Skip to main content
sharethis

อัยการแขวงใต้ยื่นฟ้อง 34 แรงงานข้ามชาติพนักงานผับลับชาวจีน เข้าเมืองไม่มีใบอนุญาต

28 ต.ค. 2565 นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีที่เมื่อวันที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา ตำรวจนครบาลสนธิกำลังหลายหน่วยงานบุกทลายผับขนาดใหญ่ย่านเจริญราษฎร์ เขตยานนาวา ซึ่งลักลอบเปิดโดยผิดกฎหมาย ภายในตกแต่งอย่างหรูหรา พบนักท่องเที่ยวหลายร้อยคนและยาเสพติดอีกจำนวนมาก ว่าได้รับทราบ นายชิงชัย โชติแสง อัยการพิเศษฝ่ายคดีแขวง 4 เมื่อวานนี้ทางอัยการได้ฟ้องผู้ต้องหาในความผิดเกี่ยวกับเสพยาเสพติดที่ให้การรับสารภาพไปแล้ว 7 คน ส่วนคนที่ให้การปฏิเสธทางพนักงานสอบสวนก็จะทำสำนวนเต็มรูปแบบเพื่อส่งให้พนักงานอัยการพิจารณาอีกครั้ง โดยในวันนี้พนักงานสอบสวนแจ้งว่าจะมีการส่งตัวให้พนักงานอัยการฟ้องผู้ต้องหาประมาณ 48 ราย แต่เมื่อถึงเวลามีผู้ต้องหาที่รับสารภาพและสามารถยื่นฟ้องได้จำนวน 34 คน ซึ่งเป็นคนงานต่างด้าว ชาวพม่า กัมพูชา ที่มาทำงานในผับดังกล่าว โดยไม่มีใบอนุญาต หรือใบอนุญาตขาดอายุ ซึ่งทางอัยการได้ยื่นฟ้องศาลแขวงพระนครใต้แล้วในความผิดฐาน เป็นคนต่างด้าวเข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาต ขณะนี้รอศาลตัดสิน ส่วนคนที่ให้การปฏิเสธ พนักงานสอบสวนก็จะดำเนินคดีเต็มรูปแบบ ในส่วนผู้ต้องหารายอื่นๆ ยังไม่มีรายงานเข้ามา

ที่มา: มติชนออนไลน์, 28/10/2565

โครงการเงินกู้ยืมกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานปลอดดอกเบี้ยมีถึงปี 2566

สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานเพชรบูรณ์ ได้มอบเงินกู้ยืมกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน ปลอดดอกเบี้ย จำนวน 760,000 บาท ให้แก่บริษัท ไร่นายจุล คุ้นวงศ์ จำกัด จำนวน 520,000 บาท และบริษัท จุลไทยฟอกย้อม จำกัด จำนวน 240,000 บาท เพื่อใช้ในการฝึกอบรมให้กับพนักงานของบริษัทให้มีทักษะฝีมือที่สูงขึ้น เพิ่มผลิตภาพแรงงานและลดความสูญเสียในกระบวนการผลิต สร้างความเชื่อมั่นในสินค้าและบริการให้กับลูกค้า

นายอาคม คุ้มหมู่ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานเพชรบูณ์ เปิดเผยว่า "นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ให้ความสำคัญในการดูแลสถานประกอบกิจการ รวมไปถึงการสนับสนุนให้สถานประกอบกิจการมีการฝึกอบรมพนักงาน เพื่อให้เกิดทักษะและการมีประสิทธิภาพในการทำงานอย่างต่อเนื่อง ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลทำให้สถานประกอบกิจการประสบปัญหาด้านเงินทุน

โดย นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จึงมอบหมายให้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ตามที่คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้พิจารณาขยายการให้กู้ยืมจากเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน แบบไม่มีดอกเบี้ยไปจนถึงกรกฎาคม 2566 เพื่อช่วยเหลือสถานประกอบกิจการและศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานกู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อนำไปใช้ในการฝึกอบรมและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติให้แก่พนักงานและแรงงานทั่วไปที่มาทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ภายในวงเงินกู้สูงสุด 1 ล้านบาท"

ทั้งนี้จึงขอเชิญชวนสถานประกอบกิจการและศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานที่สนใจ สามารถยื่นคำขอกู้ยืมพร้อมหลักฐานได้ตั้งแต่วันนี้ และสอบถามรายละเอียดได้ที่สถาบันและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทุกแห่งทั่วประเทศ หรือกองส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน 0-2643-6039 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 28/10/2565

ศธ. ร่วมเอกชนขับเคลื่อนอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ป้อนตลาดแรงงาน

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 ต.ค. ที่ผ่านมา ตนได้ประชุมหารือถึงแนวทางการพัฒนาความร่วมมือเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย

ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ซึ่งหน่วยงานภาคีเครือข่าย เห็นตรงกันว่า กำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ซึ่งการจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีจะตอบโจทย์เรื่องนี้ได้เพราะเชื่อมโลกอาชีพกับโลกการศึกษา โดยหน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้เสนอว่า การแก้ไขปัญหาในด้านการบริหารจัดการ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ควรกำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์ และวิธีปฏิบัติที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษาของวิทยาลัยในสังกัด สอศ.อย่างชัดเจน ต่อเนื่องและยั่งยืน

