'ก้าวไกล' ซัดรัฐบาลไม่รู้ร้อนรู้หนาว จี้เร่งเยียวยาน้ำท่วมรวมเร็ว-ครอบคลุม-ทั่วถึง อย่าปล่อยให้ประชาชนหนี้สินท่วมหัวพร้อมกับน้ำ อังคารที่ผ่านมาครม.รับทราบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยปี 65 ของกระทรวงการคลัง
21 ต.ค.2565 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานต่อสื่อมวลชนว่า กรุณพล เทียนสุวรรณ รองโฆษกพรรคก้าวไกล ร่วมกับพงษ์เดช เดชกล้า ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคก้าวไกล เขต 9 จ.ศรีสะเกษ สำรวจความเดือดร้อนพี่น้องประชาชนใน อ.ยางชุมน้อย และ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ เพื่อรวบรวมข้อมูลความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม แล้วนำไปประมวลเป็นรายละเอียดเพื่อเสนอต่อรัฐบาลในการออกมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วมต่อไป
โดยในหลายพื้นที่มีน้ำท่วมไร่นาทำลายพืชผลการเกษตรของชาวบ้าน 100% ทำให้ชาวบ้านไม่มีข้าวสำหรับบริโภคภายในครัวเรือน และไม่มีรายได้จากการประกอบอาชีพเกษตรเนื่องจากไร่น่าเสียหายถูกน้ำท่วม เมื่อไม่มีรายได้ก็กระทบต่อวงจรการชำระหนี้ ทำให้มีหนี้สินพอกพูนขึ้นไปอีก
ส่วนบ้านเรือนก็ถูกท่วมมิดหลังคา จนต้องย้ายออกมาอยู่ศูนย์อพยพที่ทางองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจัดหาไว้ให้ เบื้องต้นประเมินว่ามีชาวบ้านจำนวนไม่น้อยต้องซ่อมแซมบ้านทั้งหลังเนื่องจากจมน้ำมิดหลังคา บางรายอาจต้องใช้เงินซ่อมกว่า 100,000 บาท แต่เมื่อย้ายออกมาแล้ว ก็ประกอบอาชีพลำบาก หุงหาอาหารทุลักทุเล แม้จะพอได้รับความช่วยเหลืออยู่บ้างแต่ก็มีต้นทุนชีวิตที่สูงกว่าปกติ
"น้ำท่วมไม่ใช่แค่น้ำท่วม แต่มันส่งผลกระทบต่อการทำงาน การใช้ชีวิตของผู้คน รวมถึงวงจรหนี้สินที่พอกหูนท่วมหัวพอๆ กับน้ำท่วมมิดหลังคาบ้าน เราขอกดดันไปยังรัฐบาลให้เร่งออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนโดยทันที แม้ที่ผ่านมารัฐบาลเพิ่งอนุมัติงบประมาณไปแล้วเบื้องต้น 6 พันล้านบาท แต่ยังไม่ถึงมือประชาชนและยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ ดังนั้น เราคาดหวังว่าความช่วยเหลือจะต้องถึงมือประชาชนโดยรวดเร็ว ครอบคลุม และทั่วถึง รัฐบาลอย่าทำตัวไม่รู้ร้อนรู้หนาว ปล่อยให้ประชาชนลอยคอตามยถากรรมเช่นนี้" กรุณพล เทียบสุวรรณ รองโฆษกพรรคก้าวไกลกล่าว
เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center เสนอ 'เบี้ยน้ำท่วม' แก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมโดยคิดเป็นรายหัว หัวละ 3,000 บาทต่อเดือน ทันที ไม่ใช่เหมาจ่ายทั้งครัวเรือนแบบที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ เนื่องจากไม่เพียงพอต่อและไม่ทันต่อสถานการณ์ปัญหาที่ประชาชนประสบในช่วงน้ำท่วม เช่น การซ่อมบ้าน การอพยพ การเดินทางสัญจร การหุงหาอาหาร รวมทั้งการสูญเสียโอกาสในการประกอบอาชีพ และอยากให้หน่วยราชการช่วยเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ทั้งการเตรียมพันธุ์ข้าวปลูกให้เพียงพอ ข้าวเปลือกที่จะใช้ในการบริโภคในปีหน้า และการปรับการเยียวยาไร่นาเกษตรกร ให้สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายจริงที่พี่น้องเกษตรกรได้ลงทุนไป
สุดท้าย พงษ์เดช เดชกล้า ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคก้าวไกล เขต 9 จ.ศรีสะเกษ กล่าวปิดท้ายว่าจากการพูดคุยสำรวจความทุกข์ร้อนของชาวบ้าน พวกเขาไม่ได้อยากให้น้ำท่วมเพื่อจะได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาลทุกปี พวกเขาแค่ต้องการกลับบ้าน ต้องการใช้ชีวิตปกติสุข ไม่อยากให้น้ำท่วมเลย หรือถ้าท่วม อย่างน้อยก็ต้องมีการบริหารจัดการเพื่อลดความเสียหาย ไม่ให้ท่วมหนักและนานเช่นนี้
ครม.รับทราบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยปี 65 ของกระทรวงการคลัง
