Skip to main content
sharethis

สปส. ห่วงผู้ประกันตน ม.33 ม.39 ย้ำสิทธิตรวจสุขภาพฟรีก่อนสิ้นปี

ผู้ประกันตนหลายคนในวัยทำงานที่ใช้ชีวิตอยู่กับความเร่งรีบจนละเลยการดูแลสุขภาพและส่วนใหญ่คิดว่าตนเองมีสุขภาพแข็งแรงดี จึงมักมองข้ามการตรวจสุขภาพประจำปีไป แต่ในความเป็นจริงแล้วทุก ๆ คนควรตรวจสุขภาพประจำปีอย่างน้อยปีละครั้ง ซึ่งถือเป็นเรื่องพื้นฐานด้านสุขภาพที่จะส่งผลดีต่อตัวผู้ประกันตน เพราะอย่างน้อยจะช่วยคัดกรองและประเมินสุขภาพของผู้ประกันตนได้ในเบื้องต้น ซึ่งจะนำไปสู่การป้องกันการเกิดโรคหรือหากพบโรคตั้งแต่เริ่มแรกจะช่วยให้ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า สำนักงานประกันสังคมให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพร่างกายของผู้ประกันตนและการเข้าถึงสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลที่ดีและครอบคลุมถึงการตรวจสุขภาพประจำปีอีกด้วย ดังนั้นผู้ประกันตนจึงควรตระหนักและให้ความสนใจกับการตรวจสุขภาพที่สามารถใช้สิทธิได้ทุก ๆ ปี และสำหรับปี 2565 นี้ ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 สามารถเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ตามสิทธิของผู้ประกันตน ถือเป็นการเสริมสร้างสุขภาพให้แก่ผู้ประกันตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถเข้ารับการตรวจร่างกายได้หลายรายการดังนี้

ตรวจร่างกายทั่วไป การคัดกรองการได้ยิน Finger Rub Test อายุ 15 ขึ้นไป ตรวจ 1 ครั้ง/ปี การตรวจเต้านมโดยแพทย์ หรือบุคลากรสาธารณสุข โดยอายุ 30-39 ปี ตรวจทุก 3 ปี อายุ 40-54 ปี ตรวจทุกปี อายุ 55 ปีขึ้นไป ตรวจตามความเหมาะสมหรือมีความเสี่ยง การตรวจตาโดยความดูแลของจักษุแพทย์ อายุ 40-54 ปี ตรวจ 1 ครั้ง อายุ 55 ปีขึ้นไป ตรวจทุก 1-2 ปี การตรวจสายตาด้วย Snellen Eye Chart อายุ 55 ปีขึ้นไป ตรวจ 1 ครั้ง/ปี 2. ตรวจทางห้องปฏิบัติการ ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด CBC อายุ 18-54 ปี ตรวจ 1 ครั้ง อายุ 55-70 ปี ตรวจ 1 ครั้ง/ปี ปัสสาวะ UA อายุ 55 ปีขึ้นไป ตรวจ 1 ครั้ง/ปี 3. ตรวจสารเคมีในเลือด น้ำตาลในเลือด FBS อายุ 35-54 ปี ตรวจทุก 3 ปี อายุ 55 ปีขึ้นไป ตรวจ 1 ครั้ง/ปี การทำงานของไต Cr อายุ 55 ปีขึ้นไป ตรวจ 1 ครั้ง/ปี ไขมันในเส้นเลือดชนิด Total Cholesterol & HDL อายุ 20 ปีขึ้นไป ตรวจทุก 5 ปี 4. การตรวจอื่น ๆ เช่น เชื้อไวรัสตับอักเสบ HBsAg สำหรับผู้ที่เกิดก่อน พ.ศ. 2535 ตรวจ 1 ครั้ง มะเร็งปากมดลูก Pap Smear อายุ 30-54 ปี ตรวจทุก 3 ปี อายุ 55 ปีขึ้นไป ตรวจตามความเหมาะสมหรือมีความเสี่ยง มะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี Via อายุ 30-54 ปี ตรวจทุก 5 ปี แต่ถ้าอายุ 55 ปีขึ้นไป แนะนำให้ตรวจ Pap smear ตรวจเลือดในอุจจาระ FOBT อายุ 50 ปีขึ้นไป ตรวจ 1 ครั้ง/ปี และ Chest X-ray อายุ 15 ปีขึ้นไป ตรวจ 1 ครั้ง

ทั้งนี้ ผู้ประกันตนควรให้ข้อมูลด้านสุขภาพอย่างชัดเจน เพื่อเป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์ผลสุขภาพต่อไป โดยการเตรียมตัวตรวจสุขภาพประจำปีนั้น ผู้ประกันตนควรงดอาหารและเครื่องดื่มอย่างน้อย 8-10 ชั่วโมง นอนหลับพักผ่อนไม่น้อยกว่า 6-8 ชั่วโมง สวมใส่เสื้อที่สะดวกต่อการตรวจร่างกาย งดดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 24 ชั่วโมง หลีกเลี่ยงการรับประทานของหวานหรือดื่มน้ำหวาน สำหรับผู้ประกันตนหญิงไม่ควรอยู่ในช่วงก่อนหรือหลังมีประจำเดือน 7 วัน ทั้งนี้หากมีโรคประจำตัว ควรนำเอกสารหรือยาที่รับประทานอยู่มาให้แพทย์ดูด้วย เพื่อใช้ประกอบการวิเคราะห์ผลตรวจ

ที่มา: ไทยโพสต์, 21/10/2565

เร่งอัพสกิลแรงงานไทยส่งออกซาอุฯ ทำงานแท่นขุดเจาะ ลดปัญหาว่างงาน

20 ต.ค. 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลเน้นย้ำให้กระทรวงแรงงานต้องฝึกทักษะฝีมือให้แก่แรงงานในสาขาอาชีพที่ตลาดแรงงานมีความต้องการ ทั้งตลาดแรงงานในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งแรงงานไทยจำเป็นจะต้องเตรียมความพร้อมก่อนไปทำงานต่างประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

ทั้งนี้ ประเทศซาอุดีอาระเบียมีความต้องการแรงงานในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องภาคอุตสาหกรรม อาทิ ปิโตรเลียม ก่อสร้าง และภาคบริการ อาทิ การดูแลสุขภาพ นวดสปา โรงแรม การประกอบอาหาร ซึ่งกระทรวงแรงงาน มีเป้าหมายในการจัดส่งแรงงานที่มีฝีมือและกึ่งฝีมือ เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ พร้อมทั้งสร้างโอกาสในการพัฒนาทักษะต่างแดนเพื่อสร้างความเข้มแข็งและประสบการณ์ให้แก่แรงงานไทย

ดังนั้น การส่งเสริมการมีงานทำโดยการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ นับเป็นนโยบายเร่งด่วนที่สำคัญในการบรรเทาปัญหาการว่างงานในประเทศ และยังสามารถนำเงินตราเข้าประเทศได้ นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของไทย จึงได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน บูรณาการร่วมภาคีเครือข่าย จัดฝึกอบรมให้แก่แรงงานที่กำลังว่างงาน หรือแรงงานที่สนใจไปทำงานต่างประเทศ

นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ดำเนินโครงการยกระดับสมรรถนะแรงงานในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศซาอุดีอาระเบีย เป้าหมาย 130 คน ซึ่งในวันนี้ (20 ตุลาคม 2565) ได้มีการเปิดโครงการดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ณ โรงแรมลากูน่าแกรนด์ แอนด์ สปา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา

การฝึกอบรมแบ่งออกเป็น 5 รุ่น รุ่นละ 26 คน ระยะเวลาการฝึก 144 ชั่วโมง ดำเนินการฝึกโดยวิทยากรผู้มีความรู้และความเชี่ยวชาญจากบริษัท พีทีอี พลัส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทประกอบธุรกิจรับเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำด้านการบริหารงาน การเงิน และวิศวกรรม และบริษัท เอ็มพีซี ฟิวเจอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจประเภทการขายส่ง-ปลีก การซ่อมยานยนต์ และจักรยานยนต์ ให้บริการด้านการขายส่งเครื่องจักรและอุปกรณ์งานวิศวกรรมโยธา งานเหมืองแร่ และงานก่อสร้าง อีกทั้งยังเป็นสถานที่ฝึกอบรม และสถานทดสอบฝีมือแรงงานอีกด้วย

โดยผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับความรู้พื้นฐานของการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ความปลอดภัยในการทำงานในแท่นขุดเจาะ ความรู้และเทคนิคในการทำงาน พื้นฐานการดํารงชีวิตในต่างประเทศ และการเตรียมความพร้อมก่อนไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งการฝึกอบรมรุ่นที่ 1 ดำเนินการแล้วเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2565 และอีก 4 รุ่น จัดฝึกอบรมตามแผนที่กำหนดไว้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 24 ธันวาคม 2565 เมื่อฝึกจบจะได้เข้ารับการทดสอบฝีมือ หากผ่านการทดสอบแล้ว กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะประสานส่งรายชื่อให้แก่กรมการจัดหางานเพื่อดำเนินการจัดหาตำแหน่งงานและจัดส่งไปทำงานที่ประเทศซาอุดีอาระเบียต่อไป

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 20/10/2565

สมานฉันท์แรงงานไทยคัดค้านการรวมกิจการ TRUE และ DTAC

ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย หรือ คสรท. สาวิทย์ แก้วหวาน ระบุ ได้ส่งหนังสือถึงประธานบอร์ด กสทช. เพื่อขอคัดค้านการรวมกิจการระหว่าง TRUE และ DTAC เพราะจะมีผลกระทบโดยตรงที่จะสร้างความเสียหายต่อสภาพการแข่งขันของตลาดสื่อสารโทรคมนาคมอย่างรุนแรง ทำให้ผู้บริโภคต้องทนรับสภาพการผูกขาดของตลาดโดยกลุ่มทุนเอกชน และการแข่งขันที่อ้างว่าประชาชนจะได้ประโยชน์นั้นจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ และค่าบริการอาจสูงขึ้นแต่คุณภาพของการให้บริการจะแย่ลง

การที่ กสทช. จะยินยอมให้บริษัทกลุ่มทุนทั้ง 2 รายควบรวมกิจการและนำทรัพยากรคลื่นความถี่ของชาติไปแสวงหาประโยชน์ และเก็บเกี่ยวผลประโยชน์สร้างความร่ำรวย มั่งคั่งให้แก่กลุ่มทุน โดยที่ผลประโยชน์นั้นไม่ได้ตกแก่ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมจึงไม่มีความเป็นธรรมต่อประชาชนในชาติ

นอกจากนี้ ยังแทบเป็นไปไม่ได้ในอนาคตที่ กสทช. จะใช้อำนาจสั่งการให้มีการแยกกิจการที่ควบรวมไปแล้ว หรือแตกบริษัทออกเป็นบริษัทย่อยหลายบริษัทด้วยเหตุผลของการผูกขาดทางการค้า เพื่อที่จะส่งเสริมหรือสร้างตลาดแข่งขันเสรีได้ ดังนั้น กสทช. จึงไม่ควรมีมติที่จะทำลายตลาดแข่งขันเสรีของประเทศ จนยากที่จะแก้ไขเยียวยากลับคืนได้

อีกทั้งผลการศึกษาทางวิชาการที่ใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์หลายฉบับ เช่น ผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์ของ กสทช. ผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่างชี้ชัดว่า การควบรวมกิจการจะทำให้เกิดผลเสียต่อผู้บริโภค

ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ระบุว่า การสร้างให้เกิดสภาพตลาดผูกขาดเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 คือ มาตรา 40 มาตรา 60 มาตรา 75 และมาตรา 258

การรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC ยังขัดต่อเจตนารมณ์ของประกาศคณะกรรมการโทรคมนาคม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการควบรวมและการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ที่ต้องการส่งเสริมตลาดแข่งขันเสรีเกิดขึ้นในธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม โดยห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตกระทำการควบรวมกิจการอันส่งผลให้เกิดการครอบงำตลาดที่เกี่ยวข้อง

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 20/10/2565

แก๊งค้าแรงงานเถื่อนลงทุนเจาะช่องลับใต้กระบะซุกต่างด้าวขนเข้าเมืองสุดเนียน

เจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจความมั่นคงห้วยยะอุ ต.ด่านแม่ละเมา อ.แม่สอด ต.ตาก ต่างอึ้งกันทั้งด่าน หลังตรวจค้นรถยนต์กระบะตอนเดียวอีซูซุ ขาว หมายเลขทะเบียน 3 ฒฒ 3441 กทม. ผ่านมาตามทางสาย อ.แม่สอด-อ.เมืองตาก เข้าจุดตรวจ เมื่อ 19 ต.ค. 65

พบชาย 2 คน เป็นคนขับรถยนต์ 1 คน อีกคนโดยสารรถนั่งด้านหน้ามาด้วยจึงขอตรวจค้น ซึ่งการตรวจค้นช่วงแรกไม่พบสิ่งผิดปกติ เจ้าหน้าที่กำลังจะปล่อยรถผ่านจุดตรวจไป แต่เจ้าหน้าที่คนหนึ่งพบพิรุธตรงกระบะท้าย มีร่องรอยบริเวณพื้นกระบะ จึงแกะดู

กระทั่งพบมีการดัดแปลงเจาะช่องลับใต้พื้นกระบะท้ายรถ และพบแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมา เป็นหญิง 2 คนไม่มีเอกสารการเข้าเมืองใดๆ นอนซุกซ่อนเรียงกันใต้พื้นกระบะที่ทำฝาปิด-เปิดได้ โดยมีพื้นกระบะไลเนอร์ปิดทับอีกชั้น

สอบสวนเบื้องต้น ทั้งคู่ให้การสารภาพว่า ได้แอบโดยสารมาเพื่อจะไปทำงานต่างจังหวัด โดยมีชาย 2 คนนำพาไป โดยใช้รถยนต์ดัดแปลง แต่ถูกเจ้าหน้าที่จับได้ก่อน เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงนำตัวทั้งหมดส่ง สภ.พะวอ ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 20/10/2565