นางสาวตรีนุช กล่าวต่อว่า สำหรับกลไกการขับเคลื่อนเพื่อเพิ่มการจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีให้มากขึ้น ควรมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงและให้มีคณะกรรมการร่วมที่ประกอบด้วยผู้แทนจากภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง, มีการประชาสัมพันธ์เชิงรุก สร้างภาพลักษณ์ สร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนเข้าร่วม และมีจำนวนผู้เรียนมาเรียนอาชีวะทวิภาคีมากขึ้น

รวมถึงลดความยุ่งยากในการเข้าร่วมจัดทวิภาคีของภาคเอกชน, ด้านการพัฒนาครู ต้องกำหนดให้ครูได้รับการเข้าฝึกประสบการณ์วิชาชีพในสถานประกอบการชั้นนำ และได้รับการรับรอง สามารถนำไปเป็นส่วนหนึ่งในการขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะได้ ตลอดจนกำหนดมีการพัฒนานักเรียน นักศึกษา เพื่อให้เกิดอาชีวะทวิภาคีที่มีคุณภาพสูง เช่น ทักษะด้านวิชาชีพ ทักษะด้านภาษา และทักษะด้านดิจิทัลตามมาตรฐานสากล

ทั้งนี้ ภายในเดือน พ.ย. 2565 นี้จะมีการหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยด้วย และได้มอบหมายให้ สอศ.นำข้อเสนอแนะของหน่วยงานภาคีเครือข่าย มาพิจารณาดำเนินการต่อไป

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 27/10/2565

ผลสำรวจแรงงานกลับไปอยู่นอกระบบมากขึ้น

สำนักงานสถิติแห่งชาติเผยผลสำรวจแรงงานนอกระบบปี 2564 พบว่า แรงงานกลับไปอยู่นอกระบบ คิดเป็นร้อยละ 52 จากจำนวนแรงงานทั้งหมด 37.7 ล้านคน เนื่องด้วยสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 และความผันผวนเศรษฐกิจโลกซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย ทั้งเรื่องวิกฤตพลังงาน อัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อ ส่วนใหญ่แรงงานนอกระบบอยู่ในภาคเกษตรกรรม มากถึงร้อยละ 58

รายงานการสำรวจแรงงานนอกระบบ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติดำเนินการ ข้อมูลรายงานของปี 2564 พบว่า ประเทศไทยมีคนที่ยังมีงานทำ 37.7 ล้านคน ลดลงจากปีก่อนซึ่งมีแรงงานนอกระบบประมาณ 39.5 ล้านคน แบ่งเป็น แรงงานนอกระบบ 19.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 52 และ แรงงานในระบบ 18.1 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 48.0 โดยแรงงานนอกระบบเป็นจำนวนเพศชายมากกว่าเพศหญิง ทั้งนี้ ประมาณร้อยละ 75.2 ของแรงงานนอกระบบทั้งหมด อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมา คือ ภาคกลาง มี จํานวน 4.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 68.5 และภาคเหนือ มีจํานวน 4.2 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 52.3 ตามลำดับ

หากดูประเภทกิจกรรมทางเศรษฐกิจ พบว่า แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ทํางานอยู่ใน ภาคเกษตรกรรม มีจํานวน 11.4 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 58.0 รองลงมาทํางานในภาคการบริการ และการค้า คิดเป็นร้อยละ 32.2 และภาคการผลิต คิดเป็นร้อยละ 9.8 ขณะท่ีแรงงานในระบบส่วนใหญ่ทํางานอยู่ในภาคการบริการและการค้า รองลงมาเป็นภาค การผลิต และภาคเกษตร

ที่น่าสนใจ คือ พบว่า จํานวนแรงงานนอกระบบที่มีปัญหา 6.2 ล้านคน หรือร้อยละ 31.8 ของแรงงานนอกระบบทั้งหมด โดยปัญหาที่พบ มีดังนี้ “ปัญหาจากการทํางาน” อันดับ 1 เป็นเรื่องค่าตอบแทน รองลงมาเป็นงานขาดความ ต่อเนื่อง และงานหนักไม่คุ้มกับค่าตอบแทน “ปัญหาจากสภาพแวดล้อมในการทํางาน” อันดับ 1 คือ อิริยาบถในการ ทํางาน ไม่ค่อยได้เปลี่ยนลักษณะท่าทางในการทํางาน นำมาสู่ปัญหาสุขภาพของแรงงาน รองลงมา คือ ปัญหา ฝุ่น ละออง ควัน กลิ่น และปัญหาเรื่องมีแสงสว่างไม่เพียงพอ

และ สุดท้าย “ปัญหาจากความไม่ปลอดภัยในการทํางาน” อันดับ 1 คือ ปัญหาจากสารเคมี รองลงมาคือ ปัญหาจากเครื่องจักร เครื่องมือที่เป็นอันตราย และประสบอันตรายต่อระบบหู ระบบตา ตามลำดับ

