Skip to main content
sharethis

เปิดตัวหนังสือ “There’s Always Spring : เมื่อถึงเวลาดอกไม้จะบาน” หนังสือบันทึกภาพประวัติศาสตร์การชุมนุมที่เบ่งบานขึ้นในช่วงปี 2563-2565 เสวนาเล่าเรื่องการชุมนุม มองอนาคตในวันที่ดอกไม้จะบาน

เพจ iLaw รายงานว่าเมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2565 ที่ GalileOasis (BTS ราชเทวี) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเนล ประเทศไทย (Amnesty International Thailand) และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ในนามของโครงการ Mob Data Thailand จัดงานเปิดตัวหนังสือ “There’s Always Spring : เมื่อถึงเวลาดอกไม้จะบาน” หนังสือบันทึกภาพประวัติศาสตร์การชุมนุมที่เบ่งบานขึ้นในช่วงปี 2563-2565 

ภายในงานยังมีนิทรรศการจัดแสดงสิ่งของที่ถูกรวบรวมจากการชุมนุม และวงพูดคุยกับสี่นักกิจกรรม ได้แก่ อานนท์ นำภา มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และลูกเกด-ชลธิชา แจ้งเร็ว ร่วมพูดคุยกันถึงความทรงจำในการชุมนุมช่วงปี 2563-2565 และความหวังการต่อสู้ทางการเมืองในอนาคต

ย้อนความทรงจำการชุมนุม 2563-2564 : หยาดเหงื่อ แก๊สน้ำตา มาตรา 112

ช่วงแรก เป็นกิจกรรมเปิดภาพถ่ายการชุมนุม แล้วให้นักกิจกรรมทั้งสี่คนทายว่า จากภาพที่เปิดมา ถ่ายมาในเหตุการณ์การชุมนุมใด และร่วมแลกเปลี่ยนกันว่า ขณะที่มีการชุมนุมนั้นๆ พวกเขาอยู่ที่ไหน ทำอะไรอยู่ 

การชุมนุมเดินไปสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี ประจำประเทศไทย 26 ตุลาคม 2563 

ในการชุมนุมครั้งนี้ มีผู้ถูกดำเนินคดี มาตรา 112 มากสุด คือ 13 คน อานนท์เล่าว่าขณะนั้นเขาอยู่ในคุก ส่วนจตุภัทร์เล่าว่าเขาเพิ่งออกจากคุกมาก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน และได้ไปเข้าร่วมการชุมนุมนี้ด้วย และได้เข้าไปในสถานทูต ไผ่เล่าต่อว่าการในการชุมนุมครั้งนี้ มีผู้ร่วมชุมนุมเยอะ เดินไกลมาก แนวหน้าการชุมนุมมีรถซาเล้งเล็กๆ บรรยากาศโดยรวมดีมาก 

ด้านภัสราวลี กล่าวว่าตนเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้ไปยื่นหนังสือภายในสถานทูตเยอรมนี บรรยากาศข้างในสถานทูตดีมาก เจ้าหน้าที่ต้อนรับดีมากและรับหนังสือที่ยื่นไป หลังจากยื่นหนังสือเสร็จ ก็จับพลัดจับผลูออกมาอ่านหนังสือที่ยื่นไปที่หน้าสถานทูต โดยที่ตอนแรกไม่ได้ถูกวางตัวให้พูด การชุมนุมครั้งนั้นยุติด้วยดี แต่ภายหลังจากนั้นตนก็ถูกดำเนินคดี มาตรา 112

ชลธิชา เล่าย้อนเหตุการณ์ไปยังตอนช่วง 26 ตุลาคม 2563 ก่อนหน้านั้นตนเดินทางไปเยี่ยมอานนท์ในคุกที่เชียงใหม่ ตอนแรกตนจะต้องเป็นหนึ่งในผู้ที่เข้าไปยื่นหนังสือในสถานทูต แต่ด้วยสภาพร่างกายที่เหนื่อยล้า ตนจึงไปร่วมชุมนุมช่วงหนึ่งแต่ก็กลับออกมาก่อน

