Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ต่อกรณีเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นในศูนย์เด็กเล็ก อบต. อุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา หากพิจารณาตามหลัก ‘อิทัปปัจจยตา’ ก็จะพบว่า มีเหตุปัจจัยเกี่ยวข้องมากมาย สิ่งที่ปรากฏให้เห็นเป็นเพียงเศษเสี้ยวส่วนหนึ่งเท่านั้น เปรียบเสมือนการมองเห็นภูเขาน้ำแข็งเฉพาะในส่วนที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเล ข้างใต้ลึกลงไปยังมีก้อนน้ำแข็งที่ใหญ่โตมหึมาอีกมากมาย

เหตุปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์ให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ คือ ปัญหายาเสพติด ถามว่าเหตุปัจจัยแห่งปัญหายาเสพติดคืออะไร หากไล่เรียงลึกลงไปก็จะพบว่ามีเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องอีกเยอะแยะมากมายเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศึกษา การบังคับใช้กฎหมาย ค่านิยม แนวคิด การแก่งแย่งแข่งขัน ความแตกต่างเหลื่อมล้ำ การกดขี่ข่มเหงเอารัดเอาเปรียบ ความอยุติธรรมทั้งหลายทั้งปวง ฯลฯ

ทั้งนี้ การศึกษาน่าจะเป็นเหตุปัจจัยสำคัญสูงสุด อาจกล่าวได้ว่าเป็นรากเหง้าที่มาของปัญหาแทบทุกเรื่อง ต้องยอมรับความจริงว่าบ้านเมืองเราตอนนี้มีวิกฤตปัญหาเรื่องการศึกษามากจริง ๆ การศึกษาที่เหินห่างจากธรรมชาติอันบริสุทธ์ ตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลสตัณหา บูชาความอร่อยทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขบถต่อความจริง ความถูกต้อง เป็นทาสทางสติปัญญา เป็นการศึกษาระบบสุนัขหางหาย ดั่งที่ท่านพุทธทาสภิกขุเคยกล่าวไว้ แล้วเราจะแก้ไขปัญหากันอย่างไร

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) กล่าวว่า ‘หลักอริยสัจสี่’ ถือเป็นระบบใหญ่ที่ครอบคลุมกระบวนการในการแก้ไขปัญหาทั้งมวล ซึ่งมีสาระสำคัญพอสรุปได้ว่า เมื่อเจอกับปัญหาหรือ ‘ทุกข์’ ก็ต้องสืบสาวหาเหตุปัจจัยว่าเกิดจากอะไร เรียกว่า ‘สมุทัย’ เมื่อพบแล้วก็ต้องเล็งจุดหมายว่าเราจะเอาอะไรและจะสามารถทำได้แค่ไหนเพียงใด แล้วตั้งเป้าหมายขึ้นมา เรียกว่า ‘นิโรธ’ เมื่อตั้งเป้าหมายชัดแล้ว ก็จะมาสู่ขั้นการลงมือปฏิบัติเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย เรียกว่า ‘มรรค’

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนและง่ายต่อการทำความเข้าใจท่านได้ยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับการแก้ไขปัญหาเรื่องไฟไหม้ไว้ ดังนี้

1. ทุกข์ คือ ไฟไหม้ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สิน

2. สมุทัย คือ การสืบสาวหาเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดทุกข์ ซึ่งกรณีไฟไหม้นี้จะเห็นได้ว่า มีเหตุปัจจัยที่ทำให้ไฟลุกไหม้ตามกระบวนการของธรรมชาติคือ เชื้อเพลิง ก๊าซออกซิเจน และมีอุณหภูมิที่สูงพอ     

3. นิโรธ คือ การเล็งจุดหมายหรือตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนว่า เราจะดับไฟโดยสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ตามเหตุปัจจัยแห่งธรรมชาติได้อย่างไร ทั้งนี้ จะต้องสัมพันธ์กับความจริงและวิสัยของเราที่จะทำได้ด้วย กล่าวคือ เราจะเอาข้อให้ไม่มีออกซิเจน ทำให้อุณหภูมิต่ำ หรือจะให้ไม่มีเชื้อเพลิง หรือเอาทั้งสามอย่าง เอาข้อไหนเด่นข้อไหนรอง

4. มรรค คือ วิธีการหรือหนทางในการจัดการดับทุกข์ เป็นขั้นตอนของการวางวิธีปฏิบัติเพื่อทำให้เกิดผลตามที่ตั้งจุดหมายไว้ในข้อนิโรธ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และมีรูปแบบวิธีการต่าง ๆมากมาย เช่น ต้องจัดซื้อรถดับเพลิง มีถังเก็บน้ำ ท่อสายยาง บันได การฝึกฝนพนักงานดับเพลิงให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และความพร้อมในการทำงาน เป็นต้น 