Adecco เปิดผลสำรวจแนวโน้มปีหน้า บริษัทเตรียมรับมือการลาออกครั้งใหญ่ระลอกใหม่

กลุ่มบริษัท อเด็คโก้ เอเจนซี่ผู้นำด้านทรัพยากรบุคคลครบวงจร เผยผลสำรวจความคิดเห็นของคนทำงานทั่วโลกต่อรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไปหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งนับเป็นปีที่ 3 ของการสำรวจ โดยปีนี้เป็นปีแรกที่ผลสำรวจได้รวมความคิดเห็นของผู้ประกอบอาชีพอื่น ๆ นอกเหนือจากพนักงานออฟฟิศเข้ามาด้วย นับเป็นกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ที่สุดรวม 34,200 คน โดยใช้ชื่อรายงานว่า ‘Global Workforce Of The Future 2022’ ไฮไลต์ที่น่าสนใจในปีนี้ ได้แก่

● 3 ใน 5 ของคนทำงานทั่วโลก (61%) แสดงความกังวลต่อรายได้ที่ไม่เพียงพอกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นซึ่งเป็นผลพวงจากเงินเฟ้อ

● ‘Quitfluencers’ หรือปรากฏการณ์แรงกระเพื่อมทางความรู้สึกอยากลาออก เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้คนทยอยลาออกจำนวนมาก โดย 7 ใน 10 คน ยอมรับว่าการเห็นผู้อื่นลาออกทำให้หันมาพิจารณาการลาออกของตัวเอง และในท้ายที่สุดมี 5 ใน 10 คนที่ตัดสินใจลาออกตาม โดย Gen Z ได้รับอิทธิผลมากกว่า Gen อื่น 2.5 เท่า

● 27% ของคนทำงานทั่วโลกวางแผนจะลาออกภายใน 12 เดือนข้างหน้า เกือบครึ่งหนึ่ง (45%) เริ่มหางานแบบจริงจังและมีนัดสัมภาษณ์งานเรียบร้อยแล้ว

● 6 ใน 10 ของคนทำงานทั่วโลก (61%) ตอบว่ารู้สึกมั่นใจว่าสามารถหางานใหม่ได้ภายในไม่เกิน 6 เดือน และคนจำนวนมากเชื่อว่าคนทำงานเป็นฝ่ายกุมอำนาจในการต่อรองมากกว่าบริษัท

● คน Gen Z ต้องการความยืดหยุ่นในการทำงานเป็นพิเศษ โดยเกือบครึ่งหนึ่ง (47%) กำลังทำงานแบบ 4 วันต่อสัปดาห์ และ 64% เลือกใช้ตัวเลือกลดเงินเดือนเพื่อแลกกับการทำงานลดลง 1 วัน

ผลสำรวจยังพบอีกว่า ความกังวลเรื่องรายได้ที่ตามไม่ทันค่าครองชีพเป็นผลให้คนทำงาน 51% ตัดสินใจมองหาอาชีพเสริม และ 35% ของคนทำงานที่ไม่ใช่พนักงานออฟฟิศยอมรับว่าได้ประกอบอาชีพเสริมที่จ่ายค่าจ้างเป็นเงินสดเพื่อให้มีรายได้เพียงพอสำหรับใช้ชีวิต โดยคน Gen Y เป็นกลุ่มที่ประกอบอาชีพเสริมมากที่สุด

เมื่อแยกพิจารณาเป็นสัดส่วนในแต่ละประเทศ ออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ และประเทศในแถบยุโรปตะวันออกรวมถึงตะวันออกกลางและอเมริกาเหนือ เป็น 3 ประเทศ/กลุ่มประเทศ ที่คนมีแนวโน้มจะลาออกมากที่สุดในอีก 1 ปีข้างหน้า คิดเป็น 33% 32% และ 31% ตามลำดับ ส่วนประเทศที่คนมีแนวโน้มจะลาออกน้อยที่สุดคือ จีน อิตาลี่ และญี่ปุ่น คิดเป็น 14% 21% และ 23% ตามลำดับ

ในทางตรงกันข้าม แม้ว่าค่าครองชีพจะเป็นปัญหาสำหรับคนทำงาน แต่การขึ้นเงินเดือนกลับไม่ใช่ปัจจัยอันดับต้น ๆ ที่ทำให้คนยอมอยู่ต่อ ปัจจัยอันดับ 1 ที่ทำให้คนยังไม่ลาออกคือ มีความสุขกับงาน รองลงมาได้แก่ ความรู้สึกมั่นคงในหน้าที่การงาน งานมี work life balance และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน ตามลำดับ แต่สำหรับคนที่ตัดสินใจว่าจะย้ายงานแน่นอน เงินเดือนที่ดีก็ยังคงเป็นปัจจัยอันดับ 1 ที่น่าดึงดูดที่สุด รองลงมาคือ การมี work life balance และมีความยืดหยุ่น

คุณธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท อเด็คโก้ ประเทศไทย กล่าวว่า ถึงเวลาที่องค์กรจะต้องปรับกลยุทธ์การสรรหาและรักษาบุคลากรเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับการลาออกระลอกใหม่ นี่คือโอกาสที่องค์กรจะได้จัดลำดับความสำคัญของนโยบายต่าง ๆ โดยยึดความต้องการของคนทำงานเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งจากผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าจุดร่วมกันระหว่างการสรรหาและรักษาบุคลากรคือ นโยบายที่ส่งเสริมความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวของพนักงาน

คุณธิดารัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่แน่นอนเช่นนี้ คนทำงานได้รับแรงกดดันจากเรื่องของข้าวของราคาแพง ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันสูงขึ้น แต่รายได้ที่มีอยู่มีมูลค่าน้อยลงตามอัตราเงินเฟ้อ ทำให้เรื่องเงินเดือนและค่าตอบแทนยังเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาเลือกงาน แต่ในขณะเดียวกันเรื่องความสุขในชีวิตก็กลายเป็นเรื่องจำเป็นที่ขาดไม่ได้ องค์กรจึงอาจเริ่มพิจารณาใช้นโยบายที่ช่วยให้พนักงานเกิด work-life balance ที่ดีขึ้น อย่างเช่น การเปลี่ยนวิธีทำงานเป็น hybrid working ที่ให้พนักงานเข้า office บางวัน เพื่อเปิดโอกาสให้ทีมงานได้เจอหน้ากันและทำงานได้สะดวกขึ้น สลับกับการทำงานที่บ้านในวันที่เหลือ เพื่อให้พนักงานได้มีเวลาอยู่กับครอบครัว หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ได้ วิธีนี้จะช่วยให้คนทำงานสามารถใช้ชีวิตในองค์รวมได้อย่างมีความสุขมากขึ้น นับเป็นเรื่องท้าทายขององค์กรที่จะสร้างสมดุลของทั้งเรื่องงาน เรื่องเงิน และความสุขให้กับพนักงาน และการรักษาบุคคลากรเก่ง ๆ ให้อยู่กับองค์กรก็ยิ่งเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญอันดับต้น ๆ ซึ่งหน้าที่นี้ ไม่ได้เป็นเฉพาะเรื่องของผู้บริหารระดับสูงหรือฝ่ายบุคคลอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของหัวหน้างานทุกระดับ ที่จะต้องทำหน้าที่เป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญระหว่างคนทำงานและฝ่ายบุคคล หรือผู้บริหารระดับสูง หัวหน้าต้องหาเวลาพูดคุยกับทีมงานอย่างสม่ำเสมอเพื่อรู้ปัญหาและความต้องการของทีมงาน รวมถึงเป็นตัวกลางสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้เกิดขึ้นในองค์กร

