Skip to main content
sharethis

ประชุมใหญ่มาราปาตานีครั้งที่ 4 ถกปมเอกภาพในกระบวนการสันติภาพ ชายแดนใต้/ปาตานี โดยประธานกลุ่ม ระบุมาราปาตานีต้องเป็นแพล็ตฟอร์มสำหรับการเดินหน้ากระบวนการสันติภาพด้วยแนวทางทางการเมือง หวังกลุ่มต่อสู้มีเอกภาพ เผยเตรียมพัฒนาเป็นองค์กรทางการเมืองรองรับการบริหารแผ่นดิน

20 ต.ค.2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความไม่เป็นเอกภาพภายในกลุ่มขบวนการต่อสู้ปาตานี เป็นประเด็นหนึ่งที่มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางในที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 4 ของกลุ่มมาราปาตานี (Majlis Syura Patani : MARA PATANI) ระหว่างวันที่ 16-18 ต.ค. ที่ผ่านมา ณ รีสอร์ท Tanjung Demong รัฐตรังกานู ประเทศมาเลเซียที่มีตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคมและผู้นำศาสนาอิสลามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วมด้วยจำนวนหนึ่ง

โดยความไม่เป็นเอกภาพดังกล่าวเป็นอุปสรรคสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้การต่อสู้กับรัฐยังไปไม่ถึงไหนและส่งผลทำให้ประชาชนหมดหวังต่อการแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ โดยเฉพาะในเรื่องกระบวนการพูดคุยสันติภาพหรือการพูดคุยสันติสุข

อาวัง ยาบะ ประธานกลุ่มมาราปาตานี กล่าวว่า มาราปาตานีเกิดขึ้นเนื่องจากเห็นว่า ขบวนการต่อสู้ปาตานีมีหลายกลุ่ม และต่างคนต่างสู้ ทำให้สู้ไม่ได้ มาราปาตานีจึงต้องการเป็นที่รวมของกลุ่มต่อสู้ให้มีเอกภาพ และต้องการเป็นจุดรวมของการต่อสู้ทางการเมือง การนำเสนอความต้องการของคนปาตานีโดยไม่แยกกันนำเสนอกัน

“ผมขอเรียกร้องผู้นำต่างๆ ช่วยกันนำพามาราปาตานี มาร่วมกันหาแนวทางที่ดี ซึ่งไม่มีทางอื่นแล้วที่จะสร้างความเป็นหนึ่งได้ มาราปาตานีนี่แหละที่จะสร้างเอกภาพในการต่อสู้ได้ อย่าต่างคนต่างสู้” ประธานกลุ่มมาราปาตานี กล่าว พร้อมระบุว่ามาราปาตานีต้องเป็นแพล็ตฟอร์มสำหรับการเดินหน้ากระบวนการสันติภาพด้วยแนวทางทางการเมือง โดยอนาคตจะพัฒนาเป็นองค์กรทางการเมืองรองรับการบริหารแผ่นดิน เมื่อกระบวนการสันติภาพไปถึงจุดที่มีข้อตกลงสุดท้ายและเป็นที่ยอมรับของพลเมืองปาตานีไม่ว่าจะได้อำนาจระดับใด ตั้งแต่อำนาจการปกครอง การบริหาร หรือเพียงการจัดการ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกลุ่มมาราปาตานีไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการพูดคุยสันติสุขระหว่างฝ่ายไทยที่มี พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เป็นหัวหน้าคณะ กับฝ่ายบีอาร์เอ็นที่มีอานัส อับดุลเราะมาน เป็นหัวหน้าคณะ

อาบูฮาฟิส ฮัลฮากีม จากกลุ่ม BIPP ในฐานะโฆษกของมาราปาตานี เปิดเผยว่า ตนเคยถูกเชิญให้เข้าร่วมโต๊ะพูดคุยชุดปัจจุบัน แต่ตนปฏิเสธเนื่องจากมีการให้โคต้าเพียง 2 คน แต่ตนต้องการให้สมาชิกมาราปาตานีได้เข้าร่วมทุกคนเพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม

อาบูฮาฟิส กล่าวว่า แม้กลุ่มมาราปาตานีไม่ได้ร่วมโต๊ะพูดคุยในชุดปัจจุบัน ทางกลุ่มมาราปาตานีก็ไม่ได้อยู่นิ่งเฉย ยังคงทำงานด้านสันติภาพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการแสวงหาความร่วมมือในการทำงานกับฝ่ายต่างๆ ทั้งภาคประชาสังคม ภาคประชาชนและความร่วมมือในระดับนานาชาติ

ในขณะที่ ทางฝั่งบีอาร์เอ็นเองก็มีความพยายามที่จะสร้างเอกภาพในกลุ่มขบวนการปาตานีทั้งหมดด้วยเช่นกัน เพื่อให้กระบวนการพูดคุยกับฝ่ายไทยมีความเป็นหนึ่งและสามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดมานานได้โดยเร็วผ่านแนวทางทางการเมือง

