Skip to main content
sharethis

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ออกแถลงการณ์ประณาม กสม. กรณีการตรวจสอบเหมืองแร่โปแตชในพื้นที่ ระบุปกป้อง 'ประโยชน์เอกชน' ของบริษัทฯ มากกว่า 'ประโยชน์สาธารณะ' ของประชาชน 'เลิศศักดิ์' ชี้เป็นการทำลายกระบวนการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน เหตุยินยอมตามคำร้องขอของบริษัทไม่ให้ที่ปรึกษากลุ่มฯ เข้าไปตรวจสอบภายในเหมืองพร้อมกับ กสม.ในฐานะพยานบุคคล ขณะที่เจ้าตัวระบุ กสม. ชุดนี้กำลังทำให้นิยามความหมายหรือคุณค่าศักดิ์ศรีของสิทธิมนุษยชนถูกทำลายลง ด้าน PI ชี้ การปฏิบัติงานเช่นนี้ของ กสม.และหลายครั้งที่ผ่านมาขัดกับหลักการที่ยืนยันว่ามีความพยายามในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องจริงจังและไม่สมศักดิ์ศรีสถานะ A ที่พึ่งได้รับกลับคืนมา


 
28 ต.ค. 2565 กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดแจ้งข่าวว่ามีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจประเด็นกรณีการตรวจสอบเหมืองแร่โปแตชในพื้นที่ อ.ด่านขุดทด จ.นครราชสีมา โดยล่าสุดกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุดทดได้ออกแถลงการณ์ประณามคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ผ่านทางเฟสบุ๊คเหมืองแร่โปแตชแอ่งโคราช กรณีการตรวจสอบเหมืองแร่โปแตชด่านขุดทดของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด 

ซึ่งที่มาที่ไปของการออกแถลงการณ์ในครั้งนี้นั้น สืบเนื่องมาจาก กสม.ได้เตรียมลงพื้นที่เพื่อทำการตรวจสอบปัญหาและผลกระทบจากการทำเหมืองแร่โปแตชของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่บ้านหนองไทร ต.หนองไทร และหมูบ้านใกล้เคียงในอ.ด่านขุดทด จ.นครราชสีมา ตามหนังสือร้องเรียนของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด โดย กสม.ได้จัดทำหนังสือเชิญนายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและที่ปรึกษากลุ่มฯ ที่ลงไปทำงานในพื้นที่เพื่อติดตามและตรวจสอบสภาพการณ์ของปัญหาและผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ของบริษัท ร่วมลงพื้นที่ในฐานะพยานบุคคลของกลุ่มด้วย 

ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ กสม.ได้มีการติดต่อนายเลิศศักดิ์หลายครั้งเพื่อให้เป็นตัวแทนผู้ร้อง ผู้ได้รับผลกระทบเข้าไปตรวจสอบในเหมืองพร้อมกับคณะ ซึ่งนักปกป้องสิทธิฯกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุดทดระบุในแถลงการณ์ว่าเป็นสาระสำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการตรวจสอบของ กสม.ที่อย่างน้อยตัวแทนของผู้ร้องผู้ได้รับผลกระทบซึ่งที่จริงควรเป็นชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดควรได้เข้าไปเห็นสภาพการทำเหมืองด้วยตาตนเอง

“แต่เมื่อบริษัทได้ประสานไปทาง กสม.ว่าไม่ยินยอมให้นายเลิศศักดิ์เข้าไปในเหมืองพร้อมกับคณะของ กสม.ตามที่ได้นัดหมายไว้และมีข้อแลกเปลี่ยนให้ส่งตัวแทนชาวบ้านสามคนที่อยู่ในพื้นที่เท่านั้นเข้าไปแทน แทนที่กสม.จะปกป้องคุ้มครองว่าตัวแทนผู้ร้องและผู้ได้รับผลกระทบเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตรวจสอบที่จะขาดไปไม่ได้ เพราะจะทำให้สาระสำคัญของการตรวจสอบเกิดความบกพร่องไม่ครบถ้วน กลับยินยอมตามที่บริษัทต้องการ โดยยกเหตุผลหลายประการในการโน้มน้าวชาวบ้านอาทิ บริษัทเป็นพื้นที่เอกชนหากใครไม่ได้รับการยินยอมให้เข้าไปจะถือว่าเป็นการบุกรุก รวมถึงการกล่าวหานายเลิศศักดิ์ว่าเป็นคนนอกพื้นที่ที่เข้ามายุแหย่และแสดงความคิดเห็นที่ทำให้ชาวบ้านไม่เป็นมิตรหรือกระด้างกระเดื่องต่อบริษัท

จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจะเห็นว่า กสม.ไม่คิดจะต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิ์และสิทธิอันชอบธรรมให้แก่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนแม้แต่น้อย กลับทำการเจรจาเสมือนหนึ่งเป็นตัวแทนบริษัท โดยเห็นคล้อยตามกับบริษัททุกประการ พฤติกรรมและการกระทำของ กสม.ได้ทำให้สิทธิมนุษยชนในสังคมไทยตกต่ำอย่างน่าใจหาย สิ่งที่กสม.ทำคือปกป้องประโยชน์ของเอกชนของบริษัทมากกว่าประโยชน์สาธารณะของประชาชน เป็นการทำลายกระบวนการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างราบคาบ กลุ่มฯจึงของประณามกสม.ด้วยเหตุดังกล่าวนี้” แถลงการณ์บางช่วงบางตอนระบุ

คลิกอ่านแถลงการณ์ฉบับเต็มได้ที่นี่

ขณะที่สุปราณี ทองอุไร กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด กล่าวว่าการที่ กสม. ทำตามคำขอของบริษัทเอกชน โดยการปฏิเสธตัวแทนของกลุ่มคือนายเลิศศักดิ์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของกลุ่มเข้าร่วมตรวจสอบความจริงในเหมืองกับ กสม.ในฐานะพยานบุคคลในครั้งนี้ ทำให้พวกตนเสียความรู้สึกเป็นอย่างมาก เพราะ กสม. ควรยืนอยู่เคียงข้างการต่อสู้ของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ที่ผ่านมาพวกเราได้รับความเดือดร้อนกันมากจากเหมือง นอกจากไร่นาของเราไม่ได้ผลผลิตจนทำให้เรามีหนี้ที่ต้องจ่าย เรายังถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในอีกหลายกรณีด้วย  พวกเราไปร้องขอให้นายเลิศศักดิ์เข้ามาร่วมเป็นที่ปรึกษาในการต่อสู้ของกลุ่ม เพราะกลุ่มของพวกเราไม่ได้มีความรู้ด้านกฎหมายหรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทำเหมือง แต่พอเราได้รับคำปรึกษา ได้รับคำแนะนำพวกเราได้รู้เรื่องสิทธิทางกฎหมาย สิทธิมนุษยชน และแนวทางการต่อสู้ที่เราจะปกป้องตนเองและที่ดินของตนเองไว้ได้ แต่การกระทำของ กสม. ในครั้งนี้ทำให้พวกเราเสียโอกาสในการต่อสู้ครั้งนี้  

“กสม.น่าจะเห็นใจชาวบ้านสักนิด ว่าชาวบ้านเดือดร้อน ถ้าไม่เดือดร้อนคงไม่ต้องวิ่งหาที่พึ่งให้หลายๆ คนมาเป็นที่ปรึกษาให้กับชาวบ้าน และไม่ใช่เฉพาะแค่คุณเลิศศักดิ์ที่เข้ามาช่วยเป็นที่ปรึกษาให้กับการต่อสู้ของกลุ่มเรา เพราะทุกคนสามารถเข้ามาช่วยได้ เพื่อช่วยให้คำปรึกษา ให้ความรู้ หรือให้แนวทางการต่อสู้ ดังนั้น กสม. จึงควรทบทวนบทบาทการทำหน้าที่ของตนเองว่าได้สนับสนุนการต่อสู้ของชาวบ้านที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนได้อย่างเต็มที่แล้วหรือยัง” สุปราณีกล่าว

ขณะที่เลิศศักดิ์ ระบุว่าตนรู้สึกสงสัยต่อการตัดสินใจของ กสม. ในครั้งนี้ เพราะในอดีตเราก็เคยผ่านเหตุการณ์การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบมาหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นกรรมาธิการของวุฒิสภา กรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร หรือแม้กระทั่ง กสม. ในชุดก่อนหน้า ก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร ตนคิดว่าหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้ได้รับผลกระทบเป็นหลักการของการตรวจสอบ แต่กลายเป็นว่า กสม. ชุดนี้กลับทำลายหลักการดังกล่าวไปหมดสิ้น ไม่ยืนหยัดเคียงข้างนักปกป้องสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ กลับคำนึงถึงสิทธิหรือประโยชน์ของเอกชนเป็นหลัก

กสม. มุ่งแต่จะเข้าไปในเหมืองให้ได้เพียงอย่างเดียว ทั้งๆ ที่การตรวจสอบบริษัทควรขยายขอบเขตการละเมิดสิทธิมนุษยชนให้รอบด้าน ทั้งในส่วนผลกระทบที่อยู่ในเขตเหมือง และผลกระทบที่เกิดจากการที่นักปกป้องสิทธิฯไม่สามารถเข้าไปในเหมืองร่วมกับ กสม. ได้ ก็ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่งของบริษัทฯ

“ผมกังวลว่าความคิดแบบนี้ของ กสม. ถ้าขยายตัวไปเรื่อยๆ ไปใช้สำหรับการตรวจสอบกรณีอื่นๆ จะกลายเป็นต้นแบบของการปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนและของผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งจะทำให้ต่อไป กสม. เองก็จะไม่ต้องเชิญผู้ได้รับผลกระทบที่เป็นผู้ร้องเรียนเข้าไปตรวจสอบด้วยโดยตรงอีกต่อไป เพราะจะได้ประสานงานแบบไม่ให้กระทบกระเทือนจิตใจของบริษัทเอกชนต่างๆ ที่มีทัศนคติไม่ดีกับประชาชน ถ้ายังเป็นแบบนี้ต่อไปอีกเรื่อยๆ จะทำให้เกิดคำถามใหญ่ว่า กสม. จะยืนอยู่ฝั่งไหนในการตรวจสอบ ฝั่งปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนที่เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน หรือฝั่งปกป้องผลประโยชน์ของเอกชนเป็นหลัก กสม. ชุดนี้กำลังทำให้นิยามความหมายหรือคุณค่าศักดิ์ศรีของสิทธิมนุษยชนถูกทำลายลงไปเรื่อยๆ”  นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในฐานะที่ปรึกษากลุ่มระบุ

จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด กล่าวเสริมในประเด็นนี้ด้วยเช่นกันว่า สิ่งที่ กสม. ทำเป็นการกระทำที่นอกจากจะไม่ปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนแล้วยังทำลายหลักการของการปกป้องนักปกป้องสิทธิมุนษยชน การแบ่งแยกคนใน-คนนอกในสถานการณ์การละเมิดสิทธิที่ไม่ควรเกิดขึ้นโดยเกิดการสนับสนุนของ กสม. ซึ่ง กสม. ควรมีหน้าที่ต้องยืนการปกป้องชาวบ้านไม่ให้เกิดการใช้วาทะกรรมคนใน-คนนอก เพราะสุดท้ายแล้วมันจะทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ต้องโดดเดี่ยวและยอมจำนนต่อการละเมิดสิทธิฯ ใครจะเข้ามาช่วยได้ ถ้าทุกคนถูกกีดกันด้วยคำว่าคนใน-คนนอกหรือคนไม่ใช่ตำบลนี้ จากเหตุการณ์นี้ยิ่งตอกย้ำว่า กสม.ไม่ใช่ที่พึ่งของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

ด้านปรานม สมวงศ์ องค์กรโพรเทคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล (PI) ซึ่งได้ประสานงานและตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมาโดยตลอด ระบุว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นองค์กรอิสระที่ควรมีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและคุ้มครองการปกป้องสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจไว้ ในหลายประเทศ กสม.สามารถเริ่มต้นและดำเนินการสอบสวนตามความประสงค์อย่างยืดหยุ่นภายในขอบเขตของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การทำงานที่เป็นอิสระ ที่สามารถติดตามการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือคดีที่หน่วยงานรัฐละเลยได้ และสามารถดำเนินการไปไกลกว่าการเฝ้าติดตามสถานการณ์หรือสอบสวนแบบขอไปที กสม.ต้องดำเนินการให้แน่ใจว่ามีการแก้ไขทั้งการละเมิดสิทธิของบุคคล ชุมชนและความล้มเหลวที่เป็นระบบของการตรวจสอบและการทำหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ นั่นคือสิ่งที่ กสม. สมควรทำเพื่อดำเนินการสอบสวนสาธารณะ เพื่อเสนอแนวทางที่รวดเร็วที่สุดในการเยียวยาการละเมิดและแนวทางแก้ไขให้รัฐบาลฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติและต้องแจ้งแก่สาธารณะ เพราะสิทธิชุมชนและสิทธิในการมีสิ่งแวดล้อมที่ดีเป็นผลประโยชน์สาธารณะ  

"เป็นเรื่องน่าอายที่ล่าสุดปีนี้สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (SCA) พึ่งมีข้อเสนอแนะให้ กสม.กลับคืนสู่สถานะเอ แต่การปฏิบัติงานเช่นนี้ของกสม.และหลายครั้งที่ผ่านมาขัดกับหลักการที่ยืนยันว่ามีความพยายามในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องจริงจังและไม่สมศักดิ์ศรีสถานะ A ที่พึ่งได้รับกลับคืนมาและที่สำคัญคือการมีสถานเอต้องมีการปฏิบัติหน้าที่ของ กสม.ที่ต้องสร้างความมั่นใจของประชาชนต่อสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นั่นรวมถึงความสามารถของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในการเป็นส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์เชิงวิจารณ์และการวิจารณ์ประเด็นสิทธิมนุษยชนที่ปราศจากการแทรกแซง การปฏิบัติงานเยี่ยงนี้อาจจะทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่าการทำงานที่ควรเป็นอิสระของ กสม.ได้ถูกแทรกแซงจากเอกชน" ปรานมกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net