Skip to main content
sharethis

สทนช.ระบุสถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลาย คาดกลับเข้าสู่สภาวะปกติช่วงกลางเดือน พ.ย. 65 ย้ำเทียบปริมาณฝนกับพื้นที่น้ำท่วมไม่เท่าปี 54 แม้ฝนตกสูงกว่าค่าปกติถึง 21% - น้ำท่วมอีสานกระทบ 'วัว ควาย' ขาดแคลนอาหาร - 'เพื่อไทย' เผย 'ภูเก็ต' สาหัส ถนนเข้าหาดถูกตัดขาด-ภูเขาอุ้มน้ำ ดินกำลังสไลด์ จี้ รบ.เร่งแก้-ป้องกันระยะสั้น พร้อมเสนอวางแนวทางแก้ระยะยาว

Thai PBS รายงานว่าเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2565 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า จากการเปรียบเทียบปริมาณฝนภาพรวมปี 2565 ตั้งแต่ 1 ม.ค.-20 ต.ค.ที่ผ่านมา พบว่าสูงกว่าค่าปกติถึง 21% โดยสูงกว่าปี 2564 ปริมาณ 295 มิลลิเมตร (มม.) หรือ 17% แต่ต่ำกว่าปี 2554 เพียง 10 มม. หรือ 1%

ฤดูฝนปีนี้พบว่า ปริมาณน้ำไหลผ่านสถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านสูงสุด 3,105 ลูกบาศก์เมตร/วินาที (ลบ.ม./วินาที) และมีน้ำจากลุ่มน้ำสะแกกรัง 659 ลบ.ม./วินาที ไหลมาสมทบ รวมมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเจ้าพระยา 3,707 ลบ.ม./วินาที โดยรับน้ำเข้าคลองฝั่งตะวันตกและตะวันออกรวม 538 ลบ.ม./วินาที

ทั้งนี้ เขื่อนเจ้าพระยาจะควบคุมระดับน้ำด้านเหนือเขื่อนให้อยู่ในเกณฑ์ +17.50 เมตร.รทก. เพื่อรักษาเสถียรภาพความมั่นคงตัวเขื่อน โดยระดับน้ำได้เพิ่มขึ้นสูงสุดอยู่ที่ +17.74 เมตร.รทก. จึงจำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท สูงสุด 3,180 ลบ.ม./วินาที เป็นปริมาณที่น้อยกว่าปี 2554 ซึ่งการระบายน้ำได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และมาตรฐานการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตามมติคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.)

เลขาธิการ สทนช. กล่าวอีกว่า กรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าพื้นที่ที่ไม่เคยท่วม แต่ปี 2565 เกิดปัญหาน้ำท่วม เกิดขึ้นจากหลายพื้นที่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เปลี่ยนแปลงไป และมีการป้องกันโดยใช้คันดินต่าง ๆ เป็นที่กั้นน้ำท่วม ทำให้ทิศทางการไหลไม่เป็นธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สถานการณ์เริ่มคลี่คลายตามลำดับ คาดการณ์ว่าจะมีน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาต่ำกว่า 1,200 ลบ.ม./วินาที ในวันที่ 20-21 พ.ย. และจะต่ำกว่า 700 ลบ.ม./วินาที ในช่วงวันที่ 26-27 พ.ย.นี้

สำหรับสถานการณ์น้ำไหลบ่าล้นแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ลงทุ่งในพื้นที่ จ.ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา ขณะนี้มวลน้ำกำลังเคลื่อนตัวผ่านเมืองอ่างทอง อ.โพธิ์ทอง อ.วิเศษชัยชาญ และ อ.สามโก้ จ.อ่างทอง มุ่งหน้าลงแม่น้ำน้อยและไหลไปทุ่งผักไห่และทุ่งป่าโมกต่อไป

ขณะที่สถานการณ์น้ำลุ่มน้ำชี-ลุ่มน้ำมูล ที่สถานี M.7 อ.เมืองอุบลราชธานี คาดว่าระดับน้ำจะลดเหลือสูงกว่าระดับตลิ่ง 3 เมตร ในวันที่ 2 พ.ย. และลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าวันที่ 13 พ.ย.จะยังคงสูงกว่าระดับตลิ่งเพียง 50 ซม. และวันที่ 16 พ.ย.จะลดลงเข้าสู่ระดับตลิ่ง