โดยมีรายงานข่าวว่า ทางบีอาร์เอ็นได้ตั้งฮาซัน ตอยิบ อดีตหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายบีอาร์เอ็นเมื่อปี 2556 ในสมัยยิงลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นคนกลางในการสร้างความเป็นเอกภาพในกลุ่มขบวนการปาตานีทั้งหมด โดยเฉพาะกับสมาชิกกลุ่มมาราปาตานีที่มาจากบีอาร์เอ็นหลายคนที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งมาราปาตานี เนื่องจากฮาซันเป็นผู้อาวุโสที่ทุกฝ่ายเคารพ อีกทั้งเป็นผู้ที่มีความรู้ทางศาสนาอิสลามและเข้าใจกระบวนการทางการเมืองอย่างดี

ทั้งนี้ เนื่องจากการก่อตั้งกลุ่มมาราปาตานีเพื่อเข้าร่วมกระบวนการพูดคุยกับฝ่ายไทยในช่วงหลังจากรัฐประหารเมื่อปี 2557 จากการที่พล.อ.ประยุทธ์ จันโอชา ต้องการสานต่อกระบวนการพูดคุยหลังจากกระบวนการพูดคุยในสมัยนายกยิ่งลักษณ์ล่มไปแล้วนั้น เป็นมูลเหตุสำคัญของความขัดแย้งภายในอย่างรุนแรง เนื่องจากมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการพูดคุย

โดยฝ่ายบีอาร์เอ็นมองว่า การสร้างเอกภาพนั้นเป็นหน้าที่ของบีอาร์เอ็นที่ต้องดำเนินการ และยังไม่จำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากคนภายนอก และหากสามารถสร้างเอกภาพได้การดำเนินงานต่อหลังจากมีข้อตกลงในการพูดคุยอย่างเป็นทางการในครั้งต่อไปแล้วก็จะง่ายขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการรับฟังความเห็นสาธารณะหรือ “การหารือสาธารณะ” ที่จะมีส่วนสำคัญในการกำหนดอนาคตของปาตานีและการแก้ปัญหาต่างโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกฝ่ายผ่านกระบวนการพูดคุยได้

ส่วนการมีส่วนร่วมบนโต๊ะพูดคุยกับฝ่ายไทยของกลุ่มต่างๆ นั้น มีรายงานว่า ฮาซันต้องการให้การพูดคุยครั้งนี้ดำเนินการโดยฝ่ายบีอาร์เอ็นไประยะหนึ่งก่อน หรือให้มีผลจากการพูดคุยในระใดระดับหนึ่งก่อน จากนั้นจึงจะเชิญทุกกลุ่มเข้าร่วมได้

โดยคณะพูดคุยและทีมงานของบีอาร์เอ็นได้ผ่านการเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศมาแล้วตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันตอนนี้ทางบีอาร์เอ็นได้จัดเตรียมกองกำลังที่มีความพร้อมสำหรับรองรับการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการพูดคุยสันติภาพแล้ว ซึ่งต่างจากการพูดคุยเมื่อปี 2556 ที่ไม่มีความพร้อม

สำหรับข้อเสนอในการพูดคุยอย่างเป็นทางการกับฝ่ายไทยครั้งต่อไป ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ มีรายงานข่าวว่า ทางบีอาร์เอ็นยังจะขอให้ฝ่ายไทยได้ร่วมลงนามในการหยุดยิงเช่นเดิม เพื่อพิสูจน์ความจริงใจ และเพื่อให้สามารถดำเนินพูดคุยต่อในประเด็นสารัตถะอื่นๆ ต่อไปได้ ไม่ใช่เพียงการลดปฏิบัติการทางทหารหรือลดการใช้ความรุนแรงเท่านั้น เพราะคำว่าลดปฏิบัติการนั้น อาจถูกตีความว่าเป็นการลดปฏิบัติการแล้วจาก 10 ครั้งเป็น 8 ครั้งก็คือการลดปฏิบัติการแล้ว

จากประเด็นการพูดคุยในเวทีของมาราปาตานี และรายงานข่าวจากบีอาร์เอ็น จะเห็นได้ว่า โจทย์สำคัญของกระบวนการพูดคุยสันติภาพปาตานีหรือสันติสุขชายแดนใต้นั้น อยู่ที่ความเป็นเอกภาพของกลุ่มผู้นำขบวนการต่างๆ ในการเผชิญหน้าการพูดคุยกับฝ่ายไทย ซึ่งหากสามารถสร้างความเป็นหนึ่งได้ อย่างน้อยก็จะเป็นแบบอย่างที่ดีให้ประชาชนในพื้นที่ได้ ไม่เป็นไปอย่างที่มีการประชดประชันกันทั่วไปว่า “ขนาดผู้นำยังทะเลาะกัน แล้วจะไม่ให้ประชาชนแตกแยกได้อย่างไร”

อีกทั้งเอกภาพดังกล่าวสามารถสร้างความหวังให้กับประชาชนได้ว่า โอกาสในการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยแนวทางทางการเมืองผ่านกระบวนการพูดคุยที่ยิ่งมีมากขึ้นนั้น จะสามารถลดโอกาสการใช้ความรุนแรงได้มากตามไปด้วยเช่นกัน โดยไม่มีการยื้อยุดฉุดกระชากกันเองที่จะซ้ำเติมความขัดแย้งและความรุนแรง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net