"สิ่งที่สำคัญที่สุดในการรักษาพนักงานเก่ง ๆ ไว้ คือองค์กรต้องลงทุนกับการเสริมสร้างทักษะและความรู้ใหม่ๆ ให้พนักงานทุกคน ไม่เพียงแค่เฉพาะระดับ manager หรือหัวหน้างาน แต่ยังรวมไปถึงคนทำงานในทุกระดับ เพื่อให้พนักงานมีความพร้อมต่อเทรนด์การทำงานที่กำลังจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ เช่น ความรู้ด้าน PDPA ความเข้าใจด้านความหลากหลายและความเท่าเทียมในองค์กร (Diversity, Equity, and Inclusiveness) และในส่วนของทักษะที่จำเป็นอย่างทักษะด้านดิจิทัล จากที่หลายองค์กรกำลังปรับใช้ digital transformation เพื่อเสริมความคล่องตัวในการทำงานมากยิ่งขึ้น รวมถึงการเข้ามาของ Artificial Intelligence (AI) และการเพิ่มขึ้นของ Gig Economy หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระที่รับงานเป็นชิ้น ๆ ทำให้คนทำงานหลายคนกังวลว่าทักษะจะไม่เพียงพอและโดนแทนที่ในอนาคต ทำให้การสร้าง Lifelong learning culture ให้เกิดขึ้นในองค์กรเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง หากองค์กรใดสามารถแสดงให้เห็นว่าองค์กรเห็นคุณค่าในตัวพนักงาน พร้อมทั้งมีนโยบายที่สอดรับกับความต้องการของพนักงาน องค์กรนั้นก็จะได้เปรียบในการแข่งขันครั้งนี้"

ที่มา: สยามรัฐ, 19/10/2565

วงเสวนา ถกปัญหาแรงงานนอกกระบบ จี้ถามรัฐข้าวของแพงแต่ค่าแรงถูก จะอยู่รอดอย่างไร

สมาพันธ์แรงงานนอกระบบ ประเทศไทย ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ และ มูลนิธิ Friedrich-Ebert-Stiftung จัดเวทีเสวนา “วิกฤตข้าวของแพง ค่าแรงต่ำ แรงงานนอกระบบจะก้าวพ้นอย่างไร” เมื่อเร็วๆนี้ ที่โรงแรมเซนจูรี่ พาร์ค

นางกชพร กลักทองคำ ตัวแทนผู้รับงานไปทำที่บ้าน กล่าวว่า จากสภาพปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นอยู่นะตอนนี้ทำให้หลายคนยังไม่มีออเดอร์ ต้องขายจักรเย็บผ้าที่เป็นของรักเพื่อนำเงินมาซื้อข้าวกิน หลายคนต้องเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นเพื่อให้มีรายได้ ส่วนคนที่ยังเย็บผ้าอยู่ก็ต้องแบกรับต้นทุนวัตถุดิบ ทั้งด้าย กระดุม ซิป ที่มีราคาสูงขึ้น แต่แรงงานนอกระบบก็ไม่สามารถขอขึ้นค่าแรงจากผู้ว่าจ้างได้ จากที่เคยเย็บกางเกงตัวละ4บาท ตอนนี้เหลือตัวละ3บาท ก็ต้องยอมทำ ดีกว่าที่จะไม่ได้งาน และไม่มีรายได้ ตอนนี้ทุกคนต้องเพิ่มชั่วโมงทำงานเพื่อให้พอกิน

นางมาลี สอบเหล็ก จากเครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย กล่าวว่า ช่วงโควิดลูกจ้างทำงานบ้านมีทั้งถูกเลิกจ้าง และถูกลดชั่วโมงทำงานเพราะนายจ้างไม่มีเงิน ที่หนักหนาคือ ลูกจ้างทำงานบ้านไม่เคยได้รับเงินชดเชยการเลิกจ้าง และไม่เคยได้รับสิทธิประกันการว่างงาน เพราะไม่ได้อยู่ใน ม.33 ของระบบประกันสังคม ถึงตอนนี้หลายคนได้งานกลับคืนมา แต่ก็มีหลายคนที่นายจ้างเลือกที่จะจ้างคนใหม่เพราะอายุมากกว่า45ปี แล้วทำงานหนักไม่ได้เหมือนเดิม ดูเหมือนชีวิตของลูกจ้างทำงานบ้านจะขึ้นอยู่กับโชคชะตาว่าจะได้เจอนายจ้างแบบไหน มากกว่าที่จะขึ้นอยู่กับกฎหมาย หรือการคุ้มครองจากภาครัฐ

นายเฉลิม ชั่งทองมะดัน นายกสมาคมผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ช่วงที่โควิดระบาดหนักมีรายได้เป็นศูนย์ ต้องกู้เงินนอกระบบมาใช้ ทุกวันนี้ถึงจะมีรายได้วันละ 500-600 บาท แต่ก็ยังไม่พอกับค่าใช้จ่ายขั้นต้นที่มีค่ากิน 3 มื้อ วันละ 200 ค่าน้ำมันรถวันละ 150 บาท ไม่รวมค่าผ่อนรถ ผ่อนเสื้อวิน ค่าเช่าบ้าน ถ้ารัฐจะช่วยมอเตอร์ไซด์รับจ้าง จะต้องแก้ปัญหาการแข่งขันกับมอเตอร์ไซด์ในระบบแพลตฟอร์มโดยแบ่งพื้นที่กันให้ชัดเจน อาจให้ระบบแพลตฟอร์มส่งแค่ของ และอาหาร ไม่รับผู้โดยสาร รวมทั้งรัฐควรมีนโยบายลดต้นทุนในการประกอบอาชีพ เช่น มีเงินกู้ดอกเบี้ยถูกเพื่อกู้ซื้อมอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งช่วยลดต้นทุน และช่วยลดมลภาวะ นอกจากนั้นยังต้องควบคุมราคาน้ำมันด้วย

นายปรีชา ไทยสงเคราะห์ ประธานสหพันธ์ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย กรุงเทพฯ กล่าวว่าสิ่งที่พ่อค้าแม่ค้าต้องการคือพื้นที่ขายของ อาชีพ หาบเร่ แผงลอย นอกจากดูแลครอบครัวที่อยู่ข้างหลังอีกหลายชีวิต ยังเป็นข้อต่อเชื่อมระหว่างผู้ผลิตวัตถุดิบ กับผู้บริโภค และช่วยให้คนจนได้กินของดี ราคาถูก อยากให้ภาครัฐมองให้เห็นความจริงเหล่านี้ เปิดโอกาสให้เราได้ใช้พื้นที่สาธารณะประกอบชีพ เพราะกฎระเบียบที่แข็งตัว ไม่ได่ช่วยให้คนตัวเล็กตัวน้อยอิ่มท้อง

