Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ถึงจุดหนึ่งประเทศไทยก็คงหนีความเป็นสากลไม่ได้ หลายประเทศมุ่งไปสู่การพัฒนาเชิงรุก รายงาน OECD ระบุว่าปัจจุบันมีอย่างน้อย 39 ประเทศใช้นโยบายการพัฒนาเชิงรุก ส่วนใหญ่อยู่ในยุโรป ทั้งตะวันตกและตะวันออก และทวีปอเมริกา มีบางประเทศอยู่ในอาฟริกา เช่น ตูนีเซีย ส่วนประเทศในเอเชียและแปซิฟิกได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ นโยบายการพัฒนาเชิงรุกดังกล่าว หมายถึง นโยบายการพัฒนาทุกส่วน (inclusive development policy) หรือความเจริญเติบโตทุกส่วน (inclusive growth policy) พูดง่าย ๆ คือ เป็นนโยบายการพัฒนาเชิงรุกที่ใส่มิติทางสังคมและการเมืองเข้าไปมากกว่าเศรษฐกิจ ไม่ใช่พูดได้แค่ความเติบโตของ GDP ทั้งที่ตัวเองมีอำนาจการเมืองในการบริหารประเทศ แต่ไม่เคยบอกให้ชัดว่าเมื่อเศรษฐกิจมันโตแล้วจะกระจายจ่ายปันกันอย่างไร แก่ใคร เท่ากับปล่อยให้กลไกตลาดมันทำงานไปฝ่ายเดียว

นโยบายเชิงรุกไม่ไล่ตามปัญหา ปล่อยให้ผู้คนได้รับผลร้ายจากการพัฒนา โดยถือเป็นบาปเคราะห์และคิดว่าเป็นไปตามธรรมชาติที่รัฐบาลไม่สามารถแทรกแซงได้ เช่น “เดี๋ยวมันก็หายไป ทนเอาหน่อยนะจ๊ะ” และต้องมีความคิดก้าวหน้าและรู้จักการวิพากษ์ หมายถึงมีความต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของการพัฒนา ในบริบทสากลคนพวกนี้จึงไม่ใช่ “พวกชังชาติ”!! เขาต้องการมุ่งปรับปรุงมาตรฐานชีวิตของประชากรให้มีการแบ่งปันผลประโยชน์ของการพัฒนาให้กระจายไปสู่แต่ละกลุ่มให้มากขึ้น โดยเฉพาะในบริบทที่มีความเหลื่อมล้ำอย่างมากนั้น ผู้กำหนดนโยบายต้องวางแผนและคิดล่วงหน้าที่จะเริ่มมีนโยบายเพื่อผลักดันให้การพัฒนามีความเป็นธรรมยิ่งขึ้น ความสำเร็จของการพัฒนาเชิงรุกขึ้นอยู่อย่างมากกับการที่รัฐบาลจะออกแบบและดำเนินการตามนโยบาย 

สำหรับหลักการของนโยบายที่ OECD เสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีกลุ่ม OECD ในการประชุมว่าด้วยการจัดการปกครองสาธารณะเพื่อความเจริญเติบโตทุกส่วน (Public Governance for Inclusive Growth) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2015 ที่กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ มี 4 ข้อ คือ 

1. การให้พลเมืองและภาคธุรกิจมีส่วนร่วมในนโยบายและการบริการทุกส่วนมากขึ้น ข้อนี้รัฐบาลต้องทำสามอย่าง อย่างแรก คือ ใช้ช่องทางการติดต่อสื่อสารทุกช่องทางและมีการสื่อสารโต้ตอบกับประชาชน ทั้งช่องทางสมัยใหม่ผ่านเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารหรือระบบออนไลน์ รวมทั้งช่องทางเดิม เช่น สื่อสารมวลชนและสิ่งพิมพ์ หรือแม้แต่วิทยุทรานซิสเตอร์ หากมันยังมีอยู่จริง (นะจ๊ะ) อย่างที่สอง ต้องทำให้กระบวนการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนง่ายขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากการติดต่อกับภาครัฐมีขั้นตอนของระบบราชการ และอย่างที่สาม รัฐบาลต้องให้คนที่ไม่ได้ใช้บริการเข้ามามีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นจากเขา เนื่องจากเสียงของคนใช้บริการได้ยินได้ฟังง่ายกว่าคนที่ไม่ได้ใช้บริการ 