การชุมนุมราษฎรสานส์ 8 พฤศจิกายน 2563 เขียนจดหมายถึงรัชกาลที่ 10 ที่สนามหลวง 

ภัสราวลีเล่าว่า ตนอยู่ตรงกลางๆ ขบวน สงสัยว่าทำไมขบวนไม่เคลื่อนไปข้างหน้า พอเดินไปอยู่ข้างหน้าปรากฏว่าโดนฉีดน้ำ บรรดาพี่ๆ นักข่าวก็ถูกฉีดน้ำใส่ หลังจากนั้นตู้ที่ใส่จดหมายก็ถูกอุ้มไปสน.ชนะสงคราม 

การชุมนุม 28 กุมภาพันธ์ 2464 REDEM บุกบ้านพักพลเอกประยุทธ์ ที่กรมทหารราบที่ 1 

ชลธิชาเล่าว่า จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปยังหน้าบ้านพักพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ราบ 1 ระหว่างทางมีการยิงกระสุนยาง ซ้ำยังยิงแบบไม่ถูกหลักสากลด้วยเพราะลักษณะการยิงนั้นทิศทางสูง ซึ่งตามหลักสากลต้องยิงต่ำ ตนไม่เคยคิดเลยว่าจะถูกยิง โชคดีมีประชาชนที่ขับจักรยานยนต์ผ่านมาเขาเลยพากลับมาด้วย ด้านภัสราวลี เสริมว่าหลังการชุมนุม ตนวิ่งข้างฝั่งมา แต่ถูกเจ้าหน้าที่วิ่งข้ามฝั่งตาม มีการนำกระบองไล่ฟาดคน ด้วยความกลัวตนจึงพยายามวิ่งและพลัดหลงกับเพื่อน

ต่อมา เป็นช่วงชวนพูดคุยแลกเปลี่ยน เมื่อชวนย้อนกลับไปถึงการชุมนุมปี 2563-2564 ว่านึกถึงอะไรบ้าง อานนท์ กล่าวว่า ต้องให้เครดิตกลุ่มฟรียูธที่เริ่มการชุมนุม หลังจากนั้นมีการชุมนุมม็อบแฮมทาโร่ ม็อบอื่นๆ ด้านไผ่-จตุภัทร์ แสดงความเห็นว่าการชุมนุมในช่วงปี 2563-2564 นั้นมีความหวังมาก ทำให้เห็นการเคลื่อนไหว มีการชุมนุมในหลายจังหวัด ตนอยู่ขอนแก่นก็ได้รับรู้พลังแห่งการต่อสู้ 

ภัสราวลี เสริมว่าช่วง 2563-2564 ทำให้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์มากขึ้น เห็นแสงสว่างที่เราอยากเห็นจริงๆ เห็นความคิดสร้างสรรค์ผ่านการประชันแฮชแท็กที่ใช้ในการชุมนุม สิ่งที่ผู้ปราศรัยพูดในที่ชุมนุม ประเด็นเหล่านั้นก็ถูกขยายออกไปมากขึ้น 

ส่วนชลธิชา เล่าว่า เมื่อย้อนกลับไปตอนการจัดกิจกรรมปี 2557 แค่มีคนมาร่วมกิจกรรมหลักสิบ ก็ดีใจ แต่ในปี 2563-2564 มีจำนวนคนมามากขึ้น ประเด็นการนำเสนอในการชุมนุม มีเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ ตนเห็นการเปลี่ยนแปลงและมีการผลักเพดานในประเทศไทย คือ ในประเด็นรูปแบบการชุมนุมที่ขบวนการเคลื่อนไหวแบบไม่มีแกนนำ เป็นออร์แกนิก ประชาชนผู้เข้าร่วมสามารถตัดสินใจการขับเคลื่อนในสิ่งที่เขาต้องการได้ ซึ่งการชุมนุมรูปแบบนี้ก็เป็นเทรนด์การเคลื่อนไหวทางการเมืองในต่างประเทศด้วย เช่น ในฮ่องกง ชิลี