จากนั้นช่วงบ่ายเป็นเวทีแลกเปลี่ยน “บทบาทของภาครัฐในการสนับสนุนการฟื้นตัวของแรงงานนอกระบบให้ก้าวพ้นภาวะวิกฤต” โดย นางนภสร ทุ่งสุกใส ตัวแทนกระทรวงแรงาน กล่าวว่า จากการสำรวจปัญหาของแรงงานนอกระบบเป็นเรื่องค่าตอบแทนต่ำ และงานไม่ต่อเนื่อง ถ้าดูในเรื่องค่าตอบแทนจะพบว่า ค่าจ้างเฉลี่ยของแรงงานนอกระบบอยู่ที่ 6,800 บาท ต่อเดือน ซึ่งต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ และต่ำกว่าแรงงานในระบบอยู่มาก กระทรวงแรงงานมีแผนที่จะแก้ปัญหา คือ1.ปรับปรุงระบบฐานข้อมูลที่มีให้เป็นฐานเดียว ไม่ซ้ำซ้อนกัน และเพิ่มข้อมูลส่วนที่ขาดให้สมบูรณ์ 2. เร่งรัด พ.ร.บ.ส่งเสรมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ ให้มีผลบังคับใช้ในปี 2556 และ 3.จัดทำแผนบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ 5 ปี

นายสุเทพ อู่อ้น ประธานกรรมาธิการการแรงงาน กล่าวว่า แรงงานนอกระบบควรได้รับสิทธิในการรวมตัวกันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ไม่ควรถูกปิดกั้น และแรงงานทุกคนควรมีประกันสังคมที่เท่าเทียมกัน ถ้าจะให้ดีต้องไปให้ถึงรัฐสวัสดิการ

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 19/10/2565

ก.แรงงาน สอบปากคำเกาหลีกำมะลอ จ่อเอาผิดทารุณเหยื่อ ลวงใช้หนี้ทิพย์ร้อยล้าน

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน รุดสอบปากคำ 2 สาวสองเกาหลีกำมะลอ ที่ทรมาน 5 เหยื่ออดีตพยาบาลและลูก ลวงใช้หนี้ทิพย์ เพื่อดูว่าเข้าข่ายความผิดด้านการใช้แรงงานใดบ้าง ก่อนจะดำเนินการทาง ก.ม.ต่อไป

จากกรณีเหยื่อสาวอดีตพยาบาล จำนวน 3 ราย พร้อมลูกๆ อีก 2 ราย ถูกแก๊งนายทุนสาวประเภทสองที่อ้างตัวหลอกว่าเป็นนักธุรกิจลูกครึ่งไทย-เกาหลี ชักชวนให้ร่วมลงทุนกับนายทุนฝั่งเกาหลี หลอกให้ร่วมลงทุนทำธุรกิจและใช้กลอุบายสารพัดกักขังหน่วงเหนี่ยว โดยการอุปโลกน์ให้ทำงานใช้หนี้จำนวนหลายล้านบาท ก่อนทำร้ายร่างกายด้วยการใช้น้ำร้อนราดจนบาดเจ็บ ภายในคอนโดแห่งหนึ่ง ย่านพระราม 8 กระทั่งเจ้าหน้าที่ กก.สส.บช.น.สามารถจับกุมตัว 2 ผู้ต้องหา คือ นายฮารุ ฮวังสิริ อายุ 39 ปี และ นายตรีเพชรรัตน ณพชร อายุ 20 ปี ได้ในเวลาต่อมา เมื่อวันที่ (16 ต.ค.) ตามที่มีการเสนอข่าวนั้น

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 18 ต.ค. 2565 ที่ สน.บวรมงคล เจ้าหน้าที่พนักงานตรวจแรงงานและพนักงานตรวจความปลอดภัย ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เดินทางมาเพื่อสอบปากคำ นายฮารุ และ นายเพชรรัตน 2 ผู้ต้องหาที่กักขังหน่วงเหนี่ยวทำร้ายร่างกาย อดีตพยาบาล 3 ราย และลูกๆ อีก 2 ราย พร้อมเปิดเผยว่า จะขอข้อมูลพฤติกรรมของผู้ต้องหา ว่าจะเข้าข่ายความผิดเกี่ยวกับการใช้แรงงานในเรื่องใดบ้าง ซึ่งเบื้องต้นยังไม่สามารถระบุได้ ส่วนในเรื่องการบังคับใช้แรงงานเท่าที่ดูจากข่าวน่าจะมีพฤติกรรมลักษณะนั้น ส่วนความผิดอื่นๆ จะต้องขอสอบถามข้อมูลจากพนักงานสอบสวนเพิ่มเติม ว่าเข้าข่ายความผิดในข้อใดบ้าง

ขณะที่ นายฮารุ และ นายเพชรรัตน 2 ผู้ต้องหา ยังอยู่ภายในห้องขัง โดยเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ระบุข้อหา บริเวณป้ายหน้าห้องขังเขียนระบุเพียงว่าข้อหา "จับตามหมาย"

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 18/10/2565

ปลัด สธ.เผย “ไทย” รับการประเมินระบบสาธารณสุข “แรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัย”

17 ต.ค. 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมเตรียมการเพื่อรับการประเมินประเทศไทยและลงพื้นที่ในจังหวัดกลุ่มเป้าหมาย ระหว่างวันที่ 17-21 ตุลาคม 2565 โดยมีผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย คณะผู้เชี่ยวชาญของไทยและองค์กรระหว่างประเทศ ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

นพ.โอภาส กล่าวว่า ตามที่องค์การอนามัยโลกดำเนินการโครงการ Joint Assessment Mission to Assess Health System Capacity and Essential Public Health Functions to Address the Health Needs of Refugees and Migrants in Thailand โดยส่งคณะผู้เชี่ยวชาญขององค์กรระหว่างประเทศมาปฏิบัติภารกิจประเมินประเทศไทยร่วมกับคณะผู้เชี่ยวชาญไทย จำนวน 7 คน และผู้สังเกตการณ์ 3 คน รวมทั้งสิ้น 10 คน ระหว่างวันที่ 17-21 ตุลาคม 2565 ในการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องระบบสุขภาพ หน้าที่ ศักยภาพ และกระบวนการด้านสาธารณสุขที่จำเป็น ความพร้อมของสถานบริการสุขภาพที่ให้บริการแก่ผู้ลี้ภัยและผู้ย้ายถิ่นฐาน รวมถึงชุมชนที่รับกลุ่มบุคคลดังกล่าว โดยจะมีการลงพื้นที่จังหวัดเป้าหมาย คือ กทม. สมุทรสาคร และตาก

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กองบริหารการสาธารณสุขเป็นผู้ประสานงานโครงการฯ โดยให้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ องค์การอนามัยโลก (ประเทศไทย), สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, กรมควบคุมโรค และกองการต่างประเทศ จัดการประชุมเตรียมการเพื่อรับการประเมินประเทศไทยและลงพื้นที่ในจังหวัดกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัย ผู้ย้ายถิ่นฐาน คนต่างด้าว และแรงงานต่างด้าว ได้แก่ กระทรวงแรงงาน, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงศึกษาธิการ, สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร, สำนักตรวจคนเข้าเมือง องค์กรไม่แสวงหากำไร และมูลนิธิต่างๆ เข้าร่วมนำเสนอข้อมูลและให้ความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบบริการสุขภาพของกลุ่มบุคคลดังกล่าว

