นักกิจกรรมหวั่น 'สีจิ้นผิง' อยู่ยาว ทำสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ในจีนยิ่งถดถอย

กลุ่มนักกิจกรรมที่อยู่นอกประเทศจีนได้เตือนว่าการอยู่ยาวของ 'สีจิ้นผิง' จะส่งผลกระทบทำให้ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ประสบความทุกข์ร้อนมากขึ้น และสิ่งที่สัญญาไว้ในเรื่องสิทธิในการปกครองตนเองก็ไม่ได้ทำให้เป็นจริง

29 ต.ค. 2565 ในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้วสีจิ้นผิงได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์จีนและประธานาธิบดีจีนต่อเป็นสมัยที่ 3 อีกทั้งในที่ประชุมกลุ่มผู้นำพรรคยังละเว้นไม่มีการพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับการปกครองตนเองของกลุ่มชาติพันธุ์ในท้องถิ่นต่างๆ ของจีนเลย มีนักกิจกรรมพลัดถิ่นกล่าวเตือนผ่านทางการประชุมและการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อว่า ระบอบสีจิ้นผิงที่อยู่ยาวแบบนี้อาจจะส่งผลเลวร้ายต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในจีนมากขึ้น

เรบิยา คาเดียร์ นักธุรกิจและนักกิจกรรมพลัดถิ่นด้านสิทธิชาวอุยกูร์ กล่าวในที่ประชุมที่ไต้หวันว่า ที่ผ่านมา ระบอบสีจิ้นผิงได้ก่อเหตุเลวร้ายต่อกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มในจีนไปแล้วด้วยการคุมขังหมู่ชาวอุยกูร์ รวมถึงการสอดแนมเป็นวงกว้างและการให้ตำรวจใช้อำนาจควบคุมในพื้นที่ซินเจียงกับทิเบต และรัฐบาลจีนจะยังคงทำตัวเป็นภัยร้ายต่อชนกลุ่มน้อยต่อไป

คาเดียร์บอกว่า ถ้าหากประชาคมนานาชาติยังไม่พยายามแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับชาวอุยกูร์ ชาวทิเบต และชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์กลุ่มอื่นๆ "ความโหดร้ายจากรัฐบาลจีน" เช่นนี้ก็อาจจะส่งผลกระทบในระดับโลกได้ คาเดียร์ได้พูดวิเคราะห์ถึงเรื่องนี้ไว้ในที่ประชุมว่า พรรคคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของสีจิ้นผิงเป็นภัยต่อโลกอย่างไร หลังจากที่เมื่อปี 2561 สีจิ้นผิงได้ยกเลิกการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่ง ทำให้เขาสามารถอยู่เป็นผู้นำต่อไปได้เรื่อยๆ โดยไม่มีกำหนด

คาเดียร์บอกว่า "ช่วงเวลาที่อันตรายที่สุด" คือในตอนนี้ และเรียกร้องให้ "ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ที่ถูกกดขี่โดยพรรคคอมมิวนิสต์" ร่วมมือกันต่อต้านขัดขืน

มีการตั้งข้อสังเกตว่า รายงานด้านการเมืองจากการประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคครั้งที่ 20 นี้ แตกต่างจากครั้งที่แล้ว ตรงที่ไม่มีการระบุถึง "สิทธิในการปกครองตนเองระดับภูมิภาคของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์" ซึ่งเป็นวลีที่มีการระบุไว้ในรายงานของพรรคทั้งในการประชุมครั้งที่ 18 และ 19

ตั้งแต่ก่อนหน้าที่สีจิ้นผิงจะเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี รัฐบาลจีนก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่ก่อนหน้านี้แล้วในเรื่องที่พวกเขาละเมิดสิทธิมนุษยชนในวงกว้างในพื้นที่เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ และเขตปกครองตนเองทิเบต แต่พวกเขาก็ยังคงพูดแบบสร้างภาพในเรื่องการปกครองตนเองและการอนุญาตให้ใช้ภาษาทิเบตกับภาษาอุยกูร์ในการสอนเด็กที่โรงเรียนได้ รวมถึงอนุญาตให้มีกิจกรรมทางศาสนาได้อย่างจำกัด

เคลซัง เกียตเซน ผู้ที่เป็นตัวแทนรัฐบาลพลัดถิ่นของทิเบตในไต้หวันกล่าวว่า อย่างน้อยเมื่อปี 2555 สีจิ้นผิงก็เคยพูดถึง "การเร่งพัฒนาภูมิภาคของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์" รวมถึงพูดถึง "ความเสมอภาค, ภราดรภาพ, ความร่วมมือจากแต่ละฝ่าย และความปรองดอง"