เมื่อถึงเวลา… ดอกไม้จะบาน

เมื่อชวนคุยถึงบรรยากาศการชุมนุมในปี 2565 ที่หลายคนอาจมองว่ากระแสการชุมนุมเบาลง และมองไปถึงอนาคตข้างหน้า จตุภัทร์ กล่าวว่า ตนเชื่อว่าปี 2563-2564 คือการเรียนรู้ เป็นโอกาสที่ทุกคนได้ลองสร้างชุดประสบการณ์ร่วมกัน ณ วันนี้ที่การต่อสู้มันดูน้อยลง ก็เป็นไปตามบรรยากาศและเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ตนต่อสู้มาร่วม 10 ปี ก็เห็นบรรยากาศทำนองนี้เรื่อยมา เมื่อต่อสู้เหนื่อย ก็พัก เมื่อหมดหวัง ก็สร้างความหวัง และการต่อสู้ สามารถเปลี่ยนรูปแบบได้ 

ภัสราวลี กล่าวว่า ตนเชื่อว่าอาวุธทางความคิด ที่เกิดขึ้นในปี 2563-2564 ยังอยู่ในความคิดของมวลชน ปี 2565 หลายคนอาจจะมองว่าไม่มีม็อบเลย แต่ตนเชื่อว่ามันถูกแสดงออกมาในรูปแบบอื่นมากกว่า เมื่อถึงเวลาที่พร้อมและรัฐอ่อนแอ ตนเชื่อว่าประชาชนจะลุกฮือ และอาจเปลี่ยนประวัติศาสตร์ไปเลยก็ได้

ชลธิชา เสริมว่าการต่อสู้ของตนก็เปลี่ยนแปลงเชิงรูปแบบ เช่น ไปบรรยาย เพื่อหาเพื่อนร่วมทางที่จะสู้ไปร่วมกัน ซึ่งตนก็เห็นจากการไปบรรยายว่า ความคิดทางการเมืองของคนมีความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น แต่ตนเชื่อว่าเมื่อบรรยากาศมันสุกงอม สิ่งที่คาดหวังก็อาจเป็นจริง 

ลูกเกดแสดงความคิดเห็นต่อว่า ในคดีทางการเมืองหรือคดีที่เกี่ยวกับการแสดงความเห็น มีหลายกรณีที่ผู้พิพากษากำหนดเงื่อนไขการประกันตัว ให้ติด EM และมีเงื่อนไขอื่นเสริมซึ่งอาจจะไม่เกี่ยวกับกฎหมายโดยตรง แต่หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขจะถูกถอนประกัน ซึ่งหากไปดูต่างประเทศแม้จะมีการใช้ EM แต่ก็ถูกนำไปใช้กับคดีอื่นด้วย เช่น คดียาเสพติด แต่ของไทยกลับถูกนำมาใช้ในคดีที่เกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น จึงอยากจะฝากผู้พิพากษาไว้ในเรื่องนี้

อานนท์ แสดงความเห็นว่า หลังช่วงที่ตนติดคุก ช่วงนี้มันเป็นช่วงที่นิ่ง ตกผลึก แต่มีการสะท้อนพลังบ้าง เช่น กรณีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แต่ตอนนี้มันไม่ใช่การเงียบ การหาย แต่คนกำลังสั่งสมอารมณ์ เพื่อจะปล่อยออกมาภายหลัง เปรียบเสมือนดวงดาวที่ยังคงมีอยู่แม้ว่าเราอาจจะมองไม่เห็นในบางเวลา ตนเชื่อว่า การชุมนุมที่ใหญ่ที่สุด ไม่ใช่ปี 2563-2564 แต่มันจะเกิดขึ้นในปี 2566-2567 

ถอดประสบการณ์คลุกเคล้าแก๊สน้ำตาของ “ผู้สังเกตการณ์”

หลังจากที่ช่วงแรกเป็นงานเสวนารวบรวมนักกิจกรรมทางการเมือง กิจกรรมต่อมาเป็นวงพูดคุยของตัวแทนผู้สังเกตการณ์การชุมนุม 5 คน ที่ลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างการชุมนุม และได้แปรเปลี่ยนเป็นหนังสือ There’s Always Spring ได้ในท้ายที่สุด

