Skip to main content
sharethis

เลขา ครป. ห่วงต่างชาติถือครองคลื่นความถี่-กุมชะตาคนไทย เสนอให้ กสทช.ทบทวนมติควบรวมทรู-ดีแทค เนื่องจากขาดความชอบธรรมเพราะประธานออกเสียงซ้ำ และอาจมีความผิดละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

22 ต.ค. 2565 นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนแสดงความเห็นภายหลังจาก กสทช. มีมติเห็นชอบการควบรวมธุรกิจระหว่างทรู-ดีแทค โดยเห็นว่าการรวมธุรกิจในกรณีนี้ ไม่เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมว่า 

มตินี้เป็นมติสีเทา ยังไม่ใช่มติเสียงข้างมากที่ชอบธรรม เนื่องจากเสียงเท่ากันคือ 2 ต่อ 2 งดออกเสียง 1 แต่ประธานไปออกเสียงซ้ำให้ตนเองโดยอ้างอำนาจตามข้อ 41 ของระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุม กสทช. พ.ศ. 2555 ออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด ระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุม ออกโดยที่ประชุม กสทช. ตามมาตรา 23 ของ พ.ร.บ.กสทช. 2553 เป็นเพียงแค่ระเบียบที่ควรใช้กับการบริหารจัดการภายในตามวรรค 1  แต่มติที่กำหนดผลชี้ขาดผลประโยชน์ของชาติมหาศาลควรเป็นเสียงข้างมากของกรรมการอย่างแท้จริงเพื่อรับผิดชอบต่อบ้านเมือง ตามววรค 2  ที่ควรเป็นมติพิเศษได้รับความเห็นชอบจากกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนกรรมการทั้งหมด

นอกจากนี้ มาตรา 23-24 ของกฎหมาย กสทช. ไม่ได้อนุญาตให้ไปออกระเบียบให้ประธานออกเสียงซ้ำเพื่อเป็นเสียงข้างมากได้เลย เรื่องนี้กรรมการ กสทช. ควรเสนอให้ทบทวนมติซึ่งสามารถทำได้ตามระเบียบที่ว่าในกรณีจําเป็นและมีเหตุผลอันสมควร ประธาน รองประธาน หรือกรรมการ อาจเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาทบทวนมติในเรื่องนั้นก็ได้ โดยต้องชี้แจงเหตุผล ความจําเป็น แนวทางดําเนินการต่าง ๆ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากเรื่องนี้ส่งผลถึงผู้บริโภคทั่วประเทศในสงครามคลื่นความถี่สาธารณะที่กลุ่มทุนสองกลุ่มใหญ่ต้องการเข้ายึดครองเพื่อผูกขาด การปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. ที่เกี่ยวข้องหรือมีผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะต้องกระทำโดยมติของที่ประชุมเสียงข้างมากที่ชอบธรรม

ทราบว่าสภาองค์กรของผู้บริโภคเตรียมฟ้องคุ้มครองชั่วคราว กรณี กสทช.ออกมติควบรวม ทรู-ดีแทค และร้อง ป.ป.ช. เหตุ กสทช. ปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ไม่พิทักษ์ผลประโยชน์สาธารณะเพื่อหยุดการควบรวมผูกขาดทั้งที่ก็ทราบกันดีว่า เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน และทำให้มีส่วนแบ่งการตลาดเกิน 50% ซึ่งยังผิดกฎหมายการแข่งขันทางการค้าด้วย

คลื่นความถี่เป็นสมบัติสาธารณะ รัฐจึงต้องกำกับดูแลโดยเราสร้าง กสทช.ขึ่้นมาควบคุมจัดการ หากไม่ทำหน้าที่ก็ควบยุบไปแล้วปล่อยให้กลุ่มทุนผูกขาดและบรรษัทข้ามชาติเข้ายึดครองทรัพยากรสาธารณะของส่วนรวมให้หมดสิ้น คนไทยจะได้กลายเป็นทาสในชีวิตประจำวัน ทุกวันนี้การใช้บริการมือถือและโทรคมนาคมต่างๆ ของประชาชนถูกขูดรีดเงินในกระเป๋าทุกเดือนๆ ทั้งที่จริงควรเป็นบริการสาธารณะจากรัฐด้วยซ้ำ แต่ปล่อยให้ทุนใหญ่เข้าถือครอง ส่วน NT ของรัฐปล่อยให้เล็กลงๆ เหลือแค่ร้อยละ 3 ในตลาด ขณะที่การควบรวมจะทำให้ทรู-ดีแทค ก้าวขึ้นมามีอำนาจเหนือตลาดราวร้อยละ 52 และ AIS มีส่วนแบ่งประมาณร้อยละ 44

จริงๆ แล้วกระทรวงการคลัง กระทรวงดิจิตัล ควรเข้าไปถือหุ้นหลักใน AIS และทรู ด้วยซ้ำ เหมือนที่รัฐบาลนอรเวย์โดยกระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และการประมง ถือหุ้นใหญ่กว่าร้อยละ 54 ในเทเลนอร์ ซึ่งมาถือหุ้นใหญ่ใน Dtac อีกทีหนึ่งเพราะถือเป็นความมั่นคงของชาติ สิ่งที่น่ากลัวในอนาคตก็คือการปล่อยให้เอกชนทำการผูกขาดทางเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งหมายถึงการผูกขาดชะตากรรม วิถีชีวิตของคนตั้งแต่ตื่นนอน จนถึงตอนหลับ ในการเข้าถึงคลื่นความถี่เพื่อติดต่อสื่อสาร อำนวยความสะดวกในการทำงาน เสพข้อมูลข่าวสารที่สำคัญจำเป็น รวมถึงล้วงเอาเงินในกระเป๋าของประชาชนไปเป็นค่าใช้จ่ายทุกเดือนโดยไม่ทราบว่า ปัจจุบัน กลไกราคามีความสมเหตุสมผลแค่ไหน ทำไมบริษัทเหล่านั้นถึงร่ำรวยมหาศาลจากคลื่นความถี่สาธารณะ 

วันนี้มีต่างชาติถือหุ้นอยู่ในบริษัทที่ถือครองคลื่นความถี่จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น AIS ที่สิงคโปร์มีหุ้นกว่าร้อยละ 23 และยังมีหุ้นในอินทัชกว่าร้อยละ 21 ขณะที่เทเลนอร์ของนอรเวย์ถือหุ้นใน Dtac กว่าร้อยละ 47 หากเขาเข้าผูกขาดตลาดเกินร้อยละ 50 จะทำให้เกิดปัญหาความมั่นคงของประเทศหรือไม่ เพราะโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและจำเป็นถูกครอบครองโดยทุนต่างชาติ

"ผมอยากฝากไปยังเทเลนอร์และรัฐบาลนอรเวย์ Norwegian Oil Fund ต้องมีธรรมาภิบาลในการลงทุน วัตถุประสงค์ของกองทุนนี้เขียนไว้ชัดเจนไปลงทุนในกิจการที่เห็นว่าดีต่อโลก ด้วยหลักการพัฒนาที่ยั่งยีน มีธรรมาภิบาล และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องสิ่งแวดล้อม เพื่อลงทุนในรายได้ส่วนเกินจากภาคปิโตรเลียมของนอร์เวย์ ปัจจุบันมีทรัพย์สินกว่า 1.19 ล้านล้านดอลลาร์ และถือหุ้น 1.4% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดของโลก เป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลก หลายบริษัทถูกยกเว้นโดยกองทุนด้วยเหตุผลทางจริยธรรม แต่การลงทุนเพื่อเข้าไปผูกขาดทรัพยากรในประเทศกำลังพัฒนา มีความถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ รัฐบาลไทยจะต้องเฝ้าระวังเรื่องเหล่านี้ รวมถึงการเข้ามาของทุนใหญ่จากสิงคโปร์ด้วย" เมธา ระบุ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net