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า สำหรับการประเมินนั้น องค์การอนามัยโลกร่วมกับเครือข่าย ได้แก่ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration:IOM ) และสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees:UNHCR) พัฒนาเครื่องมือ “การประเมินสภาวะสุขภาพของประชากรข้ามชาติ และผู้ลี้ภัยระดับประเทศ” เพื่อประเมินระบบสุขภาพ กระบวนการดำเนินงาน และศักยภาพความพร้อมของสถานบริการสาธารณสุขในการให้บริการสุขภาพที่จำเป็นแก่ประชากรข้ามชาติและผู้ลี้ภัยในระดับประเทศ ซึ่งประเทศไทยได้รับโอกาสให้เป็นประเทศแรกที่ใช้เครื่องมือนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับความชื่นชมว่า บริหารจัดการด้านการสาธารณสุขอย่างมีประสิทธิภาพ ให้การดูแลสุขภาพคนต่างด้าว แรงงานต่างด้าว ผู้ลี้ภัยและผู้ย้ายถิ่นฐานที่อยู่ในแผ่นดินไทย โดยเฉพาะช่วงการระบาดของโควิด 19 ให้สามารถเข้าถึงบริการรักษาและได้รับวัคซีนอย่างเท่าเทียม ตานโยบายของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข

“เราจะดูแลทุกคนบนแผ่นดินไทยให้ได้รับบริการทางสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลรักษา การส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันควบคุมโรคที่สำคัญ อย่างเท่าเทียมกัน” สำหรับการประชุมในครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะได้รับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะด้านสาธารณสุขของกลุ่มคนต่างด้าวในประเทศไทย จากองค์กรภายนอก เพื่อนำไปปรับปรุง เปลี่ยนแปลงในทุกมิติของระบบบริการสาธารณสุขสำหรับคนต่างด้าวทุกคน และสร้างโอกาสในการพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” นพ.โอภาสกล่าว

ที่มา: Hfocus, 17/10/2565

ไทยรั้งท้ายอันดับระบบบำนาญดีที่สุดในโลก ปี 2022 จากการสำรวจ 44 ประเทศ โดย Mercer

บริษัท Mercer บริษัทให้คำปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ และการบริหารสินทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา เปิดเผยรายงานการสำรวจ Mercer CFA Institute Global Pension Index (MCGPI) ครั้งที่ 14 ซึ่งร่วมกับสถาบัน CFA Institute สถาบันผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน ในการสำรวจคุณภาพของระบบบำนาญใน 44 ประเทศ

ผลการสำรวจ เปิดเผยว่า ประเทศไอซ์แลนด์ (Iceland) เป็นประเทศที่มีระบบบำนาญที่ดีที่สุดในโลก โดยได้คะแนนที่ 84.7 คะแนน จัดอยู่ในระดับ A ขณะเดียวกัน ยังมีประเทศอื่น ๆ ที่ถูกจัดอันดับระบบบำนาญอยู่ในระดับ A อีก 2 ประเทศคือ เนเธอร์แลนด์ (Netherlands) ได้คะแนนที่ 84.6 คะแนน และเดนมาร์ก (Denmark) ได้คะแนนที่ 82.0 คะแนน

ขณะที่ประเทศไทย ได้รับการจัดอันดับประเทศที่มีระบบบำนาญดีที่สุดในโลก เป็นอันดับที่ 44 จากทั้งหมด 44 ประเทศ โดยได้รับคะแนนที่ 41.7 คะแนน จัดอยู่ในระดับ D และเป็นอันดับสุดท้ายในระดับเอเชียอีกด้วย โดยสิงคโปร์ได้รับการจัดอันดับระบบบำนาญดีที่สุดในบรรดาประเทศทวีปเอเชีย (อันดับ 9 ของโลก ด้วยคะแนน 74.1 คะแนน)

ผลการสำรวจมีการระบุถึงรูปแบบกองทุนบำนาญขององค์กรในปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงจากกองทุนแบบกำหนดผลประโยชน์ทดแทน (Defined Benefit-DB) เป็นกองทุนแบบกำหนดเงินสมทบ (Defined Contribution-DC) ซึ่งทำให้ผู้คนต้องวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณกันมากขึ้น

Dr. David Knox Senior Partner ของ Mercer ระบุว่า แต่ละคนมีความรับผิดชอบเรื่องการออมเพื่อการเกษียณมากขึ้นเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน ทั้งอัตราเงินเฟ้อที่สูง และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้กำหนดนโยบายต้องทำทุกอย่างเพื่อให้มั่นใจว่าโครงการเกษียณอายุได้รับการสนับสนุน พัฒนา และควบคุมดูแลอย่างดี

การสำรวจ MCGPI เป็นการสำรวจเกี่ยวกับระบบบำนาญจาก 44 ประเทศทั่วโลก ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 65 ของประชากรโลก เน้นข้อบกพร่องบางประการในแต่ละระบบ และแนะนำด้านที่เป็นไปได้ของการปฏิรูปที่จะช่วยให้สวัสดิการหลังเกษียณมีความเพียงพอและยั่งยืนมากขึ้น โดยสำรวจจาก 3 ด้านหลักคือ 1. ความเพียงพอของบำนาญ (Adequacy) ในแง่ทรัพย์สิน ผลตอบแทน สิทธิประโยชน์ และการสนับสนุนจากภาครัฐ 2. ความยั่งยืนของระบบบำนาญหลังเกษียณ (Sustainability) โดยเฉพาะการเติบโตทางเศรษฐกิจ และหนี้สาธารณะ และ 3. ความครบถ้วน มั่นคงของระบบ (Integrity) ตั้งแต่ระเบียบและข้อกฎหมาย ความคุ้มครอง และการสื่อสารต่าง ๆ เกี่ยวกับระบบ

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 17/10/2565

ผลสำรวจชี้มีคนงานไทยเก็บผลไม้ป่าสวีเดน-ฟินแลนด์เพียง 10% ที่ทำรายได้ถึงหลักแสน

ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานที่บีบีซีไทยได้รับ ถึงตัวเลขรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายงานเก็บผลไม้ป่าที่ประเทศฟินแลนด์และสวีเดนฤดูกาลปี 2022 จากจำนวน 10,416 ราย โดยมีคนงานไทยตอบแบบสำรวจรายได้ 6,250 คนนั้น พบว่า ผู้ที่ได้รายได้หลังหักค่าใช้จ่าย 100,000 บาทขึ้นไป มีจำนวนกว่า 10% หรือจำนวน 649 คน ขณะที่แรงงานเกือบครึ่งหนึ่งที่เดินทางไปเก็บผลไม้ป่า จะมีรายได้อยู่ที่ 30,000-50,000 บาท

