BRN ประณามอุ้มฆ่าสมาชิก-เก็บ DNA เด็ก กระทบความเชื่อมั่นสันติภาพ ทั้งที่เข้าสู่กระบวนการแก้ไขความขัดแย้ง

BRN ประณามอุ้ม-ฆ่าสมาชิกในมาเลเซีย และบังคับตรวจ DNA เด็กเป็นการทำลายกระบวนการสันติภาพ กระทบความเชื่อมั่นต่อการพูดคุยกับฝ่ายไทย ทั้งที่เข้าสู่กระบวนการสันติภาพเพื่อหาทางแก้ไขความขัดแย้ง พยายามร่วมมือสร้างกลไกการปรึกษาหารือกับประชาชน (public consultation) และหยุดใช้ความรุนแรงตลอดช่วงรอมฎอนเพื่อแสดงความจริงจังในกระบวนการสันติภาพ แม้เกือบ 3 ปีผ่านมาผู้นำและตัวแทน BRN ทั้งที่อยู่ในและต่างประเทศยังไม่ได้รับการรับรองความปลอดภัยและการคุ้มกันทางกฎหมาย (immunity) 

22 ต.ค. 2565 บีอาร์เอ็น (Barisan Revolusi Nasional - BRN) ออกแถลงการณ์ประณามการลักพาตัว และสังหารสมาชิกของขบวนการในมาเลเซียเมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2565 และยังได้ประณามการบังคับตรวจ DNA เด็กและเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยระบุว่าทั้ง 2 เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการทำลายกระบวนการสันติภาพ และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการสันติภาพที่กำลังจะมีการประชุมเต็มคณะกับคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทยในครั้งที่ 6 เร็วๆ นี้ 

“การกระทำที่ผิดหลักมนุษยธรรม รวมไปถึงการคุกคามและการบังคับต่อสมาชิกบีอาร์เอ็น ชาวมลายูและสังคมปาตานีต้องยุติทันทีเพื่อเปิดพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับการสร้างสันติภาพอันยั่งยืนบนแผ่นดินที่พวกเราได้รับสืบทอดมา” แถลงการณ์ระบุ

โดยแถลงการณ์ดังกล่าวมีทั้งที่เป็นใบแถลงการณ์เป็นภาษามลายูที่มีตราสัญลักษณ์ของบีอาร์เอ็นเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์เมื่อวันที่ 18 ต.ค. ที่ผ่านมา และการเผยแพร่คลิปวิดีโอที่มีเนื้อหาเดียวกัน โดยผู้อ่านแถลงการณ์คือนายอับดุลการิม คาลิด โฆษกของบีอาร์เอ็น เผยแพร่ทางยูทบเมื่อวันที่ 21 ต.ค. ที่ผ่านมา 

(คลิกอ่านคำแปลฉบับเต็มซึ่งแปลโดย อาจารย์ฮารา ชินทาโร่ ได้ที่นี่)

แถลงการณ์ระบุว่า การลักพาตัวและสังหารดังกล่าวเกิดขึ้นกับนายยาห์รี ดือเลาะ หรือ ซาห์รี บิน อับดุลลาห์ อายุ 42 ปีเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 โดยนายซาห์รีเป็นสมาชิกของบีอาร์เอ็นและอาศัยอยู่ที่เมืองรันเตา ปันญัง (Rantau Panjang) ที่ตั้งอยู่บริเวณชายแดนไทย-มาเลเซีย นายซาห์รีถูกอุ้มหายและถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยม บนทั่วร่างกายมีแผลหลายที่ โดยมีคนพบศพของเขาในวันที่ 29 ก.ย. 2565 ลอยยู่บริเวณชายฝั่งแม่น้ำสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส โดยบีอาร์เอ็นระบุว่า ศพของชาฮิดซาห์รีนั้นถูกทำลายเพื่อไม่ให้ทราบว่าเป็นศพของใคร 

นายอับดุลการิม คาลิด แถลงด้วยว่า บีอาร์เอ็นได้เลือกเส้นทางที่นำไปสู่สันติภาพที่ปาตานีซึ่งเป็นความพยายามอย่างจริงจังที่ควรได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย โดยการเจรจาสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ขณะนี้เป็นการต่อยอดจากการกระบวนการเจรจาที่เริ่มต้นด้วยการลงนามของอุสตาซ ฮัสซัน ตอยิบ (ในฐานะเป็นตัวแทนของบีอาร์เอ็น) กับพล.โท ภราดร พัฒนถาบุตร (ขณะนั้นเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ) ในเอกสาร“ฉันทามติทั่วไปกัวลาลัมเปอร์ (Kuala Lumpur General Consensus) ในวันที่ 28 ก.พ. 2556 โดยมี ดาโต๊ะ ศรี ซัมซามิน ฮาชิม จากรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก 