สำหรับการสำรวจพื้นที่เสียหายจากภาพถ่ายดาวเทียม ระหว่างวันที่ 1-20 ต.ค. มีพื้นที่น้ำท่วมประมาณ 8.7 ล้านไร่ ขณะที่รัฐบาลเตรียมเยียวยาประชาชนจากสถานการณ์น้ำท่วม โดยเตรียมงบกลาง 6,000 ล้านบาท จ่ายให้ครัวเรือนละ 3,000 บาท จำนวน 2 ล้านครัวเรือน ซึ่งยังไม่ได้รวมการชดเชยเกษตรกรที่พืชผลและปศุสัตว์เสียหายเพิ่มเติม หลังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจความเสียหายตามหลักเกณฑ์ตามระเบียบกระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ คาดว่าช่วงกลางเดือน พ.ย.จะเข้าสู่สภาวะปกติ จากการติดตามสภาพอากาศในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีแนวโน้มปริมาณฝนลดลงและกำลังเข้าสู่ฤดูแล้ง โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลางที่เขื่อนเจ้าพระยากำลังปรับลดการระบายน้ำ และพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขื่อนอุบลรัตน์ลดการระบายน้ำเป็นขั้นบันได ซึ่งสถานการณ์อุทกภัยจะเริ่มคลี่คลายและเข้าสู่สภาวะปกติต่อไป

น้ำท่วมอีสานกระทบ 'วัว ควาย' ขาดแคลนอาหาร

เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2565 C-site Special ร่วมกับนักข่าวพลเมือง รายงานเกาะติดรายงานสถานการณ์น้ำท่วมจากทุกภูมิภาค ซึ่งผ่านมานับเดือนหลัง “พายุโนรู” เคลื่อนผ่านและกระทบประเทศไทยในหลายจังหวัด นับตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน ที่ผ่านมา โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสานที่มีปริมาณน้ำฝนสะสมและน้ำท่วมในหลายพื้นที่

GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) เผยข้อมูลจากดาวเทียม Radarsat-2 และ Sentinel-1 อธิบายให้เห็นถึงสถานการณ์น้ำท่วมขังในภาคอีสาน เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 จนถึง 11 ตุลาคม 2565 พบว่า พื้นที่ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล มีน้ำท่วมขัง รวมทั้งสิ้น 2,634,800 ไร่ ปัจจุบันมีพื้นที่ที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว 858,077 ไร่ (สีเขียว) หรือ คิดเป็นร้อยละ 33 ของพื้นที่น้ำท่วมทั้งหมด และยังท่วมขังอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรมและอื่น ๆ อีก 1,776,723 ไร่ (สีแดง) คิดเป็นร้อยละ 67 ของพื้นที่น้ำท่วมทั้งหมด

นอกจากผลกระทบความเสียหายต่อวิถีชีวิตการดำรงชีพ อาหารการกิน และทรัพย์สินบ้านเรือนของประชาชนแล้ว  พื้นที่เกษตรกรรมและปศุสัตว์ของเกษตรกร เป็นอีกความเดือดร้อนที่นักข่าวพลเมือง C-site Special  ร่วมรายงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนอาหารของวัว-ควาย ซึ่งเป็นเหมือนเงินเก็บก้อนโตของเกษตรกรก็ได้รับผลกระทบอย่างมาก

ข้อมูลการเลี้ยงปศุสัตว์ทั่วประเทศ เมื่อปี 2563 ของกรมปศุสัตว์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่าภาคอีสานมีสัดส่วนเกษตรกรผู้เลี้ยงปศุสัตว์ โคเนื้อ โคนม กระบือ สุกร ไก่ เป็ด แพะ และ แกะ รวมกันมากที่สุด ถึงร้อยละ 47.75 ของทั้งประเทศ จำนวน 1,471,482 ราย ซึ่งจะมี โคเนื้อ 3,056,486 ตัว โคนม 224,511 ตัว และกระบือ 898,522 ตัว และในจำนวนนี้เป็นผู้เลี้ยงโคเนื้อ 5 อันดับแรกที่ จ.สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด และนครราชสีมา ซึ่งมีความหนาแน่นในแต่ละจังหวัดกว่า 100,000 – 150,000 ตัว