ในช่วง 5 ที่ผ่านมาจำนวนแรงงานนอกระบบเริ่มลดลง อย่างไรก็ตามผลพวงจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ที่ยืดเยื้อมาถึงปัจจุบัน ประกอบกับปี 2565 นี้ สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังคงตึงเครียด ราคาน้ำมันโลกมีความผันผวน อัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นและปัญหาเงินเฟ้อล้วนมีผลต่อเศรษฐกิจไทยเช่นกัน ปัจจัยข้างต้นส่งผลต่อการดำเนินการธุรกิจในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมและการผลิต ทำให้แรงงานในระบบอุตสาหกรรมบางส่วนต้องย้ายกลับไปสู่นอกระบบแทน แม้ว่าจะมีการย้ายแรงงานไปสู่ภาคบริการและท่องเที่ยวบ้าง อย่างไรก็ตามภาคการท่องเที่ยวยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว ผู้ประกอบการธุรกิจในภาคบริการและท่องเที่ยวกำลังปรับตัว การจ้างงานแรงงานในภาคบริการและท่องเที่ยวยังมีจำกัด และมีการลดจำนวนชั่วโมงแรงงานลง จากบทความ เรื่องแรงงานนอกระบบ : หนทางการอยู่รอดในยุค New Normal ธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า แรงงานนอกระบบประมาณ 3 ล้านคน ที่ทำงานเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ขาดรายได้จากการไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงที่ผ่านมา

ดังนั้นคาดว่าแนวโน้มผลสำรวจแรงงานออกนอกระบบในปี 2565 น่าจะมากขึ้น ตามหลักแรงงานนอกระบบ คือ ผู้มีงานทําที่ไม่ได้รับความคุ้มครองหรือไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทํางาน ข้อมูลข้างต้นเห็นได้ว่าแรงงานนอกระบบมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งของแรงงานทั้งหมด ภาครัฐจำเป็นต้องเตรียมมาตรการที่ช่วยรองรับจำนวนแรงงานนอกระบบที่มีมากขึ้นหลังสถานการณ์โควิด-19 ทั้งมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนแบบเร่งด่วนและการวางแผนรองรับแรงงานนอกระบบระยะกลางอย่างน้อยภายใน 5 ปีนี้ ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ คือ แม้ว่ามาตรการเยียวยาให้เงินช่วยเหลือทั้งทางตรงและทางอ้อมมีผลต่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแต่ก็จำเป็นต้องทำ รัฐต้องเร่งสร้างหลักประกันสวัสดิการทางสังคมและความมั่นคงด้านรายได้ (Social & Income Safety Nets) ซึ่งจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันแก่แรงงานนอกระบบให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด ดังกรณีสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน และช่วยลดความเสี่ยงผ่านการเข้าร่วมระบบประกันสังคมเป็นผู้ประกันตนให้มากที่สุด นอกจากนี้ควรดำเนินควบคู่กับมาตรการช่วยกระตุ้นให้กลุ่มคนที่จะเริ่มเข้าสู่วัยแรงงานในอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนนักศึกษา (ซึ่งเริ่มตั้งแต่อายุ 15 ปี) มีการวางแผนรายได้และการเงิน เข้าใจการออม ซึ่งแนะนำผ่านกองทุนการออมแห่งชาติเพื่อมีหลักประกันทางสังคมเป็นฐานและเข้าใจเรื่องการได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนเข้าสู่วัยแรงงานต่อไป โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบที่อยู่ในภาคเกษตรและผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ แนวทางดังกล่าวจะช่วยลดภาระรัฐในการให้เงินช่วยเหลือแรงงานได้ในระยะยาว

อีกประเด็นคือ มาตรการบรรเทาความเดือดร้อนที่ทยอยออกมาควรดำเนินควบคู่กับการวางแผนต่อเนื่องด้านการพัฒนาทักษะแรงงาน ด้วยการยกระดับปรับทักษะฝีมือ แบบพัฒนาทักษะเดิม (Upskill) และ ปรับทักษะใหม่ (Reskill) ให้ตรงตามความต้องการของตลาดในประเทศและตลาดโลกหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ซึ่งปัจจุบันมีสถาบันและหลักสูตรพัฒนาทักษะแรงงานหลายแห่งที่พร้อมให้การฝึกอบรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย กระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้แรงงานในระบบและนอกระบบในจังหวัดต่างๆได้รับรู้ และเข้ามารับการยกระดับทักษะอย่างมีทิศทางและสอดคล้องบริบททางการตลาด

การวางแผนช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแรงงานทั้งในและนอกระบบหลังสถานการณ์โควิด-19 จึงเป็นหนึ่งเรื่องที่รัฐให้ความสำคัญ

ที่มา: ข่าวออนไลน์7HD, 26/10/2565

ครม.อนุมัติร่างแนวทางอาเซียน ว่าด้วยการให้คำปรึกษาและตรวจหาเชื้อ HIV ในสถานประกอบการ