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฎิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี 18 ต.ค.65 รับทราบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยปี 2565 ของกระทรวงการคลัง จำนวน 6 หน่วยงาน รวม 14 มาตรการ ประกอบด้วย กรมสรรพากร จำนวน 5 มาตรการ กรมศุลกากร จำนวน 2 มาตรการ กรมสรรพสามิต จำนวน 1 มาตรการ กรมบัญชีกลาง จำนวน 2 มาตรการ กรมธนารักษ์ จำนวน 2 มาตรการ และการยาสูบแห่งประเทศไทย จำนวน 2 มาตรการ สาระสำคัญ ดังนี้
กรมสรรพากร ประกอบด้วย
- มาตรการลดหย่อนภาษี : บุคคลธรรมดาสามารถหักลดหย่อนได้ 1 เท่าแต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมิน กรณีบริษัท/ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หักรายจ่ายเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคได้ 1 เท่า แต่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ สำหรับการบริจาคให้แก่ส่วนราชการหรือองค์การสาธารณกุศล รวมทั้งการบริจาคผ่านบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นที่นำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยด้วย ซึ่งในกรณีหลังนี้ ผู้ประกอบการยังได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริจาคสินค้าด้วย
- มาตรการยกเว้นภาษี : บุคคลธรรมดาและบริษัทนิติบุคคล ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ กรณีได้เงินชดเชยที่ได้รับจากรัฐบาล เงิน/ทรัพย์สินที่ได้รับบริจาคหรือช่วยเหลือ ไม่เกินมูลค่าความเสียหาย และสินใหม่ทดแทนที่ได้รับจากบริษัทประกันภัย
- มาตรการระยะเร่งด่วน ได้แก่ ขยายระยะเวลายื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีหรือนำส่งภาษี และการขอเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน จากเดิมที่ต้องยื่นหรือขอภายในเดือนตุลาคม 2565 และเดือนพฤศจิกายน 2565 ออกไปเป็นภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2565
- มาตรการในระยะถัดไป : บุคคลธรรมดา สามารถหักลดหย่อนค่าซ่อมแซอสังหาริมทรัพย์ ที่ได้รับความเสียหายตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาทและ ค่าซ่อมแซมรถตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท
2. กรมศุลกากร : ยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับของที่นำเข้ามาเพื่อบริจาคให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย 2565
3. กรมสรรพสามิต : ขยายกำหนดเวลายื่นงบเดือนสำหรับ ผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้ประกอบกิจการสถานบริการในจังหวัดที่มีการประกาศเขตพื้นที่ประสบอุทกภัยตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน - 31 ตุลาคม 2565 จากเดิมในเดือนตุลาคม 2565 ออกไปเป็นภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565
4. กรมบัญชีกลาง : ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่ประกาศให้ท้องที่เป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน สามารถใช้จ่ายเงินทดลองราชการในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดจำนวน 20 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และจังหวัดสามารถขอขยายวงเงินทดรองราชการเพิ่มเติมต่อกระทรวงการคลัง ในกรณีที่วงเงินทดรองราชการไม่เพียงพอได้
5. กรมธนารักษ์ : ยกเว้นค่าเช่าสูงสุด เป็นระยะเวลา 2 ปี สำหรับที่อยู่อาศัยที่เสียหายทั้งหลังและที่อยู่อาศัยที่เสียหายบางส่วน ยกเว้นค่าเช่า 1 ปี และในกรณีที่ไม่สามารถชำระค่าเช่าให้ยกเว้นการคิดเงินเพิ่มเติมตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดหาประโยชน์ในราชพัสดุพ.ศ. 2552
6. การยาสูบแห่งประเทศไทย : ช่วยเหลือพนักงานยาสูบและครอบครัว ตามหลักเกณฑ์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากการดำรงชีพและความเสียหายของทรัพย์สินหรือที่อยู่อาศัย เป็นต้น
ทั้งนี้ ให้มีผล ตั้งแต่ ตามประกาศของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง