Skip to main content
sharethis

นักกฎหมายเพื่อสิทธิผู้หญิงข้ามเพศ ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อแพทยสภาเปลี่ยนแปลงถ้อยคำเกี่ยวกับ 'บุคคลข้ามเพศ' ที่ไม่ถูกต้องตามหลักขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ถอดถอนบุคคลข้ามเพศออกจากหมวดที่ว่าด้วยโรคหรือภาวะผิดปกติทางระบบพัฒนาการประสาทแล้ว

28 ต.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวประชาไทได้รับแจ้งว่า ชิษณ์ชาภา พานิช นักกฎหมายเพื่อสิทธิผู้หญิงข้ามเพศ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อแพทยสภา โดย คุณบัณฑิต บุญเรืองรอด นิติกรประจำแพทยสภา รับเรื่องไว้แทน นายแพทย์อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา โดยวัตถุประสงค์ของการยื่นหนังสือร้องเรียนคือขอให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงถ้อยคำใน ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม เรื่องเกณฑ์การรักษาเพื่อแปลงเพศ พ.ศ. 2552 ข้อ 4 วรรคแรก ที่บัญญัติว่า การผ่าตัดแปลงเพศ คือการรักษาโรคหรือภาวะผิดปกติทางจิตเวช 

และข้อ 6 ที่บัญญัติการรักษาแปลงเพศคือการรักษาที่มีพฤติกรรมสับสนในเพศตนเอง ซึ่งเป็นคำที่ไม่ถูกต้องตามหลักการแพทย์สากลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ถอดถอนบุคคลข้ามเพศ (Transgender) ออกจากหมวดที่ว่าด้วยโรคหรือภาวะผิดปกติทางระบบพัฒนาการประสาทในบัญชีจำแนกโรคระหว่างประเทศ ฉบับที่ 11 หรือ ICD-11 โดยย้ายมาอยู่ในหมวดที่ว่าด้วยภาวะที่สัมพันธ์กับสุขภาพทางเพศแทน และให้นิยามใหม่ว่า ภาวะข้ามเพศเป็น ความไม่สอดคล้องของเพศภาวะ (Gender Incongruence) ซึ่งเป็นเรื่องปกติและมิใช่โรคหรือความผิดปกติทางจิตเวชแต่เป็นเรื่องที่ต้องดูแลในฐานะเป็นสุขภาพทางเพศเท่านั้น

แต่การที่แพทยสภายังคงใช้ข้อบังคับดังกล่าวโดยไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น ข้อบังคับดังกล่าวย่อมเป็นบทบัญญัติที่มีอคติทางเพศ และเป็นการตีตราบาป (Stigmatization) ลดทอนสถานะทางสังคมของบุคคลข้ามเพศอันนำไปสู่ความยากลำบากในการดำเนินชีวิตทั้งในสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษาทุกองค์กร สถานที่ทำงานต่าง ๆ ตลอดจนการประกอบวิชาชีพที่กำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นคำขอใบประกอบวิชาชีพว่าต้องไม่เป็นบุคคลโรคจิตหรือวิกลจริต เช่น การขึ้นทะเบียนเป็นทนายความ กฎของสำนักงาน ก.พ. ที่ห้ามคนโรคจิตหรือโรคผิดปกติทางอารมณ์เข้ารับราชการพลเรือน เป็นต้น นอกจากนั้น บทบัญญัติดังกล่าวยังเป็นการสนับสนุนให้คนในสังคมมีความรู้สึกเกลียดชังบุคคลข้ามเพศรวมตลอดถึงชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ (Homophobia, Biphobia and Transphobia) เนื่องจากเห็นว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวเป็นโรคจิตวิปริตผิดเพศและนำไปสู่ความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ (Gender-Based Violence) จึงอาจถือได้ว่าบทบัญญัติใน ข้อ 4 วรรคแรก แห่งข้อบังคับแพทยสภา ฯ เป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 4 ซึ่งบัญญัติรับรองไว้ว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง” ประกอบกับ มาตรา 27 วรรคสาม การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องเพศซึ่งรวมถึงความหลากหลายทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ และเพศวิถีนั้น จะกระทำมิได้ โดยหลักการดังกล่าวได้รับการรับรองต่อเนื่องมาเป็นลำดับใน พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ซึ่งกำหนดว่าการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ..เพราะเหตุที่บุคคลนั้นเป็นเพศชายหรือเพศหญิงหรือมีการแสดงออกที่ต่างแตกจากเพศโดยกำเนิด จะกระทำมิได้

ด้วยเหตุนี้ ดิฉันในฐานะนักกฎหมายเพื่อสิทธิผู้หญิงข้ามเพศ (Lawyer for Trans Women’s Rights) ซึ่งเป็นผู้หญิงข้ามเพศที่มีส่วนได้เสียและได้รับความเสียหายจากบทบัญญัติดังกล่าวเช่นกัน จึงขอให้ฝ่ายจริยธรรมและกฎหมายแห่งแพทยสภาได้ทบทวนและพิจารณาแก้ไขถ้อยคำแห่งบทบัญญัติดังกล่าวให้ถูกต้องเหมาะสมและไม่เป็นการละเมิดศักดิ์ความเป็นมนุษย์ โดย แก้ไขคำว่า “โรคหรือภาวะผิดปกติทางจิตเวช” เป็น “ความไม่สอดคล้องของเพศภาวะ” และ “ผู้ที่มีพฤติกรรมสับสนในเพศตนเอง” เป็น “ผู้มีความไม่สอดคล้องของเพศภาวะ” และข้อความอื่นๆ ให้สอดรับกันตามหนังสือร้องเรียกนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net