น.ส. ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบ ร่างแนวทางอาเซียนว่าด้วยการให้คำปรึกษาและการตรวจหาเชื้อเอชไอวีในสถานประกอบการ และร่างแผนงานคณะกรรมการตรวจแรงงานอาเซียน พ.ศ. 2565 – 2573 (ร่างแผนงานฯ) เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและแผนการดำเนินงานของโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ

น.ส. ทิพานัน กล่าวว่า ในร่างแนวทางฯ เป็นเอกสารแนวทางสำหรับการป้องกันและบริหารจัดการการติดเชื้อเอชไอวีในสถานประกอบการในภูมิภาคอาเซียนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันมากยิ่งขึ้น โดยให้ประเทศสมาชิกอาเซียนนำไปปรับใช้ร่วมกับนโยบายและกฎหมายของแต่ละประเทศ

ทั้งนี้การตรวจหาเชื้อเอชไอวีในสถานประกอบการ โดยมีหลักการสำคัญตามหลักสิทธิมนุษยชน เช่น

1. คุ้มครองสิทธิแรงงาน ไม่เลือกปฏิบัติ เป็นการกระทำโดยสมัครใจ โดยก่อนการตรวจหาเชื้อเอชไอวี แรงงานจะต้องได้รับข้อมูลที่เพียงพอและให้ความยินยอม

2. ข้อมูลการปรึกษาและการตรวจหาเชื้อเอชไอวีจะต้องถูกเก็บรักษาเป็นความลับ

3. มีการให้คำปรึกษาหลังการตรวจหาเชื้อเอชไอวีเพื่อช่วยให้แรงงานหรือครอบครัวที่กำลังมีความเสี่ยงเข้าใจและปรับตัวได้

สาระสำคัญจำแนกเป็น 4 ประเด็น คือ 1.การพัฒนาสมรรถนะหลักของพนักงานตรวจแรงงาน

2.การเสริมสร้างความเข้มแข็งในการตรวจแรงงานในภาคส่วนที่เข้าถึงยาก (เช่น การเกษตร ประมง เหมืองแร่ งานบ้าน) และระบบแบบส่งต่อเพื่อป้องกันการใช้แรงงานบังคับและแรงงานเด็ก รวมถึงการตรวจแรงงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานบังคับและการค้ามนุษย์

3.การเสริมสร้างความแข็งแกร่งการตรวจแรงงานนอกระบบและ SMEs และ

4.การเสริมสร้างความเข้มแข็งในการตรวจแรงงานของการทำงานในอนาคต รวมถึงการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผล

"ทั้งนี้ยังมี กลไกการดำเนินงานในการให้คำปรึกษาและตรวจหาเชื้อเอชไอวีในสถานประกอบการ สร้างการรับรู้ ให้คำปรึกษาและตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอชไอวีโดยสมัครใจของแรงงาน ประเมินความเสี่ยงทางพฤติกรรมและอาชีพ ซึ่งหากพบว่าผลตรวจเป็นผู้ติดเชื้อก็จะมีการให้คำปรึกษาหลังการตรวจ ไม่ให้เกิดการต่อต้านการและไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และเพื่อให้แรงงานได้รับการรักษา เช่น การใช้ยาต้านไวรัส นอกจากนี้ยังมีการตรวจซ้ำอย่างน้อยปีละครั้งในกลุ่มเสี่ยงด้วย" น.ส. ทิพานัน กล่าว

น.ส. ทิพานัน กล่าวว่า ทั้งนี้อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานลงนามในหนังสือถึงสำนักเลขาธิการอาเซียนเพื่อรับรองร่างเอกสารทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวที่เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการยุติปัญหาโรคเอดส์ได้ภายในค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและแผนการดำเนินงานของโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (Joint United Nations Programme on HIV/AIDS: UNAIDS)

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 25/10/2565

ก.แรงงาน หารือทูตไทยประจำฟินแลนด์ ฤดูกาลปี 2023 ปรับรูปแบบเดินทางไปทำงานโดยนายจ้างจัดส่ง ให้เกิดความยุติธรรมแก่แรงงานไทย

นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายตนเป็นประธานในการประชุมหารือทิศทางการศึกษาวิเคราะห์กรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องของฟินแลนด์และของไทย ณ ห้องประชุมเทียน อัชกุล ชั้น 10 กรมการจัดหางาน โดยมีนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน และนางสาวชวนาถ ทั่งสัมพันธ์เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ และคณะ

นายสุรชัย กล่าวว่า สืบเนื่องจากที่ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้เดินทางไปพบปะ เยี่ยมเยียนแรงงานไทยที่เก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์และสวีเดน ช่วงเดือน ก.ย. 2565 ท่านรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานดำเนินความร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อร่วมกันศึกษา วิเคราะห์กรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องของฟินแลนด์และของไทย

ต่อมาสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลชิงกิ ได้ประสานขอหารือทิศทางเกี่ยวกับการศึกษา วิเคราะห์กรอบกฎหมายดังกล่าว ซึ่งจากการประชุมในวันนี้ได้ข้อสรุปว่า