แต่พอถึงปี 2560 สีจิ้นผิงก็เริ่มหันมาเพิ่มวลีอย่าง "สร้างสำนึกความเป็นชาติ" และ "ทำให้ศาสนามีความเป็นจีนมากขึ้น" เข้าไปด้วย ซึ่งถือเป็นสองนโยบายที่ก่อให้เกิดการปราบปรามชาวมุสลิม, ชาวคริสต์ และชาวพุทธทิเบตเพิ่มมากขึ้น รวมถึงทำให้เกิดการสั่งห้ามไม่ให้ใช้ภาษาของชนกลุ่มน้อยสำหรับการเรียนการสอนในโรงเรียนด้วย

การสั่งห้ามภาษามองโกเลีย เคยทำให้เกิดการประท้วงบนท้องถนนและทำให้เกิดการบอยคอตต์ชั้นเรียนจากทั้งนักเรียนและผู้ปกครองในเขตปกครองตนเองมองโกเลียในซึ่งเป็นพื้นที่ภายใต้การปกครองของรัฐจีนที่อยู่ติดกับประเทศมองโกเลีย เมื่อช่วงปลายปี 2563 เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและตำรวจปราบจลาจลของรัฐบาลจีนก็ได้ทำการปราบปรามผู้ที่ประท้วงในประเด็นนี้

นอกจากนี้กลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองและครูอาจารย์ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อว่า ตามโรงเรียนในแถบพื้นที่ของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์มีการสอนโดยใช้ภาษาทิเบต, อุยกูร์ และเกาหลี น้อยลงเรื่อยๆ

ข้ออ้างเรื่อง "ความสามัคคีในชาติ" และ "การสร้างสำนักความเป็นประชาคม"

Wang Lixiong นักเขียนและนักประวัติศาสตร์จีน เคยทำวิจัยเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลที่เรียกว่า "ทำให้ศาสนามีความเป็นจีนมากขึ้น" ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนนำมาใช้กับพื้นที่ซินเจียง ด้วยการที่เขาลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่เหล่านั้น

Wang บอกว่าในโรงเรียนที่ซินเจียงมีการตั้งกฎข้อห้าม 23 ข้อเกี่ยวกับกิจกรรมทางศาสนา ยกตัวอย่างเช่น ห้ามการแต่งงานตามประเพณีของชาวอุยกูร์ ห้ามการเรียนการสอนคัมภีร์อัลกุรอาน ห้ามในสิ่งที่รัฐบาลจีนมองว่าเป็น "การตีพิมพ์และเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อทางศาสนา" ห้ามมีการขักขวนให้เปลี่ยนศาสนาเป็นอิสลาม ห้ามรับเงินบริจาคทางศาสนาจากต่างชาติ และห้ามไม่ให้มีการจัดการแสวงบุญไปยังนครเมกกะนอกเหนือไปจากแพกเกจทัวร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล

Wang บอกว่า "คุณคงสามารถจินตนาการออกว่าผู้นับถือศาสนาจะรู้สึกอย่างไรที่ต้องติดกับดักข้อห้ามไม่รู้จบแบบนี้"

Wang กล่าวอีกว่า เคยมีภารโรงคนหนึ่งเล่าให้เขาฟังว่าครูในซินเจียงจะต้องมารวมตัวกันที่โรงเรียน 4 วันต่อสัปดาห์ไม่เว้นแม้แต่ในช่วงวันหยุดเพื่อที่จะศึกษาการเมืองซึ่งหลักๆ แล้วเป็นเรื่องการต่อต้านการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งครูต้องใช้เวลาไปกับเรื่องเหล่านี้มากกว่าจะได้เรียนในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับวิชาชีพของพวกเขาเอง

เกียตเซน ตัวแทนของรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบตในไต้หวันกล่าวว่า โครงการ "ความสามัคคีในชาติ" จากทางการจีนทำให้มีการบังคับแต่งงานข้ามเชื้อชาติระหว่างชาวจีนเชื้อสายฮั่นและชาวทิเบต นโยบายคล้ายๆ กันนี้ยังถูกนำมาใช้กับชาวอุยกูร์ในซินเจียงด้วย

สำหรับนโยบายที่อ้างว่า "สร้างสำนึกความเป็นประชาคม" ที่รัฐบาลจีนอ้างใช้นั้นจริงๆ แล้วคือการลบล้างอัตลักษณ์ความเป็นชาติพันธุ์ และการที่รัฐบาลจีนอ้างใช้คำว่า "เสริมสร้างการแลกเปลี่ยน" นั้นจริงๆ แล้วหมายถึงการลบล้างอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์เฉพาะอย่าง