100,000 บาทขึ้นไป จำนวน 649 คน คิดเป็น 10.38%

50,001-99,999 บาท จำนวน 2,535 คน คิดเป็น 40.56%

30,000-50,000 บาท จำนวน 2,863 คน คิดเป็น 45.81%

ต่ำกว่า 30,000 บาท จำนวน 203 คน คิดเป็น 3.25%

ตัวเลขเฉพาะประเทศฟินแลนด์ฤดูกาล ปี 2022 มีทั้งสิ้น 3,622 คน มีรายได้ต่ำกว่าอัตรารายได้ขั้นต่ำ 30,240 บาท รวม 216 คน

คนงานเก่า 2,301 คน มีรายได้ต่ำกว่า 30,240 บาท จำนวน 40 คน หรือคิดเป็น 1.74%

คนงานใหม่ 1,361 คน มีรายได้ต่ำกว่า 30,240 บาท จำนวน 176 คน หรือคิดเป็น 12.93%

ที่มา: BBC Thai, 17/10/2565

พรรคแรงงานสร้างชาติชู 4 นโยบายเพื่อแรงงาน พร้อมลุยสู้ศึกเลือกตั้ง

17 ต.ค. 2565 นายมนัส โกศล หัวหน้าพรรคแรงงานสร้างชาติ ได้รับเชิญจากสมาชิกพรรคแรงงานสร้างชาติจากสถานประกอบการหลายแห่ง เพื่อขอความช่วยเหลือด้านสวัสดิการแรงงาน และเพิ่มความมั่นคงในการดำรงค์ชีวิต โดยมีคณะกรรมการบริหารพรรค ฯ และ สมาชิกพรรคแรงงานสร้างชาติ ร่วมให้การต้อนรับ ท่ามกลางบรรยากาศเต็มไปด้วยความอบอุ่น

นายมนัส กล่าวว่า เพื่อความมั่นคงของพื่น้องผู้ใช้แรงงานทุกคน จะต้องจัดทำเป็นนโยบาย ตามความสำคัญเร่งด่วน ดังนี้ 1.จัดตั้งธนาคารแรงงาน เพื่อให้ผู้ใช้แรงงาน กู้เงินปลอดดอกเบี้ย 5 ปี 2.เงินบำเหน็จบำนาญ ผู้ประกันตน ต้องเลือกได้ไม่ต้องรออายุครบ 55 ปี 3.จัดตั้งโรงพยาบาลประกันสังคม 4.บัตรประชาชนใช้ประกันตนในคดีได้ มูลค่าหกหมื่นบาท ซึ่งทำให้สมาชิกพรรคมีความมั่นใจและพึงพอใจเป็นอย่างมาก พร้อมสนับสนุนนโยบายพรรคแรงงานสร้างชาติ และบอกต่อเพื่อนพี่น้องผู้ใช้แรงงานต่อไป

หัวหน้าพรรคแรงงานสร้างชาติ กล่าวอีกว่า พรรคแรงงานสร้างชาติ เกิดขึ้นจากการรวมตัวของผู้นำแรงงาน นักฏหมาย นักวิชาการ และพรรคการเมือง โดยมีอุดมการณ์ทางการเมืองไปในทิศทางเดียวกัน เป็นพรรคการเมืองที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีเป้าหมายขับเคลื่อนสวัสดิการพื้นฐาน การปฏิรูปสังคม การปฏิรูปกฏหมายแรงงาน ส่งเสริมการจ้างแรงงานภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม

ที่มา: บ้านเมือง, 17/10/2565

นายกฯ ส่งเสริมโอกาสแรงงานไทยทำงานในต่างประเทศ พร้อมเร่งพัฒนาทักษะแรงงานไทยให้มีคุณสมบัติ ทักษะอาชีพ และภาษา รองรับตลาดในต่างประเทศ

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการเดินหน้าต่อเนื่องส่งเสริมโอกาสการทำงานแก่แรงงานไทย ทั้งใน และต่างประเทศ พร้อมเร่งพัฒนาทักษะ คุณสมบัติแรงงานไทยให้ก้าวหน้า เพื่อให้เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงาน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานเดินหน้าตามแนวนโยบายของนายกรัฐมนตรี ส่งเสริมให้แรงงานไทยมีโอกาสทำงานในต่างประเทศมากขึ้น โดยเมื่อปี 2564 แรงงานไทยแจ้งความประสงค์จะเดินทางไปทำงานในต่างประเทศมากที่สุด 4 อันดับแรก ได้แก่ อิสราเอล เกาหลีใต้ ไต้หวัน และญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นตลาดสำคัญของแรงงานไทยที่มีความพร้อม ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานพร้อมขยายตลาด รวมถึง พัฒนาเพิ่มทักษะแรงงานไทยให้มีคุณสมบัติ ทั้งทักษะอาชีพ และภาษา ตรงตามความต้องการที่ตลาดต่างประเทศกำหนด

ซึ่งล่าสุด สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ยังได้เปิดให้แรงงานและอาสาสมัครแรงงานในต่างประเทศ สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 40 เพื่อให้บุคคลดังกล่าวได้เข้าถึงความคุ้มครองและสิทธิ์ประกันสังคม เป็นหลักประกันความมั่นคงในชีวิตเช่นเดียวกับคนที่อยู่ในประเทศไทย โดย ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม (www.sso.go.th) และเพจเฟซบุ๊กสำนักงานประกันสังคม หรือสอบถามได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง

“รัฐบาลร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานด้านแรงงานในต่างประเทศ เพื่อให้มั่นใจในศักยภาพของแรงงาน และอาสาสมัครแรงงานไทย รวมทั้งรัฐบาลได้เดินหน้ายกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงาน พัฒนาความสามารถด้านทักษะอาชีพให้ตรงต่อความต้องการของตลาดต่างประเทศ พร้อมกันนี้ ได้ทำงานอย่างคู่ขนานเพื่อคุ้มครอง ดูแลแรงงานเสมือนทำงานอยู่ในประเทศไทย ทั้งนี้ โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีย้ำเสมอว่าแรงงานไทยเป็นส่วนสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนพลัง ความก้าวหน้า และการพัฒนาของประเทศ” นายอนุชาฯ กล่าว

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 16/10/2565

ตุ๋นคนไทย ขายแรงงานต่างแดน นายหน้าเถื่อน เกลื่อนโลกออนไลน์

กระทรวงแรงงานเปิดเผยตัวเลขคนไทยทำงานในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ข้อมูล ณ วันที่ 26 ก.ค. 2565 ระบุว่ามีคนไทยทำงานอยู่ต่างประเทศอย่างถูกกฎหมาย 120,652 คน ใน 122 ประเทศทั่วโลก โดย 5 ประเทศที่คนไทยไปทำงานมากที่สุด คืออันดับ 1 คือ ไต้หวัน 48,542 คน 2. อิสราเอล 20,555 คน 3. เกาหลีใต้ 12,950 คน 4. ญี่ปุ่น 7,665 คน และ 5. สวีเดน 6,680 คน