ในฤดูกาลปี 2023 กรมการจัดหางาน  จะกำหนดให้ผู้ประสานงานในประเทศไทยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานเก็บผลไม้ป่าที่ฟินแลนด์ด้วยวิธีนายจ้างในประเทศพาลูกจ้างไปทำงาน เพื่อพัฒนารูปแบบการเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์ของแรงงานไทยให้เกิดความยุติธรรมแก่แรงงานไทย

ขับเคลื่อนให้แรงงานได้เดินทางไปทำงานอย่างมีเกียรติ ศักดิ์ศรี ได้รับความคุ้มครองตลอดจนสิทธิประโยชน์ต่างๆตามสิทธิที่พึงได้รับ

ในวันนี้ที่ประชุมได้มีการหารือ เรื่องมาตรการจัดส่งแรงงานเก็บผลไม้ป่าฟินแลนด์ ปี 2023 โดยแบ่งเป็นมาตรการในประเทศไทย และมาตรการในต่างประเทศ โดยจะเร่งผลักดันรูปแบบการไปเก็บผลไม้ป่า

โดยนายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างไปทำงาน กำหนดรายจ่ายก่อนเดินทาง และค่าใช้จ่ายในต่างประเทศอย่างชัดเจน กำหนดสัญญาจ้างงานให้เป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย กำหนดมาตรการแจ้งรายชื่อผู้ประกอบการที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจพาลูกจ้างไปทำงานเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์

รวมถึง มาตรการอื่น ๆ หากมีความจำเป็น เช่น โรคระบาด ภัยสงครามนอกจากนี้ ยังมีการประกันราคาขั้นต่ำของผลไม้ในประเทศฟินแลนด์ การจัดที่พักอาศัยและอาหารที่ถูกหลักสุขอนามัย และการกำหนดโควตาแรงงานที่เหมาะสมในแต่ละฤดูกาล

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า การเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในฤดูกาลปี 2022 ระหว่างเดือน ก.ค.– ก.ย. มีแรงงานไทยเดินทางไปฟินแลนด์ จำนวนรวม 3,966 คน แบ่งเป็น แรงงานเก็บผลไม้ป่า จำนวน 3,801คน และพนักงานสนับสนุน จำนวน 165 คน

โดยผลสำรวจความพึงพอใจคนงานเก็บผลไม้ป่าฟินแลนด์ ฤดูกาลปี 2022 ที่มีการตอบแบบสอบถาม จำนวน 3,801 คน พบว่า มีแรงงานไทยรับรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย 100,000 บาทขึ้นไป ร้อยละ 8.15 รับรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย 50,001 - 99,999 บาท ร้อยละ 38.55

รับรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย 30,000 - 50,000 บาท ร้อยละ 47.61 รับรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย ต่ำกว่า 30,000 บาท ร้อยละ 5.69 โดยแรงงานไทยที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท ส่วนใหญ่เป็นแรงงานไทยที่เดินทางไปเก็บผลไม้ป่าเป็นครั้งแรก

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 25/10/2565

สรส.ทวงถามความคืบหน้าถอนร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ในรัฐวิสาหกิจ

25 ต.ค. 2565 ทวงถามความคืบหน้า ถอนร่างพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ในรัฐวิสาหกิจที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล กลุ่มสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) นำโดย นายมานพ เกื้อรัตน์ เลขาธิการ สรส. ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เพื่อติดตามความคืบหน้า ขอให้ถอนร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ในรัฐวิสาหกิจ พ.ศ…. มาทบทวนใหม่ ตามที่กลุ่ม เคยยื่นไปเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2565

โดยสรส. ติดตามการดำเนินการของรัฐบาล และกระทรวงแรงงาน เกี่ยวกับการปรับปรุงกฎหมายแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์มาตลอด ซึ่งที่ผ่านมาได้เสนอความเห็น และขอให้ทบทวนร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อต้องการเห็นประเทศไทยมีกฎหมายแรงงานที่สอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงาน จนปรากฎร่างพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ในรัฐวิสาหกิจ พ.ศ…. ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 9) ในวาระที่ 3 ออกมา

ซึ่ง สรส.เห็นว่าเป็นกระบวนการที่ตรากฎหมายขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ไม่สอดคล้องและบิดเบือนเจตนารมณ์ของอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 และละเมิดสิทธิแรงงานกว่ากฎหมายที่มีอยู่เดิม ทั้งนี้ สรส.จึงเรียกร้องขอให้ถอนร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ในรัฐวิสาหกิจ มาทบทวนใหม่

อย่างไรก็ตาม หากเรื่องนี้ยังไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการใดๆ สรส.จะถือเอาการติดตามความคืบหน้าในครั้งนี้เป็นความชอบธรรม ในการปกป้องสิทธิ ตามแนวทางอื่นได้ ขอเรียกร้องถึงพรรคใดที่สนับสนุนร่างพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ในรัฐวิสากิจ ถือว่าร่วมกันสนับสนุนการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 60 ร่วมกันบิดเบือนเจตนารมณ์ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศจนส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศและละเมิดสิทธิแรงงานอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