“ในปี 2562 หลังจากมีการพูดคุยล่วงหน้า (ซึ่งเป็น “การพูดคุยเพื่อการพูดคุย (talk about talk)” โดยมีการสนับสนุนจากองค์กรสันติภาพระหว่างประเทศ) บีอาร์เอ็นกับรัฐบาลไทยได้ตกลงกันในเรื่องแผนที่นำทางของกระบวนการสันติภาพ (road map) ที่รู้จักกันในนาม “ความริเริ่มเบอร์ลิน (Berlin Initiative)” ซึ่งเป็นกรอบการอ้างอิงสำหรับการต่อยอดของการเจรจาอย่างเป็นทางการ ในที่สุด บีอาร์เอ็นกับรัฐบาลไทยริเริ่มการเจรจาอีกครั้งเพื่อแสวงหาแนวทางแก้ไขสำหรับความขัดแย้ง (ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือปาตานี) โดยมี ตันซรี อับดุล ราฮิม บิน โมฮัมหมัด นอร์จากรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกและมีผู้เชียวชาญนานาชาติเป็นผู้สังเกตการณ์ด้วย 

ในวันที่ 31 มี.ค. 2565 ที่ผ่านมา บีอาร์เอ็นกับรัฐบาลไทยได้มีข้อตกลงชื่อ “หลักการทั่วไปการะบวนการพูดคุยสันติภาพ” หรือ “General Peace Principles” ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการยอมรับอัตลักษณ์ของชาติมลายูปาตานีอย่างเป็นทางการในนาม “ชุมชนปาตานี (Patani Community)” เพื่อสร้างการปกครองตนเองที่เกี่ยวข้องกับการยอมรับของอัตลักษณ์ การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม เศรษฐกิจ การพัฒนาและการศึกษา วัฒนธรรม กิจการความมั่นคงและความสงบ

บีอาร์เอ็นกับรัฐบาลไทยยังพยายามความร่วมมือเพื่อสร้างกลไกที่ปลอดภัยและมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายสำหรับการปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ (public consultation) โดยยึดถือหลักการแห่งความศักดิ์ศรี ความปลอดภัยและเสรีภาพในการแสดงออก นอกจากนี้ บีอาร์เอ็นยังตกลงที่จะยุติความเป็นปรปักษ์ตลอดช่วงเดือนรอมฎอนอันประเสริฐที่ผ่านมาเพื่อแสดงถึงความจริงจังในกระบวนการสันติภาพ 

ที่นี่ ผมขอเน้นย้ำว่า บีอาร์เอ็นต้องการแนวทางแก้ไขทางการเมืองอันยั่งยืน มีศักดิ์ศรีและนำไปสู่สันติภาพอันแท้จริงที่มีเสถียรภาพ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเวลาเกือบสามปีผ่านไปแล้ว แต่ผู้นำและตัวแทนของบีอาร์เอ็น ทั้งที่อยู่ต่างประเทศและในประเทศก็ยังไม่ได้รับการรับรองความปลอดภัยและการคุ้มกันทางกฎหมาย (immunity) ใด ๆ 

ที่นี่ คำถามก็คือ “ตัวแทนของบีอาร์เอ็นจะสามารถดำเนินการปรึกษาหารือกับประชาชนได้อย่างไรหากยังไม่มีการรับรองความปลอดภัยที่ชัดเจน ทั้ง ๆ ที่ในกระบวนการสันติภาพในพื้นที่อื่น ๆ การรับรองความปลอดภัยและความคุ้มกั้นทางกฎหมายเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับกระบวนการสันติภาพที่ตามมาตรฐานและมีศักดิ์ศรี” แถลงการณ์ระบุ

สำหรับกรณีการบังคับตรวจ DNA เด็กที่ปรากฏเป็นข่าวครั้งล่าสุดทางเพจเฟซบุ๊ก Wartani  รายงานว่า ช่วงเวลาประมาณ 10.00 น. ของวันที่ 11 ต.ค. 2565 เจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงได้นำกำลังกว่า 7 คันรถเพื่อตรวจค้นบ้าน น.ส. อาแอเซ๊าะ มะสาแม็ง ในพื้นที่ ม.2 บ้านกูแว ต.กะดุนง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี แต่ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ขอเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรม (DNA) ลูกชายอายุประมาณ 10 เดือน แต่แม่ไม่ยินยอม ต่อมาเวลาประมาณ 13.00 น.เจ้าหน้าที่เชิญตัว น.ส. อาแอเซ๊าะ ไปที่ สภ.สายบุรี เพื่อสอบเกี่ยวกับสามีและพยายามขอเก็บ DNA ของลูกและขอโทรศัพท์มือถือ เเต่เจ้าตัวไม่ยอมโดยระบุว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคลตามรัฐธรรมนูญ กระทั่งเวลา 17.00 น. จึงอนุญาตให้กลับบ้าน แต่ได้กำชับว่าจะไปเยี่ยมบ้านบ่อย ๆ จนกว่าจะยินยอม 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท