสี่ยง โดยที่รัฐไม่ได้รู้สึกว่ารัฐมีหน้าที่ในการที่จะต้องดูแลอีกต่อไป ส่วนว่าถ้ารัฐมองว่าความเสี่ยงนั้นอาจจะมีน้อยเพราะตอนนี้รัฐเองก็ไม่รู้ว่าใครเป็นคนทำ มันก็สามารถที่จะออกมาตรการที่ดูตามลำดับความเสี่ยงได้มันไม่ใช่เรื่องที่จะบอกว่าเพราะฉะนั้นก็เลยไม่เสี่ยงแล้ว ซึ่งการตอบแบบนี้เท่ากับว่าปล่อยให้คนผิดลอยนวล แล้วสมมุติวันดีคืนดีคนร้ายที่ยังลอยนวลอยู่มาดำเนินการทำอะไรคุกคามขึ้นมาใครจะเป็นคนมารับผิดชอบกับความเสียหายที่จะเกิดขึ้น เพราะโดยหลักไม่ใช่รัฐมาแก้ไข แต่รัฐจะต้องมีหน้าที่ป้องกัน ไม่ว่าจะหลักปฏิญญาสากลมันเขียนไว้ชัดว่าหลักคือรัฐมีหน้าที่ป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดดังนั้นตรงนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ” ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าว

อังคณาระบุผิดหวังคำตัดสินของศาลพร้อมชี้ที่ผ่านมาถูกข่มขู่คุกคามหลากหลายรูปแบบโดยล่าสุดถูกบุกปากรรไกรที่หน้าบ้านเผยที่ผ่านมาดีเอสไอมีคำสั่งยกเลิกการคุ้มครองพยานในคดีพิเศษหลายคน

ด้านอังคณาเปิดเผยความรู้สึกหลังรับทราบคำพิพากษาของศาลในวันนี้ว่า “ส่วนตัวรู้สึกผิดหวังที่ศาลยกคำร้องอุทธรณ์คุ้มครองพยาน ในฐานะผู้เสียหายและพยานคดีบังคับสูญหายทนายสมชาย นีละไพจิตร ยอมรับว่าที่ผ่านมาถูกคุกคามหลากหลายรูปแบบ อย่างไรก็ดีเป็นการยากที่จะพิสูจน์ให้ศาลเชื่อว่าการคุกคามเกิดจากสาเหตุอะไร อีกทั้งหลายครั้งไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดได้ ที่ผ่านมากรมสอบสวนคดีพิเศษมีคำสั่งยกเลิกการคุ้มครองพยานในคดีพิเศษหลายคน และแม้พยานบางคนจะได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาล แต่มักถูกยกคำร้องเนื่องจากไม่สามารถพิสูจน์ให้ศาลเชื่อว่าพยานมีความไม่ปลอดภัย หรือหวาดกลัวอย่างไร”

กรมสอบสวนคดีพิเศษรับคดีอุ้มฆ่าทนายสมชายเป็นคดีพิเศษตั้งแต่ปี 2548 ต่อมาได้งดการสอบสวน โดยให้เหตุผลว่าสอบสวนมานาน และไม่ปรากฏตัวผู้กระทำผิด คดีสมชายจึงเป็นคดีที่ไม่มีผู้กระทำผิด ทั้งที่เมื่อปี 2555 รัฐบาลได้ให้การชดใช้เยียวยาแก่ครอบครัวทนายสมชาย ด้วยเหตุผล “เชื่อว่าการบังคับสูญหายเกิดจากการทำของเจ้าหน้าที่รัฐ”

“ที่ผ่านมาเคยขอพบอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษหลายคนเพื่อสอบถามความคืบหน้าคดีสมชาย แต่ก็ไม่เคยได้รับข้อมูลใด ๆ ทางคดี ทำให้ไม่ทราบว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษมีอุปสรรคใด หรืออาจไม่มีความเต็มใจทำคดีนี้หรือไม่ จึงไม่สามารถหาตัวผู้เกี่ยวข้องในการบังคับสูญหายทนายสมชายได้” อังคณา กล่าว

คดีบังคับสูญหายทนายสมชาย นีละไพจิตร ถือเป็นการบังคับสูญหายทนายสิทธิมนุษยชนที่ปกป้องประชาชนจากการละเมิดโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นคดีสำคัญที่ทั่วโลกให้ความสนใจ เพราะการบังคับบุคคลให้สูญหาย เป็นอาชญากรรมร้ายแรงต่อมนุษยชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงควรให้ให้ความสำคัญในการสอบสวนเพื่อนำคนผิดมาลงโทษและไม่ปล่อยให้เกิดอภิสิทธิ์ในการลอยนวลพ้นผิด คดีสมชายจึงไม่ต่างจากคดีบังคับสูญหายอื่น ๆ ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจสอบ ที่ปัจจุบันญาติยังไม่ทราบที่อยู่และชะตากรรมของผู้สูญหาย และผู้กระทำผิดยังคงลอยนวล

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท