Skip to main content
sharethis

ภาคประชาสังคมส่งหนังสือถึง ‘ประยุทธ์’ นายกฯ ไทย เรื่อง ชะลอลงนามสัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้าโครงการเขื่อนในลาว เหตุการพัฒนาเขื่อนโดยไร้ปราศจากการมีส่วนร่วมของ ปชช. อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมข้ามแดน 


24 ต.ค. 2565 สำนักข่าวชายขอบ รายงานเมื่อ 23 ต.ค.ที่ผ่านมา ส.รัตนมณี พลกล้า ผู้ประสานงานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายของเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง เปิดเผยว่า ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่องขอให้ชะลอการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงใน สปป.ลาว ได้แก่ โครงการเขื่อนปากแบง เขื่อนปากลาย และเขื่อนหลวงพระบาง เนื่องจากทราบว่าร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในโครงการเขื่อนปากแบง อยู่ระหว่างการจัดทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนกับหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจลงนาม ซึ่งการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าวมาจากมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่ง ชาติ (กพช.) นั้น เครือข่ายฯ กังวลอาจส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน เนื่องจากการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำ (เขื่อน) บนแม่น้ำโขงปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเพียงพอ ขณะเดียวกัน พลังงานไฟฟ้าสํารองของประเทศไทยสูงเกิน 50% และอาจเป็นภาระทางเศรษฐกิจของผู้บริโภค

ทางด้าน นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า ส่งหนังสือไปยังนายกรัฐมนตรีและในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เรื่องขอให้ติดตามตรวจสอบผลกระทบข้ามพรมแดนจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบง ต่อการเปลี่ยนแปลงเขตแดนและแผ่นดินริมแม่น้ำโขงระหว่างประเทศไทย และ สปป.ลาว ซึ่งโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบง ที่มีการวางแผนจะก่อสร้างบนแม่น้ำโขง ใน สปป.ลาว ห่างจากชายแดนไทย จากบ้านห้วยลึก ต.ม่วงยาย อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ไปประมาณ 97 กิโลเมตร (กม.)

“แม้ว่าการพัฒนาโครงการเขื่อนปากแบง จะเข้าสู่กระบวนการตามระเบียบปฏิบัติ เรื่อง การแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง (PNPCA) ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ. 2538 แล้ว แต่ยังขาดความสมบูรณ์ของข้อมูลสิ่งแวดล้อมและสังคมโดยเฉพาะเรื่องผลกระทบข้ามแดน” นิวัฒน์ กล่าว

นิวัฒน์ กล่าวว่า สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCs) ได้เผยแพร่เอกสาร โดยมีสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติทำหน้าที่ตัวแทนฝ่ายไทย  ซึ่งปรากฏว่ามีข้อมูลที่ชัดเจนถึงสภาวะน้ำเท้อ (Back Water Effect) จากเขื่อนปากแบง ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง ที่แสดงขอบเขตของอ่างเก็บน้ำเขื่อนปากแบงจะล้ำเข้ามาในแม่น้ำโขงที่เป็นชายแดนประเทศไทย- สปป.ลาว กว่า 10 กม. จะก่อให้เกิดผลกระทบที่ชัดเจนต่อการแบ่งเขตแดนธรรมชาติในแม่น้ำ และจากการตรวจสอบสภาพในแม่น้ำโขงยังทำให้เห็นถึงผลกระทบต่อการเสียดินแดนของประเทศไทย

"กลุ่มรักษ์เชียงของ ได้รับฟังประชาชนในพื้นที่ และติดตามการวิเคราะห์เบื้องต้นในผลกระทบข้ามแดนจากโครงการเขื่อนปากแบง จึงมีความกังวลต่อการสูญเสียพื้นที่หรือดินแดนฝั่งไทย โดยเฉพาะบริเวณแก่งผาได และแก่งก้อนคำ บ้านห้วยลึก ต.ม่วงยาย อ.เวียงแก่น ที่เป็นพื้นที่ประมง พื้นที่จัดกิจกรรมงานประเพณีชุมชน และพัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว แลนด์มาร์กสำคัญของจังหวัดเชียงราย และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ชุมชน พื้นที่ดังกล่าวจะต้องสูญเสียไปหากระดับน้ำยกตัวขึ้น เนื่องจากการกักน้ำของเขื่อนปากแบง จึงอยากให้ดำเนินการตรวจสอบผลกระทบข้ามพรมแดนซึ่งเป็นผลประโยชน์ของประเทศไทยโดยรวม" นิวัฒน์ กล่าว