2. การออกแบบนโยบายที่เป็นนวัตกรรมสำหรับความเจริญเติบโตทุกส่วน รัฐบาลต้องสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกันว่าจะพัฒนาประเทศไปข้างหน้าอย่างไร เฉพาะเป้าหมาย “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” และการเอาทหารเป็นกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ นอกจากเปลี่ยนฐานะชายชาตินักรบเป็นผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาแล้ว มันคงทำอย่างอื่นไม่ได้ สะท้อนแค่ว่า “เครือข่าย” มีจริง และมันไม่ได้ทำหน้าที่เป็นกลางอย่างที่พัทนัม (Putnam) อธิบาย ตรงกันข้ามมันผลิตซ้ำความเหลื่อมล้ำ เครือข่ายในสังคมไทยแท้จริง คือ กลุ่มดารารายการ “โหนกระสวย” ซึ่งถนัด “ถีบครกลงเขา” มากกว่า “เข็นครกขึ้นภูเขา” ส่วนการออกแบบนโยบายที่เป็นนวัตกรรมของโลกนั้นต้องตอบสนองความต้องการคนกลุ่มหลากหลายและมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนว่าเป็นคนจน คนชายขอบหรือคนถูกกีดกัน และมิใช่แผนงานของหน่วยงานประจำที่มีเป้าหมายเป็นนามธรรมกว้าง ๆ ที่ทำซ้ำ ๆ กันและหมดเงินไปกับการบริหารงานมากกว่าจะตกถึงมือคนจน

3. การปรับปรุงการให้บริการเพื่อพลเมืองและด้วยพลเมือง ประการแรก หลายประเทศใช้วิธีสร้างความเป็นหุ้นส่วนกันระหว่างหน่วยงานกับรัฐบาล ประการที่สอง ประเทศต้องกระตือรือร้นที่จะสร้างค่านิยมหลัก เช่น หลายประเทศรู้จักพูดคำว่า “เพื่อคนจน คนชายขอบ คนถูกกีดกัน” แทนการพูดว่า “ผมสั่งไปแล้ว” หรือแม้แต่การพูดถึงคนที่ไม่มีตัวตนในทางสถิติ เช่น เด็กเร่ร่อน คนจรจัด คนขายบริการทางเพศ หรือแสดงความคิดเห็นเชิงมนุษยนิยมต่อการไล่รื้อสลัมขณะที่ยังตอบไม่ได้ว่าจะให้เขาไปอยู่ที่ไหน และที่สำคัญเขาไม่มีทางคิดห้ามการอ้างฐานะ “ความยากจน” มาอาศัยในที่ของทางราชการและยึดกฎหมายว่า “ต้องฟ้องขับไล่” เนื่องจากเขาเข้าใจกฎหมายสิทธิมนุษยชนดีว่า “สิทธิการมีบ้านอย่างเพียงพอ” เป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ 

