Skip to main content
sharethis

ฟอร์ตี้ฟายไรต์เสนออาเซียนยกเลิก “ฉันทามติ 5 ข้อ” เกี่ยวกับพม่าที่ประสบความล้มเหลว และจัดทำมาตรการฉุกเฉินเพื่อคุ้มครองประชากรพลเรือนในพม่าอย่างเร่งด่วน

รูปภาพประกอบด้วย ข้อความ

คำอธิบายที่สร้างโดยอัตโนมัติ

27 ต.ค. 2565 ฝ่ายสื่อสารฟอร์ตี้ฟายไรต์ แจ้งข่าวว่าสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ควรยกเลิก “ฉันทามติ 5 ข้อ” เกี่ยวกับพม่าที่ประสบความล้มเหลว และจัดทำมาตรการฉุกเฉินเพื่อคุ้มครองประชากรพลเรือนในประเทศ ฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าวในวันนี้ มาตรการฉุกเฉินเหล่านี้ควรรวมถึงความตกลงที่จะคุ้มครองผู้ลี้ภัยจากพม่า การอนุญาตให้ส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมข้ามพรมแดน และการประสานงานกับรัฐภาคีขององค์การสหประชาชาติอื่น ๆ เพื่อไม่ให้มีการส่งอาวุธไปให้กับรัฐบาลทหารพม่า ห้ามการใช้เทคโนโลยีเพื่อประโยชน์ทั้งสองด้าน ห้ามการส่งเชื้อเพลิงอากาศยาน ห้ามการสร้างรายได้ และให้การยอมรับทางการเมืองกับรัฐบาลพม่า

รัฐมนตรีต่างประเทศจากอาเซียนจะประชุมกันที่กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซียในวันนี้ เพื่ออภิปรายถึงสถานการณ์ในพม่า ก่อนการประชุมสุดยอดประจำปีของผู้นำและรัฐบาลในอาเซียน ซึ่งกำหนดมีขึ้นในระหว่างวันที่ 10 ถึง 13 พฤศจิกายน ที่กรุงพนมเปญ กัมพูชา ตามข้อมติเมื่อเดือนตุลาคม 2564 อาเซียนจะยังคงกีดกันไม่ให้ตัวแทนจากรัฐบาลทหารพม่าเข้าร่วมการประชุมในวันนี้อีกครั้ง เนื่องจากรัฐบาลทหารไม่ปฏิบัติตามแผนของฉันทามติ 5 ข้อ

กลุ่มประเทศระดับภูมิภาคนี้ควรเห็นชอบที่จะกีดกันไม่ให้ตัวแทนใด ๆ ของรัฐบาลทหารพม่า เข้าร่วมการประชุมทุกครั้งในกลไกต่าง ๆ ของอาเซียน ฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าว

“ยิ่งอาเซียนดำเนินการล่าช้าในการรับมือกับภัยพิบัติด้านสิทธิมนุษยชนในพม่านานเพียงใด ก็จะยิ่งทำให้เกิดความเสียหายมากขึ้นต่อชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศของกลุ่มประเทศเหล่านี้” แพททริก พงศธร ผู้เชี่ยวชาญการรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน ฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าว “ฉันทามติ 5 ข้อประสบความล้มเหลว และพลเรือนหลายพันคนสูญเสียชีวิตระหว่างการโจมตีอย่างต่อเนื่อง รัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียนต่างทราบถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในพม่าเป็นอย่างดี และต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาดเพื่อยุติวิกฤตดังกล่าว”

ในวันอาทิตย์ มีรายงานว่า กองทัพอากาศภายใต้รัฐบาลทหารพม่า ได้ยิงถล่มงานแสดงคอนเสิร์ตกลางแจ้งซึ่งจัดขึ้นในโอกาสครบรอบ 62 ปีขององค์กรเพื่ออิสรภาพแห่งรัฐคะฉิ่น (KIO) ในหมู่บ้านใกล้กับเมืองผากั้น รัฐคะฉิ่น เป็นเหตุให้ผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กเสียชีวิตอย่างน้อย 80 คน รวมทั้งศิลปินที่มีชื่อเสียงชาวคะฉิ่น และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกจำนวนมาก คลิปวีดิโอแสดงให้เห็นภาพความเสียหายอย่างกว้างขวาง ฟอร์ตี้ฟายไรต์ไม่สามารถยืนยันข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการโจมตีครั้งนี้อย่างเป็นอิสระได้ แต่มีข้อสังเกตว่า รายงานเหล่านี้สอดคล้องกับรูปแบบการโจมตีประชากรพลเรือนอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลทหาร รวมทั้งการก่อ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และ อาชญากรรมสงคราม

เมื่อวานนี้ กัมพูชาซึ่งปัจจุบันเวียนมารับตำแหน่งประธานอาเซียน ได้เผยแพร่ แถลงการณ์ มีข้อสังเกตว่าการโจมตีทางอากาศในรัฐคะฉิ่น และการโจมตีทางอากาศตามรายงานครั้งอื่นในรัฐคะฉิ่น “ไม่เพียงทำให้สถานการณ์ด้านมนุษยธรรมทั่วประเทศพม่าเลวร้ายลง แต่ยังขัดกับเจตนารมณ์ตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน และทำลายความพยายามของทูตพิเศษของประธานอาเซียนในกรณีประเทศพม่า ซึ่งพยายามทำให้เกิดกระบวนการดำเนินงาน” แถลงการณ์นี้ไม่ได้ระบุถึงรัฐบาลทหารโดยตรง แต่กลับมีข้อสังเกตว่า “ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะฝ่ายที่มีอำนาจอย่างมากในระดับพื้นที่” ต้องยึดมั่นต่อ “การยุติความรุนแรงโดยทันที” 

การคว่ำบาตรไม่ให้ขายเชื้อเพลิงอากาศยานให้กับรัฐบาลทหารพม่า ย่อมทำให้อากาศยานของรัฐบาลทหารไม่สามารถบินขึ้นได้ ปิดกั้นโอกาสที่จะทำการโจมตีทางอากาศต่อประชากรพลเรือน และการขนส่งทหารเพื่อทำร้ายประชากรเหล่านี้ในพื้นที่ห่างไกล ทอม แอนดรูวส์ ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพม่า และ องค์กรพัฒนาเอกชนอื่น ๆ ได้เคยเสนอแนะ ให้มีการคว่ำบาตรการขายเชื้อเพลิงอากาศยานให้กับพม่าแล้

ในเดือนเมษายน 2564 ในที่ประชุมฉุกเฉินรัฐมนตรีต่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง ผู้นำอาเซียนได้เจรจาเพื่อจัดทำ “ฉันทามติ 5 ข้อ” กับรัฐบาลทหารพม่า โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนให้ประเทศนี้เข้าสู่เส้นทางเพื่อสันติภาพ ภายหลังการทำรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่นำโดยพลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย แผนการดังกล่าวรวมถึงข้อบทเพื่อให้มี “การยุติความรุนแรงโดยทันที” และการยึดมั่นของทุกฝ่ายที่จะใช้ “ความอดกลั้นสูงสุด” 

รัฐบาลทหารพม่าได้ละเมิดความตกลงนี้ทันที และจากนั้นมายังได้ก่ออาชญากรรมที่ทารุณในวงกว้างและไม่ต้องรับผิด ทหารของรัฐบาลใช้ยุทธวิธีที่มุ่งให้เกิดความหวาดกลัวสำหรับชุมชนต่าง ๆ ในพม่า รวมทั้งการตัดศีรษะและการโจมตีประชากรพลเรือน

ในขณะที่มีรายงานการก่ออาชญากรรมทั่งประเทศพม่า ฟอร์ตี้ฟายไรต์ได้สอบสวนการก่ออาชญากรรมที่ทารุณในวงกว้างในรัฐชิน รวมทั้งการสังหาร การบังคับให้สูญหาย การทรมาน การจับกุมโดยพลการและการควบคุมตัว การบังคับให้โยกย้ายถิ่นฐาน และอาชญากรรมอื่น ๆ ของกองทัพและตำรวจพม่า

การมีปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์กับรัฐบาลทหารพม่า ไม่อาจเกิดขึ้นได้ในภาวะที่กำลังเกิดวกฤต และอาเซียนต้องดำเนินการทันทีเพื่อลดความสัมพันธ์กับรัฐบาลทหาร และร่วมมือกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ภาคประชาสังคมของพม่า และองค์กรต่อต้านฝ่ายชาติพันธุ์ ฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าว

กองทัพพม่าสามารถลอยนวลพ้นผิดจากอาชญากรรมที่ทารุณเหล่านี้ตลอดมา แม้จะรับผิดชอบต่อ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ, และ อาชญากรรมสงคราม และเป็นภัยคุกคามเป็นเวลานานมาแล้วต่อสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค นับแต่การทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 มีรายงานว่า กองทัพและตำรวจพม่าได้สังหารพลเรือนหลายพันคน และควบคุมตัวบุคคลกว่า 12,750 คนโดยพลการ องค์การสหประชาชาติ รายงาน มีผู้พลัดถิ่นฐานในประเทศของพม่ากว่า 1.3 ล้านคน โดยหนึ่งล้านคนเริ่มพลัดถิ่นฐานตั้งแต่หลังวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 และตั้งแต่การทำรัฐประหาร มีการเผาทำลายทรัพย์สินของพลเรือน 28,000 แห่ง
ใน รายงาน 193 หน้า ซึ่งจัดพิมพ์เมื่อเดือนมีนาคม 2565 ฟอร์ตี้ฟายไรต์ และ Schell Center for International Human Rights คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยล บันทึกข้อมูลการปฏิบัติของรัฐบาลทหารพม่า ที่รุนแรงถึงขั้นเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ รวมทั้งการสังหาร การคุมขัง การทรมาน การบังคับให้สูญหาย การบังคับให้โยกย้ายถิ่นฐาน และการประหัตประหารพลเรือน 

“วิกฤตในพม่าในตอนนี้ กำลังเป็นภัยคุกคามอย่างมากต่อชื่อเสียงของอาเซียน” แพททริก พงศธร กล่าว “กลุ่มประเทศนี้ต้องดำเนินการทันทีเพื่อยุติอาชญากรรมที่ทารุณของรัฐบาลทหาร และคุ้มครองประชาชนชาวพม่า”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net