สรส.จะแจ้งให้องค์กรสมาชิกเพื่อให้บอกต่อกันไปยังครอบครัว ต้องไม่เลือกพรรคการเมืองที่สนับสนุนการละเมิดสิทธิแรงงานดังกล่าว ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 25/10/2565

สรท.ห่วงแรงงานไม่พอรับนักท่องเที่ยว 20 ล้านคน

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือ สรท. เปิดเผยสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า ภาคการท่องเที่ยวมีโอกาสฟื้นตัวสดใส จากตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และชัดเจนขึ้นว่ามีโอกาสเติบโตเป็นเท่าตัวในปีหน้า จาก 10 ล้านคนเป็น 20ล้านคน แต่มีคำถามว่าแรงงานภาคบริการ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร มีเพียงพอแล้วหรือไม่ โดยแรงงานภาคบริการไม่สามารถใช้แรงงานต่างด้าวหรือแรงงานในภาคอุตสาหกรรมทดแทนได้ เนื่องจากทักษะในการทำงานต่างกัน การวางแผนรับมือล่วงหน้าในส่วนนี้ถือว่ามีความจำเป็นและมีความสำคัญเพราะมีเวลาเตรียมตัวไม่มากนัก

หากต้องการเรียกความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยว บุคลากรที่มีคุณภาพและมีทักษะในการให้บริการเฉพาะทางต้องเร่งสร้างให้เร็วที่สุด เพราะตัวเลข 20 ล้านคนเวลานี้ ยังไม่ได้รวมถึงนักท่องเที่ยวจีน เพราะหากจีนเปิดประเทศผ่อนคลายมาตรการต่างๆ สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัวเชื่อว่านักท่องเที่ยวจีนจะหลั่งไหลมายังประเทศไทยอย่างแน่นอน เวลานั้น ประเทศไทยอาจไม่สามารถรับมือได้ทันและเสียโอกาสในการสร้างเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวได้

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 25/10/2565

ศาลแรงงานภาค 3 พิพากษาให้จ่ายค่าชดเชยอดีตลูกจ้างสวนสัตว์โคราชกว่า 1.7 ล้าน

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 23 ตุลาคม ที่สำนักงานสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา นางกุกไก่ เฉิบโพธิ์กลาง อายุ 45 ปี พร้อมพวก ซึ่งเป็นอดีตพนักงานลูกจ้างองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย (สวนสัตว์นครราชสีมา) ได้นัดรวมตัวเดินทางมาพบ นายพรเทพ เจริญพงศ์อนันต์ ประธานสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และคณะทนายความอาสา ฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย เพื่อแสดงความขอบคุณพร้อมนำกระเช้ามามอบให้หลังได้ดำเนินการช่วยเหลือเกี่ยวกับคดีถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน เมื่อปี 2563 และศาลแรงงานภาค 3 นครราชสีมา ได้มีพิพากษาถึงที่สุดให้สวนสัตว์นครราชสีมา จ่ายค่าชดเชยให้พนักงานลูกจ้างทั้ง 14 สำนวนคดี ตามอายุการทำงานของแต่ละบุคคลตั้งแต่รายละ 1.2-1.5 แสนบาท รวมมูลค่ากว่า 1.7 ล้านบาท

นายพรเทพ เจริญพงศ์อนันต์ ประธานสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า หลังกลุ่มลูกจ้างทั้งหมดปฏิบัติหน้าที่ในสวนสัตว์นครราชสีมาได้ถูกให้ออกจากงานโดยไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงได้เดินทางมาขอความช่วยเหลือทางคดี โดยมีการดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย นายจ้างได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลแรงงานภาค 3 ข้อเท็จจริงคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์งานที่โจทก์ทั้ง 14 ทำเป็นงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้างและเป็นงานต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน ซึ่งงานนั้นจะต้องเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยหรือไม่ ปรากฏตามโครงการต่างๆ ตามสัญญาจ้างโจทก์ทั้ง 14 ที่กำหนดระยะเวลา 1 ปี และทำสัญญาปีต่อปีต่อเนื่องกันมาโดยตลอด จึงมิใช่งานที่มีระยะเวลาเริ่มต้น และสิ้นสุดของงานที่แน่นอนไม่เกิน 2 ปี

งานโครงการของโจทก์ทำให้จำเลยจึงมีเวลาแล้วเสร็จเกินกว่า 2 ปี ดังนั้น ไม่ว่างานที่ทำนั้นจะเป็นงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจ หรือการค้าของนายจ้าง ซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้น และสิ้นสุดของงานที่แน่นอน หรือเป็นงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุด หรือความสำเร็จของงานหรือไม่ก็ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ศาลแรงงานภาค 3 วินิจฉัยเห็นพ้องคำอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น จึงได้พิพากษายืนให้นายจ้างจ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่พนักงานลูกจ้างทั้ง 14 คดี ถือเป็นความภูมิใจของสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมาที่ได้ช่วยเหลือประชาชนรวมทั้งขับเคลื่อนงานตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี

ที่มา: มติชนออนไลน์, 24/10/2565

ศอ.บต.เผยคนว่างงาน 5 จว.ชายแดนใต้ 50,000 คน ซาอุฯ-มาเลย์ ต้องการแรงงานเพียบ

พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดเผยว่า ศอ.บต.ได้เร่งแก้ไขปัญหาการว่างงานแก่ประชาชนในพื้นที่ พบว่าผู้ว่างงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่เดินทางกลับมาจากมาเลเซีย ซึ่งขณะนี้สามารถช่วยเหลือแรงงานไปแล้วกว่า 17,000 คน ประกอบด้วย ผู้ที่มีความพร้อมไปทำงานนอกพื้นที่ได้จัดส่งไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมนอกพื้นที่ 3,448 คน

“ผู้ที่มีที่ดินทำกินร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สภาเกษตรกรจังหวัด สร้างอาชีพทางเลือก และเข้าร่วมกลุ่มเกษตรกร รวมทั้งวิสาหกิจชุมชน อาทิ การปลูกพืชพลังงาน พืชเศรษฐกิจ และพืชระยะสั้น ได้แก่ ไผ่ มะพร้าว กาแฟ ถั่วลิสง แตงโม และด้านปศุสัตว์ ส่งเสริมการเลี้ยงโค ไก่ แพะ ด้านการประมง การเลี้ยงปูทะเล 8,000 คน สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน วิทยาลัยอาชีวศึกษา วิทยาลัยสารพัดช่างได้พัฒนาทักษะฝีมือ และแนวอาชีพ พร้อมมอบปัจจัยการผลิต จนสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานและนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้กว่า 4,000 คน” เลขาธิการ ศอ.บต.กล่าว

พล.ร.ต.สมเกียรติกล่าวว่า จากการสำรวจสถานการณ์แรงงานจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป พบว่ามี 2,770,167 คน เป็นผู้อยู่ในกำลังแรงงาน 1,868,606 คน ผู้มีงานทำ 1,818,111 คน ผู้ว่างงาน 50,123 คน และกำลังแรงงานที่รอฤดูกาล 372 คน โดยผู้มีงานทำพบว่า ส่วนใหญ่มีอาชีพด้านเกษตร 696,882 คน พนักงานบริการ และพนักงานในร้านค้า 484,998 คน ประกอบธุรกิจ 225,383 คน

พล.ร.ต.สมเกียรติกล่าวอีกว่า ในส่วนผู้ว่างงานพบว่า ส่วนใหญ่เป็นประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ชนบท รับจ้างทั่วไป และนักศึกษาบางส่วนที่สำเร็จการศึกษาแล้วยังรอคอยการสมัครเข้าทำงาน การอำนวยความสะดวกผู้ที่ประสงค์จะไปทำงานในต่างประเทศ จากความร่วมมือด้านแรงงานระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบีย ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนประเทศซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ และความร่วมมือด้านต่างๆ ระหว่าง 2 ประเทศ

“แรงงานระหว่างสองประเทศ และได้มีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านแรงงาน 2 ฉบับ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ต้องการแรงงานจำนวนมาก มีตำแหน่งงานที่ต้องการ เช่น ช่างก่อสร้าง ช่างไฟฟ้า ช่างยนต์ พนักงานทำงานในบ้าน พนักงานขับรถ ผู้ประกอบอาหาร และพยาบาล”

พล.ร.ต.สมเกียรติกล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงแรงงานได้ประชาสัมพันธ์ตำแหน่งงานมีผู้ที่สมัครงานผ่านศูนย์ทะเบียน กรมการจัดหางาน ศอ.บต.ได้ประสานศูนย์ฝึกอาชีพพระราชทานจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผู้แจ้งความประสงค์ไปทำงานกว่า 600 คน ขณะนี้กระทรวงแรงงาน ได้ตรวจสอบความพร้อม ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ไปทำงานที่ประเทศซาอุดีอาระเบียชุดแรกกว่า 300 คน

“การเตรียมความพร้อมไปทำงานในประเทศมาเลเซีย โดยผู้ประกอบการภาคเกษตรประเภทสวนปาล์มในประเทศมาเลเซีย ได้ประสานงานกับกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู มีเป้าหมายนำร่อง 700 คน และทำงานในสวนยางพารา 500 คน ซึ่งมีค่าตอบแทนสูง” พล.ร.ต.สมเกียรติกล่าวปิดท้าย

ที่มา: มติชนออนไลน์, 23/10/2565

ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทยหนุน 'ประยุทธ์' นั่งนายกอีกสมัย

23 ต.ค. 2565 นายมานิตย์ พรหมการีย์กุล ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย พร้อมด้วย ผู้นำสหภาพแรงงาน 79 แห่ง แถลงจุดยืนสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ในงานสัมมนากรรมการบริหารและสมาชิกสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย จัดขึ้นที่สวนนงนุช พัทยา จ.ชลบุรี