4. การสร้างความเข้มแข็งให้กับการตรวจสอบได้ โดยใช้วิธีการจัดการผลงานและการประเมินผลที่ดีกว่าเดิม รัฐบาลต้องยกระดับความพร้อมรับผิด รู้ร้อนรู้หนาวกับความรู้สึกของคน ไม่ใช่ “ไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ทราบ” แต่ขอนั่งทับตำแหน่งไปนานเท่านาน ต้องมีผลงานที่มองเห็น ไม่ใช่แค่ “ผมไม่โกง มีใครดีกว่าผมก็มาเลย แต่คุณกรูไม่ออก คุณมรึงลองมาไล่สิ” ต้องบอกบ้างว่าอะไรที่รัฐบาลยังทำไม่ได้ และจะทำเมื่อไหร่ เพราะอะไร ไม่ใช่ให้จีนคิดแทน ทั้งที่โครงการขยายเส้นทางการคมนาคมและระบบการขนส่งทางรางของจีน เขารู้กันทั่วโลกว่าเป็นกับดักการพัฒนา (development traps) คือ เป็นการขยายการเข้าถึงทรัพยากรของจีนมากกว่าผลพลอยได้จำนวนหนึ่งที่ตกอยู่กับประเทศที่จีนให้การช่วยเหลือ ประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือเหมือนต้อง คำสาปของทรัพยากร (resource curse hypothesis) คือ ตัวเองมีทรัพยากรอยู่ไม่น้อย แต่ความยากจนและความเหลื่อมล้ำไม่ได้หายไป เพราะความผิดพลาดของสถาบันการพัฒนาและการเมือง ปัญหาใหญ่ที่สุดอันหนึ่งของการพัฒนา คือ elite capture หมายถึงกลุ่มผู้นำเข้ายึดครองทรัพยากรการพัฒนาและนำเอาผลประโยชน์ดังกล่าวไปจัดสรรให้กับคนส่วนน้อย แทนที่จะกระจายจ่ายปันไปสู่คนส่วนใหญ่อย่างยุติธรรม ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงระดับชาติ แต่เกิดขึ้นระดับโลกและระดับท้องถิ่นด้วย กรณีไม่ได้หมายความว่าเป็นการคอร์รัปชันเสมอไป อาจเป็นการกระทำที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพียงแต่กระบวนการใช้นโยบายการพัฒนาและนโยบายการคลัง เช่น งบประมาณและภาษี ไม่ได้ดำเนินไปเพื่อความเป็นธรรมหรือความยุติธรรมทางสังคม มันบิดเบี้ยว (awry) มีอคติเข้าหาคนรวย เช่น “บะหมี่สำเร็จรูปขึ้นราคา เพราะต้นทุนเขาแพงขึ้น มันก็ต้องขึ้นราคา จะให้ผมทำยังไง” แต่ขณะเดียวกันมีอคติต่อต้านคนจน คนจนนั่นแหละผิดเพราะบุกรุกที่ดินของทางราชการ พอ คนจนถามว่า “ผิดยังไงละพี่” กลับโดนหน่วยงานของชาติตอกกลับว่า “ก็มรึงจนยังไง” คนที่ส่งเสียงเรียกร้อง (voice) ว่า “โอ้ย พี่ทับผมอยู่ ลุกขึ้นเถอะ” คนนั้นแหละ คือ พวกชังชาติ วิธีการแก้ไขสมัยก่อน คือ เอาพวกนี้ไปปล่อยเกาะ

การให้ลูกน้องตัวเองจัดหนักแก่ “คนวิพากษ์” แม้นายใหญ่ไม่พูด คนก็รู้ว่าหมอนั่นออกมาพูดแทนใคร ซึ่งไม่ได้ทำให้ประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลง นอกจากไม่เคยคิดเปลี่ยนแปลงแล้วยังปฏิเสธความรับผิด แสดงแค่ว่า “อนุรักษ์นิยม” สุดขั้ว เหมือนไม่รู้ว่าโลกหมุนได้ การทำการเมืองไม่ให้เกิดความเป็นประชาธิปไตยทุกส่วน (inclusive democracy) ก็เพื่อวัตถุประสงค์ของการ “กักอำนาจ” มีเกือบหมดทุกส่วน ยกเว้น สว. สำหรับหลักของประชาธิปไตย คือ ความเป็นตัวแทน คนอื่นเขาตอบได้ว่าเขาเป็นตัวแทนของใคร แต่หมอนั่นตอบไม่ได้ มันตอบแค่ว่ามันมาตามกฎหมายที่เขียนไว้ แถมต่อว่าคนวิพากษ์ว่า “ผมผิดตรงไหน?”

อะไรที่มันหายไปจากสังคมไทย คงไม่ใช่วิทยุทรานซิสเตอร์อย่างเดียว มันคงมีอะไรมากกว่านั้นมาก การที่โพลผลักดัน (push poll) สรุปผลว่า “ท่านได้รับความนิยมมากที่สุด” คงไม่ใช่ความรู้สึกนึกคิดที่แท้จริงของสังคมไทย โดยเฉพาะคนยากจนและคนในชนบท ดูได้จากเขาหัวเราะคลายเครียดจากการบริหารของท่านเสียงหัวเราะเขาเริ่มดังมากขึ้น ๆๆๆ ไปกับตลกหรือเพลงเสียดสี ส่วนการที่อ้างว่าคนเข้ามาดูเว็บไซต์ท่านเป็นล้าน ๆ คนเหมือนกัน คงไม่ได้สะท้อนว่า “เขานิยมท่าน” จริงจังกระมัง??? 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net