Skip to main content
sharethis

นักกิจกรรมเผย แรงงานชาวมาเลเซีย 700 คน ถูกหลอกไปทำงานสแกมเมอร์ ทั้งในลาว-กัมพูชา-พม่า แหล่งข่าวของ RFA เผยทริคใหม่มิจฉาชีพ ด้านกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซียเร่งช่วยเหลือ 

 

20 ต.ค.2565 เมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา เรดิโอฟรีเอเชีย ภาคภาษาลาวรายงานว่า ฮิชามุดดิน ฮาชิม (Hishamuddin Hashim) เลขานุการองค์การมาเลเซียเพื่อสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (Malaysia International Humanitarian Organization) อัปเดตข้อมูลว่า ตัวเลขแรงงานมาเลเซียที่ถูกหลอกไปทำงานสแกมเมอร์ในต่างประเทศมีจำนวน 700 คน โดยจำนวนนี้ไม่ได้กระจุกในสปป.ลาวอย่างที่สื่อหลายสำนักรายงานไปก่อนหน้านี้ แต่รวมไปถึงเหยื่อในกัมพูชา และพม่าด้วย

ก่อนหน้านั้น สำนักข่าวเรดิโอฟรีเอเชีย รายงานว่าได้พูดคุยกับแรงงานชาวลาวที่เคยทำงานเป็นสแกมเมอร์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำแต่สุดท้ายสามารถหนีออกมาได้ 

“เป็นเรื่องที่ยากมาก สำหรับแรงงานข้ามชาติที่จะหนีออกไป หรือเข้าถึงความช่วยเหลือเมื่อถูกนายจ้างละเมิดสิทธิ” เขากล่าว โดยขอสงวนชื่อด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย 

“นายจ้างชาวจีนยึดพาสปอร์ตและโทรศัพท์มือถือของแรงงานไว้ และคนงานส่วนใหญ่ก็จะถูกกักขังในอาคาร” เขาเล่าว่าถ้าในกรณีที่แรงงานที่เป็นคนต่างชาติอย่างมาเลเซีย ก็จะมีปัญหาในการร้องเรียนกับทางการลาวเนื่องจากอุปสรรคทางภาษา

“เมื่อแรงงานที่เป็นคนต่างชาติถูกนายจ้างชาวจีนละเมิดสิทธิ พวกเขาก็ไม่รู้ว่าควรแจ้งเรื่องนี้ไปที่หน่วยเฉพาะกิจเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาลลาว หรือสถานทูตของประเทศตัวเอง” เขากล่าวเสริม

ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 25 ก.ย.65 สำนักข่าวเดอะนิวสเตรทไทม์ของมาเลเซียรายงานว่า แรงงานที่เป็นคนต่างชาติที่ติดอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำต้องเผชิญกับความรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ รายงานระบุว่ามีคนงานบางคนถูกยิงเมื่อขัดคำสั่งนายจ้าง 

เดอะนิวสเตรทไทม์รายงานเพิ่มเติมว่า เครือข่ายมิจฉาชีพออนไลน์ยังเรียกเงินค่าไถ่จากครอบครัวของเหยื่อด้วย ซึ่งก็มีตั้งแต่ 5,000 ริงกิตมาเลเซีย (10,782 ดอลลาร์สหรัฐ) ไปจนถึง 100,000 ริงกิตมาเลเซีย (21,565 ดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อแลกกับการปล่อยตัวเหยื่อ

ในประเด็นนี้ เรดิโอฟรีเอเชียติดต่อไปหาเจ้าหน้าที่ด้านแรงงาน คณะคุ้มครองเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ (Management Board of the Special Economic Zone) ในแขวงบ่อแก้ว เพื่อขอทราบเกี่ยวกับแนวทางช่วยเหลือคนงานจากต่างประเทศที่ถูกหลอกไปทำงานในพื้นที่ดังกล่าวแต่ไม่สามารถติดต่อได้

ในระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมานี้ มีแรงงานชาวลาวและต่างประเทศจำนวนมากถูกหลอกให้มาทำงานเป็นสแกมเมอร์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำที่เป็นของทุนจีน ทำให้เมื่อเดือนก.ค. ที่ผ่านมา สำนักงานส่งเสริมและบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ กระทรวงการวางแผนและการลงทุน ออกประกาศห้ามแรงงานลาวเข้าทำงานในพื้นที่ดังกล่าว แต่ในขณะนี้ก็ยังมีแรงงานชาวลาวเข้าไปทำงานอยู่ในเขตดังกล่าวเป็นจำนวนมาก 

“ถ้าใช้ภาษาอังกฤษได้ดี จะได้เงินเดือนมากถึง 6,000 หยวน ถ้าเป็นผู้ชายไม่ค่อยรับ เขาจะรับผู้หญิง” แรงงานชาวลาวคนหนึ่งบอกกับเรดิโอฟรีเอเชีย

สอดคล้องกับคำบอกเล่าจากคนงานลาวอีกคนหนึ่งที่ทำงานอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ กล่าวว่าจนถึงขณะนี้ สแกมเมอร์ที่นี่ไม่ได้หลอกแค่คนลาวในประเทศให้โอนเงินผ่านระบบออนไลน์เท่านั้น แต่ยังหลอกชาวต่างชาติด้วยให้โอนเงินเข้ามาด้วย เพราะการหลอกลวงเหยื่อที่ใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะได้เงินมากกว่า ฉะนั้นเครือข่ายมิจฉาชีพออนไลน์จึงต้องการแรงงานที่พูดภาษาอังกฤษได้เข้ามาทำงานสแกมเมอร์ เช่น จากมาเลเซีย อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ หรือคนงานประเทศไหนก็ตามที่พูดภาษาอังกฤษได้ดี

เมื่อวันที่ 7 และ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา เรดิโอฟรีเอเชียติดต่อไปยังสถานทูตมาเลเซีย ประจำสปป.ลาวผ่านทางอีเมล เพื่อขอทราบเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ที่ถูกหลอกไปทำงานสแกมเมอร์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำซึ่งเจ้าหน้าที่สถานทูตทราบเรื่องแล้ว แต่ยังไม่สามารถให้ความเห็นใดๆ ได้

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 6 ต.ค.65 กระทรวงการต่างประเทศมาเลเซียออกแถลงการณ์ระบุว่าได้ดำเนินการช่วยเหลือผ่านทางสถานทูตมาเลเซียในกรุงพนมเปญและเวียงจันทน์ โดยภารกิจการช่วยเหลือสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี สามารถช่วยแรงงานมาเลเซีย 21 คนที่ติดอยู่ในพนมเปญและลาวกลับสู่มาเลเซีย แบ่งเป็นจากกัมพูชา 14 คน และจากลาว 7 คน ส่วนแผนการช่วยเหลือแรงงานมาเลเซียที่ถูกหลอกไปทำงานสแกมเมอร์และมีความเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ในต่างประเทศนั้น กระทรวงการต่างประเทศมาเลเซียจะประสานงานการช่วยเหลือผ่านทางสถานทูตมาเลเซียในลาว กัมพูชาและไทยต่อไป

เรียบเรียงจาก:

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net