นายนิวัฒน์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา ดร.จุง เอช. แพค รองผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการทวิภาคี และนางลิสา บูเจนนาส กงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกาประจำเชียงใหม่ ได้เดินทางพบกับประชาชนในพื้นที่ ภาคประชาสังคม กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมถึงกลุ่มรักษ์เชียงของ ซึ่งเขาแสดงจุดยืนเรื่องที่ไม่เห็นด้วยกับการระเบิดแก่งและการสร้างเขื่อนแม่น้ำโขง โดยได้พูดคุยกันถึงสิ่งที่จะทำต่อไป

"สิ่งที่สำคัญที่สุด ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องสิ่งแวดล้อมว่าวิธีคิดเก่าๆ การกระทำเก่าๆ การขับเคลื่อนแบบเก่าๆ เราจะต้องทบทวน ถ้ายังคิดแบบเดิมทั้งภาครัฐ และคนที่มีส่วนร่วมต่างๆ แม่น้ำโขงคงไม่เหลือแล้ว 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้น เรื่องแม่น้ำโขงจะต้องคิดใหม่ การต่อสู้มา 20 กว่าปีเห็นชัดเจนว่าผู้คนผ่านไปหลายรุ่นแล้ว วิธีคิดก็ต้องเปลี่ยนใหม่หมดแล้ว" ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าว

ขณะเดียวกัน เว็บไซต์ขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) มีการเผยแพร่รายงานมรดกโลกเมืองหลวงพระบาง "REPORT ON THE JOINT WORLD HERITAGE CENTRE/ICOMOS MISSION TO THE "TOWN OF LUANG PRABANG" (Lao PDR)" มีเนื้อหาส่วนหนึ่งเกี่ยวกับโครงการเขื่อนหลวงพระบาง ว่าการสร้างเขื่อนเหนือน้ำ และท้ายน้ำ ของเมืองมรดกโลกหลวงพระบาง จะทำให้การไหลของน้ำเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนสภาพสิ่งแวดล้อม และมีความเสี่ยงต่อความล้มเหลวของเขื่อน ซึ่งคณะกรรมการมรดกโลกเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการศึกษาผลกระทบจากเขื่อนเพื่อลดผลกระทบต่อคุณค่าสากลที่โดดเด่นของมรดกโลก (Outstanding Universal Value - OUV) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองมรดกโลกหลวงพระบาง

"ปริมาณตะกอนที่ลดลง การเปลี่ยนแปลงการไหลของน้ำ ปริมาณปลาและสัตว์น้ำ ระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหาร ซึ่งการลดลงของปลาแม่น้ำโขงเป็นประเด็นหลักที่มีความเป็นห่วง เนื่องจากอาหารจากปลา และไก (สาหร่ายแม่น้ำโขง) เป็นปัจจัยหลักที่สร้างความเฉพาะตัวของเมืองหลวงพระบาง ทักษะแบบดั้งเดิมและความรู้ของหลวงพระบางพึ่งพิงระบบนิเวศแม่น้ำโขงและผลผลิตจากแม่น้ำ" รายงานระบุ

รายงานของยูเนสโก ระบุในข้อแนะนำว่า การศึกษาก่อนหน้านี้และรายงานผลกระทบต่อมรดกโลก (HIA) ไม่ได้ให้การวิเคราะห์ที่น่าพอใจและการพิสูจน์ที่ชัดเจน และแน่นอนว่าโครงการเขื่อนพลวงพระบางจะไม่ส่งผลกระทบเพิ่มเติมต่อคุณค่าสากลที่โดดเด่นของมรดกโลก (OUV) ทั้งที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของแม่น้ำโขงและแม่น้ำคาน กิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องและสภาพความเป็นอยู่ของชุมชนท้องถิ่น โดยใช้แนวทางป้องกันไว้ก่อน และมีข้อเสนอให้ย้ายที่ตั้งโครงการเขื่อน (relocate) ไปยังที่ซึ่งจะไม่กระทบต่อเมืองมรดกโลกหลวงพระบาง

รายละเอียดหนังสือส่งให้นายกฯ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net