หากนำเอาหลักอริยสัจสี่มาปรับใช้กับการแก้ไขปัญหายาเสพติดน่าจะได้ว่า

1. ทุกข์ คือ ผู้คนในสังคมติดยาเสพติด ก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายทั้งต่อตัวผู้เสพ สมาชิกในครอบครัว และสังคมส่วนรวม

2. สมุทัย คือ ปัญหาที่เกี่ยวข้องสืบเนื่องมาจากระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศึกษา การบังคับใช้กฎหมาย ค่านิยม แนวคิด การแก่งแย่งแข่งขัน ความแตกต่างเหลื่อมล้ำ การกดขี่ข่มเหงเอารัดเอาเปรียบ ความอยุติธรรมทั้งหลายทั้งปวง ฯลฯ

3. นิโรธ คือ การลดจำนวนผู้เสพและผู้ค้ายาเสพติดให้เหลือน้อยที่สุด

  • ให้ผู้เสพเลิกเสพ ผู้ที่ยังไม่เสพไม่คิดเสพ
  • ให้ผู้ค้าเลิกค้า ผู้ที่ยังไม่ค้าไม่คิดค้า
  • การทำงานของภาครัฐมีประสิทธิภาพทั้งในแง่การป้องกัน ปราบปราม และการบำบัดรักษา
  • ทำให้ชุมชนเข้มแข็งและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา

4. มรรค  มีวิธีการใหญ่สำคัญ 2 ประการ คือ การจัดตั้งวางระบบโครงสร้างหรือกฎเกณฑ์กติกาต่าง ๆทั้งหลายทั้งปวงในสังคมให้เป็นไปตามหลักนิติรัฐที่ถูกต้องตามธรรมและการติดอาวุธทางปัญญาให้กับผู้คนในสังคมด้วยการศึกษาที่ถูกต้องตามธรรม

การทำความเข้าใจกับแนวทางการนำเอาหลักอริยสัจสี่มาปรับใช้กับการแก้ไขปัญหายาเสพติดดังกล่าวคงไม่ใช่เรื่องยากอะไร แต่ปัญหาจะอยู่ที่ภาคปฏิบัติหรือขั้นมรรควิธีซึ่งมีขอบข่ายกว้างขวางใหญ่โตและมีเหตุปัจจัยน้อยใหญ่มากมายเข้าไปเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง ‘อำนาจ’ และ ‘ผลประโยชน์’

หากพิจารณาตามหลัก ‘อิทัปปัจจยตา’ การมีระบบโครงสร้างหรือกฎเกณฑ์กติกาตามหลักนิติรัฐที่ถูกต้องตามธรรม จะเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาตามสมุทัยแห่งทุกข์ทั้งมวล รวมทั้งยังเอื้อหรือเกื้อหนุนต่อการติดอาวุธทางปัญญาให้กับผู้คนในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะนำไปสู่จุดมุ่งหมายในข้อนิโรธที่ตั้งไว้

การมีระบบโครงสร้างหรือกฎเกณฑ์กติกาตามหลักนิติรัฐที่ถูกต้องตามธรรมจะช่วยทำให้สังคมได้ผู้นำสูงสุดคือนายกรัฐมนตรีที่ดีมีประสิทธิภาพ เมื่อนายกเป็นคนดีมีประสิทธิภาพก็จะแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีที่ดีมีประสิทธิภาพ นายกและรัฐมนตรีที่ดีมีประสิทธิภาพก็จะแต่งตั้งปลัดกระทรวง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการเหล่าทัพ เลขาธิการ ปปส. ปปง. ปปท.ฯลฯ ที่ดีมีประสิทธิภาพ และต่อจากนั้นก็จะมีการแต่งตั้งข้าราชการที่ดีมีประสิทธิภาพให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆต่อ ๆกันไปจนถึงระดับผู้ปฏิบัติชั้นล่างสุด

ตราบใดที่สังคมไทยยังมีรัฐธรรมนูญอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็คงป่วยการที่จะไปเสียเวลาคิดหาวิธีจัดการแก้ไขปัญหายาเสพติดหรือวิกฤตปัญหาอื่นใดในสังคม เพราะคงทำให้เพียงแค่จัดการกับปลายยอดภูเขาน้ำแข็งหรือใช้ถังตักน้ำหิ้วไปรดดับไฟป่าที่กำลังลุกกระพือโหมไปทั่วทั้งหุบเขา.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net