นายมานิตย์ กล่าวว่า วันนี้สภาองค์การถูกจ้างแรงานยานยนต์แห่งประเทศไทย ได้จัดให้มีการสัมมนาหัวข้อ” บทบาทและนโยบายที่สำคัญของกระทรวงแรงงานในกรสว้างความมั่นคงและยั่งยืนให้กับผู้ใช้แรงาน” ด้วยเล็งเห็นว่า กระทรวงแรงานเป็นองค์กรหลักที่ดูแลภาคแรงงาน ซึ่งประกอบด้วย ผู้ประกอบธุรกิจและแรงาน ให้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงดูแลสิทธิ ผลประโยชน์ ปกป้องคุ้มครองผู้ใช้แรงงานทุกระดับ สร้างความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

“พวกกระผม ขอเป็นตัวแทนของพี่น้องผู้ใช้แรงาน ขอเป็นกำลังใจและกำลังหลักในการขับเคลื่อนนโยบายทุกนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ท่านสุชาติ ชมกลิ่น ซึ่งอยู่ภายใต้การนำของนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าท่านได้ทำทุกสิ่งทุกอย่าง อย่างแท้จริงเพื่อพี่น้องผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ เช่น การนำพาแรงงานผ่านวิกฤติโควิด การเยียวยา การฟื้นฟูต่างๆ ที่ผ่านมาซึ่งพวกเราทราบกันดีอยู่ว่าทุกนโยบายที่ทำให้กับพี่น้องแรงงานนั้น ถ้าไม่มีนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไม่สามารถออกมาเป็นรูปธรรมได้” นายมานิตย์ กล่าว

นายมานิตย์ กล่าวย้ำว่า เราขอให้คำมั่นสัญญาว่า เราจะขอสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ให้เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อบริหารประเทศต่อไป ทั้งนี้ เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน

ที่มา: เดลินิวส์, 23/10/2565

แรงงานเก็บเบอร์รี่ฟินแลนด์ รับเงินประกัน หลังร้องเรียนไม่ได้รับค่าจ้าง

22 ต.ค. 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากกรณีนางสาวศิริบูรณ์ ชื่นชม และพวก รวม 8 ราย ที่เดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในประเทศฟินแลนด์ ฤดูกาลปี 2565 ได้ยื่นหนังสือต่อนายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2565 ที่ผ่านมา ร้องขอให้ช่วยเหลือเนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่องค่าจ้างและสวัสดิการ ซึ่งกระทรวงแรงงานรับปากจะดูแลและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ล่าสุดหลังตรวจสอบหลักฐานข้อเท็จจริง ได้ช่วยเหลือแรงงานเก็บผลไม้ป่าฟินแลนด์กลุ่มดังกล่าว โดยนำเงินประกันรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายมาตรฐาน ที่บริษัทผู้ประสานงานในประเทศไทยวางหลักประกัน ไว้ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จ่ายให้แรงงานตามสัดส่วน รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 103,445.28 บาท

“ผมตนพร้อมรับฟังและให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยที่ตั้งใจเดินทางไปทำงานต่างประเทศ เพื่อหารายได้ดูแลตนเองและครอบครัว คนเหล่านี้นำรายได้เข้าสู่ประเทศไทย หากไปทำงานแล้วประสบปัญหาผมไม่นิ่งนอนใจแน่นอน ในปีหน้ากรมการจัดหางานและกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จะตรวจสอบสัญญาจ้างให้มีการดูแลคนหางานให้ดียิ่งขึ้นและครอบคลุมขึ้น” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า มาตรการการเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์ ฤดูกาลปี 2565 ระบุให้บริษัทผู้รับซื้อผลไม้ป่าฟินแลนด์/บริษัทผู้ประสานงานในประเทศไทย ต้องประกันรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายให้คนงานไทยโดยวางหลักประกันทางการเงินตามจำนวนที่กรมการจัดหางานกำหนด ณ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และหลังสิ้นสุดฤดูกาลต้องดำเนินการให้คนงานไทยมีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 30,240 บาท

“ขณะนี้แรงงานส่วนใหญ่ได้เดินทางกลับถึงประเทศไทย และกลับสู่ภูมิลำเนาแล้ว ผมจึงได้มอบหมายสำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศสอบข้อเท็จจริงกับคนหางาน หากรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายมาตรฐาน ได้แก่ ค่าใช้จ่ายก่อนเดินทาง และค่าใช้จ่ายขณะทำงานในฟินแลนด์

ซึ่งประกอบด้วย ค่าที่พัก ค่าอาหาร และค่าเช่ารถ ไม่เป็นไปตามที่กำหนด สามารถรวบรวมเอกสารหลักฐานการเงินยื่นคำร้องทุกได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน ภายในวันที่ 21 พ.ย. 2565 หรือหากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ โทร 02 245 6708 ในวันและเวลาราชการ” อธิบดีกรมการจัดหางานกล่าว

ด้านนางสาวศิริบูรณ์ ชื่นชม แรงงานเก็บผลไม้ป่า กล่าวว่าเมื่อวานนี้ตนได้รับเงินประกันรายได้ จำนวน 30,240 บาทแล้ว ซึ่งรู้สึกดีใจมากที่กระทรวงแรงงานดูแลให้ความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว ไม่ทอดทิ้งแรงงานที่ได้รับความเดือดร้อน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 22/10/2565

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net