เป้าหมายของการไปทำงานในต่างแดนคือเรื่อง “รายได้” เพราะมีผลตอบแทนสูง ยกตัวอย่างเช่น ไต้หวันมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประมาณ 25,250 เหรียญไต้หวันต่อเดือน (ประมาณ 30,497 บาท) ซึ่งประมาณการรายได้ที่แรงงานไทยส่งกลับผ่านระบบธนาคารแห่งประเทศ ประจำปี 2565 อยู่ที่ราวๆ 114,264 ล้านบาทเลยทีเดียว

ด้วยตัวเลขรายได้ที่สูงจึงเป็นสิ่งดึงดูดแรงงานไทยให้ไปขายงานในต่างแดน ขณะเดียวกันก็กลายเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพเข้ามาฉกฉวยโอกาส

“การลักลอบไปทำงาน อย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เสี่ยงต่อการถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง การไม่ได้เงินเดือนและไม่ได้ทำงานตามข้อตกลง เพราะฉะนั้นจึงมีคำสั่งการให้กรมการจัดหางานเพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบการลักลอบเดินทาง และประชาสัมพันธ์คนหางาน รู้ทันเล่ห์กลของสาย/นายหน้าเถื่อน และช่วยเป็นหูเป็นตาและแจ้งเบาะแสต่อเจ้าหน้าที่ได้ มีการรณรงค์ให้ข้อมูลความรู้มาอย่างต่อเนื่อง” นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าว พร้อมระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายส่งเสริมให้แรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศอย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรี

ด้าน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า แม้จะชี้แจ้งสื่อสารทำความเข้าไปยังคนไทยที่กำลังหางานในต่างประเทศ มีนโยบายเข้มงวดตรวจสอบผู้มีพฤติกรรมหลอกลวงโฆษณาการจัดหางานทางสื่อสังคมออนไลน์ ย้ำเตือนพี่น้องประชาชนให้สันนิษฐานเป็นลำดับแรกว่ากำลังถูกหลอกลวง หากสาย-นายหน้ามีพฤติการณ์ชักชวนให้ทำงานผิดกฎหมาย แนะนำให้ลักลอบเข้าประเทศ หรือไปทำงานต่างประเทศโดยไม่แจ้งการทำงานต่างประเทศกับกรมการจัดหา แต่ก็ไม่อาจสกัดแรงงานไทยที่ต้องการไปขุดทองในต่างแดนได้

โดยพฤติการณ์หลอกลวงคนหางานในโลกออนไลน์ มักโฆษณาชักชวนชักชวนและรับสมัครคนหางานไปทำงานต่างประเทศจำนวนมาก อาทิ การเดินทางไปทำงานเกษตรในเครือรัฐออสเตรเลีย งานนวดสปาในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น

กรณีล่าสุด กระทรวงแรงงาน เผยรายงานจากฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เปิดเผยว่ามีผู้เสียหายจากการถูกสาย-นายหน้าเถื่อน โฆษณาชักชวนไปทำงานในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทางสื่อออนไลน์ ผ่านเพจ Facebook ชักชวนผ่านการแชท เพื่อให้ไปทำงานในตำแหน่งนวดสปา นวดแอบแฝงค้าบริการ อ้างว่ามีรายได้ดี ค่าจ้างเดือนละ 50,000 - 100,000 บาท และจะเป็นผู้จัดการเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทาง พร้อมทั้งจะออกค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าวีซ่าท่องเที่ยว ค่าหนังสือเดินทาง และค่าที่พัก ให้ก่อน เมื่อผู้เสียคนหายหลงเชื่อ ตกลงเดินทาง สาย-นายหน้าเถื่อนจะเป็นคนจัดการเรื่องการเดินทาง ให้ลบข้อความแชทเพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้

เมื่อเดินทางไปถึงจะถูกให้เซ็นสัญญาการรับสภาพหนี้ และพาไปทำงานอื่นที่ไม่ได้ตกลงไว้ เช่น งานในร้านนวดที่มีการลักลอบขายบริการทางเพศ งานด้านการพนันออนไลน์ ระหว่างนี้จะยึดหนังสือเดินทางไว้ เพื่อไม่ให้เหยื่อหนี ซึ่งการโฆษณารับสมัครงานดังกล่าว เป็นโฆษณาชักชวนคนไทยให้เดินทางเข้ามาทำงานในธุรกิจที่ผิดกฎหมาย มีหญิงไทยตกเป็นเหยื่อถูกบังคับค้าประเวณีและขอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ กรมการจัดหางานได้ดำเนินการมาตรการเชิงรุกในการป้องกันปัญหาการหลอกลวงคนหางาน โดยส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปในพื้นที่ที่มีปัญหาการหลอกลวงสูง เพื่อสร้างเครือข่ายผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ประสงค์จะไปทำงานต่างประเทศ เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเรื่องขั้นตอนการเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และวิธีการหลอกลวงคนหางานของกลุ่มมิจฉาชีพ ซึ่งในปัจจุบันใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือ

สำหรับวิธีการไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มี 5 วิธี คือ บริษัทจัดหางานเอกชนจัดส่งไปทํางาน กรมการจัดหางานจัดส่งไปทํางาน คนหางานติดต่อทําสัญญาจ้างกับนายจ้างโดยตรง บริษัทนายจ้างในประเทศไทยส่งไปทํางาน และบริษัทนายจ้างในประเทศไทยส่งไปฝึกงาน

สำหรับมาตรการป้องกันการหลอกลวงไปทำงานต่างประเทศที่ระบาดในช่องทางออนไลน์ กองทะเบียนจัดหางานกลาง และคุ้มครองคนหางาน และสำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ ได้ตรวจสอบและติดตามเฟซบุ๊กของบุคคล/กลุ่มมิจฉาชีพ ที่ทำการโฆษณาชักชวนและรับสมัครคนหางานไปทำงานในต่างประเทศผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ตและเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างใกล้ชิด

โดยกรมการจัดหางานมีศูนย์ประสานการปราบปรามผู้เป็นภัยต่อคนหางาน ทำหน้าที่ตรวจสอบ ป้องปราม และปราบปรามการหลอกลวงไปทำงานต่างประเทศ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ผลการดำเนินคดีตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2564 – 21 มี.ค. 2565 มีการดำเนินคดีสาย นายหน้าเถื่อนแล้ว 55 ราย หลอกลวงคนหางานทั้งสิ้น 70 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย จำนวน 6,735,164 บาท

สำหรับประเทศที่คนหางานถูกหลอกลวงไปทำงานมากที่สุด ได้แก่ สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้), ญี่ปุ่น ฟินแลนด์, ออสเตรเลีย และฝรั่งเศส

ทั้งนี้ กฎหมายระบุโทษความว่า การโฆษณาการจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางาน จะมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้ โดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง ต้องระวางโทษจำคุก 3-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แน่นอนว่า บทลงโทษทางกฎหมายเพียงกฎหมายไม่สามารถหยุดยั้งการตกเป็นเหยื่อแก๊งนายหน้าเถื่อนลวงไปทำงานต่างประเทศ สิ่งที่จะเป็นเกราะป้องกันคือความรู้ความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับการเดินทางไปทำต่างแดนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ภายใต้การสนับสนุนส่งเสริมของรัฐ

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 15/10/2565

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net