ผู้สังเกตการณ์แต่ละคน แม้ว่าจะเริ่มลงพื้นที่ต่างกรรมต่างวาระกัน แต่ก็มีประสบการณ์ร่วมกันในฐานะผู้เก็บข้อมูลท่ามกลางควันของแก๊สน้ำตาและกระสุนยางที่บินว่อนแหวกอากาศ “ซี” หนึ่งในผู้สังเกตการณ์จากแอมเนสตี้ประเทศไทย เล่าประสบการณ์ของตนเองที่เปลี่ยนจากคนเคยเป็นผู้จัดชุมนุมกลายเป็นผู้สังเกตการณ์การชุมนุม การลงพื้นที่ครั้งแรกของซีเกิดขึ้นที่หน้า สน. แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ทำให้ตนรู้สึกว่าการสังเกตการณ์ที่เคยคิดว่าง่ายนั้นไม่ได้ง่ายเลย เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้เต็มใจที่จะให้ข้อมูลอย่างที่คิด บางครั้งตนก็ถูกเหมารวมจากตำรวจว่าเป็นสื่อ ทำให้การทำงานเก็บข้อมูลนั้นยากยิ่งขึ้น

เช่นเดียวกับ “แนน” ผู้สังเกตการณ์และช่างภาพจากไอลอว์ ซึ่งยอมรับว่าโดยพื้นฐานแล้วตนเป็นคนขี้กลัวมาก แต่เมื่อได้เห็นการต่อสู้ของผู้ชุมนุม ก็อดนับถือในความกล้าไม่ได้ ในวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ที่มีการใช้รถฉีดน้ำในการสลายการชุมนุมเป็นครั้งแรก และทำให้เกิดความวุ่นวายรวมถึงข่าวลือต่าง ๆ ตามมา ตนก็ต้องทำหน้าที่ในการตรวจสอบความถูกต้องของข่าว โดยเฉพาะข่าวว่ามีการจับกุมในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งสุดท้ายก็พบว่าไม่เป็นความจริง ในวันนั้นแม้ว่าจะถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ตนก็ยังเห็นกลุ่มผู้ชุมนุมที่แสดงความโกรธออกมาด้วยการตะโกนและชูสามนิ้วใส่ตำรวจ ประสบการณ์ในวันนั้นทำให้แนนนับถือความกล้าของผู้ชุมนุมที่ยังยืนหยัดประจันหน้ากับตำรวจต่อไป

ประเด็นที่สำคัญของการเป็นผู้สังเกตการณ์คือความเป็นกลาง และต้องมีบทบาทที่ต่างจากผู้ชุมนุม “ปอย” ผู้เรียกตัวเองว่า “มวลชนอิสระ” และเคยเป็นอาสาสมัครจากแอมเนสตี้ เล่าประสบการณ์ว่าตนเคยได้รับการร้องขอจากผู้ชุมนุมให้ช่วยพูดในการชุมนุม แต่ท้ายที่สุดก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องสำหรับผู้สังเกตการณ์ในการเป็นส่วนหนึ่งของการชุมนุม จึงไม่ได้ตอบรับไป

วงพูดคุยของผู้สังเกตการณ์จบลงด้วย “ซี” กล่าวว่าการเก็บข้อมูลการชุมนุมนั้นมีความสำคัญมาก เช่น เมื่อมีการใช้แก๊สน้ำตา เราก็จะเก็บตัวอย่างน้ำในพื้นที่เอาไว้เพื่อนำเป็นหลักฐานในภายหลังว่ามีการใช้สารเคมีใดบ้าง หรืออีกตัวอย่างหนึ่งเมื่อมีผู้ชุมนุมถูกทำร้าย ผู้สังเกตการณ์ก็จะต้องเข้าไปสอบถามพูดคุยกับเหยื่อในทันทีเพื่อเก็บข้อมูลและส่งต่อให้กับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเรื่องขาดไม่ได้ ต่อจากนี้ เราก็จะต้องพยายามขยายเครือข่ายผู้สังเกตกาณณ์การชุมนุมให้ครอบคลุมทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมรูปแบบใด จัดโดยใครต่างมีความสำคัญในการเก็บข้อมูลทั้งนั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net