พื้นที่ 5 จังหวัด ทั้ง สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด และนครราชสีมา ต่างได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม จากลุ่มน้ำมูล และลุ่มน้ำชี  ซึ่งนอกจากความเดือดร้อนในการดำรงชีวิต ความเสียหายของบ้านเรือนที่พักอาศัย เส้นทางสัญจรที่ถูกน้ำท่วม และพื้นที่เกษตรกรรม เกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือ ในพื้นที่ก็หืดขึ้นคอ เพราะตอนนี้ขาดแคลนอาหารสัตว์ โดยเฉพาะหญ้าแห้ง-ฟางแห้ง จะไปหาเกี่ยวหญ้ามาให้ก็แทบไม่มี หายากมาก เพราะถูกน้ำท่วมหมด เนื่องจากชุมชนอยู่ในพื้นที่ลุ่มมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ รองรับน้ำมูลที่ไหลมาจากจังหวัดนครราชสีมาและชัยภูมิ

ผลกระทบความเสียหาย ความเดือดร้อน มีรายงานมากับ C-site Special อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย. ที่ผ่านมา นักข่าวพลเมืองหลายพื้นที่ ซึ่งเป็นทั้งผู้ประสบภัย และผู้รายงานปักหมุดจุดช่วยเหลือ บอกเล่าวิถีชีวิตและการพยายามหาทางออกร่วมกันของเกษตรกรเพื่อให้โค-กระบือได้มีอาหารพอประทังชีวิตและอพยพเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่ปลอดภัย

'เพื่อไทย' เผย 'ภูเก็ต' สาหัส ถนนเข้าหาดถูกตัดขาด-ภูเขาอุ้มน้ำ ดินกำลังสไลด์ จี้ รบ.เร่งแก้-ป้องกันระยะสั้น พร้อมเสนอวางแนวทางแก้ระยะยาว

ทีมสื่อพรรคเพื่อไทยแจ้งข่าวว่าเมื่อวันที่ 22 ต.ค. นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล คณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเพื่อเป็นกระบอกเสียงสะท้อนปัญหาให้ประชาชนหลังอาสาพรรคเพื่อไทยในพื้นที่แจ้งว่าปัญหาน้ำท่วมเนื่องจากฝนตกหนักในรอบ 16 ปี ทำให้จังหวัดภูเก็ตได้รับผลกระทบหนักมากกว่าภาพที่ถูกเสนอออกไป

โดยนายวรวัจน์ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่พบว่าขณะนี้เส้นทางเข้าหาดป่าตองแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ถนนพังถล่ม และเส้นทางถูกตัดขาดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะที่ถนนสายอื่นๆก็เกิดเหตุในลักษณะเดียวกันนี้ด้วยแต่ที่น่าเป็นห่วงมากไปกว่านี้คือ พื้นที่จังหวัดภูเก็ตมีลักษณะเป็นเขา ซึ่งขณะนี้ภูเขาอุ้มน้ำเนื่องจากฝนตกลงมาปริมาณมาก ดินและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่บนเขากำลังจะถล่มลงมา และอาจโดนบ้านเรือนที่อยู่บริเวณตีนเขาด้วย สถานการณ์ภูเก็ตในวันนี้หนักกว่าภาพข่าวที่ออกไปเป็นอย่างมาก คนภูเก็ตกำลังเดือดร้อนและกังวลหนักเนื่องจากภูเก็ตเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจ

นายวรวัจน์ กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะสั้น รัฐบาลต้องลงมาแก้ปัญหาถนนที่ถูกตัดขาด และที่กำลังจะถูกตัดขาดให้กลับมาใช้งานได้โดยเร็ว รวมถึงต้องเร่งป้องกันแนวดินที่จะสไลด์ลงมา ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาระยะยาว รัฐบาลจะวางแผน และดำเนินการวางเส้นทางการระบายน้ำในจังหวัดภูเก็ตเพิ่มเติมโดยจะต้องมีเส้นทางน้ำเพิ่ม เพื่อไม่ให้น้ำเข้าเมืองเก่าซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของจังหวัด และจะต้องสร้างถนนสำรองเพื่อการเดินทางไปสนามบินได้หากเกิดเหตุฉุกเฉินกับถนนสายหลัก ทั้งนี้ รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหา และการป้องกันปัญหาให้กับประชาชนจังหวัดภูเก็ตมากกว่านี้ เพราะจากการบริหารงานที่ผิดพลาดของรัฐบาลตลอดช่วงที่ผ่านมาทำให้พี่น้องชาวจังหวัดภูเก็ตสูญเสียรายได้ไปจำนวนมากแล้ว เมื่อเกิดเหตุลักษณะนี้อีก รัฐบาลก็ควรเร่งให้ความช่วยเหลือชาวภูเก็ตไม่ให้ต้องเดือดร้อนหนักซ้ำอีก

'ชญาภา’ ชี้ อุบลฯยังจมบาดาล จวกประยุทธ์เป็นรัฐบาล ปล่อยประชาชนนอนข้างถนน มองไม่เห็นปัญหา ‘แพทองธาร’ลงพื้นที่ 24 ต.ค.ร่วมให้กำลังใจ

นางสาวชญาภา สินธุไพร รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมที่ยังน่ากังวลในหลายพื้นที่ทั่วประเทศในขณะนี้ว่า ปริมาณน้ำท่วมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บางพื้นที่น้ำท่วมหนักกว่าปี 2554 และปี 2562 เช่น จังหวัดอุบลราชธานี ประชาชนต้องทนอยู่กับน้ำท่วมนานหลายเดือน บางพื้นที่บ้านเรือนท่วมจมบาดาลมาเกือบ 4 เดือนแล้ว แต่ยังคงไม่ได้รับการช่วยเหลือและเยียวยาจากภาครัฐเท่าที่ควร มีแต่หน่วยงานท้องถิ่นที่ร่วมแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตามยถากรรม ซึ่งยังไม่เพียงพอและไม่ทั่วถึงกับวิกฤติการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่ได้มีข้อจำกัดหรือถูกผูกมัดด้วยกฎเหล็กของ กกต.180 วัน เหมือน ส.ส.และพรรคการเมือง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี มีอำนาจสูงสูดของฝ่ายบริหาร สามารถสั่งการเพื่อช่วยเหลือประชาชนได้ทันที แต่กลับกลายเป็นว่าการลงพื้นที่น้ำท่วมของพลเอกประยุทธ์เป็นเพียงแค่ไปรับฟังการรายงานจากหน่วยงานเฉพาะหน้าเท่านั้น เป็นนายกรัฐมนตรีที่มองไม่เห็นปัญหาของประชาชนอย่างแท้จริง ถึงแม้ว่าปัญหาจะกองอยู่ตรงหน้าก็ตาม ไร้มาตรการช่วยเหลือเร่งด่วนจากภาครัฐที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ ปล่อยให้ประชาชนลอยคอรอความช่วยเหลือนับเดือน

นางสาวชญาภา กล่าวอีกว่า ถึงแม้พรรคเพื่อไทยจะเป็นฝ่านค้าน ไม่มีอำนาจบริหารในมือ แต่ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยและ ส.ส.ของพรรคฯก็ไม่เคยนิ่งดูดายต่อความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะในสภาวะที่ยากลำบากแสนสาหัสที่ต้องเผชิญกับปัญหาอุทกภัยในขณะนี้ ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมอย่างต่อเนื่องในหลายจังหวัด อีกทั้งยังมีหลายข้อเสนอแนะทั้งในระยะสั้นและระยะสั้นยาวให้แก่รัฐบาลมาโดยตลอด เพื่อที่จะนำไปช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดและทันท่วงที แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควรในวันจันทร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2565 นำโดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ประธานที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย

และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่านและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายเกรียง กัลป์ตินันท์ ส.ส.อุบลราชธานี รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ และทิศทางการเมือง นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม และโฆษกพรรคเพื่อไทยพร้อมด้วย ส.ส.พรรคเพื่อไทย จ อุบลราชธานี

เพื่อให้กำลังใจและสอบถาม รับฟังปัญหา ความทุกข์ร้อนของพี่น้องชาวอุบลราชธานีเพิ่มเติม หลังจากที่ก่อนหน้านี้จนถึงปัจจุบัน ส.ส.เพื่อไทย ได้เคียงข้างร่วมทุกข์กับพี่น้องชาวอุบลราชธานีมาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจเต็มในการบริหารและจัดสรรงบประมาณ เร่งเยียวยาและดำเนินการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนโดยด่วนและให้รวดเร็วกว่าในภาวะปกติ ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนรอไม่ได้ อย่าลืมว่าน้ำท่วมไม่ได้หยุดเสาร์-อาทิตย์ เหมือนรัฐบาล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net