Skip to main content
sharethis

อดีตทหารชาวเซิร์บ 7 คนถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาลักพาตัว ทารุณกรรม และสังหารพลเรือน 20 คน ในประเทศบอสเนียเมื่อ 30 ปีก่อน ผู้ที่ถูกสังหารส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม อย่างไรก็ตาม ผู้บังคับบัญชาของกลุ่มทหารดังกล่าวถูกตัดสินว่าไม่มีความผิด

สำนักข่าวเรดิโอฟรียุโรปรายงานเมื่อศุกร์ที่ผ่านมา (21 ต.ค.) ว่าศาลของบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนาตัดสินให้อดีตทหาร 7 ราย ที่เป็นอดีตสมาชิกของกลุ่มติดอาวุธสาธารณรัฐเซิร์ปสกา (Republika Srpska) มีความผิดในข้ออาชญากรรมสงครามจากเหตุการณ์เมื่อ 30 ปีก่อน

คดีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ 27 ก.พ. 2536 ที่สถานีรถไฟสเติร์บเซ (Strpci) ใกล้กับชายแดนระหว่างเซอร์เบียและบอสเนีย กลุ่มติดอาวุธชาวเซิร์ปสั่งให้หยุดรถไฟ นำตัวผู้โดยสาร 20 รายลงจากขบวน แล้วพาพวกเขาไปที่เมืองวิแชกกราด ในภาคตะวันออกของบอสเนีย เพื่อทารุณกรรมและสังหารทั้งหมด แล้วทิ้งศพลงในแม่น้ำดรีนา

เหยื่อทั้งหมดที่เสียชีวิตมาจากเขตซานด์ซัค ในภาคตะวันตกของเซอร์เบีย ซึ่งมีชายแดนติดกับบอสเนีย จนถึงปัจจุบันชิ้นส่วนร่างของผู้เสียชีวิตถูกพบเพียง 4 ราย ขณะที่อีก 16 รายยังคงอยู่ระหว่างการค้นหาต่อไป หลังจากค้นหามาแล้วกว่า 30 ปี

ทหาร 7 คนที่ถูกตัดสินว่ามีความผิด ได้แก่ โอบราด โปลูกา, โนวัค โปลูกา, ราโดจิกา ริสติก, เปดโก อินดิก, มิโอดราก มิตาซีโนวิก, ดรากาน เซโกวิก, และโอลิเวอร์ คริสมาโนวิก อย่างไรก็ตาม ลูกา ดรากิสวิก อดีตผู้บังคับบัญชาของทหารทั้ง 7 คน ถูกตัดสินว่าไม่มีความผิด เนื่องจากไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยเป็นผู้สั่งการ

เวสนา เจเซนโควิก ผู้พิพากษาของคดีนี้ระบุว่าอัยการพบหลักฐานว่า ลูกา ดรากิสวิก ได้รับรายงานหรือคำสั่งให้ดำเนินการดังกล่าว แต่ไม่พบหลักฐานว่าจำเลยเป็นผู้สั่งให้ทหารดำเนินการหรือไม่ และไม่มีพยานคนใดให้การว่า  ลูกา ดรากิสวิก ได้รับแจ้งเกี่ยวกับการสังหารพลเรือน

บากีรา ฮาเซซิก ประธานขององค์กรช่วยเหลือผู้หญิงผู้ได้รับผลกระทบจากสงคราม (Women Victims of War) บอกกับสำนักข่าวเรดิโอฟรียุโรปว่า เธอรู้สึกตกใจอย่างมากที่ลูกา ดรากิสวิก ถูกตัดสินว่าไม่มีความผิด เธอให้ความเห็นว่า "ทุกอย่างที่เกิดขึ้นเกิดขึ้นภายใต้การบังคับบัญชาของเขา" เธอระบุอีกว่า 13 ปีในเรือนจำในข้อหา "ฆาตกรรมพลเรือนชาวเซอร์เบียอย่างโหดเหี้ยม" นั้น "ไม่ใช่การลงโทษ" ด้วยซ้ำ

มิโอดราก สโตจาโนวิก ทนายของลูกา ดรากิสวิก ให้ความเห็นว่าคำตัดสินเป็นไปอย่างยุติธรรมแล้ว แต่เขายังรู้สึกหลายอย่างปะปนกันเกี่ยวกับการสั่งจำคุกอดีตทหาร 13 ปี และเห็นว่าความตัดสินดังกล่าว "ไม่เหมาะสม" เพราะไม่ได้มีการยืนยันแต่อย่างใดว่า ทหารทั้ง 7 คนเป็นผู้ลั่นไกสังหารพลเรือน แม้ว่าพวกเขาจะมีส่วนร่วมในการส่งตัวพลเรือนไปถูกสังหารจริงๆ ก็ตาม

เหตุการณ์สังหารหมู่ในคดีนี้เกิดขึ้น ขณะที่มีสงครามในบอสเนียระหว่างปี 2535-2538 เป็นความขัดแย้งระหว่างชาวโครแอต มุสลิม และชาวเซิร์บ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า100,000 คน เหตุการณ์นี้นับเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งแรกในยุโรปนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

แปลและเรียบเรียงจาก : 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net