Wang บอกว่า รัฐธรรมนูญจีนและกฎหมายว่าด้วยการปกครองตนเองในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ระบุอย่างชัดเจนให้มีการคุ้มครองสิทธิของชุมชนชาติพันธุ์ แต่รายงานสีจิ้นผิงในการประชุมสมัชชาครั้งที่ 20 ก็ไม่ได้ระบุถึงเรื่องนี้เลย

สีจิ้นผิงสมัยที่ 3 ส่งสัญญาณว่านโยบายกดขี่จะยังคงดำเนินต่อไป

Tseng Chien-yuen ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติจงยังของไต้หวัน กล่าวว่า สาเหตุที่สีไม่ได้ระบุเรื่องนี้ในรายงานการประชุมน่าจะเพราะว่าเขาต้องการหลีกเลี่ยงประเด็นนี้ จากการที่สีเคยถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติในวงกว้างรวมถึงจากสหประชาชาติในเรื่องนโยบายต่อชนกลุ่มน้อยในพื้นที่เหล่านี้ เลยทำให้สีไม่อยากพูดถึงสิ่งที่จะดูเป็นจุดด่างพร้อยในรัฐบาลของเขา

Tseng กล่าวอีกว่า มีความขัดแย้งใหญ่มากระหว่างระบบพรรคการเมืองเดียวปกครองประเทศกับระบบการปกครองตนเองในท้องถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ ความขัดแย้งนี้เลวร้ายลงในช่วงที่สีจิ้นผิงปกครองจีน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่ายกักกันหรือเรื่องที่มีการตีตราชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ในเรื่องความเชื่อและความแตกต่างทางวัฒนธรรม รวมถึงมีการกล่าวหาชนกลุ่มน้อยในเรื่องการก่อการร้าย และมองไม่ออกเลยว่าสีจะพิจารณาปรับปรุงตรงจุดนี้

ผู้สังเกตการณ์จีนรายอื่นๆ ก็ตั้งข้อสังเกตไว้ในทำนองเดียวกันว่าสีแทบจะไม่ได้พูดอะไรออกมาอย่างชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายชาติพันธุ์เลย ทำให้ไม่มีอะไรที่เป็นข้อบ่งชี้ว่าพวกเขาจะลดการใช้อำนาจจำกัดในเรื่องต่างๆ ต่อทิเบตและซินเจียง

คุนกา ทาชิ นักวิเคราะห์ทิเบตและจีนกล่าวว่าสุนทรพจน์ของสีจิ้นผิงไม่มีอะไรที่แสดงให้เห็นสัญญาณว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงทางบวกในทิเบตภายในระยะเวลาใกล้ๆ นี้เลย ขณะที่อิลชัต ฮาซัน รองประธานบริหารของสภาอุยกูร์โลกซึ่งเป็นองค์กรของชาวอุยกูร์พลัดถิ่นบอกว่า การที่สีจิ้นผิงเลื่อนตำแหน่งให้กับกลุ่มผู้จงรักภักดีให้เป็นคนวงในของรัฐบาลจีนนั้น "นับเป็นสัญญาณที่ไม่ดีต่อโลกและต่อชาวอุยกูร์"

เกียตเซนบอกว่าการที่จีนปฏิบัติต่อชาวทิเบต, ชาวอุยกูร์ และชาวเชื้อสายมองโกเลียควรจะเป็นสัญญาณเตือนต่อไต้หวัน จากการที่ผู้คนในพื้นที่เหล่านี้ถูกควบคุมอย่างเข้มงวดโดยการจีน และสัญญาที่เคยให้ไว้เรื่องสิทธิในการปกครองตนเองก็เป็นแค่สิ่งที่เขียนไว้ในกระดาษ ไม่ได้เกิดขึ้นจริง

"ถ้าหากไต้หวันตกอยู่ภายใต้การควบคุมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน แบบเดียวกับทิเบตและซินเจียง มันจะไม่ใช่ หนึ่งประเทศ สองระบบ (ซึ่งเป็นระบบการปกครองตัวเองแบบที่ให้สัญญาไว้กับฮ่องกง) แต่มันจะกลายเป็น ประเทศเดียว ระบบเดียว" เกียตเซนกล่าว

เรียบเรียงจาก
Xi Jinping's extended term as supreme leader sparks warning to China's ethnic groups, Radio Free Asia, 25-10-2022

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท